เปิดกว้างอย่างสมบูรณ์ ตระหนักรู้อย่างเท่าเทียม : ท่าทีภาวนาที่เชื้อเชิญให้เข้าไปสัมผัสกับธรรมชาติของชีวิต

บทความโดย อุษณี นุชอนงค์

ที่มาภาพ : Dmitriy CauseLove จาก Pexels

ทำไมเราจึงมาภาวนา?

คำตอบดูจะง่าย…

“เราอยากได้ใจที่สงบกว่านี้ เงียบกว่านี้”

“ชีวิตมันยาก มีอะไรหลายอย่างให้เราสัมพันธ์ งาน ครอบครัว เพื่อน แต่ละอย่างมีเรื่องกวนใจเราได้ตลอดเวลา”

แต่พอเราลงมือภาวนาในใจสงบ มันกลับไม่ง่ายอย่างที่คิด ยิ่งพยายามทำให้ใจสงบเท่าไหร่ ใจก็ยิ่งดื้อรั้นเท่านั้น ส่งผลให้เกิดปัญหาต่อไปเรื่อยๆ ในที่สุดไม่ช้าไม่เร็วเราจะรู้สึกว่าทำให้ใจสงบไม่ได้ และสุดท้ายเราจะคิดเองว่าการฝึกของเราล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง

โดยทั่วไปเรามักทราบว่าการภาวนาเป็นส่วนสำคัญของการฝึกตนบนหนทางของพุทธศาสนิกชน ทว่าเราอาจไม่ทันสังเกตว่า “การภาวนาก็อาจเป็นปัญหาโดยตัวมันเองได้เช่นกัน” กล่าวคือ เมื่อโลกที่เรามองเห็นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในตัวเรา การภาวนาจะยิ่งทำให้มุมมองใดก็ตามที่เรามีต่อโลกนั้นยิ่งชัดเจนขึ้น และเมื่อมุมมองที่เรามีต่อโลกโดยไม่รู้ตัวคือความปรารถนาความปลอดภัย ความมั่นคง ไม่ถูกรบกวนด้วยสิ่งต่างๆ ดังนั้น เราจึงคิดจะใช้การภาวนาเพื่อเป็นหนทางให้เกิดความสงบ ความมั่นคงในจิตใจ

ทว่าการภาวนาไม่ใช่การสร้างจิตหรือใจที่ว่างๆ หรือการขจัดความคิด

ที่จริงแล้ว “ความคิดที่เกิดขึ้นและดับไปนั้นไม่ใช่อุปสรรคของการภาวนา”

การภาวนาคือการเรียนรู้สภาพจิตของเรา เป็นหนทางที่ทำให้เรารับทราบว่าใจของเรามีพลังแค่ไหน

นี่เองคือเหตุผลว่าทำไมการมี “มุมมองที่ถูกต้อง” ก่อนที่จะเริ่มนั่งภาวนาจึงมีความสำคัญมาก มุมมองนี้จะนำพาเราไปสู่ทิศทางที่ถูกต้อง การภาวนาจะทรงพลังที่สุดถ้าเราเริ่มด้วย “Right View” หรือ “สัมมาทิฐิ” นั่นคือการเห็นที่จะนำไปสู่ความเข้าใจธรรมชาติของประสบการณ์ที่เกิดขึ้น

มุมมองของพุทธคือการเปิดกว้างอย่างเต็มที่ต่ออะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในใจและในชีวิตของเรา

“เราไม่ Say No ต่อทุกประสบการณ์”

“เราอนุญาตให้ตัวเองรู้สึกอย่างเต็มเปี่ยมกับทุกประสบการณ์เท่าที่ทำได้”

ด้วยมุมมองต่อการภาวนาแบบนี้เราอาจประหลาดใจเมื่อพบว่า เรามั่นคงและซื่อตรงกับตัวเองได้มากกว่าที่เราพยายามจะสงบ

เปิดกว้างอย่างสมบูรณ์

การมีทัศนคติที่เปิดกว้างต่อทุกสิ่งที่เรามีประสบการณ์ด้วยคือสิ่งสำคัญที่สุดที่เราทำได้ เมื่อเราเริ่มมีมุมมองเช่นนี้ เรากำลังเริ่มต้นเดินไปในทิศทางนี้ หลายต่อหลายครั้งที่เราอาจจะรู้สึกว่า “การเปิดกว้างต่อทุกสิ่งอย่างเต็มเปี่ยมเป็นเรื่องที่เราทำไม่ได้หรอก!” เราอาจจะไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่าการเปิดกว้างอย่างเต็มเปี่ยมแปลว่าอะไรกันแน่ แต่อย่างน้อยเราจะพอเข้าใจได้ว่า “การเปิดกว้างไม่น่าจะใช่สภาวะที่ใจเราปิด ใจที่เล็กแน่นอน”

คำสอนให้เปิดกว้างอย่างสมบูรณ์ของ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช เป็นคำสอนที่บอกให้เราเปิดกว้างต่อทุกประสบการณ์ ไม่ใช่แค่ตอนที่อยู่บนเบาะภาวนา

“เราเปิดกว้างขณะนั่งภาวนา

เราเปิดกว้างขณะใช้ชีวิตประจำวัน

และแม้แต่ตอนที่เราหลับและฝัน”

ภาพ : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
ที่มาภาพ Shambhala Publications

เชอเกียม ตรุงปะ กล่าวว่า “หากเราสามารถตระหนักรู้ (Aware) ได้ดีระหว่างวัน ก็ไม่ใช่เรื่องยากเลยที่เราจะยังคงตระหนักรู้ในขณะที่หลับหรือฝัน เพราะอย่างไรเสียในตอนตื่น เราก็ใช้เวลาหลายชั่วโมงในแต่ละวัน ‘ฝันขณะตื่น’ อยู่แล้ว”

ในระหว่างการภาวนา เมื่อในหัวของเราเต็มไปด้วยความคิดที่เป็นสาย เรามีความพยายามอย่างยิ่งที่จะกำจัดสายความคิดเหล่านั้นออกไป แต่ความพยายามที่จะหยุดหรือกำจัดความคิดนั้น โดยตัวมันเองก็คือการเอาอีกความคิดหนึ่งมาแทนอยู่ดี ทั้งหมดนี้คือในกระบวนการเดียวกัน

ดังนั้นท่าที่ของเราที่ใช้ฝึกฝนบนเบาะภาวนาก็คือเราไม่ตามความคิดและความรู้สึก ขณะเดียวกันเราก็ไม่พยายามกำจัดมัน เราแค่ “อนุญาตให้มันเป็น”

ตระหนักรู้อย่างเท่าเทียม

ในการภาวนา เราฝึกที่จะมีท่าทีต่อทุกอย่างที่เกิดขึ้นในใจอย่างเท่าเทียมกัน เรารับรู้ความคิดและความรู้สึกที่เกิดขึ้นแต่ละนาที…

“เราหันหน้าเข้าหาประสบการณ์เหล่านั้น

เผชิญหน้าต่อประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้นอย่างเต็มที่

จากนั้นก็ปล่อยไป”

ที่มาภาพ อวโลกิตะ • Avalokita

เราฝึกเช่นนี้ทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า คล้ายกับเจ้าบ้านคอยต้อนรับแขก ท่าทีของเจ้าบ้านที่ดีคงไม่ใช่การเปิดประตูต้อนรับแขกคนแรก แต่กลับปิดประตูใส่หน้าแขกคนที่สอง หลังจากบอกว่า “ฉันไม่ชอบแก ไปให้พ้น!”

ดังนั้นในบริบทการภาวนา “เพื่อนที่แท้จริงของเราคือการตระหนักรู้” เราปฏิบัติต่อความคิดดี-ไม่ดี เท่าๆ กัน

“ความคิดที่ไม่ดี ไม่ได้แปลว่าไม่ดี

ความคิดที่ดี ก็ไม่ได้แปลว่าดีเช่นกัน

เราแค่ตระหนักรู้ ปล่อย กลับมาที่ร่างกาย

กลับมาอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นในร่างกาย”

อันนี้ดูจะพูดง่ายกว่าทำ เพราะเมื่อเราปฏิบัติอยู่บนเบาะภาวนาจริงๆ เราจะเห็นการตัดสินของเราเกิดขึ้นทันทีว่า ความคิดนี้ดี-ไม่ดี ความรู้สึกนี้เราอยากได้-ไม่อยากได้ ประสบการณ์นี้เราอยากให้เกิดขึ้นนานกว่านี้อีกสักนิด ในทางตรงข้าม อาจมีบางประสบการณ์บนเบาะภาวนาที่เรารู้สึกว่า “โอ๊ย!! เมื่อไหร่จะผ่านไปซักที” ทว่าการตัดสินที่เกิดขึ้นเหล่านี้ก็ไม่ใช่ปัญหาอีกเช่นกัน การตัดสินก็เป็นแค่อีกเรื่องที่ใจเล่า เราก็แค่ตระหนักรู้ต่อไป

การภาวนาของพุทธทั้งหมดคือการเห็นเนื้อหาในใจของเราอย่างที่เป็นโดยไม่ตัดสิน นี่คือขั้นตอนแรก ซึ่งจะว่าไป “นี่คือขั้นตอนทั้งหมด!” หากทำเช่นนี้ได้ เรากำลังสัมพันธ์กับสภาวะของตัวเอง การภาวนาคือการสัมพันธ์กับใจอย่างตรงไปตรงมา ไม่ซับซ้อน และหากจะมีอะไรที่กวนใจเราในขณะที่เข้าไปสัมพันธ์ ทำให้เราไม่พอใจ ทำให้เราอึดอัดขัดข้อง ความรู้สึกเหล่านี้ได้รับการตระหนักรู้ในฐานะส่วนหนึ่งของการแสดงออกของใจ

ที่มาภาพ : Szymon Shields จาก Pexels

เมื่อเราภาวนา เราอาจะสังเกตเห็นว่าเรามักต้องการอะไรสักอย่างที่ใช้วัดว่าเราภาวนาเป็น เราภาวนาได้ดี ดังนั้นสำหรับมือใหม่ที่เริ่มภาวนา เรามักตั้งคำถามว่าทำถูกหรือยัง เราบอกว่าวันนี้ฟุ้ง คิดเยอะเต็มไปหมด โดยไม่ได้ตระหนักรู้เลยว่าความฟุ้งไม่ใช่ปัญหา ถึงแม้ว่ามันอาจจะทำให้เราไม่สบายใจ แต่ความไม่สบายใจก็ไม่ใช่ปัญหาเช่นกัน หากเป็นมือกลางเก่ากลางใหม่ เราอาจพยายามดูว่าเราไปถึงสิ่งที่เราได้ยินได้ฟังมาหรือยัง เช่น เราไปปฏิบัติมา เค้าพูดถึงเรื่องการตื่นรู้ Enlightenment, ถ้าสายเซ็น เค้าพูดถึงซาโตริ, สายธิเบต เค้าพูดถึงมหามุทรา มหาอติ ซกเซ็น ฯลฯ เราพยายามภาวนาให้ได้สิ่งเหล่านั้น หรือไม่เราเห็นคนข้างหน้า คนข้างๆ นั่งได้นิ่งมาก สงบมาก เราจะตั้งคำถามว่าจะทำยังไงให้นั่งได้เหมือนเค้า เราต้องนั่งให้ได้เหมือนเค้าสิ!

แต่สิ่งสำคัญจริงๆที่เราต้องทำในการภาวนาคือ กลับมาอยู่กับประสบการณ์ในการภาวนาของตัวเอง กลับมาอยู่กับสายของความคิด กลับมาอยู่กับความรู้สึกในกายด้วยการตระหนักรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น ทำอย่างนี้ได้ไปเรื่อยๆ เราจะเริ่มผ่อนคลาย เริ่มมีความเปิดกว้าง มีพื้นที่บางอย่างในใจที่ปล่อยให้อะไรๆ เกิดขึ้น

ทัศนคติเดียวที่เราควรมีในการภาวนาคือ “ไว้วางใจ”

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในการภาวนาดีอยู่แล้ว เป็นพรอยู่แล้ว ทุกอย่างโอเค ไม่สำคัญหรอกว่าเราจะมัวแต่คิดออกไปข้างนอก ง่วง หลับ อึดอัดกับความเร็วของตัวเองขณะนั่ง ท้องที่ปวดมวน เศร้า โกรธ หดหู่ อยากบรรลุ เต็มไปด้วยเรื่องเล่าไม่รู้จบ เราแค่กลับมารู้ แล้วก็เปิดต่อประสบการณ์

วินาทีที่เราเปิดกว้างต่อสิ่งที่เราต้องการ นั่นคือความรักที่เรามีให้กับตัวเอง

วินาทีที่เราเปิดต่อสิ่งที่เราปฏิเสธ ไม่ต้องการ คือความกรุณาหลากล้นที่เรามีให้กับคนอีกคน หรือกับสถานการณ์

ที่มาภาพ : Kourosh Qaffari จาก Pexels

ด้วยมุมมองที่พูดไปแต่ต้น เมื่อเราภาวนาด้วยท่าทีที่เปิดกว้างผ่านการตระหนักรู้เช่นนี้ ใจเราเริ่มเบาขึ้น เราเริ่มเห็นสิ่งที่ไกลออกไปจากตัว สิ่งต่างๆ ดูโอเคขึ้น เราทำงานกับมันได้แม้ว่ามันจะทำให้เราอึดอัดขัดข้องก็ตาม การสัมพันธ์กับใจในลักษณะนี้จึงผ่อนคลาย มีความเต็ม เชิญชวนให้เราค้นพบตัวเอง มากกว่าแค่ทำใจให้สงบ ซึ่งจะว่าไปแล้ว เมื่อทำมากไป ก็อาจเป็นได้แค่สิ่งเสพติดอีกอย่างที่เราใช้หลบเลี่ยงจากธรรมชาติของสิ่งที่เรียกว่าชีวิต