Ode to Milarepa: กลอนเปล่าถึงท่านมิลาเรปะ

บทความโดย อันอัน วรวรรณ

“เสียงเจื้อยแจ้วของนกคุกคูนั้นช่างรื่นรมย์

อีกทั้งเสียงร้องเพลงของนกกระจาบฝนช่างไพเราะยิ่งนัก

เมื่อข้าได้ยินเสียงเหล่านั้น ข้าอดไม่ได้ที่จะเงี่ยหูฟัง

เมื่อได้ฟังเสียงเหล่านั้น

น้ำตาข้าก็ไหลอาบแก้ม

ถึงแม้จะไม่มีเพื่อนสักคนอยู่เลย

การอยู่ที่นี่ช่างเพลิดเพลินยิ่งนัก

ด้วยความเบิกบานที่หลั่งล้นออกมาจากหัวใจข้า ข้าร้องเพลงอย่างมีความสุข

ขอให้เสียงเพลงอันไพเราะจากใจข้า

ขับไล่เงามืดอันทุกข์โศกของมวลมนุษย์ให้หมดสิ้นไปเถิด”

มิลาเรปะ

ถึงท่านมิลาเรปะ

วันแรกของการเข้าปลีกวิเวกของข้า ข้านอนไม่หลับเอาเสียเลย กระท่อมปลีกวิเวกนั้นก็ช่างเงียบสงัด เงียบจนข้าได้ยินเสียงทุกอย่างภายในจิตใจข้าได้ชัดเจน หรือเสียงตุ๊กแก หรีดหริ่งเรไร แมลงหวี่ ตั๊กแตน นกแต๊วตีวิด เสียงจิ้งจกสะบัดหาง เสียงลมพัดผ่านหุบเขาในยามค่ำคืน นี่ยังมีเสียงอื่นๆที่ข้าพยายามเงี่ยหูฟังอีกหลายต่อหลายเสียง รวมทั้งภาพในมโนสำนึก เสียงในใจ ข้าไม่สามารถหลับได้เลย

ข้าได้ยินเรื่องราวของท่านผ่านการบอกเล่าในตัวหนังสือ ข้าได้ยินมาว่าท่านปฏิบัติภาวนาคนเดียวอยู่ในถ้ำนานหลายปี ส่วนตัวข้านั้น แต่ละวันที่ผ่านไปช่างยากเย็น ตัดขาดจากโลกภายนอก เวลาก็มีมากมาย นอกจากการปฏิบัติภาวนาแล้ว ข้าไม่รู้จะทำอะไรมากไปกว่า การอธิษฐานถึงท่านในทุกๆเช้าและก่อนนอน ข้าไม่เคยสัมผัสกับพลังงานของท่านมาก่อน แต่รีทรีทครั้งนี้ก็ทำให้ข้าได้พบกับความโดดเดี่ยวเดียวดายเป็นครั้งแรก ความโดดเดี่ยวแบบที่ไม่มีผู้ใดมาคอยส่งเสียงขานรับ ไม่มีผู้มารอคอยเรา และเราต้องรอคอยใคร มีแต่ตัวเราเท่านั้น โดดๆท่ามกลางความเงียบสงัด วังเวง และหุบเขาเร้นลับกว้างใหญ่มีหมอกปกคลุมหนาในทุกเช้า

ตอนกลางคืนประมาณ 6:30 ทุกอย่างรอบตัวก็จะมืดมิดไปหมด ข้าไม่กล้าเปิดม่านออกไปดูภายนอกว่ามีอะไรอยู่นอกบ้านบ้าง แค่นั่งภาวนาคนเดียวในบ้าน จุดเทียนในความมืด อยู่กับความวังเวง ที่ได้ยินเสียงทุกอย่างที่ตัวเองกระทำชัดมาก ยังไม่นับหูที่คอยเงี่ยฟังว่า มอเตอร์ไซด์หรือรถเครื่องคันไกลคันนั้นจะบิดเข้ามาหาเราในหุบเขาหรือเปล่า แต่ไม่มีเลย ไม่มีใครเลย

อาทิตย์แรกผ่านไปอย่างยากเย็น ข้าไม่พบเจอมนุษย์ผู้ใดเลย นอกจาก งูตัวใหญ่ ตัวหนึ่งหน้าบ้าน ข้าก็เอาไม้กวาดไปเขี่ยมัน แล้วก็นึกขึ้นได้ว่า ปล่อยให้มันผ่านไปเองดีกว่า ก็เลยปิดประตูเข้าไปเฝ้ามองจนมันผ่านไป แววตาของงูตัวนั้นยังติดตาข้าอยู่ในสองสามคืนแรก คืนถัดๆมา ข้าช่วยชีวิตตั๊กแตนขอนไม้ที่ตกอยู่ในชักโครกออกมาจากน้ำ แล้วปล่อยนางออกไป เพื่อจะมาพบว่า นางนอนตายอยู่บนพื้นห้องน้ำในคืนถัดไป ข้าทำพิธีศพให้ตั๊กแตนตัวน้อย ข้านำมันไปวางไว้ใต้ต้นไม้ พร้อมวางดอกไม้เล็กๆไว้บนตัวมัน หลังจากนั้นไม่นาน ข้าก็เห็นฝูงมดมาแทะเล็มตั๊กแตนจนมองไม่ออกแล้วว่าเคยเป็นตัวอะไร ข้าเฝ้ามองดูผีเสื้อตัวเล็กตัวใหญ่ ที่พากันบินเข้ามาในห้องภาวนา บางทีก็เยอะมาก หลายตัว ข้าช่วยมันไว้จากการที่มันติดอยู่ในประตูกระจก เพื่อที่จะมาพบว่า มันก็มานอนตายในวันต่อๆมา ด้วยวงจรชีวิตที่ไม่ยาวนานของพวกมัน

ข้าอธิษฐานและสวดถึงท่านตอนก่อนนอน เพื่อที่ตื่นมาจะได้พบกับท่านอีกครั้งในตอนเช้า และบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดในช่วงกลางคืนให้ท่านฟัง ช่างน่าประหลาดใจยิ่งนัก ท่านเงี่ยหูฟังข้าเสมอ ในรูปบนแท่นบูชา ท่านก็ยังเงี่ยหูฟัง ข้าสารภาพสิ่งต่างๆในใจที่ปรากฏออกมาให้ท่านรับรู้ หรือแม้กระทั่งความลับที่น่าละอายที่ข้าเคยทำมาในอดีต ข้าก็บอกเล่าให้ท่านฟัง ข้าสวดขอให้ท่านเป็นเพื่อนและผู้นำทางบนเส้นทางให้กับข้าด้วย

ข้าไม่รู้ว่ามีเสียงตอบรับจากท่านหรือเปล่า แต่ข้าก็สัมผัสได้ถึงพลังงานของท่าน พลังงานของความเดียวดาย วังเวง พลังงานของการเชื่อมต่อกับสิ่งที่มองไม่เห็น พลังงานครูที่อยู่ตรงหน้า พลังงานจากการร้องขอ พลังงานของการสยบยอม พลังงานของการเปิดออกสู่สิ่งตรงหน้าที่ไม่รู้จัก ไม่เคยเห็นมาก่อน และไว้วางใจให้นำทางเราไปในเส้นทางอันเงียบงัน ไร้เสียง ไร้รูปแบบ แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยความว่างอันศักดิ์สิทธิ์ ความว่างที่รับปรากฏการณ์ทั้งหมดเอาไว้ และความว่างที่สลายปรากฏการณ์ตรงหน้าทั้งหมดคืนไปในยามรัตติกาล และกลับมาใหม่อีกตอนรุ่งสาง

มิลาเรปะกล่าวว่า

“ประสบการณ์ของความเดียวดายเป็นมุมมองของอัตตา เพราะว่าตัวตนหรืออัตตาไม่มีใครมาปลอบประโลม ไม่มีใครมาให้กำลังใจ ความเดียวดายเช่นนี้เป็นความรู้สึกของการไม่มีที่ไป หลงทาง เป็นความเศร้ามหาศาลที่ไม่มีอะไรอยู่รอบๆ ตัวและไม่มีอะไรให้ยึดเหนี่ยวเลย แต่เป็นอัตตาของเราที่แสดงตัวเป็นเสียงแห่งความเศร้า ความเดียวดาย ดังนั้นเราจึงไม่สามารถจะกล่าวโทษหรือโกรธใครได้ จุดเริ่มต้นเช่นนั้นเป็นประโยชน์และมีค่าอย่างมาก เป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเราเองที่ใช้เวลาอยู่คนเดียวอย่างมิลาเรปะ”

อาทิตย์ที่สอง ข้าเริ่มคุ้นเคยกับความเดียวดาย ข้าเริ่มมีเสียงเพลงลอยเข้ามาในหัว ข้าเดินร้องเพลงคนเดียวในหุบเขา และข้าเริ่มมีเพื่อนเป็นหมาสองตัว กำนัน ที่นำอาหารมาให้ และลูกคนงานพม่าที่วิ่งเล่นเก็บดอกไม้พัดลมในหุบเขา เราเล่นหมุนดอกไม้พัดลมกัน ลูกคนงานช่วยข้าเก็บดอกไม้เพื่อเอามาบูชาที่แท่นบูชา ข้าขอบใจเค้า ข้าให้แอ๊บเปิ้ลไปหนึ่งลูกและบอกว่า จะเอาดอกไม้ไปถวายท่านนะ ไม่มีสิ่งจรรโลงใจอะไรที่ปรุงแต่งมากนัก มีแค่สิ่งที่เป็นไปอยู่ตรงหน้าในแต่ละวัน แต่ละเวลาเท่านั้น ข้านึกถึงบทความที่ข้าเคยอ่านถึงท่าน

“ประสบการณ์ในรีทรีทอาจไม่ได้เป็นประสบการณ์ที่แย่มากนัก เราอาจมีความรู้สึกบางเบาและลึกซึ้ง เหมือนกำลังตกหลุมรักกับอะไรบางอย่าง เธอเริ่มชื่นชมความเปล่าเปลี่ยวเดียวดาย มีสภาวะโรแมนติกอันแสนละเอียดอ่อนเกิดขึ้น เนื่องจากไม่มีสิ่งใดที่จะสร้างความบันเทิงใจให้แก่เธอ ทุกสิ่งทุกอย่างจะกลับมาหาเธอ บทเพลงต่างๆ ของมิลาเรปะในช่วงแรกของรีทรีท มักจะเป็นเพลงรัก เขาแต่งเพลงชื่นชมทัศนียภาพ หุบเขา บรรยากาศในถ้ำ สภาวะแยกตัวออกมาและความเดียวดายของเขา ความทรงจำที่มีต่อครูบาอาจารย์ ล้วนแล้วแต่เป็นเนื้อความในเพลงรักของเขา..”

จะว่าไปแล้วทัศนียภาพของบ้านเล็กในหุบเขานั้นก็เปรียบได้กับสรวงสวรรค์น้อยๆ ยามพระอาทิตย์ส่องแสง ยามพระจันทร์โผล่พ้นขอบฟ้าออกมา บรรยากาศเปรียบได้ดังพุทธเกษตร เมฆเคลื่อนย้าย ลมเพลมพัด เสียงฝนตก ฟ้าคำราม เสียงของนกฮูกยามค่ำคืน ยุงบินมาเกาะที่ตัว เสียงตุ๊กแกทั้งเห็นตัวและไม่เห็นตัว แรกๆ ข้าก็อาจจะรำคาญกับพวกแมลงที่บินรอบๆ แต่ในชั่วขณะนั้น ข้าก็รู้สึกพึงพอใจที่พวกแมลงเหล่านั้นอยู่เป็นเพื่อนข้าในความโดดเดี่ยวเดียวดายตรงนั้น

ในทุกวันก่อนสวดมนต์เช้าและเย็น ข้าร้องเพลงสวดถึงท่าน ด้วยมนตราที่ข้านำมาด้วย แต่สวดไปสวดมาก็เหมือนร้องเพลงให้ท่านฟัง Om Ah Guru Hasa Vajra Sarva Siddhi Phala Hum, Om Ah Gura Hasa Vajra Sarva Siddhi Phala Humข้าได้ยินเสียงร้องเพลงก้องไปทั่วห้อง และในหุบเขาเร้นลับแห่งนั้น ข้าเชื่อว่า บทเพลงจะส่งไปถึงท่าน ไม่ว่าจะแห่งหนใด หรือในห้วงคำนึงใดใด ข้าขอเปิดรับท่านเข้ามา ณ ที่แห่งนี้ ที่เร้นลับไร้กาลเวลา ไร้เสียง ไร้ผู้คน ที่ที่มีความเป็นไปได้ในจักรวาลแห่งความว่างเปล่า

บางส่วน Quoted จากสัมมนาเรื่อง “คำสอนของมิลาเรปะ” โดย เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ที่ศูนย์ปฏิบัติภาวนาการ์เม โชลิง บาร์เนต เวอร์มอนท์ เดือนกรกฏาคม 1973

เขียน แปลและเรียบเรียงโดย อันอัน วรวรรณ จากประสบการณ์ปลีกวิเวก 13 – 26 ตุลาคม 2566

https://www.lionsroar.com/romantic-desolation-finding…/

From talk five of “The Message of Milarepa,” a seminar given at Karme-Choling Meditation Center, Barnet, Vermont, in July, 1973. ©1998 Diana J. Mukpo