สบตากับ “ขาลง” ใน “เปิดเปลือยตัวตน” ปีที่สี่

สนทนากับ พี่เล็ก ปรีดา เรืองวิชาธร

บทสัมภาษณ์โดย ทีมงานวัชรสิทธา


เข้าสู่ปีที่ 4 ของการจัดคอร์ส “เปิดเปลือยตัวตน” โดย พี่เล็ก ปรีดา เรืองวิชาธร หลังผ่านเวลามายาวนาน ผ่านมรสุมโรคระบาดที่ทำให้ชีวิตผู้คนเปลี่ยนแปลงอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ในโอกาสใกล้วันเริ่มต้นกิจกรรม “เปิดเปลือยตัวตน” ที่กำลังจะเกิดขึ้น ทีมงานวัชรสิทธาเลยมาชวน ‘พี่เล็ก’ ย้อนคุยถึงที่มาของคอร์สเปิดเปลือยตัวตน และความแตกต่างของคอร์สที่กำลังจะจัดขึ้นในปีนี้..

พูดเรื่องอัตตาผ่านการ “สารภาพ” ตัวตนที่เป็นออกไป

พี่เล็ก : “พี่คุยกับตั้ม (วิจักขณ์ พานิช) ตั้งแต่ก่อนจะทำปีแรกว่าการคุยเรื่องตัวตนหรืออัตตา จะคุยแบบเชิงหลักการทางปรัชญา พี่รู้สึกว่ามันก็มีคนทำเยอะแล้ว หาอ่านเอาก็ได้ ทีนี้ถ้าตั้มจะให้พี่ทำ มันก็น่าจะเป็นลักษณะการพูดไปตรงๆ ที่เนื้อตัวของพี่เลย ว่าที่ตัวตนมันปรากฏเนี่ย มันมีพลังงานเป็นยังไง และมันกำหนดสิ่งที่เราทำ เราเป็นยังไงบ้าง จากประสบการณ์ตรงที่สังเกตจากตัวเองภายใน ก็จะเป็นลักษณะคำบอกเล่า คำสารภาพ ซึ่งมันจะเหมือนกับ นึกภาพคนที่เคยเจออะไรมาเยอะๆ โดนมันจู่โจม โดนมันมีอิทธิพลกับชีวิต และทำให้ลงมือทำอะไรบางอย่างออกไป ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องไม่โอเค ซะส่วนใหญ่

พี่ก็เอาด้านร้าย หรือด้านมืดของตัวเองพูดออกไป คล้ายๆ เปลือย หรือลอกคราบตัวเองออกมา ซึ่งจากจุดเริ่มต้นนี้มันจะพาให้เข้าใจง่าย พอเข้าใจง่าย เราก็จะเข้าสู่กระบวนการตั้งคำถาม ว่าแล้วจริงๆ เนี่ย ในหลักการที่เขาพูดถึงตัวตน มีมุมมองอย่างไรบ้าง ในทางศาสนธรรมบ้าง ทางปรัชญาบ้าง หรือทางจิตวิทยาตะวันตกบ้าง”

“เจตนาพี่คือทำให้มันง่าย ใครๆ ก็ฟังได้ ใครๆ ก็ Aware มันได้”

“ทีนี้ในการทำกระบวนการ มันก็จะอาศัยกิจกรรมที่ให้เราได้ทำงานกับมันทางตรงเลย เพื่อทำให้สภาวะตัวตนที่กำลังทำงานอยู่มันปรากฏออกมา อาจจะเป็นกิจกรรม เป็นละคร อะไรที่มันจะเข้ามาทริกเกอร์เรา และเราก็มาดูว่าสิ่งที่มันปรากฏขึ้นมาคืออะไรกันแน่”

ทำงานกับมิติภายในของเรา เปิดรับตัวตนอย่างตรงไปตรงมา

พี่เล็ก : “ด้านนึงนี่มันดีกับตัวพี่เองนะ การที่ได้เล่า ได้สารภาพตัวตนที่กำลังทำงานอยู่เนี่ย คำบอกเล่าแบบนี้มันช่วยทำให้พี่เห็นความจริงอะไรบางอย่าง และยอมรับความจริงอย่างที่ตัวเองเป็น ไปถึงจุดนึงเราก็จะพบว่า เราก็เป็นคนธรรมดา เป็นคนพื้นๆ คนนึงนี่แหละ ไม่มีอะไรวิเศษวิโส

โลกข้างในมันเห็นชัด ยิ่งได้พูดออกไปยิ่งชัด นี่ก็เป็นประสบการณ์การเปลี่ยนผ่านอันหนึ่งในชีวิตพี่ ดังนั้นการทำงานกับตัวเองภายในอย่างตรงไปตรงมาที่ได้ทำในชีวิต ก็เป็นสิ่งที่อยากบอกเล่า อยากแชร์ออกไปให้คนฟัง และการแชร์นี่เองก็อาจจะเป็นตัวเหนี่ยวนำให้คนที่เรียนมีความรู้สึกว่าเขาเองก็เป็นได้ เขาก็มีแบบนี้ได้ ใครๆ ก็มีแบบนี้ได้”

ที่สำคัญคือ ความตรงไปตรงมากับสิ่งที่เป็นอยู่ ถ้าเขาสามารถที่จะสำรวจไปได้ด้วยตัวเขาเอง นี่คือจุดหมายของการทำคอร์สนี้ ให้ผู้เรียนเกิดความกล้าหาญอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่ต้องพยายามไรมาก เพียงเฝ้าดูอย่างซื่อตรงและยอมรับมันได้อย่างแท้จริง

เราไม่จำเป็นต้องไปฝึกอะไรโลดโผน การเห็นและยอมรับได้อย่างตรงไปตรงมาผ่านการบอกเล่าและแบ่งปันที่เรียบง่าย อาศัยกิจกรรมบ้าง อาศัยพื้นที่การเรียนรู้ที่มีพลังโอบอุ้มกันและกันได้ เรามีความใจกว้างตัวตัวเราเอง ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อคนที่มาเข้าร่วม ให้เราอ่อนแอได้ ไม่เห็นว่ามันเป็นศัตรูที่ต้องทำลายล้าง พี่คิดว่าสิ่งนี้มันช่วยให้เกิดการคลี่คลายได้เป็นระยะ มันงอกงามได้ และยังสามารถจับต้องได้ในชีวิตประจำวัน มันจะเกิดทุกขณะของการดำเนินชีวิตแหละ”

“มันก็คือการเปิดประตูไปเรื่อยๆ เปิดไปก็เจอ เจอแล้วก็ไม่เป็นไร ทำความรู้จักเสมือนเจอเพื่อนเก่าแก่”

สบตากับ “ขาลง”

พี่เล็ก : “ปีนี้พี่ตั้งใจให้มันมีความแตกต่างจากที่ทำมา สิ่งที่จะเปลี่ยนไปจากสามปีแรก ปกติพี่จะเริ่มพูดว่า ตัวตน เวลามันทำงานมันจะออกอาการหลายด้านมาก หนึ่งในนั้นก็คือ อาการยอมรับความจริงไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วในชีวิต โดยเฉพาะเรื่องที่เป็นด้าน “ขาลง” ของชีวิต อย่างเช่น รู้สึกผิดหวังกับความรัก ความสัมพันธ์ รู้สึกแย่กับเพื่อนหรือคนในครอบครัว รู้สึกไม่ดีกับงานที่มันไม่สำเร็จ งานที่ถูกวิจารณ์ต่อว่า เมื่อมันเริ่มทนไม่ได้กับความปั่นป่วน ความเฮงซวยรอบด้านในชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการเงิน ความคิดเห็นต่าง ความขัดแย้ง การถูกกดขี่ การถูกใช้อำนาจที่มันแย่ นี่เป็นสิ่งที่เราไม่ค่อยรู้สึกดีกับมัน สิ่งที่ชีวิตไม่พึ่งปรารถนา เราอยากอยู่ห่างจากมัน”

“แม้แต่เรากำลังเช็คเรตติ้งในโซเชียล มันได้หมด … เอาอย่างคอร์สนี้ก็ได้ มันเคยเป็นที่สนใจ แต่ปรากฏปีนี้มันไม่มีคนเลย เราก็เอามาคุยได้เลย เป็นขาลงของการทำงาน”

“พอเกิดขึ้น แล้วไง? เราก็จะมานั่งดูว่า ในอีกด้านหนึ่งของชีวิต หรืออีกหลายๆ ด้าน ที่เป็นด้านลบอย่างที่ว่าเนี่ย ทำไมเรารู้สึกรับมือไม่ได้ และโดยเฉพาะความเจ็บป่วยหรือความตายของเรา ความตายของคนที่เรารัก ซึ่งก็รออยู่ข้างหน้านี้แล้ว พวกด้านทั้งหมดเหล่านี้ ด้านที่เป็นขาลง ที่เรายอมรับไม่ได้ เราก็จะมาทำความรู้จักกับมันมากขึ้น และสบตากับมันตรงๆ มากขึ้น

และตรงนี้ มันก็จะโยงกับเรื่องตัวตนอีกรอบนึง ว่ามันมีรากเหง้าอะไรหลายๆ อย่างที่มาจากความยึดมั่น ยึดถือในตัวตน อัตตาของตัวเอง”

“อันนี้จะเป็นเนื้อหาของปีที่สี่นี้ ใครที่รู้สึกผิดหวังหรือปั่นป่วนได้ง่ายกับชีวิต รู้สึกชีวิตมันพัง แหลกสลาย มันไม่โอเค ไม่ว่าจะด้านไหน มันได้หมดเลยนะ เราก็มาแลกเปลี่ยนกัน”

ในการเปิดเปลือยตัวตน อะไรบ้างที่ห่อหุ้มเรา และสิ่งเหล่านั้นทำอะไรกับเรา?

พี่เล็ก : “จุดตั้งต้นที่จะดูว่าอะไรคือสิ่งที่มาห่อหุ้มเรา นั่นก็คือภาพรวมบางอย่างที่เราเข้าใจไปเอง”

“สมมติว่าเรามีคนรักอยู่ ปรากฏว่ามันพัง และเราพยายามจะรักษาความสัมพันธ์อันนี้ไว้ แม้ว่ามันพัง มันไม่โอเค เขาขอเลิกเรา ทีนี้พอเกิดเหตุการณ์รอบตัวแบบนี้ มันก็จะมีผลกับโลกด้านในของเรา มีผลต่อความรู้สึกนึกคิดเรา คำถามคือ แล้วทำไมสิ่งเหล่านั้นถึงทำให้เรา suffer ล่ะ บางทีมันถึงขั้นเป็นทรอม่าเลย จากการที่โดนกระทบจิตใจเนี่ย และบางทีเหตุการณ์บางอย่างมันแรงจนเราแทบจะหมดพลังชีวิตเลย

ที่นี้เจ้า suffer ก็อาจจะมาจากอะไรที่ห่อหุ้มเรา เป็นความเข้าใจที่มีต่อตัวเอง ซึ่งมันอาจจะไม่ตรงกับความเป็นจริง แต่มันเป็นความจริงที่เราเข้าใจ ยึดมานมนานว่ามันน่าจะเป็นแบบนี้ อย่างเช่นเราเคยเชื่อว่า ถ้าเราดูแลความสัมพันธ์ดี เราซื่อตรงกับคนรักดี เราทำทุกอย่างแล้ว แล้วทำไมเขาเปลี่ยนไป สมมติเราเชื่อแบบนี้ แต่นี้เป็นเครื่องห่อหุ้ม เป็นความคิดที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงก็ได้ เพราะว่าคนจะรู้สึกดี หรือมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเราเนี่ย มันไม่ได้อยู่ที่เราคนเดียว ใช่มั้ย? มันอยู่ที่ตัวเขาด้วย มันอยู่ที่สถานการณ์รอบด้าน หลายอย่างเลย บริบทสังคม บริบทครอบครัว ต้นทุนชีวิต มันมีแฟคเตอร์หลายตัวมากเลย

ดังนั้นภาพของการเข้าใจความจริงที่ไม่ตรงกับความจริง มันก็ทำให้เราอดไม่ได้ที่จะไปเชื่อ หรือไปยึดว่าความสัมพันธ์ที่เรารักษามาดีโดยตลอดเนี่ย เราดูแล เราเฝ้ามอง เราทำทุกอย่างแล้ว แต่มัน พัง มันน่าจะดี แต่ทำไมมันพังได้ เราก็รู้สึกผิดหวังรุนแรงมาก อันนี้มันเป็นมุมมองหรือความเชื่อที่เราใช้มาตลอด พอมันไม่ตรงกับสิ่งที่คาดหวัง มันก็เฟล และเราก็ทรมานมากเลย”

“มันเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง mind set หรือมุมมอง ที่มีต่อตัวเราภายในและต่อความสัมพันธ์ที่เรามีต่อคนคนนั้น คือเราไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จที่จะไปกำหนดให้ทุกอย่างมันเป็นไปอย่างที่เราต้องการ แม้เราจะพยายามทุกอย่างแล้ว เหมือนการงานเลย เหมือนการดูแลสุขภาพเลย เหมือนทุกอย่างเลย”

“ต่อให้เราพยายามที่สุดแล้ว แต่มันก็มีคำว่าเฟล เพราะเราไม่มีอำนาจที่จะควบคุมมันได้ทั้งหมด”

“ดังนั้นถามว่าอะไรที่ห่อหุ้มเราไว้ และทำให้เราต้องทุกทรมานกับสิ่งต่างๆ ในชีวิต ก็คือ mind set ที่ผิดพลาดอันนี้ มุมมองที่ผิดพลาดต่อชีวิต ต่อสิ่งที่ทำ รวมถึงอีกหลายๆ ตัวในระดับการรับรู้ การรับรู้ชีวิต รับรู้ผู้อื่น มันอาจจะคับแคบหรือผิดพลาด ซึ่งเราทำเป็นประจำ

ตรงนี้พี่เรียกรวมๆ ว่า มันมาจากการเข้าใจผิดอะไรบางอย่างที่มันไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้นพอเกิดอะไรบางอย่างที่ไม่ตรงกับที่เราเชื่อ เราก็เลย suffer มากเลย

พอเรายึดมั่นมาก เชื่อว่าเรามีตัวตนที่มีอำนาจอย่างแท้จริง เราจะรู้สึกอดไม่ได้ที่จะให้เป็นอย่างงั้นอย่างงี้ ภาพที่รู้สึกว่ามีตัวมีตนเราที่มันต่อเนื่องไปเรื่อยๆ อย่างงี้ มันเป็นมายาภาพที่สำคัญ ห่อหุ้มเราอยู่ เราจึงรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นแบบตามจริงได้ยากมาก

ทำงานกับร่องรอยของอดีต อาจจะเจ็บๆหน่อย

พี่เล็ก : “ริ้วรอยวิกฤตชีวิตมันมีอยู่ในตัวเรามากมาย และมันก็มีสิ่งที่มากระตุ้นอยู่ทุกวัน อะไรที่เป็นแผลทางใจเหวอะหวะของชีวิต หรือที่เป็นความเจ็บปวดอะไรบางอย่าง เวลาที่มันถูกทริกเกอร์ มันก็จะมีอาการที่หลบเข้าไป และเราก็ล็อกประตูไม่ให้ใครเข้าไปยุ่มย่าม หรือแม้แต่ตัวเรายังไม่กล้าเข้าไปสบตามัน ที่นี้พอถูกทริกเกอร์เนี่ย มันก็เลยอาจจะรุนเเรงได้ หรือว่ามันเจ็บมากจนเราไม่กล้าที่จะเปิดมันออกมา เราอาจจะต้องเข้าไปเยี่ยมมัน เข้าไปดูมันตรงๆ

“จริงๆ พวกม่านหมอก มายาภาพที่บังเอาไว้ มันก็ไม่ใช่เป็นประตูที่ล็อก หรืออะไรที่ห้ามเข้ามากมาย แต่ว่ามันเหมือนกับว่า สมมติพี่กลัวผี และเขาบอกว่าห้องนี้มันมีผี แต่ตัวความเข้าใจ ความเชื่อที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงมันทำให้พี่ไม่กล้าที่จะผ่านห้องนี้ และก็รู้สึกว่ามีสิ่งที่น่ากลัวอยู่ พอเข้าไปใกล้ๆ มันจะรู้สึกพลังงานบางอย่างที่ทำให้พี่ไม่สบายตัวไม่สบายใจ และอาจจะเจ็บๆ อะไรบางอย่าง”

“ภาวะแบบนี้มาจากอะไร ก็จะไปค้นตรงนี้ให้ชัดขึ้น

เครื่องห่อหุ้มที่ว่า มันคือตรงนี้”

“พี่อาจจะใช้คำพูดไม่เหมือนคนอื่น เช่นที่ตรุงปะใช้คำว่า ทะลุทะลวง หรือว่าต้องกล้า ต้องเป็นนักรบ พี่รู้สึกว่าอยากจะใช้เพียงแค่ เขยิบ เขยิบการรับรู้ เดินตรงๆ เข้ามาสู่การรับรู้ที่แท้จริงด้วยการเปิดออกของภายในของเราต่างหาก ซึ่งแน่นอน ถามว่าเราต้องใช้ความกล้าหาญมั้ย สมมติเรากลัวผี กลัวที่ตรงนั้นมาก มันก็ต้องกล้าเดินเข้าไปดู ตกลงมันมีผีจริงๆ มั้ย จูงมือกันไปเลย”

“ถ้าหากเราเป็นมานาน เราก็จะรู้สึกไม่อยากไป เพราะเราจะเจออะไรบางอย่างที่ไม่คาดฝันซึ่งมันน่ากลัวมาก เหมือนกับคนที่จมน้ำแล้วเกิดปมที่เข็ดหลาบมาก แก้ยากมากเพราะมันเหนียวแน่น นี่คืออีกสิ่งหนึ่งที่ตัวตนมันทำงาน มันจะบอกเราตลอดเวลาว่า ‘อย่าไปเลย ถ้าไปแล้วจะเจอ….’ ที่มันเป็น unknown มากเลย เราจึงเลือกหาวิธีมาแก้ มาทำอะไรบางอย่างให้มัน bypass ไปจากจุดที่เป็นอยู่ที่แท้จริง ซึ่งพี่มองว่าบางทีมันไม่ตรงจุด บางทีเราอาจจะใช้วิธีการที่จะทำให้รู้สึกดี รู้สึกว่าใช้ชีวิตต่อไปได้ แต่ไม่เคยนึกถึงห้องนี่และเปิดมันออก ไปดูว่าจริงๆ ห้องนี้เป็นยังไงกันแน่”

“มันเลยดูลึกลับมากกับสภาวะที่เป็นอยู่ภายใน”

พื้นที่ชั้นเรียนที่เปิดให้เรากล้าเข้าไปสำรวจโลกภายใน

พี่เล็ก : “ทีนี้เราจะเอาสิ่งที่ดูนามธรรมมากๆ มาสู่การปฏิบัติได้อย่างไร คล้ายๆ เรามีประตูของตัวตนหลายตัวที่ทับซ้อนกันอยู่ ต้องหากุญแจมาเปิดออก พอไปดูจริงก็อาจจะไม่มีไรมาก เหมือนถือคบไฟเข้าไปดูในห้องมืด ในนั้นก็อาจจะไม่ได้มีสิ่งที่เป็นอย่างที่เราคิดไว้ก็ได้

ที่ผ่านมา พี่จะให้กระบวนการที่เรียกว่า อยู่บนภูเขาน้ำแข็ง ที่มันเห็นง่าย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต สมมติทะเลาะกันด้วยคำพูดอะไรบางอย่างที่มันไม่โอเคเลย และมันทริกเกอร์ทั้งคู่ เราจะเอาจากจุดนี้ที่มันเห็นด้วยตาเปล่า อยู่ในชีวิตที่มันเห็นๆ กัน และเอามาดูว่าในโลกของภายในมันเกี่ยวโยงกันยังไงกับสิ่งที่มากระทบเราอันนี้ ทำให้เราทริกเกอร์ขึ้นมา เข้าไปดูข้างในด้วยกัน ค่อยๆ เข้าไป พี่ทำแบบนี้ในคอร์สรอบที่ผ่านๆ มา”

“พี่จะอาศัยเรื่องเล่าและกิจกรรมบางอย่างที่จะทำให้ค่อยๆ โยงจากเรื่องที่มันเห็นได้ง่ายๆ เข้ามาสู่ข้างใน ซึ่งมันต้องใช้เวลานิดนึง”

กล้าเผชิญและยอมรับ เพื่อก้าวต่อไปข้างหน้า

พี่เล็ก : “สุดท้ายมันก็จะไปจบที่ว่า เราจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร นึกถึงตอนนั่งเครื่องบิน ที่บินผ่านกลุ่มเมฆไปได้ เครื่องอาจจะสั่งนิดนึง มีลมเยอะ เมฆเยอะ มีพายุมา สุดท้ายมันก็ผ่านไปได้ ไม่ยากหรอกถ้าหากเราซื่อตรงและไว้วางใจตัวเอง ไว้ใจกระบวนการภายในของเรา ทุกคนมีขุมพลังที่จะเผชิญหน้ากับความทุกข์ เผชิญหน้ากับสิ่งที่เราเคยคับแคบกับมันมาก่อน เข้าใจผิดมาก่อน

เกิดเป็นวิถีภาวนาเพื่อที่จะก้าวข้ามผ่านเมฆหมอกอะไรเหล่านี้ไปได้ ไม่น่าจะยากเย็น บางทีไม่ต้องใช้เครื่องมืออะไรมากมาย เพียงแต่เฝ้ามองที่มันเป็นไป เห็นมันให้ชัดๆ แต่จะเจ็บนะ เวลาเห็นมัน”

“เหนือลมฝนหรือเมฆ ท้องฟ้าด้านบนมันสว่างและมีแสงอาทิตย์อยู่”


“พี่เล็ก”

ปรีดา เรืองวิชาธร

“พี่เล็ก” เริ่มต้นชีวิตการทำงานที่คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา (ศพพ.) ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งส่งเสริมและสนับสนุนให้นำศาสนธรรมมาใช้ในชีวิตและงานพัฒนาสังคม โดยผ่านการสนับสนุนผู้นำทางศาสนา คือ นักบวชหญิง-ชาย รวมเวลา 13 ปี โดยทำหน้าที่ประสานงานและจัดการอบรมให้กับกลุ่มเสขิยธรรม (กลุ่มพระสงฆ์ แม่ชี ที่ทำงานพัฒนาสังคมในรูปแบบต่างๆ) มาโดยตลอด

สนใจและศึกษาการเรียนรู้แนวจิตวิญญาณและกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม โดยผ่านประสบการณ์การอบรมแนวนี้มามากมายหลายครั้ง เปลี่ยนบทบาทการทำงานจากองค์กรเดิม คือ คณะกรรมการศาสนาเพื่อการพัฒนา มาทำงานเป็นกระบวนกรให้กับเสมสิกขาลัยนับแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน โดยจัดอบรมให้กับกลุ่มผู้นำในรากหญ้า เจ้าหน้าที่องค์กรพัฒนาเอกชน หน่วยงานราชการ หน่วยงานการศึกษา องค์กรอิสระ ตลอดจนบริษัทธุรกิจ

นอกจากนี้ยังมีผลงานการเขียนมากมายไม่ว่าจะเป็นบทความและหนังสือ เรื่อง “งาน พลังกลุ่มและความสุข”