บทความโดย PUNCH วัชรสิทธา
เรื่อง ‘เพศ’ ที่คนสมัยนี้พูดกันจนดาษดื่น หลายคนคงคิดว่าจะมีอะไรให้อบรมตั้งสามวัน แต่การร่วมหลักสูตร Gender Awareness & Social Justice ของ อ.อวยพร เขื่อนแก้ว ไม่ใช่แค่การเข้าไปรับความรู้จากวิทยากรเท่านั้น พี่อวยพรได้ยกหลักคิดด้านการศึกษาของกลุ่มเควกเกอร์ (Quakers) มาให้พวกเราฟังตั้งแต่เริ่มคลาสว่า
“คำตอบหรือปัญญานั้น ไม่ได้มีอยู่แค่กับผู้สอนเท่านั้น แต่อยู่ในตัวผู้เรียนแต่ละคน”
ดังนั้นเวลาสามวันจึงเป็นการเรียนรู้ทั้งจากพี่อวยพรและ “เรียนรู้จากเพื่อน” พร้อมย้ำว่า “จะรู้จักกันจริง ๆ ก็ต่อเมื่อฟังกันด้วยใจ” ซึ่งหมายถึง “คนนึงพูดจากใจ อีกคนฟังด้วยใจ … ฟังด้วยใจที่ไม่มีอคติ เราจะไม่เอาประสบการณ์ของเราไปตัดสินเขา และไม่ถาม ฟังเท่าที่เพื่อนปลอดภัยและไว้ใจที่จะเล่าให้ฟัง” ดังนั้นสำหรับหลักสูตรสามวันนี้ “กระบวนการเรียนรู้ จะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ ซึ่งถ้าเรียนจบมหาลัยจะรู้ว่าเป็นการศึกษาที่ไม่เข้าใจตัวเอง การศึกษาทั่วโลกตั้งใจทำให้ประชากรเซื่องซึม การศึกษาทั้งหมดเพื่อให้คนมีงานไม่ได้ให้คนตื่นรู้ มนุษย์ทุกคนมีประสบการณ์ เราจะเรียนรู้ทุกเรื่องผ่านประสบการณ์ตรง”
Awareness ที่เราอาจไม่ aware
‘awareness’ คำนี้ พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ได้จัดให้เป็นความหมายของคำว่า “สัมปชัญญะ” หรือ “ความรู้ตัว/ความรู้ชัด” พี่อวยพรได้พาเราไปรู้จักกับ ‘awareness’ หรือความรู้ตัวอย่างเป็นธรรมชาติ โดยพวกเราเริ่มการเรียนแต่ละวันด้วยการกลับมาอยู่กับตัวเองในปัจจุบันขณะ พี่อวยพรเล่าประสบการณ์การทำงานเพื่อสังคมในอดีตให้เราฟังว่า “เราทำงานเพื่อสันติภาพแต่ข้างในไม่มีสันติ พอมีสติรู้ตัวมากขึ้น ก็ปล่อยเรื่องราวในอดีตได้มากขึ้น” พี่อวยพรจึงนำประสบการณ์มาเปลี่ยนแปลงเป็นแนวทาง “การเรียนรู้ผ่านการรู้สึกตัว ความมั่นคงที่สำคัญที่สุดคือความมั่นคงข้างใน ความมั่นคงทางจิตวิญญาณ จะทำให้เรารับมือกับปัญหาทุกปัญหาได้ รวมทั้งตอนป่วยและตอนตาย”
มากไปกว่านั้น พี่อวยพรไม่ได้หยุดแค่การ “รู้สึกตัว” ที่เราอาจคุ้นเคยในการสอนธรรมมะตามปกติเพียงเท่านั้น แต่ยังได้พาเราไป “รู้จักตัวเอง” อีกด้วย และในที่สุดก็ได้พาเราไป “รู้จักสังคม” ในมิติต่าง ๆ รวมไปถึง ‘gender awareness’ ตามชื่อหลักสูตรนี้ ที่ชวนพวกเรามองเรื่องเพศไม่ใช่เฉพาะที่เกี่ยวกับอัตลักษณ์ของแต่ละคนเท่านั้น แต่ยังชวนเรา aware ถึงความสัมพันธ์เชิงอำนาจและโครงสร้างของระบบเพศที่โยงใยและส่งอิทธิพลถึงทุกคนในแทบทุกมิติของชีวิต ซึ่ง awareness ในระดับต่าง ๆ นี้เองเป็นเครื่องมือที่พี่อวยพรได้ให้พวกเราเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งต่อตัวเองและสังคม
Gender ที่เราเหมือนจะรู้จัก
“… ที่ต้องรู้คือเรื่องระบบเพศ เพราะระบบเพศและอำนาจนั้นกระทบคนทุกคน แต่คนที่ได้ประโยชน์จะไม่รู้สึก …” อวยพร เขื่อนแก้ว
ในการทำความเข้าใจตนเอง ผู้อื่น และสังคมนั้น เราไม่อาจหลีกเลี่ยงการทำความเข้าใจในเรื่องเพศไปได้เลย ภายใต้กรอบของเพศสภาพชายและหญิงรักต่างเพศ ที่สถาบันต่าง ๆ ในสังคมได้ทำให้แข็งแกร่งและแข็งทื่อนี้ อำนาจได้ถูกช่วงชิงจากหญิงและเพศหลากหลายไปสถาปนาให้ชายรักต่างเพศเป็นผู้ใช้อำนาจหลักในบริบทสังคมต่าง ๆ ตัวผู้เขียนเองเนื่องจากมีเพศกำเนิดเป็นชาย ครอบครัวและสังคมก็ได้มอบกรอบพร้อมอภิสิทธิ์ (privilege) แห่งความเป็นชายมาเป็นของขวัญแต่แรกเกิด พร้อมเงื่อนไขใต้สำนึกว่าหากจะรักษาอภิสิทธิ์นี้ไว้ ชายจำต้องมีลักษณะดังนี้ตามที่สังคมกำหนด ส่วนหนึ่งของหลักสูตรนี้ พี่อวยพรได้พาพวกเราไป aware ถึงอำนาจของเพศที่ส่งผลต่อตัวเราเอง และรูปแบบการใช้อำนาจเรื่องเพศในสังคม
อำนาจเปลี่ยนแปลงสังคม
“ถ้าจะทำงานสังคมต้องรู้จักสังคม ถ้าจะรู้จักสังคมต้องวิเคราะห์เรื่องอำนาจ” – อวยพร เขื่อนแก้ว
เมื่อเราเริ่มรู้สึกตัว เราก็พร้อมที่จะทำความรู้จักกับตัวเองและผู้อื่น โดยเริ่มการทำความรู้จักผ่านการวิเคราะห์อำนาจที่เรามี ในสถานการณ์และบริบทต่าง ๆ พี่อวยพรพาพวกเราไปสืบเสาะแหล่งที่มาของอำนาจนั้น ๆ ก่อนที่จะชวนพวกเรามาร่วมลิสต์แหล่งที่มาของอำนาจเหล่านี้ เช่น เงิน อาชีพ สถานะครอบครัว วุฒิการศึกษา การแสดงอัตลักษณ์ทางเพศตามกรอบของสังคม ฯลฯ ซึ่งเหล่านี้จัดเป็นแหล่งอำนาจภายนอกที่เราต่างพึ่งพาไม่มากก็น้อย
ไม่ว่าเราจะนิยามตนว่าเป็นเพศอะไร เราสามารถใช้อำนาจความเป็นหญิงเปลี่ยนแปลงสังคมในชีวิตประจำวัน
“Feminism ในแง่ของอุดมการณ์คือการสร้างให้สังคมมีความเท่าเทียมทางเพศ คือการตีแผ่ วิเคราะห์ระบบชายเป็นใหญ่ บรรทัดฐานรักต่างเพศ … ในแง่ของวิธีการ feminism เสนอว่าต้องฟังประสบการณ์ของผู้หญิง ให้คุณค่ากับอารมณ์ความรู้สึก personal is political.” – อวยพร เขื่อนแก้ว