Naree Circle: วงล้อมอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นจากความเปราะบางของมนุษย์ธรรมดาที่ถูกกดทับ

สรุปกิจกรรมโดย พรทิภา จันทรพราม

ที่มาภาพ : spiritysol

จำได้ว่าเมื่อหลายปีก่อนเคยมีโอกาสรู้จักกิจกรรมที่ชื่อว่า วงนารี” ในฐานะส่วนหนึ่งของกิจกรรมในงาน Sacred Mountain ที่เชียงดาว ในตอนนั้นไม่ได้มีโอกาสเข้าไปร่วมกิจกรรม แต่รู้สึกสนใจและสงสัยมาตลอดว่า “วงนารี นี่มันต่างยังไงกับการตั้งวงเม้าท์มอยกันของกลุ่มผู้หญิงเหรอ?” ในที่สุดเมื่อวันเสาร์ที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา ได้มีโอกาสไปลองเข้าร่วมกิจกรรม “Naree Circle: วงนารี”  ที่วัชรสิทธา กิจกรรมนี้ดูมีความพิเศษตั้งแต่เริ่มรับสมัครเพราะเป็นกิจกรรมที่รับเฉพาะผู้ร่วมกิจกรรมที่เป็นผู้หญิง หรือ LGBTQIA+ เท่านั้น ถ้าเป็นเพศชายที่ต้องการเข้าร่วมกิจกรรมก็จะต้องได้รับการพิจารณาเป็นรายๆไป ซึ่งในจุดนี้ก็ทำให้เกิดความสงสัยอยู่ในใจไม่น้อยว่าเป็นเพราะอะไร แต่ก็เก็บความสงสัยนี้ไว้ในใจ เพื่อไปหาคำตอบที่นั่น

กิจกรรมเริ่มต้นในเวลา 18.30 น. การเดินเข้าไปที่วัชรสิทธา เทเวศร์ ในช่วงเวลาโพล้เพล้ บรรยากาศมืดๆ ทึมๆ เต็มไปด้วยความน่าพิศวง เป็นพื้นที่ของ Unknown ที่อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกกล้าๆ กลัวๆ แต่พื้นที่นี้ก็มีความอบอุ่น เปิดรับ และมีความมั่นใจลึกๆบางอย่างที่กระตุ้นให้รู้สึกอยากจะเดินเข้าไปอีกนิด…อีกนิด..

เมื่อเดินมาถึงหน้าห้องจัดกิจกรรม “พี่อัน” วรวรรณ จุลละโพธิ กำลังยืนรอต้อนรับผู้ร่วมกิจกรรมทุกท่าน พร้อมกับพิธีกรรมแรกก่อนที่ทุกคนจะเข้าวงนารี นั่นก็คือ “พิธีกรรมการล้างเท้า” ทุกคนที่เข้าร่วมวงจะต้องมายืนล้างเท้าในน้ำลอยดอกไม้ จากนั้นพี่อันจะรมควันแต่ละคนด้วยด้วยพาลาซานโต้หรือ Sage เพื่อปัดเป่าและเคลียร์พลังงานก่อนเข้าวง ซึ่งช่วงเวลาสั้นๆในพิธีกรรมนี้ก็นำพาเรากลับมาสู่ร่างกายของเราอีกครั้งหนึ่งได้อย่างน่าประหลาด ความเย็นของน้ำและความอ่อนนุ่มของกลีบดอกไม้แต่ละดอกที่กำลังสัมผัสอยู่ที่ผิวของเท้า กลิ่นของ Sage ที่ลอยเข้ามาแตะจมูก ช่วยดึงเราจากความคิดและความกังวลทั้งหลายที่กำลังลอยเคว้งคว้าง กลับมาสู่ร่างกาย กลับมาสู่เท้า กลับมาสู่จมูก กลับมาสู่ลมหายใจ

เมื่อพิธีกรรมล้างเท้าเสร็จสิ้น ผู้เข้าร่วมกิจกรรมแต่ละท่านก็จะเดินเข้าสู่ห้อง Shrine Room ซึ่งเป็นห้องที่ใช้ในการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เมื่อเปิดประตูเข้าไปจะพบกับเบาะสีแดงเลือดหมูที่วางเรียงกันเป็นวงกลมอยู่ด้านหน้า Main Shrine และ Protector Shrine ส่วนพื้นที่ว่างใจกลางวงถูกจัดเป็น Mandala of Creative Expression ที่ประดับประดาไปด้วยดอกไม้ ธงมนต์ รูปปั้นนางฟ้า และอื่นๆอีกมากมาย นอกจากนี้บริเวณข้าง Main Shrine ยังมีพื้นที่ของ Himalayan Singing Bowl โดย “คุณเพชร ปรัชญา เคียงประคอง” ที่มาร่วมตีขันระฆัง เพื่อทำ Sound Healing ให้กับวงนารีตลอดทั้งกิจกรรม  หลังจากเลือกเบาะที่นั่งกันจนครบทุกท่านแล้ว ก็เริ่มเข้าสู่กิจกรรมแรกของวงนารี… 

Fullness of the Heart

เริ่มต้นด้วยการแนะนำตัวกันรอบวง หลังจากนั้นพี่อันก็เชิญชวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านแลกเปลี่ยนเรื่องราวส่วนตัว เรื่องราวอันเจ็บปวดและเปราะบางที่บอกใครไม่ได้ แต่รู้สึกอยากจะบอกเล่าในวงนี้ ก่อนที่จะเริ่มเล่าพี่อันได้เชื้อเชิญให้ทุกคนในวงลองรับฟังเรื่องเล่าของเพื่อนโดยไม่ตัดสิน ลองปล่อยวางจากความคิดและเหตุผล แล้วใช้ร่างกายและหัวใจในการรับฟัง ลองอนุญาตให้ความรู้สึกต่างๆจากการฟังและการเล่าได้เกิดขึ้น จากนั้นเรื่องราวอันเปราะบางจากเพื่อนในวงคนแล้วคนเล่าได้ถูกแบ่งปันซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้หญิง หรือ LGBTQIA+ ที่อยู่ในครอบครัว ในที่ทำงาน หรือในสังคมที่ชายเป็นใหญ่ เราต่างก็ต้องเผชิญกับการถูกกดทับจากเพศสภาพของเรา

“เราต้องพยายามจะเป็น ‘ผู้หญิงที่ดีงามเพียบพร้อม’ จนไม่สามารถเป็นตัวของตัวเองได้ เพื่อให้พ่อแม่ของเราสบายใจ”

“ความเห็นในเรื่องงานของเราไม่ได้รับการสนใจ เพียงเพราะเราเป็นผู้หญิง”

 “สิ่งดีๆที่เราทำมาตลอดชีวิตเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าเรา ‘ดีพอ’ กลับไม่เคยดีพอเสียทีเพราะเราเป็นเกย์”

“บ้านเป็นของทุกคน แต่ทำไมพ่อถึงมีสิทธิ์ในการออกกฎในบ้านเพียงคนเดียว”

“ในขณะที่แม่ทำงานนอกบ้านด้วย แม่ก็ยังต้องเหนื่อยทำงานบ้าน และไม่ว่าพ่อจะสร้างภาระให้คนในครอบครัวมากแค่ไหน แม่ก็ยังรักพ่อมาก และแม่จะไม่พอใจเสมอเมื่อเราต่อต้านสิ่งที่พ่อทำ”

“ตั้งแต่เด็ก เรารู้สึกมาตลอดว่าเราไปเล่นกับเพื่อนผู้ชายก็โดนแกล้ง แต่ไปเล่นกับเพื่อนผู้หญิงก็ไม่ได้เหมือนกัน ดูเหมือนว่าจะไม่มีที่ทางสำหรับคนอย่างเรา”

“การมีเพศสภาพอย่างเรา หลายๆครั้งก็ทำให้เรารู้สึกว่า เราไม่ Belong to กับอะไรเลยบนโลกใบนี้”

เราใช้ร่างกายและหัวใจของเราสัมผัสความรู้สึกเศร้า ความรู้สึกกลัว ความรู้สึกน้อยใจ เราสัมผัสความเจ็บปวด เคว้งคว้างจากความรู้สึก “ไม่มีที่ทาง” หรือ “ไม่ Belong to” ผ่านเรื่องราวของเพื่อนในวงคนแล้วคนเล่า คลอเคล้าไปกับเสียงขันระฆังในจังหวะและความถี่อันหลากหลาย ที่คุณเพชรได้ปรับไปตามพลังงานของวงในแต่ละช่วงเวลา

แล้วเวทมนต์อันเกิดจากความเปราะบางก็เกิดขึ้น ในความท่วมท้นของเรื่องเล่าที่แสนเจ็บปวด กลับแฝงไปด้วยพลังบางอย่าง พลังที่ต้องการจะมีชีวิตต่อไปโดยไม่สูญเสียตัวเอง ไม่สูญเสียความรักและหัวใจของความเป็นมนุษย์ ดังนั้นเรื่องเล่าจากความเจ็บปวดของเพื่อนคนหนึ่ง ก็กำลังคลี่คลายปมในใจและความเจ็บปวดให้กับเพื่อนคนอื่นๆในวง

“ในขณะที่ทุกคนเปิดแผลตัวเองออกมา แผลนั้นก็เปล่งประกายและช่วยเยียวยาเพื่อนในวงด้วย”

ช่วงเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงที่พวกเราต่างรับฟังกันและกันผ่านร่างกายและหัวใจ เห็นได้ชัดเหลือเกินว่าเราไม่ได้กำลังมานั่งฟังเพื่อนปรับทุกข์ หากแต่เรากำลังเป็นสักขีพยานให้กับการเดินทางอันทรงเกียรติของเพื่อนคนแล้วคนเล่าที่ได้แสดงการแปรเปลี่ยนความเปราะบางของตัวเองให้กลายเป็นพลังบวกได้อย่างน่ามหัศจรรย์

“เราต่างเยียวยาซึ่งกันและกัน”

Meditation กลับมาสัมพันธ์กับ Feminine Energy

หลังจากได้รับพลังงานมหาศาลที่อยู่ในความสั่นไหวและความเปราะบางผ่านเรื่องเล่าของเพื่อนในวง พี่อันชวนทุกคนกลับมาเชื่อมต่อกับร่างกาย เชื่อมต่อกับช่องกลางกาย เชื่อมต่อกับหัวใจ เชื่อมต่อกับมดลูก เชื่อมต่อกับกระดูกสันหลัง

เราใช้เวลาประมาณ 15-20 นาที ในการปล่อยสายเรื่องต่างๆทิ้งไป กลับมาเชื่อมต่อกับจุดต่างๆในร่างกาย เรากลับมาสัมพันธ์กับพลังงานเพศหญิง (Feminine Energy) ที่มีอยู่แล้วเสมอในตัวของทุกคน พลังงานแห่งการสร้างสรรค์ ไร้รูปแบบ ควบคุมได้ยาก ที่มักจะถูกกดทับและทำให้เชื่อง

“เราอนุญาตให้พลังงานนี้ได้แสดงตัวอีกครั้ง”

ความเปราะบางที่ค่อยๆแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานแห่งความรัก เป็นความไว้วางใจ เป็นการยอมรับโดยสมบูรณ์ในเพศสภาพของเรา เป็นตัวของเราในแบบที่เราเป็น จากนั้นพี่อันก็ค่อยๆพาทุกคนกลับเข้ามาสู่ช่วงสุดท้ายของกิจกรรมที่นับว่าเป็น Highlight หนึ่งซึ่งหลายท่านที่มาร่วมกิจกรรม (รวมถึงตัวเราเอง) ก็รอคอยช่วงเวลาที่จะได้ทำกิจกรรมนี้…

Yoni Puja พิธีกรรมแห่งการเฉลิมฉลองเพศสภาพ

เมื่อเราได้สัมพันธ์กับพลังงานเพศหญิง (Feminine Energy) ในตัวอย่างเต็มที่ เรายอมรับเพศสภาพของตัวเองโดยสมบูรณ์ เราพร้อมที่ปลดปล่อยและ Empower เพศสภาพของเราแล้ว พี่อันจึงชวนทุกคนมาเฉลิมฉลองเพศสภาพของตัวเองด้วยกิจกรรม “วาดโยนี” ทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับเฟรมผ้าใบ หลังจากนั้นเราก็เริ่มรังสรรค์โยนีในแบบของตัวเอง โยนีที่สะท้อนตัวตนของแต่ละคน..

“โยนีที่ประดับประดาด้วยกากเพชรระยิบระยับ หรูหราอลังการ”

“โยนีที่เต็มไปด้วยเส้นขนหลากสีสัน”

“โยนีที่มีคลิตอริสเป็นดอกบัว”

“โยนีที่มีดวงตา”

“โยนีดอกไม้”

ช่วงเวลาของพิธีกรรม Yoni Puja เราอนุญาตให้พลังงานเพศหญิงของเราแสดงตัวออกมาและสัมพันธ์กับพลังงานนั้นอย่างเต็มที่ ในวงล้อมแห่งความไว้วางใจ วงล้อมที่โอบรับทุกอย่างในแบบที่เราเป็น วงล้อมที่ปราศจากคำตัดสิน บรรยากาศที่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมหลายท่านวาดโยนีกันไป หยอกเย้ากัน ชื่นชมโยนีของกันและกัน สลับกับเสียงขันระฆังของคุณเพชรที่ยังคงสนับสนุนพลังงานในวงอยู่ตลอดเวลา ความรู้สึกสบายๆและเป็นมิตรเช่นนี้ ทำให้เราต่างเพลิดเพลินกับการสร้างสรรค์โยนีจนลืมเวลากันไปเลยทีเดียว

จากนั้นผู้เข้าร่วมกิจกรรมมาแชร์ภาพโยนีของแต่ละคน แบ่งปันความรู้สึกกับส่วนที่เป็นเพศหญิงของเรา สิ่งที่อยากจะบอกกับโยนีของเรา อะไรบางอย่างที่เราลืมไปแล้ว บางอย่างที่ไม่เคยบอกคนอื่น บางอย่างที่เรารังเกียจและไม่อยากจะสัมพันธ์ด้วย ซึ่งในวันนี้แต่ละคนได้กลับมาสัมพันธ์กับมันอีกครั้งอย่างเป็นมิตร และการได้กลับมาสัมพันธ์กับโยนีอีกครั้งก็เป็นประสบการณ์ที่ทรงพลังมาก

เมื่อทุกคนในวงได้แบ่งปันเรื่องราวโยนีของแต่ละคนจนครบแล้ว ก็ถึงเวลาสิ้นสุดของกิจกรรม เราทุกคนในวงนั่งจับมือกัน จากนั้นคุณเพชรทำพิธีตีขันระฆังเพื่อสลายพลังงานลบและกระจายพลังงานดีๆให้แผ่กระจายออกไปสู่ทุกคนในวง เสียงขันระฆังที่คลอไปกับเสียงมนตร์พระไภษัชยคุรุ ช่างสั่นสะเทือนและเยียวหัวใจไปในเวลาเดียวกัน…

TAYATA OM BEKANDZE BEKANDZE

MAHA BEKANDZE RADZA SAMUDGATE SOHA

แน่นอนว่าวงนารีไม่ใช่วงเม้าท์มอยในแบบที่เคยจินตนาการอีกต่อไป นี่คือวงล้อมที่ไปพ้นจากเหตุและผลของสมอง เป็นวงล้อมอันศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดจากมนุษย์ธรรมดาๆที่พาเอาความเปราะบางของตัวเองมารวมตัวกัน แบ่งปันกันด้วยความไว้วางใจ ปราศจากการตัดสิน และความมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้นในพื้นที่แบบนี้ พื้นที่ที่ความเปราะบางได้แปรเปลี่ยนเป็นพลังแห่งการเยียวยา และพลังแห่งการเยียวยานี้ก็ได้ปลดปล่อยพลังเพศหญิงจากพันธนาการและการถูกกดทับ อนุญาตให้พลังที่งดงามนี้ได้ฉายแสดงออกมาอย่างอิสระ มั่นใจ และสร้างสรรค์