สนทนากับ อ.ดอน ศุภโชค ชุมสาย ณ อยุธยา
บทสัมภาษณ์ โดย ดิว/ขนุน วัชรสิทธา
ดิว : อาจารย์ดอนเริ่มวาดทังก้าตอนไหน แล้วทำไมถึงเริ่มวาด?
อ.ดอน : จริงๆ เป็นคนทำงานศิลปะอยู่แล้ว ถึงแม้จะเรียนศิลปะในแบบตะวันตกหรือแบบสากลมา แต่ว่าจริงๆ แล้วชอบศิลปะตะวันออกด้วย อย่างศิลปะอินเดีย จีน ญี่ปุ่น ในอดีตมันไม่ได้มีเรียนเป็นวิชาจริงจังขนาดนั้น เราก็หาความรู้ด้วยตัวเอง บวกกับสนใจเรื่องพระพุทธศาสนา ที่จริงเราสนใจศาสนาทุกศาสนาอยู่แล้ว พอดีเราสนใจเรื่องทิเบต ก็เลยสนใจศิลปะทิเบตด้วย ก็เลยวาด วาดมาได้เกือบ 20 ปีแล้ว แต่เราวาดเอาเอง
จริงๆ แล้วคนที่วาดทังก้าควรจะมี School ของตัวเอง ไปเรียนที่อินเดีย ไปทิเบต อะไรก็ว่าไป แต่ในอดีตเมื่อ 20 ปีก่อนมันก็คงจะไม่ง่ายดายเหมือนอย่างทุกวันนี้ อินเตอร์เน็ตก็ยังไม่มีขนาดนี้ด้วย เราก็หาข้อมูลของเราเอง แล้วก็วาด เพราะอย่างที่บอก พื้นฐานเราวาดรูปอยู่แล้ว เราเลยคิดว่ามันไม่ยาก มันก็มีหนังสือที่ฝรั่งเขาพิมพ์มา กับหนังสือของทิเบตอยู่เล่มหนึ่งที่หาได้ในห้องสมุดศิลปากร เราก็มาเรียนรู้ด้วยตัวเอง
ดิว : อ.ดอนวาดทังก้าแล้วขายด้วยไหม?
อ.ดอน : ไม่เคยขายนะครับ ส่วนใหญ่วาดแล้วให้ อย่างรูปแรกที่ตั้งใจวาดจริงๆ ก็วาดแล้วถวายให้สามเณรีที่ทิเบตไป รูปที่สองก็วาดแล้วเอาไปแจกของมูลนิธิ รูปที่สามก็ทำแล้วก็ถวายพระไป จริงๆส่วนตัวเราวาดทังก้าน้อยมากนะ เราก็ไม่ค่อยอยากเรียกตัวเองว่าเป็นคนวาดภาพทังก้าเท่าไหร่เวลามีคนอยากให้เราไปโปรโมทว่าเป็นนักวาดทังก้า คือเราไม่ใช่ไง คือเราไม่ได้เรียนตาม School อะไรเลย เราวาดของเราเอง สองคือเราวาดน้อยมาก
ดิว : เมื่อวาน อ.ดอน พูดถึงศิลปินยุคนี้ที่เขาใช้บางส่วนของทังก้า เอามาทำเป็นงานของเขาเอง มีศิลปินคนไหนที่ อ.ดอนชอบ?
อ.ดอน : จริงๆ มีหลายคน อย่างเช่นศิลปินทิเบต เราจำชื่อไม่ค่อยได้นะ หลายคนที่เขาวาดภาพแบบ Tradition แต่พอทิเบตแตก เขากับครอบครัวก็อพยพไปอยู่ยุโรป ไปอยู่อเมริกา เขาก็นำเสนองานในรูปแบบใหม่ โดยใช้งานแบบ Tradition มาผสมผสานกับ Pop Art หรือ Modern บ้าง มีเยอะแยะ เราอาจจะเป็นคนชอบอะไรแบบนี้อยู่แล้ว จริงๆ เป้าหมายคือ เราอยากรู้อยากทำได้ เราไม่ใช่พวก Conservative ความที่เราสนใจพวก Tradition ศิลปะต่างๆ คือเราอยากรู้ว่าจะทำยังไงกับมันต่อได้
ขนุน : ตอนที่พี่เชคมาสอนคอร์สจัดดอกไม้ พี่เชคบอกว่าอยากเอาการจัดดอกไม้ไปมิกซ์กับการวาดทังก้าที่มีวาดพระโพธิสัตว์ในปางต่างๆ มันจะมิกซ์กันยังไงได้บ้าง?
อ.ดอน : อย่างที่บอกไปแล้วว่าคนที่ทำงานศิลปะจริงๆ จะต้องรู้ว่าอารมณ์อะไรที่มันอยู่ในรูป เขากำลังวาดอะไรอยู่ ดังนั้นถ้าเขารู้และเข้าใจจริงๆ เวลามันออกมาเป็นภาพแล้ว มันก็จะสามารถทำให้คนที่เห็นเข้าใจได้ ศิลปะมันคือภาษา ศิลปะหรือภาพวาด หรือประติมากรรมก็ตามมันเป็นวิชวลอาร์ต (Visual Art) คือภาษาที่เห็นด้วยตา มันไม่ใช่บทกวีหรือตัวอักษรที่เรียงกันแล้วอ่านรู้เรื่อง มันบอกด้วย Visual ทั้งหลาย
ถ้าตามทฤษฎีก็คือจุด เส้น สี น้ำหนัก รูปร่าง รูปทรง หรือก็คือทัศนธาตุ มันใช้พื้นฐานเดียวกันหมดทั่วโลก ทั้งคนโบราณ คนยุคใหม่ มีแค่นี้มาประกอบกัน มันเป็นได้หลายล้านแบบไม่เหมือนกันเลย นั่นคือสิ่งที่คนทำงานศิลปะต้องเอาวัตถุดิบตรงนี้มาประกอบกันแล้วพูดด้วยภาพให้คนรู้เรื่อง
“ดังนั้นถ้าศิลปินไม่รู้ว่า ‘สิ่งที่กูทำคืออะไรวะ’ มันก็ออกมาไม่ได้
มันก็กั๊กๆตัวเอง ‘มันจะสื่ออะไรวะ’
แต่ถ้าเรารู้ว่ามันจะสื่ออะไร มันก็พูดออกมาด้วยภาพได้”
ถ้าจะเอาอารมณ์ในปางพิโรธ ปางสันติ หรือปางสงบของพระโพธิสัตว์ไปอยู่ในงานจัดดอกไม้ เราว่าทำได้ แต่เราต้องเข้าใจว่าอารมณ์ในทังก้ามันไม่ได้เป็นอารมณ์ทางโลก ไม่ได้เป็นแบบความสุขทางโลก หรือความโกรธทางโลกแบบนั้น
พระโพธิสัตว์ที่สำแดงปางโกรธอย่างนั้นไม่ได้เป็นการโกรธเพื่อเอาอะไรไปเขวี้ยงใคร หรือทำลายข้าวของ แต่เป็นความโกรธที่ผุดออกจากความกรุณา เหมือนแม่ที่ต้องดุลูก หรืออะไรก็ตามแต่ หรือมันเป็นแอคชั่นที่เกิดขึ้น แต่ข้างในมันไม่มีความโกรธจริงๆ ถ้าพูดแบบศาสนามากๆก็คือ ‘ข้างนอกมันโกรธมากๆ แต่ข้างในนี่โคตรปรานีเลย’ ซึ่งไม่ได้เหมือนศิลปะบางประเภทที่แบบโกรธ กูโกรธ แล้วกูละเลงลงไป แบบนั้นมันคือความโกรธอีกแบบหนึ่ง แต่ความโกรธในทางศาสนา หรือทางมหายาน ซึ่งไม่ใช่แค่ในทิเบต แต่อย่างเทพฟุโดต่างๆในญี่ปุ่นที่หน้าตาเป็นยักษ์
“คือมันไม่ได้ทำลาย…อาจจะทำลายก็ได้ แต่ไม่ได้ทำลายศัตรู
มันทำลายความผิดบาป ตัวตนหรือตัวเราเอง
มันไม่ได้เป็นเทพพิโรธเพื่อไปโกรธหรือทำร้ายใคร มันสู้กับตัวเราเอง”
ดิว : แล้วทังก้ามันให้อะไรกับคนสมัยใหม่ที่เขาอาจจะไม่ได้ Connect กับศิลปะในอดีต?
อ.ดอน : ถ้าพูดแบบ Spiritual เลยนะ มันมีแน่นอน จริงๆ การวาดที่ถูกต้องมันเริ่มจากการภาวนา อย่างเราวาดรูปนี้เพื่อประโยชน์ของสรรพสัตว์ อะไรก็ว่าไป อันนี้แบบ Tradition เลยนะ แต่สมัยใหม่อาจจะไม่ได้ซีเรียสตรงนั้น
ถามว่ามันมีประโยชน์อะไรต่อคนรุ่นใหม่ เราก็ตอบไม่ได้นะ จริงๆ มันเป็นศิลปะแขนงหนึ่ง เพียงแต่ว่ามันตอบความรู้สึกของเราที่เป็นคนทำมากกว่า เวลาทำงานเราพยายามทำความเข้าใจเนื้อหาของภาพวาด อย่างที่บอกทังก้ามันไม่ใช่แค่ภาพวาด มันจะเป็น Spiritual ก็ไม่เชิง จริงๆ คนทำงานศิลปะทุกคนรู้ว่าตัวเองกำลังวาดอะไรอยู่ และความรู้สึกข้างในมันต้อง Link กับรูปที่วาด ไม่ได้บอกว่าวาดภาพปีศาจต้องเลวเหมือนปีศาจนะ แต่ต้องรู้ว่าปีศาจมันควรมีคุณสมบัติหรือความรู้สึกอะไรบ้าง อย่างการวาดพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าในความรู้สึก พระพุทธเจ้าในการภาวนา พระพุทธเจ้าในการวาดรูปควรจะมีคุณสมบัติใดอยู่ เราคงไม่ได้วาดแล้วก็ ‘โอ้ พระพุทธเจ้าดุดันจังเลย’ ถ้าเราเปลี่ยนไปวาดพระโพธิสัตว์ปางพิโรธต่างๆ มันก็มีฟีลลิ่งที่ต้องทำความเข้าใจ
ขนุน : ได้ยินมาว่า อ.ดอนชอบดื่มเบียร์มาก แล้ว อ.ดอนคิดว่าการวาดภาพทังก้าคล้ายกับการดื่มเบียร์ยังไงบ้าง?
อ.ดอน : (หัวเราะ) ถ้าถาม มันเป็นความสุขเนอะ เหมือนกับที่เรานั่งวาดๆกันอยู่ ทำงานทั้งบ่ายมาถึงตอนนี้ก็ตั้ง 4 ชั่วโมง เวลาผ่านไปวูบเดียว มันคือความสุข ถ้าพูดในแง่มุมของพุทธศาสนาเลย เขาก็มีบอกไว้เลยว่า …
“สมาธิไม่ได้เป็นเหตุแห่งความสุข แต่ความสุขเป็นเหตุแห่งสมาธิ”
เวลาเราทำงาน เวลาเราวาดรูปมีความสุข มันก็เป็นสมาธิด้วยตัวมันเอง
เหมือนกันกับเวลาที่เรากินเบียร์ เรามีความสุข ครูบาอาจารย์ที่เรารู้จักและเคารพหลายๆท่านก็บอกว่า ‘ก็กินไป ถ้าไม่ได้กินจนเหลวแหลก เละเทะ ชีวิตตกต่ำก็กินไป สำหรับท่านถือว่าเป็นการผ่อนคลาย ดังนั้นก็ใช้ชีวิตไป’ ซึ่งถ้าถามว่าเกี่ยวกันยังไงก็คงเป็นเรื่องของความสุข เราจะวาดรูป เรามีความสุขแล้วก็รู้ว่าเราจะต้องควบคุมมันยังไง ถ้าวาดแล้วเคร่งเครียดกับมันมากไป มันก็วาดไม่ได้นะ มันไม่สุข มันไม่สนุก เช่นเดียวกับการกินเหล้ากินเบียร์ ก็กินแค่ระดับหนึ่ง
ขนุน : ถ้าความสุขทำให้เกิดสมาธิ แล้วระหว่างดื่มเบียร์เป็นสมาธิไหม?
อ.ดอน : ในยุโรป ในยุคกลาง ในตอนนี้ก็ตามแต่ ทางฝั่งคาทอลิก เบียร์ไม่ได้เป็นสิ่งต้องห้าม เบียร์ เหล้า และไวน์ เป็นสิ่งที่พระใช้ดื่มกินเพื่อการภาวนาด้วยซ้ำ
หนึ่ง อาจจะด้วยปัญหาทางสภาพอากาศ มันหนาว มันต้องกินเพื่อให้ร่างกายอบอุ่น
สอง ท่านเหล่านั้นใช้เบียร์หรือไวน์ในการภาวนาด้วยซ้ำ คือท่านก็ไม่ได้กินจนเมามายสนุกสนาน ในศาสนาคริสต์ คาทอลิก ไม่ได้มีข้อห้ามแต่มีคำเตือนว่า ‘ให้รู้ตัวเอง’ ไม่ได้มีปริมาณจำกัดว่าต้องกินเท่าไหร่ถึงจะหยุดด้วย แต่ให้รู้ตัวเอง เพราะพระเจ้าให้ศักยภาพแต่ละคนมาไม่เท่ากัน
“คุณรู้ตัวเองนี่ว่าคุณกินเพื่อเอาฮา หรือกินเพื่อภาวนา“
มันก็มีวิธีการนี้อยู่ แต่ว่ามันจะเป็นสมาธิไหม ถ้าใครเคยกินเหล้าเบียร์จะทราบว่าพอกินถึงระดับหนึ่งมันจะกล่อม .. กล่อมความทุกข์โศกลง กล่อมอะไรก็ตามแต่ แล้วในญี่ปุ่นเองก็มีคำสอนนะ …
ถ้าพบคนที่มีความทุกข์ อย่าไปเทศนาสอน ใครจะฟัง … พระท่านบอกว่า “ดื่มสาเกกับเขาคือวิธีปลอบประโลมเขา”
คือเราคงไม่ได้จะแบบว่า … ‘โอ้ คนมีความทุกข์ เอาคำสอนไปเลย!!’ ‘ทำไมไม่ฟังคำสอน นี่คือทางหลุดพ้น!!’
ในตอนนั้นคนคงไม่รับรู้อะไรแล้ว พระท่านก็บอก… “อ่ะ กินสาเกไป” (ฮา)