The Path to Inner Peace : ท่าทีของการฝึกสมถภาวนาที่นำไปสู่การบ่มเพาะสันติภายในใจ

บทความโดย พรทิภา จันทรพราม

ที่มาภาพ Johannes Plenio From Pexels

“การฝึกที่จะมีสันติในใจ มีความรัก ความศรัทธาต่อสันติภาพ ควรเกิดจากความเข้าใจในการภาวนาของเรา เราจำเป็นต้องฝึกสมถภาวนาก่อน มิฉะนั้นเราจะวิ่งตามปฏิกิริยาตอบโต้จากสิ่งเร้าทั้งภายนอกและภายในใจ หลีกหนีสิ่งที่เราไม่อยากเผชิญ รวมถึงอคติต่างๆ ซึ่งนั่นจะทำให้เราไม่อาจพบสันติภาพหรือสันติภายในใจอย่างแท้จริงได้เลย”

– วิจักขณ์ พานิช

โดยส่วนใหญ่หลายๆ ท่านที่มาสนใจการภาวนา ในช่วงต้นก็อาจมาภาวนาเพราะอยากหนีจากความทุกข์ อยากไปสู่ที่ที่ดีกว่า สงบกว่า เราขอหนีจากความวุ่นวายบางอย่างชั่วคราว ซึ่งการภาวนาด้วยท่าทีเช่นนี้ไม่ได้นำเราไปสู่สันติในใจที่แท้จริง การภาวนาด้วยทัศนคติแบบนี้ สุดท้ายแล้วเราก็จะไม่ได้ “อยู่ตรงนี้ อยู่ที่นี่” เราอยู่กับปัจจุบันไม่ได้ เราไม่สามารถอยู่ในที่ที่เราอยู่ได้ เราไม่สามารถเป็นในสิ่งที่เราเป็นได้ ในที่สุดเราก็ต้องพยายามไปหาที่อื่นที่ดีกว่า หนีไปอยู่ในสภาวะอื่นที่สงบกว่า หรือเป็นตัวเราในแบบที่(คิดว่า)เจ๋งกว่า

จุดเริ่มต้นของการบ่มเพาะสันติในใจจึงเริ่มจากท่าทีที่เรามีต่อการภาวนา หากเรายังฝึกปฏิบัติภาวนาด้วยท่าทีของการควบคุม กดข่ม หรือภาวนาด้วยทัศนคติที่ว่า “ฉันจะต้องทำให้ได้” “ฉันจะต้องทำให้ดี”  นั่นเป็นการภาวนาที่เต็มไปด้วยท่าทีแบบที่ต้อง “พยายาม” อยู่ตลอดเวลา หากเราไม่ได้รู้สึกจริงๆ ว่า “สิ่งที่ดีที่สุดนั้นอยู่ตรงนี้อยู่แล้ว”

การฝึกสมถภาวนาที่เราต่างเคยปฏิบัติกันมา มักมีท่าทีของการกดข่ม ควบคุม อยู่โดยไม่รู้ตัว ตัวอย่างเช่น…

เราอาจจะควบคุมลมหายใจ เพื่อให้เราสามารถจดจ่ออยู่ตรงนั้นง่ายขึ้น เราให้ความจดจ่อทั้งหมดของเราอยู่ที่ลมหายใจ เราอาจใช้เทคนิคนับลมหายใจไปเรื่อยๆ เพื่อช่วยให้สามารถอยู่ตรงนั้นได้โดยที่จิตใจเราจะไม่หลุดลอยไปไหน … (นั่งได้นิ่งมาก นับลมหายใจได้อย่างต่อเนื่อง..ไม่หลุดเลย) นอกจากนี้เราอาจจะเพิ่มความท้าทายด้วยการควบคุมเวลา….(เมื่อวานนั่งได้ 30 นาที วันนี้ต้องนั่งให้ได้ 45 นาที!) หรือควบคุมท่านั่งที่เราจะต้องพยายามนั่งให้นิ่ง นั่งให้เป๊ะ ไม่ไหวติงเลยแม้แต่นิดเดียว เป็นต้น

ถ้าหากมีโอกาส ก็อยากจะให้ลองสังเกต “ความสงบ” ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น…

ในความสงบจากการภาวนาด้วยท่าทีแบบนั้น มีคุณลักษณะแบบใด? มีสภาวะแบบใด?

ส่วนการฝึกสมถภาวนาในอีกท่าทีหนึ่ง ซึ่งเป็นท่าทีที่เราจะอยู่กับทุกสภาวะอย่างสันติ นั่นคือเราเป็นมิตรกับทุกสภาวะ เป็นมิตรกับทุกอย่างที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความคิด ความรู้สึก อาการทางร่างกายต่างๆ เราเปิดกว้างและให้พื้นที่กับทุกสิ่งทุกอย่างที่จะเกิดได้เกิดขึ้น “ให้ทุกสภาวะมีโอกาสได้แสดงตัวออกมา”  โดยในขณะที่ฝึกปฏิบัติสมถภาวนานั้น ลมหายใจจะเปรียบเสมือนบ้าน เป็นบ้านที่ให้เรากลับมาอยู่ตรงนี้ได้เสมอ

“เมื่อจิตใจของเราล่องลอยไปกับความคิด

เมื่อถูกรบเร้าจากปฏิกิริยาต่างๆ ทั้งภายนอกและภายใน

เราเพียงนำความรู้สึกตัวกลับมาที่ลมหายใจครั้งแล้วครั้งเล่า

กลับมาสู่บ้านของร่างกายเรา”

ในหนังสือ ง่ายงามในความธรรมดา โดย เพม่า โชดรัน ได้กล่าวถึงประเด็นของการภาวนากับลมหายใจได้อย่างน่าสนใจ เพม่า กล่าวว่า..

“โดยธรรมชาติของลมหายใจนั้นเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ไม่มีอะไรที่จะยึดไว้ได้เลย ในการฝึกกับลมหายใจนั้นจะพาเราไปสัมพันธ์โดยตรงกับความไม่เที่ยงแท้แน่นอนในขณะที่เราสัมผัสกับลมหายใจที่เกิดขึ้นและจางหายไปในพื้นที่ว่างอยู่ตลอดเวลา การใช้ลมหายใจเป็นวัตถุกำหนดในการภาวนา จะเป็นหนทางหนึ่งที่ทำให้เราได้สัมพันธ์กับสภาวะไร้หลักยืน…”

– เพม่า โชดรัน

นอกจากจะเป็นบ้านแล้ว ลมหายใจนั้นก็เป็นครูที่ดีมากในการฝึกเราที่จะปล่อยและเปิด เพราะเมื่อเราสัมพันธ์กับสภาวะไร้หลักยืนของลมหายใจด้วยท่าทีที่ปล่อยจากการควบคุม สัมพันธ์ด้วยท่าทีสันติ  นั่นอาจเป็นประสบการณ์ของความเปิดกว้าง และทำให้เราได้พบกับประสบการณ์ของการปล่อยวางจริงๆ … “ปล่อยวางที่จะไม่ควบคุมแม้กระทั่งลมหายใจของเรา”  

ท่าทีภาวนาที่เราจะไม่ควบคุมลมหายใจ เราอนุญาตให้ร่างกายได้หายใจในแบบที่ร่างกายต้องการเช่นนี้ หลายท่านที่ฝึกสมถภาวนากันมาต่างก็ทราบดีว่า ในช่วงแรกของการฝึกกับลมหายใจนั้น การที่จะปล่อยให้ร่างกายได้หายใจในแบบที่ร่างกายต้องการจริงๆนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายดายเอาเสียเลย เราอาจจะต้องเผชิญกับความรู้สึกเคว้งคว้าง ไร้หลักยืนครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ไม่ว่าจะอย่างไรเราก็เพียงนำความรู้สึกตัวกลับมาที่ลมหายใจ กลับมาสู่บ้านของร่างกายเราอีกครั้ง… และอีกครั้ง…

การฝึกสมถภาวนาที่เราปฏิบัติกันมาอย่างเคยชิน โดยส่วนใหญ่เราอาจจะให้ความจดจ่อทั้งหมดของเราไปอยู่ที่ลมหายใจ

“เพ่งลมหาย”

แต่ในการฝึกสมถภาวนาเพื่อบ่มเพาะสันติภายในใจนั้น เราไม่นำความจดจ่อทั้ง 100% ของเราไปอยู่ที่นั่น เราอาจจะสัมพันธ์กับลมหายใจเพียง 25% แต่จะให้อีก 75% ของเรานั้นได้สัมพันธ์อยู่กับพื้นที่ว่างรอบๆ ลมหายใจ การปฏิบัติในท่าทีแบบนี้จะช่วยให้เราไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งเดียว แต่ส่งเสริมให้เรามี Sense ของการ “เปิดออกไป” เปิดรับสิ่งอื่นๆ ที่จะมีโอกาสได้เข้ามาหรือเกิดขึ้น

ถ้าเราภาวนาด้วยจดจ่อกับลมหายใจแบบ 100%  เราก็อาจจะไม่ได้ยินเสียงต่างๆ รอบตัว หรือบางทีเสียงที่เข้ามาก็อาจจะกลายเป็นอุปสรรคของการจดจ่อกับลมหายใจของเรา กลายเป็นสิ่งที่น่ารำคาญด้วยซ้ำ

“อยากให้มันเงียบซะที!”

แต่ในการทำสมถภาวนาเพื่อบ่มเพาะสันติภายในใจ ซึ่งเราสัมพันธ์กับลมหายใจเพียง 25% แล้วให้อีก 75% ของเรานั้นได้สัมพันธ์อยู่กับพื้นที่ว่างๆ รอบๆ ลมหายใจ

“เราโอเคกับทุกเสียง…ที่เข้าหู

เราโอเคกับทุกกลิ่น…ที่เข้ามาในจมูก

ในขณะที่เรานั่งเปิดตาเราอนุญาตให้กับทุกภาพที่ผ่านเข้ามาในม่านสายตาของเรา

หรือแม้แต่ทุกๆ ความคิดที่ผ่านเข้ามาในหัวเรา..เราก็โอเค” 

แล้วเมื่อใดก็ตามที่สภาวะต่างๆที่เราเปิดรับเหล่านี้เริ่มรบเร้าเรามากขึ้น สิ่งที่เราทำก็คือ…

  • เรารับรู้ ตระหนักรู้  –  “แตะอย่างบางเบา”  
  • จากนั้นก็ “ปล่อยอย่างอ่อนโยน” 
  • แล้วกลับมาที่บ้านของเรา – “กลับมาที่ลมหายใจ”

นี่ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งของท่าทีของการฝึกสมถภาวนาในลักษณะที่ไม่กดข่ม ซึ่งเป็นท่าทีแห่งการบ่มเพาะสันติภายในใจ

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งเราทั้งหลายที่มีประสบการณ์การภาวนากันมาก็เคยทำกันอยู่บ่อยๆ นั่นคือในขณะมีความคิด หรือความรู้สึกต่างๆผุดขึ้นมาระหว่างการนั่งภาวนา ทันใดนั้นเราก็แปะป้ายความคิดเหล่านั้นไปว่า “ความคิดดี” “ความคิดลบ” หรือ “ความคิดลามก” เป็นต้น ท่าทีการให้ชื่อความคิดในลักษณะนี้มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดเป็น การตัดสิน ขึ้น สำหรับท่าทีของการฝึกสมถภาวนาเพื่อบ่มเพาะสันติภายในใจนั้น เราก็อาจจะทำเพียงแค่แปะป้ายสภาวะที่ผุดบังเกิดขึ้นมาอย่างเบาๆ ว่า … “ความคิด” … “คิดหนอ” …. “ปวดหนอ” …. “ง่วงหนอ” … “คันหนอ” … “รู้สึกหนอ”  – จากนั้นเราก็ปล่อย แล้วกลับมาที่ลมหายใจ

 “รับรู้สภาวะที่เกิดขึ้น – แปะป้ายเบาๆ – ปล่อย – กลับมาที่ลมหายใจ”

เราฝึกที่จะทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ซึ่งการฝึกในท่าทีแบบนี้จะช่วยส่งเสริมให้เราปล่อยจากการตัดสิน ปล่อยจากการแบ่ง ดี-ชั่ว ควร-ไม่ควร ก้าวหน้า-ล้มเหลว เหล่านี้ด้วย

ในการเปิดรับอีก 75% ที่อยู่รอบๆลมหายใจนั้น แน่นอนว่าเราจะได้พบกับปรากฏการณ์หรือสภาวะต่างๆที่ผุดบังเกิดขึ้นตลอดเวลา เพราะเราไม่ได้ปิดกั้นสิ่งใดๆที่กำลังจะเกิดขึ้น เมื่อเกิดสภาวะต่างๆขึ้น ซึ่งอาจจะท่วมท้นจนเราแทบทนอยู่ไม่ได้ ชั่วขณะนั้นจะเป็นช่วงเวลาที่เราจะหลบเข้าไปอยู่ในซอกหลืบของความคิดได้โดยอัตโนมัติ เราใช้ความคิดเป็นเครื่องมือในการหนี แต่แทนที่เราจะรีบปล่อยให้มันกลายเป็นความคิด เป็นการเรียกชื่อ หรือการวิเคราะห์ตีความ ในชั่วขณะก่อนที่จะมีความคิดผุดบังเกิดขึ้น ก่อนที่จะมีการเรียกชื่อหรือตีความสภาวะนั้น หากมีโอกาส…ลองอนุญาตให้ตัวเองได้สัมพันธ์กับชั่วขณะนั้น ลองสัมพันธ์กับ “Felt sense” สัมพันธ์กับพลังงานดิบๆ บางอย่างในเนื้อในตัว สัมพันธ์กับปรากฏการณ์บางอย่างที่เกิดขึ้นในร่างกายโดยที่ยังไม่ให้ชื่อเรียก

“ชั่วขณะของความปั่นป่วนไม่แน่นอน ในความไม่ชัดเจนในสภาวะตรงนั้น เมื่อเราสัมพันธ์กับเค้าในระดับพลังงานเฉยๆ นั่นอาจจะเปิดให้เราได้สัมผัสกับประสบการณ์หรือคุณลักษณะบางอย่างที่มีชีวิตชีวาที่เป็นพื้นฐาน เป็นความงดงามที่มีอยู่แล้วเสมอในตัวเรา ซึ่งอยู่ภายใต้สภาวะต่างๆที่กำลังท่วมท้นเราอยู่จนเราแทบทนอยู่ไม่ได้”

ที่มาภาพ Mikhail Nilov From Pexels

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากท่าทีของไมตรี หากปราศจากความไว้วางใจ หากปราศจากความเปิดกว้าง ปราศจากการปล่อยให้มันเกิด…

และสุดท้ายหากในครั้งนี้เรายังอยู่ตรงนั้นต่อไม่ได้  ก็เพียงแค่…. “รับรู้สภาวะที่เกิดขึ้น – ปล่อย – กลับมาที่ลมหายใจ” อีกครั้ง

หากครั้งหน้าที่มีโอกาสได้นั่งภาวนา ลองฝึกสมถภาวนาด้วยท่าทีเช่นนี้ แล้วลองสังเกต “สันติภาวะ” ที่เกิดขึ้น ….

“สันติภาวะ” จากการฝึกสมถภาวนาด้วยท่าทีแบบนี้มีคุณลักษณะแบบไหน? มีสภาวะแบบใด?