ล้มเจ้าแห่งวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ : การภาวนาที่เปิดต่อทุกประสบการณ์ ทุกสถานการณ์ และทุกผู้คน

บทความโดย อุษณี นุชอนงค์ และ วิจักขณ์ พานิช

“เส้นทางแห่งจิตวิญญาณเต็มไปด้วยทางแยก ทางเบี่ยง กับดัก และหลุมพรางมากมายที่สามารถนำเราไปสู่รูปแบบทางจิตวิญญาณที่ผิดเพี้ยนของการเอาอัตตาเป็นศูนย์กลาง เราสามารถหลอกตัวเองโดยคิดไปว่าตนกำลังมีพัฒนาการทางจิตวิญญาณอย่างสูงส่ง ทั้งที่จริงๆ แล้ว เราก็แค่กำลังเสริมสร้างอัตตาผ่านเทคนิคทางจิตวิญญาณที่ซับซ้อน”​

เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช
จากหนังสือ “ทะลวงวัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ”


พุทธศาสนาธิเบตพูดถึงการทำงานของอัตตา โดยมีอุปมาอุปไมย “เจ้าทั้งสามแห่งวัตถุนิยม” ประกอบด้วย เจ้าแห่งรูป เจ้าแห่งถ้อยคำ และเจ้าแห่งจิตใจ

ก่อนจะพูดถึงเจ้าทั้งสามหรืออัตตาทั้งสามอย่างละเอียด บทความนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากรีทรีทกลางปีที่ครูตั้ม (วิจักขณ์ พานิช) อธิบายถึง สมถภาวนา หรือการบ่มเพาะสันติในใจ (Peace/Calm Abiding) และวิปัสสนาภาวนาหรือการเห็นอย่างชัดแจ้ง (Clear Seeing)

สันติในใจและการเห็นชัดเจนจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากกระทำผ่านเทคนิคการภาวนาที่ถูกนำมาใช้เพื่อรักษาอัตตาของตน ดังเช่นที่เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช กล่าวไว้ว่า

“คุณค่าทางจิตวิญญาณอันจริงแท้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยการสิ้นไปของอัตตาโดยสิ้นเชิง”

ทว่าความท้าทายคือ อัตตาสามารถบิดเบือนทุกอย่างได้ ไม่เว้นแม้แต่คำสอนทางจิตวิญญาณ ดังนั้นจึงเป็นโอกาสดีที่จะมาทบทวนการทำงานของอัตตา

อัตตาหรือเจ้าแห่งวัตถุนิยมที่สามารถบิดเบือนทุกสิ่งได้นั้นมีการทำงานอย่างไร?

1. เจ้าแห่งรูป

เจ้าแห่งรูป คือความพยายามหาความสะดวกสบายทางกาย ความปลอดภัย และความสุข

ลิฟท์กดปุ่ม เนื้อสัตว์ในแพ็ค เครื่องปรับอากาศ ส้วมชักโครก – นี่คือตัวอย่างสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทำให้เข้าใจง่ายว่าเจ้าแห่งรูปคืออะไร เชอเกียม ตรุงปะ บอกว่า นี่คือความพยายามที่จะทำให้โลกจัดการได้ ปลอดภัย สะดวกสบาย และง่ายต่อการคาดเดา พูดง่ายๆ ก็คือ เราพยายามสร้าง comfort zone ของเราขึ้นมาด้วยการเรียกมันว่า ธรรม

เมื่อเรามองไปรอบตัว เราอาจเริ่มเห็น “เจ้าแห่งรูป” ที่มาในรูปสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เพื่อควบคุมความเป็นไปตามธรรมชาติ

หากร้อนไป – เราก็มีเครื่องทำความเย็น

หากเย็นไป – เราก็มีเครื่องทำความร้อน

ทว่าคำจำกัดความของเจ้าแห่งรูปไม่ได้จำกัดแค่กายภาพ ที่น่าสนใจคือ “เจ้าแห่งรูป” ยังหมายรวมถึง ความหมกมุ่นของจิตวิปลาสที่อยู่เบื้องหลังและผลักดันให้เราสร้างสิ่งต่างๆ ขึ้นมาเพื่อควบคุมธรรมชาติ เชอเกียม ตรุงปะ บอกว่ามันคือความทะยานอยากที่ต้องการจะปกป้องตัวเอง หลบเลี่ยงสิ่งกวนใจ สปอยล์หรือให้ความบันเทิงแก่อัตตาที่ตายตัว ทั้งหมดนี้จะเผยออกมาในรูปของความกลัวการเปลี่ยนแปลง หรือไม่ก็บังคับให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ความกลัวความทุกข์ หรือการผลักไสความทุกข์ หรือความกลัวการไม่มีตัวตน

ที่มาภาพ : Tommaso Picone จาก Pexels

2. เจ้าแห่งถ้อยคำ

เจ้าแห่งถ้อยคำ คือระบบวิธีคิดต่างๆ ที่ใช้หาเหตุผล ให้คำอธิบาย

เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช กล่าวว่า

“เราเอาชุดคำมาใช้เพื่อจัดการกับปรากฏการณ์ทั้งหลาย ชุดคำที่เราเอามาใช้คือการใช้สติปัญญาในการสัมพันธ์กับโลก การใช้สติปัญญาไม่ได้เป็นเจ้าแห่งวาจาในตัวมันเอง การใช้สติปัญญาไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อเจ้าแห่งวาจาเริ่มทำงาน เราจะเริ่มตีความสิ่งใดก็ตามที่เข้ามาคุกคามหรือสร้างความขุ่นเคืองใจ การให้ชื่อกับปรากฎการณ์ จะช่วยสร้างโลกที่แน่นอนตายตัว ด้วยเหตุนี้ หลักการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นคอมมิวนิสต์ ประชาธิปไตย คริสต์ศาสนา พุทธศาสนา ถูกนำมาใช้ปกป้องตัวเราจากการรับรู้โลกอย่างตรงไปตรงมาตามที่เป็นจริง ได้ทั้งสิ้น”

3. เจ้าแห่งจิตใจ

“เจ้าแห่งจิตใจ” คือความพยายามของจิตที่จะใช้การฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณเพื่อกอดรัดตัวตนไว้

ดังนั้น โยคะ บทสวดมนต์ สมาธิ หรือจิตบำบัด ต่างสามารถถูกนำมาใช้ได้ทั้งสิ้น เราฝึกปฏิบัติเทคนิคเหล่านี้เพื่อจะได้รู้สึกดีและเข้าถึงสภาวะจิตที่เราต้องการ โดยไม่รู้ตัวเลยว่านั่นคือการส่งเสริมการดำรงอยู่ของอัตตาที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น เจ้าแห่งจิตใจจะมีพลังสูงสุดในการบิดเบือนคุณค่าทางจิตวิญญาณ​ อย่างที่กล่าวไปแล้วในตอนต้น หากเราพยายามฝึกจิตฝึกใจและประสบความสำเร็จในการระแวดระวังตัวเองผ่านเทคนิคการภาวนา ความงอกงามทางจิตวิญญาณจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

ที่มาภาพ : Creativeart จาก Freepik
ที่มาภาพ : Cottonbro จาก Pexels

แม้จะเห็นชัดว่า “เจ้าแห่งจิตใจ” มีบทบาทมากในการบิดเบือนคุณค่าทางจิตวิญญาณ ทว่า “เจ้าแห่งถ้อยคำ” และ “เจ้าแห่งรูป” ก็สามารถทำหน้าที่นี้ได้อย่างแข็งขันเช่นกัน เจ้าแห่งรูปที่เกี่ยวพันกับการปฏิบัติทางจิตวิญญาณจะออกมาในรูปของการฝึกภาวนาในป่า การแสวงหาความวิเวก ความสงบ ในขณะที่เจ้าแห่งถ้อยคำจะเผยออกมาในรูปของการที่เราเอาความเชื่อทางศาสนามาแทนความเชื่อเดิม ทว่าเรายังคงใช้ความเชื่อนั้นเพื่อรักษาอัตตาของเราอย่างไม่เสื่อมคลาย

จะรู้ได้อย่างไรว่าการบิดเบือนคุณค่าทางจิตวิญญาณกำลังเกิดขึ้น?

ตรุงปะ รินโปเช บอกว่า หากได้เรียนรู้เทคนิคภาวนาที่เป็นประโยชน์ ทัศนคติแรกของอัตตาคือมองเทคนิคนั้นว่าเป็นสิ่งที่น่าค้นหา ก่อนจะพยายามเข้าไปตรวจสอบมัน และเมื่ออัตตาแข็งทื่อไม่สามารถซึมซับอะไรได้อีกแล้ว มันจะเลียนแบบการปฏิบัติภาวนา ราวกับว่าทำได้ และเกิดผลของการปฏิบัติตามที่ว่า แต่เอาเข้าจริง การละทิ้งตัวตนจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราจะทำ

สิ่งที่เราประสบซึ่ง(ดูเหมือน)เป็นประสบการณ์ทางจิตวิญญาณ

จะเป็นบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ภายในขอบเขตของอัตตาเท่านั้น

ยามที่เรานั่งภาวนา… “เมื่อมีความคิดฟุ้งซ่านเกิดขึ้น เราไม่ตามความคิดและกลับมาที่ลมหายใจ” หากทำจนเคยชินและคล่อง เราอาจจะนึกไปว่า …

“นักภาวนาที่ดี” คือ คนที่ไม่มีสภาวะปั่นป่วนของความคิดหรือความฟุ้งซ่านอีกต่อไป

“นักภาวนาที่เก่ง” คือ คนที่สงบ ไม่มีอารมณ์รุนแรง ไม่โกรธ ไม่โมโห ไม่ร้อนรนเลยแม้แต่น้อย

หารู้ไม่ว่า การคิดเช่นนั้น คือการที่เราควบคุมให้ประสบการณ์ของการภาวนาอยู่ภายในขอบเขตของการควบคุมของอัตตา

ภาพ : เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช

ดังนั้นการมีสันติในใจที่แท้จริง จึงหมายถึง การปล่อยให้เป็นไป ไม่มีความพยายามในการผลักไส กดข่ม หรือปลุกเร้าความคิด เป็นท่าทีที่เปิดกว้าง เป็นมิตร กล้าหาญ มีวินัย พร้อมกลับมาสู่ธรรมชาติพื้นฐานของเนื้อตัวและลมหายใจ และปล่อยให้สภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างที่เป็น ส่งผลให้เกิดการเห็นชัดว่า การไม่มีอยู่ของการดิ้นรน คืออิสรภาพในตัวของมันเอง เพราะการดิ้นรนคืออัตตา

Ego is Struggle

การไม่มีอยู่ของการดิ้นรนคือสันติ สมถภาวนาจึงเป็นการบ่มเพาะสันติภาพต่อทุกสภาวะของความเป็นมนุษย์ที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นความคิด อารมณ์ หรือความเจ็บปวดใดๆ ก็ตาม เราสามารถอนุญาตให้ทุกอย่างเกิดขึ้นภายในสันติภาพของใจเราได้ แม้ว่ามันจะอยู่นอกขอบเขตการควบคุมของเรา และอาจทำให้เรารู้สึกไม่โอเคเท่าไหร่ในบางครั้ง แต่นั่นคือสัญญาณที่ทำให้เห็นว่า การฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณคือการทำงานกับอัตตา และการเติบโตทางจิตวิญญาณก็เกิดขึ้นนอกขอบเขตการควบคุมของอัตตานั่นเอง

ตรงกันข้ามกับการฝึกภาวนาแบบที่เห็นสิ่งที่คิดว่าต้องเห็นอยู่แล้ว ราวกับว่าเราทำได้ตรงตามที่ในหนังสือบอกไว้ เราคิดว่าการภาวนาที่ประสบผลสำเร็จต้องเป็นแบบนี้ แล้วเราก็ทำมัน จนมันเป็นแบบนั้นได้จริงๆ โดยหารู้ไม่ว่านั่นคือเล่ห์กลของอัตตาที่เข้ามาสู่การปฏิบัติทางจิตวิญญาณ ซึ่งสิ่งที่เราเห็นนั้นก็ยังคงอยู่ในขอบเขตการควบคุมของอัตตาอีกนั่นเอง

ที่มาภาพ : Sarbajit Sen จาก Pexels

วิปัสสนาภาวนา คือการเห็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนอย่างชัดแจ้ง การเปิดต่อความไม่รู้ การดำรงอยู่ในธรรมชาติของความว่าง และตื่นอยู่กับประสบการณ์ตรงหน้าด้วยท่าทีที่เป็นมิตร บนพื้นฐานของการบ่มเพาะสันติในใจต่อทุกสภาวะของความเป็นมนุษย์ reality ก็จะเผยให้เราเห็นอย่างสดใหม่ในชั่วขณะนั้นๆ อย่างที่เราไม่อาจคิดไว้ก่อนล่วงหน้า ทุกประสบการณ์ ทุกสถานการณ์ และทุกผู้คน ที่ผ่านเข้ามาล้วนมีความสำคัญ

เราเริ่มเข้าสู่ความสัมพันธ์ระหว่างจิตวิญญาณที่มีชีวิตในตัวเรากับจักรวาลที่มีชีวิต

ส่องสะท้อน เชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ราวกับเป็นคู่ธรรมหรือคู่เต้น

ในมณฑลอันกว้างใหญ่ที่ไม่อาจหยั่งถึง