“จะนะ” : จิตวิญญาณผู้พิทักษ์ธรรมชาติจากมุมมองศาสนา – ดิเรก ชัยชนะ

ศิลปะกราฟิตี้ #Saveจะนะ โดยศิลปิน Alex Face

“โลก” ตามความคิดของศาสนาอิสลามหมายถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆทั้งที่อาศัยบนฟากฟ้า แผ่นดินและท้องทะเล ล้วนเป็นสิ่งที่พระเจ้าเป็นผู้สร้าง พระเจ้าได้ประทานสิ่งธรรมชาติแก่มนุษย์เพื่ออำนวยประโยชน์ ทั้งยังได้มอบหน้าที่ให้มนุษย์เป็นผู้พิทักษ์ธรรมชาติ เพราะไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นใดที่มีความสามารถคุ้มครองและปกป้องสิ่งแวดล้อมได้ กล่าวได้ว่า พลังเจตจำนงของการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากมุมมองศาสนาอิสลามเป็นพลังแห่งความศรัทธาต่อพระอัลลอฮ์

ส่วนพุทธศาสนาอธิบายว่าความกรุณาเป็นคุณลักษณะที่เรามีอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติพื้นฐานของหัวใจที่อบอุ่นและเปิดกว้าง ความกรุณาคอยทิ่มแทงความไม่รู้สึกรู้สาของเราให้รักและปกป้องเพื่อมนุษย์และสรรพสัตว์ ปัจจัยหนึ่งเดียวที่สำคัญที่สุดที่จะผลักดันเราให้ปกป้องโลก มีส่วนร่วมสร้างสังคมที่เป็นธรรม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ คือ ความกรุณา

ดร.ดิเรก ชัยชนะ (อ.เชค)

ท่ามกลางความเข้มข้นของสถานการณ์ประท้วงของชาวจะนะและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น เพื่อเรียกร้องรัฐบาลให้ยุติดำเนินการโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ หากติดตามทำความเข้าใจสาเหตุที่ชาวจะนะต่อสู้และเคลื่อนไหวมาอย่างต่อเนื่องสองปีจะเห็นได้ว่า ชาวจะนะต่อสู้กับโครงสร้างอำนาจรัฐและนายทุนที่ผลักดันโครงการอย่างไม่เป็นธรรมและขาดการมีส่วนร่วม เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชนอีกเหตุผลคือ “การปกป้องสิ่งที่อัลลอฮ์ห์สร้างและมอบให้พวกเขาดูแล ซึ่งชวนให้ตั้งคำถามต่อว่า กรณีพุทธศาสนามีมุมมองใดบ้างที่สนับสนุนการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

ทำไมชาวจะนะคัดค้านโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา

หลายคนอาจได้ยินโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” เป็นครั้งแรกเมื่อมีข่าว ไครียะห์ ระหมันยะ  หรือลูกสาวแห่งทะเลจะนะ ประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ยุติการเปลี่ยนผังเมืองจะนะจากเขตพื้นที่ธรรมชาติและเกษตรกรรมเป็นเขตเมืองอุตสาหกรรม ณ ศาลากลางจังหวัดสงขลา ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 หรือหลายคนอาจรู้จักโครงการนี้เมื่อเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเดินทางมาประท้วงหน้าทำเนียมรัฐบาลเมื่อกลางเดือนธันวาคม 2563 และการเรียกร้องปีที่แล้วได้ยุติลงเมื่อภาครัฐได้ตกลงชะลอโครงการฯ และสัญญาจะทำการประเมินยุธศาสตร์ทางสิ่งแวดล้อมหรือ SEA เพื่อศึกษาข้อมูลใหม่อีกครั้ง ก่อนการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรือ EIA อย่างไรก็ตาม หลังครบหนึ่งปีภาครัฐยังสัญญาข้ามขั้นไปทำ EIA ชาวจะนะและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นจึงขึ้นมาเรียกร้องสัญญจากภาครัฐหน้าทำเนียบรัฐบาลอีกครั้งในวันที่ 6 ธันวาคม 2564 และปักหลักต่อสู้ต่อเนื่องจนถึงวันนี้พร้อมแถลงการข้อเรียกร้อง [1] คือ

         1. รัฐบาลต้องตั้งกลไกตรวจสอบความผิดปกติของโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะใหม่

            2. รัฐบาลต้องจัดการศึกษาโครงการในเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) แบบมีส่วนร่วม และต้องดำเนินการโดยนักวิชาการที่เป็นกลาง และได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย ซึ่งคณะศึกษานี้ต้องไม่อยู่ภายใต้การกำกับของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.)

            3. รัฐบาลต้องสั่งให้ยุติการดำเนินการทุกอย่างในโครงการนี้ไว้ก่อน จนกว่าการดำเนินการตามข้อหนึ่งและข้อสองจะแล้วเสร็จ 

จากจุดเริ่มต้นจนถึงวันนี้ระยะสองปีกว่าที่ชาวจะนะและเครื่อข่ายจะนะรักษ์ถิ่นเคลื่อนไหวคัดค้านโครงการ “จะนะเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมก้าวหน้าแห่งอนาคต” อย่างต่อเนื่อง จนหลายคนอาจสงสัยว่า ทำไมชุมชนต้องประท้วง โครงการมีปัญหาอะไร

ในการตอบคำถามนี้ต้องย้อนกลับไปปี 2559 สมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ประกาศเห็นชอบ “โครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคัง ยั่งยืน” โดยมอบหมายให้ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนใต้ (ศอ.บต.) ดำเนินการ ทั้งที่ ศอ.บต. เป็นหน่วยงานด้านความมั่นคงของรัฐ แต่ไม่ใช่หน่วงงานเศรษฐกิจ การมอบหมายนี้จึงเป็นความผิดปกติหนึ่งที่ชาวจะนะ ภาคประชาสังคม และนักวิชาการ ตั้งคำถามต่อการใช้อำนาจของภาครัฐในการดำเนินโครงการ  โครงการเมืองต้นแบบฯ ได้กำหนด 3 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา พัฒนาเป็นเมืองต้นแบบด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนและการท่องเที่ยว, อำเภอสุไหโกลก จังหวัดนราธิวาส พัฒนาเป็นเมืองต้นแบบด้านการค้าชายแดนหรือเขตการค้าเสรี และอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมก้าวหน้าผสมผสานเพื่อส่งเสริมการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 ในการประชุมครั้งสุดท้ายของรัฐบาลประยุทธ์ 1 ครม.ก็มีมติเห็นชอบในหลักการให้ขยายผลโครงการเมืองต้นแบบฯไปยังอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยให้ ศอ.บต. ประกาศเป็นพื้นที่พัฒนาพิเศษเฉพาะกิจ หมายความว่าโครงลงทุนต่างๆในพื้นที่อำเภอจะนะจะได้รับการยกเว้นไม่ต้องทำตาม พรบ. ร่วมทุน และกฏหมายอื่นๆ กล่าวคือ โครงการจะนะเมืองต้นแบบฯ ในพื้นที่ 16,753 ไร่ ที่จะสร้างท่าเรือน้ำลึก โรงฟ้าขนาด 3,700 เมกะวัตต์ และนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่นี้เกิดขึ้นโดยไม่ได้มีการศึกษาเชิงยุทธศาสตร์ ประชาชนในพื้นที่ไม่รู้ข้อมูลและไม่ได้มีส่วนร่วมมาก่อน[2]  นอกจากนี้ โครงการขนาดใหญ่นี้ยังยกให้เอกชนดำเนินการเอง ไม่ใช่นิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)  ด้วยความคลุมเครือที่มาของโครงการจะนะเหมือนลอยมาจากฟ้าจึงมีคำถามและข้อสงสัยจากชาวจะนะ นักวิชาการ และภาคประชาสังคม เป็นต้นว่า โครงการนี้มีความจำเป็นหรือไม่ เพราะจังหวัดสงขลามีนิคมอุตสาหกรรมอยู่แล้วถึงสองแห่งและยังจัดการได้ไม่เต็มศักยภาพ กระบวนการผลักดันโครงการของภาครัฐที่ขาดความโป่รงใสและการมีส่วนร่วมเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบหรือไม่ เพื่อส่งเสริมนายทุนหรือไม่ ใครเป็นผู้ได้ประโยชน์ รวมถึงความผิดปกติการกว้านซื้อที่ดินในจะนะ กล่าวได้ว่า ชาวจะนะออกมาต่อสู้เพื่อปกป้องทรัยากรธรรมชาติและสิทธิชุมชน เพราะรับรู้ถึงความไม่โปรงใสและความไม่เป็นธรรมของโครงการที่มาจากโครงสร้างอำนาจรัฐและนายทุนที่ผลักดันโครงการจะนะเมืองอุตสาหกรรมฯ รวมทั้งความกังวลว่าโครงการที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนจะเป็นการทำลายทรัพยากรธรรมชาติและเศรษฐกิจชุมชน หาได้มีอนาคตมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนตามที่กล่าวอ้างไม่

ภาพ การชุมชนประท้วงของชาวจะนะและเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น [จากเพจ https://www.facebook.com/savechana ]

“ผู้พิทักษ์ธรรมชาติ” จากมุมมองศาสนา

หนึ่งในรากเหง้าของสาเหตุปัญหาสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย คือ นโยบายของภาครัฐที่ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน ขาดความเป็นธรรม และขาดความโปร่งใส ตัวอย่างกรณีการผลักดันโครงการจะนะเมืองต้นแบบฯของภาครัฐในปัจจุบันได้สะท้อนถึงปัญหานี้อย่างชัดเจนเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติกับโครงสร้างอำนาจรัฐที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเช่นนี้ต้องการพลังเจตจำนงค์อย่างมาก แล้วชาวจะนะยืนหยัดต่อสู้มาต่อเนื่องมาอย่างยาวนานได้อย่างไร 

โดยทั่วไปเมื่อกล่าวถึงการอนุรักษ์และการปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ หลายคนมักอ้างเหตุผลจากความรู้ความเข้าใจจากมุมมองวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมหรือนิเวศวิทยา ที่อธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งธรรมชาติจากมุมมองการใช้ประโยชน์ หรือจากมุมมองความสัมพันธ์ที่มนุษย์เป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศจึงมีหน้าที่รักษาความสมดุลของระบบนิเวศ บางกลุ่มอาจอ้างการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติผ่านมุมมองสุนทรียะว่ามนุษย์เชื่อมโยงกับธรรมชาติทางอารมณ์ความรู้สึก ธรรมชาติจึงเป็นพื้นที่ของการเยียวยาและแรงบันดาลใจ ความรักต่อธรรมชาติเป็นปัจจัยของการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวจะนะนอกเหนือจากมุมมองข้างต้นแล้ว การอนุรักษ์ยังมาจากความศรัทธาต่อพระเจ้าด้วย

จากมุมมองศาสนาอิสลามซึ่งเป็นศาสนาที่นับถือพระเจ้าเพียงองค์เดียวคือพระอัลลอฮ์ เป็นผู้สร้างมนุษย์และสรรพสิ่ง ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ[3] จึงประกอบด้วย มนุษย์ สิ่งธรรมชาติ และอำนาจของพระเจ้า สิ่งที่พระเจ้าสร้างคืออำนาจของพระเจ้าและมีความศักดิ์สิทธิ์ ชาวมุสาลิมมีความศรัทธาและอ่อนน้อมต่อพระเจ้าและปฏิบัติตามพระคัมภร์อัล-กุรอาน “โลก” ตามความคิดของศาสนาอิสลามหมายถึงสิ่งมีชีวิตต่างๆ ทั้งที่อาศัยบนฟากฟ้า แผ่นดินและท้องทะเล ล้วนเป็นสิ่งที่พระเจ้าเป็นผู้สร้าง พระเจ้าได้ประทานสิ่งธรรมชาติแก่มนุษย์เพื่ออำนวยประโยชน์ ทั้งยังได้มอบหน้าที่ให้มนุษย์เป็นผู้พิทักษ์ธรรมชาติ เพราะไม่มีสิ่งมีชีวิตอื่นใดที่มีความสามารถคุ้มครองและปกป้องสิ่งแวดล้อมได้ กล่าวได้ว่า พลังเจตจำนงของการปกป้องและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจากมุมมองศาสนาอิสลามเป็นพลังแห่งความศรัทธาต่อพระอัลลอฮ์ ดังนั้นเมื่อผู้เขียนสอบถามชาวจะนะถึงเหตุผลที่ออกมาประท้วง เมื่อกล่าวถึงที่สุดแล้วพวกเขาจะพูดด้วยน้ำตานองหน้าในความศัทธาต่อพระเจ้าว่า “เราปกป้องทะเลที่อัลลอฮ์มอบให้พวกเราดูแล” 

ความกรุณาหัวใจแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

สำหรับชาวพุทธมุมมองอะไรที่จะมาเป็นพื้นฐานให้แก่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม[4] บางคนอาจเห็นว่าศาสนาพุทธสนับสนุนการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น การบวชต้นไม้ หรือกรณีพระเป็นผู้นำชาวบ้านในการเคลื่อนไหวด้านการอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม คำตอบนี้มีปัญหาเพราะพระบุกรุกป่าเพื่อสร้างสถานที่ปฏิบัติธรรมก็มี การนำการกระทำของพระมาตอบจึงไม่เพียงพอ บางคนอาจเห็นว่าการพัฒนาจิตวิญญาณอันเป็นเป้าหมายทางศาสนาจะส่งผลให้บุคคลมีท่าทีเชิงอนุรักษ์ อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถนำเอาเรื่องการพัฒนาจิตดังกล่าวมาเป็นคำตอบให้กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ ทั้งนี้เพราะว่า เรากำลังนำเรื่องการอนุรักษ์ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนมาขึ้นกับการพัฒนาจิตวิญญาณของบุคคล และเป็นสิ่งที่ไม่ทันการ เพราะการพัฒนาจิตวิญญาณไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องที่ทุกคนอยากจะทำกัน แต่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ควรจะผลักดันให้กับทุกคนไม่ว่าจะมีจิตวิญญาณระดับไหนหันมาสนใจการอนุรักษ์

องค์ทะไลลามะ[5] มีข้อเสนอว่า เราจะรักและอาทรโลกอย่างแท้จริงก็ต่อเมื่อเรารู้ซึ้งเท่านั้นว่า ‘โลกเป็นเสมือนมารดาของเรา’ กล่าวคือการมีมุมมองและหัวใจที่ไม่แบ่งแยกระหว่างเรากับผู้อื่น สรรพสัตว์ และโลก ในศาสนาพุทธมีบทสวดอธิฐานขอให้เราเป็นเสมือนแม่พระธรณี [6] ว่า

                        “ ขอให้ข้าเป็นดั่งแม่ธรณี

                        ผู้ประทานอากาศ ผืนดิน น้ำ และทุกสิ่งสารพัด

                        อันเป็นต้นกำเนิดที่ศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต ”

บทสวดอธิษฐานนี้ได้รับแรงบันดาลใจจากโลกและต้องการปลุกจิตสำนึกให้เรามีจิตปรารถนาที่จะอุทิศตนเพื่อชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อื่น สรรพสัตว์ และโลก อย่างไม่มีเงื่อนไข หรือที่เรียกว่า ‘ความกรุณา’ ซึ่งหมายถึงความสามารถที่จะรักและเปิดกว้างต่อความทุกข์โดยไม่ปิดกัน ไม่มีการแบ่งแยกตัวเราจากผู้อื่นและสิ่งอื่น ความกรุณานำเราเข้าไปสัมผัสความทุกข์และปัญหาของผู้อื่น แม้แต่ความทุกข์ของสัตว์และของโลก เหมือนกับเป็นปัญหาเราเอง และเราปรารถนาให้สรรพชีวิตพ้นทุกข์และเหตุแห่งทุกข์

ในกรณีของโครงการจะนะ จากมุมมองความกรุณาหากเรารู้สึกสะเทือนใจต่อความไม่เป็นธรรมที่ชาวจะนะกำลังเผชิญจากการใช้อำนาจอันมิชอบของภาครัฐ หากเรารู้สึกเจ็บปวดใจเหมือนว่าความอยุติธรรมนั้นกระทำต่อเรา ต่อครอบครัว หรือชุมชนของเรา หากเราได้ยินเสียงและรู้สึกห่วงใยสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตไม่ว่าจะเป็นปลา ต้นสน หาดทราย ทะเล ที่จะถูกทำลายและสูญเสียความหลากหลายทางนิเวศจากสิ่งก่อสร้าง ท่าเรือน้ำลึก และโรงงานอุตสาหกรรม การรับรู้เหล่านี้มาจากแง่มมุมของความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ และสรรพสิ่ง ที่เราโจนเข้าไปอยู่ตรงนั้นอย่างเต็มใจเพื่อสัมผัสความทุกข์และร่วมแลกเปลี่ยนความคิด มุมมอง หรือการกระทำ เพื่อทำความเข้าใจปัญหาและเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจสังคมที่กดทับผู้คนภายใต้สถานการณ์นั่น นี้คือความกรุณาหรือหัวใจที่กล้าหาญ นำเราไปรู้สึก เชื่อมโยง และสัมพันธ์กับความทุกข์ของผู้อื่นและสิ่งต่างๆ

พุทธศาสนาอธิบายว่าความกรุณาเป็นคุณลักษณะที่เรามีอยู่แล้ว เป็นธรรมชาติพื้นฐานของหัวใจที่อบอุ่นและเปิดกว้าง ความกรุณาคอยทิ่มแทงความไม่รู้สึกรู้สาของเราให้รักและปกป้องเพื่อมนุษย์และสรรพสัตว์ ปัจจัยหนึ่งเดียวที่สำคัญที่สุดที่จะผลักดันเราให้ปกป้องโลก มีส่วนร่วมสร้างสังคมที่เป็นธรรม และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ คือ ความกรุณา

บทความโดย ดร.ดิเรก ชัยชนะ (อ.เชค)

อ้างอิง

[1] ขูอมูลจากเพจ https://www.facebook.com/savechana

[2] สฤณี อาชวานันทกุล (2564). Behind the Illusion ระบอบลวงตา. กรุงเทพ. มติชน. หน้า 317-329

[3] สัณฐิตา กาญจนพันธุ์ (2554). ความคิดสีเขียว วาทกรรม และความเคลื่อนไหว. เชียงใหม่. สถาบันวิจัย      สังคม คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่. หน้า 278-282

[4] ปกรณ์ สิงห์สุริยา (2543). ปัญหาการนำพุทธศาสนามาเป็นพื้นฐานในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม.  พุทธศาสน์ศึกษา. 7(2). หน้า 30-35

[5] องค์ทะไลลามะที่ 14 และฟรันซ์ อัลท์ (2564). บ้านหลังเดียวของเรา คำวิงวอนเพื่อโลกและภูมิอากาศ. กรุงเทพ. สวนเงินมีมา. หน้า 88

[6] องค์กรรมาปะที่ 17 ออกเยน ทรินเลย์ ดอร์เจ (2558). หัวใจอันประเสริฐเปลี่ยนแปลงโลกจากภายใน.  กรุงเทพ. สวงเงินมีมา. หน้า 124-143