ห่วงใยใครบางคน ไม่ได้หมายความว่าต้องเอาภาระของพวกเขามาแบกไว้

เรียบเรียงโดย ทีมงานวัชรสิทธา

หากเรามองไปรอบๆ อาจตระหนักว่ามีผู้คนจำนวนมากเหลือเกินในชีวิตของเรา ที่กำลังต้องการการช่วยเหลือหรือการสนับสนุนทางใจอย่างเร่งด่วน ทั้งผู้ที่กำลังเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจหลังช่วงวิกฤติโควิด ผู้ที่สิ้นหวังกับการต่อสู้ทางการเมือง เด็กๆ ที่ต้องติดแหง็กอยู่บ้านไม่ได้ไปโรงเรียน ผู้ที่ได้รับผลกระทบทางอารมณ์จากความสัมพันธ์และคนรอบข้าง หรือผู้ที่หัวใจสลายจากการเจ็บป่วยหรือการตายของคนรัก…

แน่นอนว่าการมีหัวใจรู้สึกรู้สากับความเป็นไปรอบตัวเป็นสิ่งดี แต่หากการห่วงคนอื่นทำให้เรารู้สึกท่วมท้นหรือหนักอึ้งจนสูญเสียสมดุลในตัวเองแล้วล่ะก็ เราคงต้องหันกลับมามอง “การห่วงใยใครบางคน” ของเราเสียใหม่ เราจะสามารถดูแลพลังชีวิตของเราในฐานะแสงสว่างท่ามกลางความทุกข์รอบตัวเราได้อย่างไร?



สัมภาระอันหนักอึ้งของผู้ช่วยเหลือ

มีคำกล่าวหนึ่งที่น่าสนใจ


“Caring for someone doesn’t mean carrying their burden.”
การห่วงใยใครบางคน ไม่ได้หมายความว่าต้องเอาภาระของพวกเขามาแบกไว้


เมื่อเรารับรู้ความทุกข์ของคนที่เรารัก เราไม่อยากเห็นเขาเป็นทุกข์ เราอยากจะช่วย แต่ก็ไม่รู้จะช่วยได้อย่างไร เราอาจรู้สึกผิด เพราะคิดว่าเราทำไม่ดีพอหรือไม่มากพอ หรือบางครั้งการยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือของเรา อาจได้รับการปฏิเสธ หรือถูกบอกว่าสิ่งที่เราพยายามทำอยู่ ไม่ได้ช่วยอะไรพวกเขา หรือไม่บางที เราก็ไปตอบรับช่วยเหลือในสถานการณ์ที่เราไม่อยากทำ แล้วจบลงด้วยความรู้สึกแย่กับตัวเองหรืออ่อนล้าหมดแรง

หากมองตัวเองว่าเป็น “ผู้ช่วยเหลือ” แล้วการช่วยเหลือของเราถูกปฏิเสธ แล้วเราจะเป็นใครล่ะทีนี้? ทั้งหมดนี้ดูจะไม่มีความเกี่ยวข้องอะไรกับผู้คนที่เราห่วงใยเลยแม้แต่น้อย แต่เกี่ยวข้องกับตัวเราเองซะมากกว่า

เรากำลังแบกอะไรที่ไม่ใช่ของเราอยู่หรือเปล่า?
อะไรคือภาระที่เราสามารถวางลงได้?
อะไรคือ “ผู้ช่วยเหลือ”?

โดยไม่รู้ตัวเรากำลังแบก “helper backpack” อยู่บนหลัง สร้างตัวตนของ “ผู้ช่วยเหลือ” มาสวมใส่ไว้ เรามุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่เราสามารถให้คนอื่น โฟกัสของเราคือ คนอื่น คนอื่น คนอื่น …แต่ไม่เคยนึกถึงสิ่งที่ตัวเองต้องการจริงๆ เลย ปีแล้วปีเล่าที่เราเอาแต่ใส่ใจความต้องการของคนอื่นแล้วเพิกเฉยความต้องการของตัวเอง ให้คนอื่นเพื่อปกปิดความต้องการที่จะรับ หรือไม่ก็เอาตัวเองออกจากภาพทั้งหมดเสีย สุดท้ายก็มาถึงจุดแตกหักที่เรียกกันว่า “เบิร์นเอาท์” เราอาจรู้สึกเหนื่อยล้าโดยไม่รู้สาเหตุและร้องไห้อย่างไม่มีเหตุผล อารมณ์เหล่านี้อาจมีผลต่อร่างกาย เช่น น้ำหนักลด นอนไม่หลับ ไม่อยากกินอาหาร ไม่มีแรงทำงาน ขาดชีวิตชีวา กระทั่งไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อไป

เมื่อเรามองดู “helper backpack” ที่เราแบกอยู่บนหลัง และตระหนักว่ามันหนักแค่ไหน เอาจริงๆ คือ มันจำเป็นแค่ไหนที่ต้องแบกสิ่งของพวกนั้นไปไหนมาไหนอยู่ตลอดเวลา เรารู้สึกว่ามันยากที่จะปล่อยจากสิ่งที่เราให้ค่าบางอย่าง ที่เรายึดว่าเป็นตัวเองมานาน แต่เมื่อรู้ว่ามันไม่ได้ช่วยอะไรเราเลย เราก็ควรมาถึงจุดที่ตัดสินใจปล่อยความเชื่ออันหนักอึ้งบนหลังของเราไปซะที

สามสิ่งที่ “ผู้ช่วยเหลือ” ต้องปลดปล่อย

1. ปลดปล่อยตัวตนของเราจากสถานะ “ผู้ช่วยเหลือ”

หากเรามองตัวเองว่าไร้ค่า หากไม่ได้ช่วยใคร เราก็ต้องกลับมาถามตัวเองแล้วว่า “ที่ฉันช่วยเหลือผู้คนเพราะฉันต้องการช่วยเขาจริงๆ หรือทำไปเพื่ออัตตาของฉันเองกันแน่?” หากใครบางคนปฏิเสธการช่วยเหลือของเรา หรือบอกตรงๆ ว่าสิ่งที่เราทำมันไม่ได้ช่วย มันก็ไม่ได้มีผลอะไรต่อคุณค่าของเราสักหน่อย เอาจริงๆ การเป็นผู้ให้การช่วยเหลือ เป็นแค่แง่มุมหนึ่งในหลากหลายแง่มุมของความเป็นตัวเราก็เท่านั้น

เราเป็นทั้งผู้ให้ เราเป็นทั้งผู้รับ เราเป็นทั้งผู้ช่วยเหลือ เราเป็นทั้งผู้รับความช่วยเหลือ…


2. ปลดปล่อยความคิดที่ว่า “คนอื่นต้องมาก่อนเสมอ”

การตอบว่า “ได้” โดยไม่ลังเลเมื่อถูกขอความช่วยเหลือ กระทั่งทั้งชีวิตมีแต่เรื่องของคนอื่นที่ต้องไปดูแล เป็นอะไรที่ไม่ค่อยเฮ้ลท์ตี้เท่าไหร่ บางทีเราอาจต้องเรียนรู้ที่จะให้เวลากับตัวเองในการตอบรับคำร้องขอของผู้อื่นบ้าง เพื่อจะได้เช็คกับตัวเองว่า เรามีเวลา พลังงาน และความพร้อมที่จะตอบรับคำร้องขอนั้นจริงๆ หรือไม่ และมันอาจหมายถึงการเรียนรู้ที่จะบอกว่า “ไม่” ด้วย

3. ปลดปล่อยความเชื่อที่ว่า “คนอื่นจะอยู่ไม่ได้หากปราศจากฉัน”

แทนที่จะมองพวกเขาเป็นเหยื่อ เป็นคนผู้น่าสงสาร เป็นคนที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้หากไม่มีเรา… เราพัฒนาความไว้วางใจว่าพวกเขาจะสามารถจัดการกับสถานการณ์ของตนและร้องขอความช่วยเหลือที่เขาต้องการ

ไม่ใช่เรา แต่เป็นพวกเขาเองต่างหาก ที่จะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดต่อชีวิตตัวเอง แทนที่จะวุ่นอยู่กับพยายามให้ความช่วยเหลือ เราอาจจะลองถอยออกมาและฝึกอยู่กับความไว้วางใจ เพื่อที่เราจะ “ว่าง (available)” ในวินาทีที่พวกเขาเลือกที่จะขอความช่วยเหลือจากเราจริงๆ

การห่วงใยใครบางคน ไม่ได้หมายความว่าเอาภาระของพวกเขามาแบกไว้ ตรงกันข้าม เมื่อเราห่วงใยอย่างใส่ใจ เราจะปล่อยการรับผิดชอบต่อชีวิตของคนอื่น และนั่นจะเป็นหนทางที่เราจะพร้อมและว่าง ที่จะห่วงใยผู้คนในหนทางที่ตรงกับความต้องการของพวกเขาและพลังงานของเราเองในขณะนั้นๆ มากขึ้น

การห่วงใยที่ตระหนักทั้งประโยชน์ต่อตนเองและคนอื่นไปพร้อมกัน และเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์นี่แหละ ที่เรียกว่า การห่วงใยอย่างแท้จริง



เรียบเรียงจาก: Caring for Someone doesn’t mean Carrying their Burden จาก Elephant Journal
https://www.elephantjournal.com/2021/11/what-am-i-carrying-that-is-not-mine-to-carry-caring-for-myself-before-i-care-for-others/?fbclid=IwAR1vkA92HC3qAJ2cgAH4gaenr68T5Y1YHuguqxBUfl8hHEX7wrJlerpqucw