บทความโดย THANYA วัชรสิทธา
บทสะท้อนประสบการณ์จากการชมภาพยนตร์สารคดี Mental-Verse
“Trigger warning ในชิ้นงานมีเนื้อหาที่พูดถึงการฆ่าตัวตายและการทำร้ายร่างกาย ซึ่งละเอียดอ่อนต่อการกระทบจิตใจ โปรดประเมินความพร้อมของตัวเองก่อนเข้าชม”
ก่อนเข้าไปในพื้นที่ของการสำรวจโลกของจิตใจ จะได้รับคำเตือนเสมอว่าให้เตรียมความพร้อม ทำไมพื้นที่ที่อยู่ข้างในตัวเราเองหรือในคนรอบๆ ตัว ถึงกลายเป็นดินแดนลึกลับอันตราย ที่พร้อมจะสั่นคลอนความรู้สึกเราให้เจ็บปวดเสียน้ำตา มันเป็นตัวเราเองที่ใจร้าย หรือมีอะไรมากไปที่พร้อมจะทิ่มแทงอยู่ลึกกว่านั้นกัน
สังคมทุกวันนี้ โรคซึมเศร้าแทบจะเป็นเหมือนโรคภูมิแพ้ที่ใครๆ ก็มีแพ้กันคนละอย่างสองอย่าง โรคทางจิตเวชมีหลากหลายชนิดและปรากฏในคนทุกเพศทุกวัย มากมายจนน่าตกใจ ภาวะซึมเศร้านี้ใกล้ตัวเรามาก พนันได้เลยว่าในชีวิตคนคนหนึ่ง ต้องมีคนรอบตัวเป็นโรคซึมเศร้าอย่างน้อยหนึ่งคนในชีวิต บางทีอาจเป็นตัวเราเองเสียด้วยซ้ำหากเรากล้าเข้าไปสำรวจ
Mental-verse จักรวาลใจ เป็นสารคดีบอกเล่าเรื่องราวของผู้ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าสามคน ในสามช่วงวัยที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน มีอาการแตกต่างกัน ถ่ายทอดโดยการบอกเล่าจากแต่ละคนที่มานั่งคุยกับ เบสท์ วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ ประกอบกับรูปภาพที่ทั้งสามเลือกมาให้ดู รูปแบบการนำเสนอแบบนี้ ทำให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนนั่งฟังอยู่ด้วยกันในห้องนั้น รับสารโดยตรงจากผู้ป่วยโรคซึมเศร้าแบบไม่ผ่านการวิเคราะห์หรือตีความมาก่อน จนเกิดการเชื่อมโยงทางความรู้สึก ต่างจากการดูสารคดีแบบอื่นๆ ที่เน้นให้ความรู้เกี่ยวกับโรคซึมเศร้าโดยการสัมภาษณ์ผู้ป่วย สัมภาษณ์จิตแพทย์ เสนอข้อมูลเชิงตัวเลขหรือสถิติ ทว่าสิ่งที่ Mental-Verse ทำ คือการพาเราไปสำรวจจักรวาลของจิตใจ โดยมีเรื่องเล่าของคนทั้งสามนำทาง
เส้นทางชีวิตที่ถูกกดทับจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง
มินนี่ พี่ฝัน และแม่ณี ผู้ป่วยซึมเศร้าทั้งสามเล่าเรื่องราวชีวิตตัวเอง พวกเขาผ่านอะไรมา อะไรในชีวิตที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า และเส้นทางชีวิตที่เดินต่อไป พร้อมๆ กับการประคับประคองโรคนี้ไปด้วย
เรื่องราวของมินนี่คือเรื่องของวัยรุ่น gen z ที่เติบโตมาบนความคาดหวัง ด้วยช่วงเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่ ความเป็นห่วงกังวลของพ่อแม่กลายเป็นความรุนแรงที่ทำร้ายชีวิตเด็กคนหนึ่งตลอดเส้นทางการเติบโต จนเธอกลายเป็นโรค PTSD ที่ต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิตที่เหลือ หลังจากผ่านการรักษาและการทำงานภายในกับตัวเอง มินนี่เล่าว่า เมื่อเวลาผ่านไปและได้ใคร่ครวญกับตัวเอง ก็สามารถบอกตัวเองได้ว่า เราไม่จำเป็นต้องสมบูรณ์แบบ และเมื่อมองพ่อแม่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ก็สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆ ที่เขาทำมาและยอมรับมันได้
ชีวิตที่ต้องอดทนมากว่าสามสิบปีของพี่ฝัน เด็กต่างจังหวัดที่พ่อแม่ฝากไว้ให้ย่าเลี้ยงดู เขาเข้ามาเรียนต่อที่กรุงเทพ อาศัยอยู่กับพ่อแม่ เส้นทางชีวิตตั้งแต่เกิดจนโตของพี่ฝันไม่เรียบง่ายเลย พี่ฝันเล่าว่าต้องพยายามทำดีเพื่อที่จะถูกรักอยู่ตลอดเวลา ต้องคงสภาพตัวเองให้ “โอเค” ตามแบบที่สังคมวาดไว้ กดความรู้สึกเพื่อที่จะอยู่ได้ในพื้นที่ตรงนั้นร่วมกับคนอื่น ไม่ว่าจะที่ครอบครัวต่างจังหวัด โรงเรียน หรือแม้แต่ที่อยู่กับพ่อแม่ ไม่มีที่ไหนเลยที่จะสามารถทิ้งตัวปลดเปลื้องตัวเองออกจากการพยายามนั้น จนมาถึงจุดหนึ่งจึงเกิดเป็นอาการป่วยซึมเศร้าชนิด Dysthymia ที่มีอาการเหนื่อยและหมดแรงตลอดเวลา
“…แล้วทำไมม๊ายังทนอยู่กับป๊า?
….ก็เพราะเบสท์น่ะสิ ม๊าอยู่เพื่อให้เป็นครอบครัว มีพ่อ แม่ ลูก”
ในยุคของพ่อแม่เรา, gen baby-boomer โรคซึมเศร้ายังไม่เป็นที่รู้จัก ผู้คนยังไม่มีภาพหรือความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ กระนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีคนเป็นโรคนี้ แม่ณี หม่าม้าของผู้กำกับสารคดี เป็นผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากสถาบันครอบครัวชายเป็นใหญ่ จนเกิดภาวะโรค panic และโรคซึมเศร้า ชีวิตของแม่ณีเรียกได้ว่าเป็นไปตามบทบาทแม่และเมียที่สังคมบอก ช้างเท้าหลัง อดทน ดูแลทุกอย่าง แม้จะผ่านความทุกข์ ความรุนแรง และการปะทะกับสามีหลายต่อหลายครั้ง เธอก็เลือกที่จะอดทนเพื่อให้ครอบครัวยังสมบูรณ์
ด้วยความรู้ที่ได้มาจากคอร์สอบรม gender awareness and social justice โดย อ.อวยพร เขื่อนแก้ว ที่วัชรสิทธาที่ผ่านมา ซึ่งเป็นคอร์สเดียวกับที่คุณเบสท์ ผู้กำกับก็เคยเข้าไปเรียนเช่นกัน ทำให้เรามีแว่นที่จะมองวิเคราะห์ที่มาของโรคซึมเศร้าในชีวิตปัจเจกทั้งสามคนนี้ ว่าเป็นผลพวงจากอำนาจความรุนแรงที่กดทับพวกเขา อำนาจความรุนแรงที่มาจากระดับโครงสร้าง ไม่ใช่แค่มาจากความผิดปกติในตัวพวกเขา เรื่องราวทั้งสามแยกกัน แต่สิ่งที่เชื่อมโยงที่สามารถเห็นได้ผ่านแว่นนี้คือ ความเศร้าอันหนักหน่วงไม่ใช่จู่ๆ ก็เกิดขึ้นและไม่ได้เกิดขึ้นมาจากตัวพวกเขาเอง แต่เป็นผลมาจากการอยู่ภายใต้โครงสร้างกดทับอันหนักหนาสาหัส ที่พร้อมจะบดขยี้กลุ่มคนที่มีอำนาจน้อยกว่าที่อยู่ภายใต้
“เราเป็นทุกอย่างที่จะถูก bully เลย เป็นเด็กต่างจังหวัด ตัวอ้วน และเป็น LGBTQ+ ในโรงเรียนชายล้วน” – พี่ฝัน
การเรียนคอร์ส Gender Awareness ที่วัชรสิทธา ทำให้เข้าใจว่า เราทุกคนล้วนอยู่ในสังคมที่มีความรุนแรงที่มองไม่เห็น เป็นความรุนแรงจากอำนาจที่อยู่ในวัฒนธรรมชายเป็นใหญ่ จารีต กรอบเพศหญิง กรอบเพศชาย ความกตัญญู หรือความรุนแรงในระดับสถาบัน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน องค์กร กระทั่งครอบครัว ทั้งมินนี่ พี่ฝัน และแม่ณี ต่างได้รับความรุนแรงจากทุกสิ่งที่กล่าวไป มินนี่ถูกกดทับจากระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ระดับประเทศ กดลงมาที่ครอบครัว และสถาบันครอบครัวก็กดทับมินนี่อีกด้วยอำนาจที่เหนือกว่าของความเป็นพ่อแม่ รวมไปถึงพี่ฝันที่ต้องพยายามจัดการตัวเองให้อยู่ในกรอบคนดีที่แบบที่สังคมต้องการจะเห็น ต้องถูกอำนาจที่มาจากกรอบคิดและมาตรฐานสังคมบีบตลอดเวลา และเห็นชัดเจนที่สุด แม่ณี ที่ถูกกดทับทั้งจากแนวคิดชายเป็นใหญ่ และวัฒนธรรมครอบครัว ที่บีบให้ต้องทนอยู่กับความขัดแย้งและความรุนแรงเพื่อรักษาความเป็น “แม่” และ “ครอบครัว”ตามจารีตที่สังคมกำหนด
มินนี่เล่าว่า การรักษาโรคซึมเศร้าด้วยการกินยา ก็เหมือนเราเป็นเรือที่รั่ว ยาแค่มาวิดน้ำออก แต่ไม่ได้อุดรูรั่วนั้น
สารคดีเรื่องนี้พยายามบอกว่า สภาวะโรคซึมเศร้าของปัจเจกสะท้อนให้เห็นถึงต้นตอจากการกดทับที่ใหญ่ไปกว่าตัวเอง เราไม่สามารถไปตัดสินคนเหล่านั้นว่าเป็นโรคซึมเศร้าเพราะสารเคมีในสมองผิดปกติน่ะสิ กินยาก็หายแล้ว หรือไปกล่าวหาว่าพวกเขาไม่มีความพยายามมากพอที่จะหายเองต่างหาก สามเส้นทางชีวิตที่อยู่ในสารคดีนี้ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกัน แต่สะท้อนให้เราเห็นความเชื่อมโยงในต้นตอปัญหาเชิงโครงสร้าง หากเราได้ไปนั่งฟังเรื่องราวของคนที่เป็นโรคซึมเศร้าอีกคน สองคน สิบคน ก็อาจจะได้เห็นสาเหตุของโรคที่มาจากการกดทับทางสังคมในด้านอื่นๆ อีกก็เป็นได้
เราในฐานะประจักษ์พยาน
ในคอร์ส gender awareness นอกจากจะได้เรียนรู้ที่จะวิเคราะห์ความรุนแรงที่มาจากโครงสร้างสังคมแล้ว เรายังได้เรียนรู้ที่จะเป็นผู้รับฟังแบบเป็นประจักษ์พยาน (Bearing Witness)
Deep listening การฟังโดยที่ไม่ถาม ไม่แนะนำ ไม่ตัดสิน ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเล่าเรื่อง หัวเราะ ร้องไห้ เราก็เพียงรับฟัง และนั่งเป็นประจักษ์พยานอยู่ตรงนั้นกับเขา เมื่อเขาเล่าจบ เราก็ขอบคุณอีกฝ่ายที่ไว้ใจเล่าเรื่องราวให้เราฟัง – อวยพร เขื่อนแก้ว
เราในฐานะมนุษย์ที่ไม่ค่อยสะทกสะท้านกับ trigger warning ต่างๆ ก็ไม่ได้รู้สึกรีเลทหรือได้รับแรงกระทบจากเรื่องราวชีวิตใคร เพียงอินไปกับห้วงอารมณ์ของภาพยนตร์ สำหรับสารคดีเรื่องนี้ ความรู้สึกแรกที่เอ่อล้นขึ้นมาหลังดูจบ คือรู้สึกขอบคุณทั้งสามคนที่เล่าเรื่องนี้ให้เราฟัง ขอบคุณที่อนุญาตให้เรามานั่งเป็นประจักษ์พยาน ณ ที่ตรงนั้น
สิ่งที่เรียนรู้มาจากคอร์ส ทำให้เราเป็นผู้ฟังที่ดีขึ้นกว่าแต่ก่อน ในชีวิตเราได้รับบทบาทผู้ฟังให้กับเพื่อนๆ คนรอบตัวที่มีภาวะซึมเศร้าหลายต่อหลายครั้ง บางครั้ง สารภาพตามตรง เราก็แอบตัดสินหรือคิดแทนคนเหล่านั้นในใจ ทำไมทำอย่างงู้น ทำไมไม่ทำอย่างงี้ เรื่องแค่นี้ไม่เห็นจะหนักหนา แต่เมื่อได้เรียนรู้เรื่องความรุนแรงจากการกดทับของอำนาจในสังคมที่มองไม่เห็นในคอร์สที่ผ่านมา ก็เหมือนถูกปลุกให้ตระหนักรู้ถึงต้นตอปัญหาที่อยู่เหนือกว่าระดับปัจเจก
ด้วยการตระหนักรู้นี่เอง ทำให้เรามีสติรับฟังคนอื่นโดยไม่ตัดสินที่ตัวเขา เราสามารถมองไปให้เห็นถึงสาเหตุที่ใหญ่เกินไปกว่าการที่ปัจเจกแต่ละคนจะสามารถเอาชีวิตรอดอย่างสุขสบาย เราสามารถนั่งอยู่กับเขาในฐานะประจักษ์พยาน เป็นพื้นที่ว่างที่ไม่ตัดสิน ไม่ขัด ไม่เสนอความเห็น เพราะแม้จะสามารถมองเห็นปัญหาที่มา แต่เราไม่อาจเข้าใจอย่างถ่องแท้ได้เลยว่าแต่ละคนผ่านความรู้สึกใดมา ห้วงความเศร้านั้นเป็นของแต่ละบุคคลซึ่งดิ่งลึกเกินกว่าจะจินตนาการ ดังนั้นแทนการที่จะพยายามทำความเข้าใจความเศร้าหรือปลอบโยนแนะนำ การนั่งเป็นพื้นที่ว่าง ก็อาจจะเป็นหนทางช่วยเยียวยาอีกฝ่ายที่เราสามารถทำได้ด้วยสติตื่นรู้ของเรา
ให้เธอนั่งลงช้าช้า
เพราะเธอเดินทางแสนไกล
ในดวงตาเธอมีน้ำ
แต่ภาวนาให้เป็นน้ำฝน
แข็งแรงคืออะไรไม่รู้
เธอพูดว่าเธอยังมีไม่พอ
โปรดจงรู้ว่าเพราะที่เธอยังอยู่
เธอเข้มแข็ง
(เพลงของเธอ – youth brush)
นอกเหนือไปจากนั้น การรับฟังเรื่องราวอย่างมีสติอยู่กับเนื้อกับตัว กลับเป็นการเติมเต็มตัวเราเอง เรารู้สึกขอบคุณจากใจจริงที่อีกฝ่ายเล่าเรื่องราวของเขาให้ฟัง เราได้รับอนุญาต ได้รับความไว้วางใจที่จะได้มานั่งฟังอยู่ตรงนั้น จิตใจเราถูกเติมพลังจากความกล้าหาญ ความเข็มแข็ง ความเข้าใจ และความอ่อนโยน ที่ปรากฎชัดเจนในเรื่องราวเส้นทางชีวิตของพวกเขาโดยไม่ต้องพูดออกมา ทั้งสามเส้นทางในสารคดีผ่านการทำงานอย่างหนักกว่าจะมาถึงจุดที่พวกเขามานั่งเล่าให้เราฟัง เรามองเห็นถึงพลังอำนาจภายในมากมายในแต่ละคน เกิดความรู้สึกชื่นชมและได้รับการเติมเต็มจากพลังอำนาจภายในพวกเขาเหล่านั้น
พี่ฝันเล่าว่า เขาหลับตา และรู้สึกได้ถึงแขนที่งอกออกมาจากอก โอบกอดตัวเขาไว้ เป็นแขนผู้ชาย มีเนื้อหน่อย …และจังหวะนึง out of the blue พี่ฝันก็รับรู้ได้ว่า แขนคู่นั้น แขนที่โอบกอดนั้น คือแขนของพี่ฝันเอง
รอบตัวเรายังมีปัจเจกที่ถูกกดทับจากความรุนแรงเชิงโครงสร้างอีกมากมาย ครั้งต่อไปที่นั่งในฐานะผู้รับฟังอาจเป็นเรื่องราวของเพื่อน หรือของคนในครอบครัว แทนที่จะกลัวและเดินหนีไปพร้อมคำตัดสิน เราพร้อมที่จะเป็นพื้นที่ว่าง รับฟังอย่างเป็นประจักษ์พยานต่อความทุกข์ตรงหน้า เป็นกระจกสะท้อนพลังอำนาจภายในของเขา และขอบคุณที่เขาไว้ใจที่บอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นให้เราฟัง จากหัวใจ