โพวา : ภาวนาเพื่อการตายอย่างสันติ กับ วิคตอเรีย สุบีรานะ 28-29 ก.ย. 2567

Phowa
โพวา : ภาวนาเพื่อการตายอย่างสันติ
กับ วิคตอเรีย สุบีรานะ

เสาร์และอาทิตย์
28-29 กันยายน 2567
9.00 – 17.00 น.
ณ วัชรสิทธา เทเวศร์

สอนเป็นภาษาอังกฤษและมีแปลไทย

ค่าลงทะเบียน 4,250 บาท/ท่าน
** ราคาสมาชิกกิจกรรมเหลือ 3,825 บาท/ท่าน

เมื่อความตายมาถึง เราควรทำตัวอย่างไร?

เมื่อความตายเข้ามาเยือนคนที่เรารัก เราจะปฏิบัติกับเขาแบบไหน?

ในมุมมองแบบพุทธ ความตายไม่ใช่จุดจบเสียทีเดียว แต่เป็นช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านของชีวิตหนึ่งไปสู่อีกชีวิตหนึ่ง โดยระหว่างนั้นเราจะได้เข้าไปสู่ดินแดนที่เรียกว่า “บาร์โด” ที่ซึ่งจิตของเราจะกลับสู่ธรรมชาติที่แท้จริงของตัวมันเอง ในทิเบตผู้คนให้ความสำคัญกับช่วงเวลาแห่งการเปลี่ยนผ่านนี้ เพื่อที่จิตจะได้เป็นอิสระ ไม่ถูกกั้นขวางจากความหวังและความกลัวที่อาจติดตัวจากชีวิตนี้ โดยมีแบบปฏิบัติที่ทำงานกับกระบวนการของความตายอย่าง “โพวา”

การภาวนาโพวา คือการภาวนาที่ชาวทิเบตจะทำเมื่อกระบวนการของความตายได้เริ่มต้นขึ้น มันอาจเป็นห้วงเวลาที่ความเจ็บป่วยได้เดินทางมาถึงระยะสุดท้ายของโรค เป็นวิธีการดูแลผู้ที่ใกล้เสียชีวิต หรืออาจเป็นแบบปฏิบัติประจำวันที่สร้างความตระหนักถึงความไม่เที่ยงของชีวิต

รูปแบบของโพวามีหลากหลาย โพวาที่วิกตอเรียจะนำมาสอนในคลาสนี้ เป็นรูปแบบของโพวาที่เธอได้แรงบันดาลใจมาจาก “The Tibetan Book of Living and Dying” (คำสอนทิเบตเพื่อเตรียมตัวตายและช่วยเหลือผู้ใกล้ตาย) โดย โซเกียล รินโปเช ซึ่งเป็นรูปแบบที่เธอได้พัฒนาและนำไปสอนในเวิร์กชอป Living and Dying with Dignity ด้วย

เมื่อความตายมาถึง การเผชิญหน้ากับความตายด้วยสติและการภาวนา อาจช่วยให้เราสัมผัสได้ถึงความผ่อนคลายและความเปิดกว้างที่จะเผชิญกับโมงยามที่เป็น Unknown ที่สุดของชีวิต และทำให้เราอยู่กับสภาวะตามธรรมชาติที่จะค่อยๆ คลี่คลายร่างกายไปสู่สภาวะดั้งเดิมที่สุดของเรา


Victoria Subirana (วิคตอเรีย สุบีราน่า)
นักการศึกษา ผู้ก่อตั้งแนวคิดทางการศึกษา Pedagogy for Transformation ซึ่งมีอิทธิพลต่อการปฏิรูปการศึกษาในประเทศโลกที่สามในหลายประเทศ เธอย้ายจากสเปนไปใช้ชีวิตอยู่ในประเทศเนปาล ตลอดเกือบ 30 ปี เธอมีส่วนร่วมในการสร้างและพัฒนาหลักสูตรโรงเรียนหลายแห่ง เธอยังเขียนหนังสือจากประสบการณ์ด้านการศึกษาออกมาหลายเล่ม และเรื่องราวชีวิตของเธอในหนังสือ A Teacher in Kathmandu ได้ถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ “Kathmandu A Mirror in the Sky”


ในชีวิตอีกด้านหนึ่ง เธอมีชีวิตทางจิตวิญญาณอันเร้นลับ สัมพันธ์กับสายธรรมวัชรยานในเนปาลและทิเบต โดยเฉพาะความสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณกับพีชคุรุของเธอ คือ ท่านดุดจอม รินโปเช เธอได้รับอภิเษกสู่คำสอนขั้นสูงสุดของพุทธวัชรยาน โดยลูกชายและศิษย์ใกล้ชิดของดุดจอม รินโปเช คอร์สอบรมของเธอหลอมรวมแนวคิดเรื่องการศึกษาเพื่อการเปลี่ยนแปลงกับคำสอนขั้นสูงของพุทธวัชรยานอย่างทรงพลัง