รู้จักครูเรจินัลด์ เรย์ (ตอนจบ): Trust the unfolding journey

แปลและเรียบเรียงโดย พชร สูงเด่น

AND SPARKS WILL FLY
เรจินัลด์ เรย์ ธรรมาจารย์ผู้จุดประกายพุทธธรรมในโลกสมัยใหม่

สัมภาษณ์โดย เวย์ลอน ลูวิส จากนิตยสาร elephant ฉบับฤดูหนาว 2005
อ่านตอนที่ 1 : https://vajrasiddha.com/reggieinterview1/
อ่านตอนที่ 2 : https://vajrasiddha.com/reggieinterview2/

ele : ผมโตมาในสังฆะของตรุงปะ รินโปเช มี Vajra Regent และองค์กรรมาปะเป็นฮีโร่วัยเด็ก ตัวรินโปเชน่ะไม่เท่าไหร่ เพราะท่านค่อนข้างเข้าถึงได้ยาก แต่การได้สัมพันธ์กับคำสอนของรินโปเชตอนเป็นวัยรุ่น เติบโตมาในศูนย์กรรมะ โชลิง และทำงานที่สำนักพิมพ์ชัมบาลา [บอสตัน] …ทำให้ผมเข้าใจฉากทัศน์ของพุทธศาสนาอเมริกันจากมุมมองของจิตผู้เริ่มต้น เรียบง่าย ผิวเผิน [หัวเราะ] ไม่ต่างจากคนอื่น และนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมผมถึงรู้สึกเป็นเกียรติยิ่งนักที่ได้คุยกับคุณ เพราะคุณมีพลังบางอย่างในการสื่อสารจากข้างในโดยพลันถึงชาวตะวันตก ถึงผู้คนที่อาจไม่ได้ใส่ใจสักนิดเรื่องการเป็นชาวพุทธ แต่เป็นคนธรรมดาๆ ที่เติบโตมาในวัฒนธรรมนี้ แล้วอยากเข้าใจว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร

คุณเขียนหนังสือวิชาการมาหลายเล่ม ซึ่งเป็นอะไรที่สุดยอดมาก แต่ก็ยังไม่ใช่การแชร์ธรรมะอย่างเต็มที่เท่าไหร่ ตอนนี้คุณได้เริ่มมูลนิธิ Dharma Ocean ขึ้นมาเพื่อสืบทอดคำสอนของเชอเกียม ตรุงปะ อย่างเต็มที่ คุณวางแผนจะทำอะไรในสิบปีต่อจากนี้?

ดร.เรย์: [เงียบยาว] อืม.. เอาจริงๆ นะ ตอนที่เราย้ายมาที่ Shambhala Mountain Center เมื่อแปดปีที่แล้ว ความตั้งใจของผมคือ มาสอน ทำงานเขียน และภาวนาตลอดชีวิตที่เหลือของผม เท่านั้นเลยจริงๆ

Shambhala Mountain Center ทางตอนเหนือของรัฐโคโลราโด (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น Drala Mountain Center)

ele: ฟังดูดี!

ดร.เรย์: ใช่ ตอนนั้นผมอายุ 55 ผมคิดว่า “ทั้งหมดนี้เป็นไปตามแผน มันต้องอย่างนี้แหละ ย้ายเข้าสู่วัยเกษียณ” อย่างไรก็ตาม กลายเป็นว่าสายธรรมมีแผนการอีกอย่าง [หัวเราะ] ผมต้องการสถานการณ์ที่สามารถเข้ารีทรีทกับศิษย์ใกล้ชิดของผม แล้วมอบคำสอนขั้นสูงที่ผมไม่สามารถมอบให้ได้กับกลุ่มทั่วไปที่มีผู้เข้าร่วมหลากหลาย เราอยากทำสิ่งนี้ที่ Shambhala Mountain Center แต่ก็ชัดเจนว่าทิศทางของศูนย์คือทำกิจกรรมมากขึ้น มากขึ้น

แล้ววันนึงแทมี่ ไซมอน นักเรียนคนหนึ่งของผม (เจ้าของ Sounds True) เสนอว่า “ทำไมคุณไม่ลองลงไปดูที่เครสโตนล่ะ?” ผมกับภรรยา (ลี เรย์) เลยขับลงไปที่นั่นในวัน Thanksgiving ที่ผ่านมา พร้อมกับแทมี่และจูลี เครเมอร์ พาร์ทเนอร์ของเธอ คนพวกนี้มาทำอะไรกันนะ เดินด้อมๆ มองๆ ดูบ้าน มีเงินกันหรือเปล่า? เราขับรถกันไปเรื่อยๆ แล้วจู่ๆ ก็พบบ้านหลังนี้ หนึ่งในหลังที่สูงที่สุดในเมืองเครสโตน

ele: มันขายหรอ?

ดร.เรย์: ใช่! เป็น karmic situation ที่ประหลาด คุณถามผมเรื่องแผนการใช่ไหม? ไม่มีหรอกแผนการ มีแต่เรื่องไม่คาดคิดเต็มไปหมด และเหนือบ้านหลังนี้ขึ้นไปก็ช่างบังเอิญที่มีที่ดินผืนใหญ่ ที่หลังจากนั้นเราได้รับคำเชิญให้ไปปลูกกระท่อมภาวนาบนนั้น หันไปทางภูเขาสูง 14,000 ฟุตที่มองเห็นวิวทั้งเมือง คุณเคยไป [เครสโตน] ไหม?

ele: เคยสิ ผมเคยเข้ารีทรีทที่นั่น บนรีทรีทแลนด์ขององค์กรรมาปะ ผมอ่านหนังสือของคุณในรีทรีทครั้งนั้น น่าจะเป็นเล่ม Indestructible Truth หรือไม่ก็ Secret of the Vajra World

ดร.เรย์: เค็นโป ซุลทริม กยัมโช รินโปเช (Khenpo Tsultrim Gyatso Rinpoche) บอกว่าเครสโตนเป็นหนึ่งในสองหรือสามแห่งบนโลกใบนี้ที่เหมาะสมกับการฝึกรีทรีทที่สุด (หนึ่งในนั้นคือทิเบต)

ele: เค็นโป ซูลทริม กยัมโซ รินโปเช! หนึ่งในธรรมาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ของพุทธทิเบต ผู้ที่เป็นแรงบันดาลใจในการเข้าฝึกรีทรีท ว้าว!

ดร.เรย์: คุณรู้สึกได้ถึงความนิ่งสงบเวลาอยู่ที่นั่น ห่างไกล ทรงพลัง เงียบ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากนัก เครสโตนมีพลัง “ดราละ” [พลังงานตื่นรู้ของโลกธรรมชาติ] ปกคลุมไปทั่วพื้นที่ ในทุกครั้งที่คุณขยับตัวเลยก็ว่าได้

ถนนเข้าเมือง Crestone, Colorado

ele: สำหรับคนที่ไม่รู้มาก่อน เครสโตนเป็นเหมือนสวนสัตว์ทางจิตวิญญาณ มีทั้งชาวคาทอลิก ฮินดู … แทบจะทุกศาสนามีศูนย์ภาวนากระจายอยู่ในเทือกเขาใหญ่แห่งนี้

ดร.เรย์: เห็นหรือยังตอนที่ผมบอกว่า “ผมควบคุมชีวิตตัวเองไม่ได้เลย” ตลอดชีวิตผม ผมถูกผลักไปในทิศทางต่างๆ ที่คาดเดาไม่ได้ แล้วสิ่งต่างๆ ก็เกิดขึ้น ผมทำอะไรไม่ได้มากนัก นอกจากน้อมรับ ศิโรราบ แล้วไปต่อ

อย่างที่คุณรู้ หนึ่งในภาพของอาณาจักรชัมบาลา คือศาสนาหลักจากทั่วโลกมารวมตัวกันและฝึกปฏิบัติ และนั่นคือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงนั้น มูลนิธิมานิตู (The Manitou Foundation) ภายใต้การนำของฮานนา สตรอง (Hanne Strong) [อ่านเรื่องราวของเธอได้ที่ https://www.manitou.org/foundation/history/ ] ได้รวมคริสเตียน ยิว ฮินดู ซูฟี พุทธนิกายเซน และพุทธทิเบตเข้าไว้ด้วยกัน พวกเขาทั้งหมดล้วนเป็นผู้ฝึกปฏิบัติ ชาวคาร์เมไลต์ (Contemplative Christian) เป็นกลุ่มผู้ปฏิบัติที่มีการอุทิศตนแน่วแน่ ผมตั้งใจจะหาที่เข้ารีทรีทเมื่อฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมานี้ ตอนนั้นผมกำลังหากระท่อมฝึกอยู่ เรายังไม่ได้สร้างกระท่อมของเราเอง แล้วพวกเขาก็บอกว่า “ได้เลย มาใช้ได้ ไม่มีปัญหา” ผมเลยใช้เวลาหกสัปดาห์อยู่บนนั้น

สถูปองค์กรรมาปะที่ 16 ที่ Crestone, Colorado


ele: คุณต้องข้ามแม่น้ำเชี่ยวเลยนะใช่ไหม

ดร.เรย์: ก่อนอื่นคุณต้องขับรถครึ่งชั่วโมงขึ้นถนนนี้ไป แล้วก็จะเจอกับแม่น้ำ ทางเดียวที่จะข้ามไปได้คือต้องลุยน้ำเข้าไป กระแสน้ำก็ไหลเชี่ยวราวหกสิบไมล์ต่อชั่วโมง! การจะขึ้นไปได้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่นั่นคุณจะถูกตัดขาดจากทุกอย่าง อะไรก็เกิดขึ้นได้ นั่นเป็นสถานการณ์ในฝันสำหรับการฝึกรีทรีทเลย

ele: รีทรีทในบริบทของชาวพุทธหมายถึงอะไร? ทำอะไรกัน? และทำเพื่ออะไร?

ดร.เรย์: [เงียบนาน] พุทธศาสนาและสายปฏิบัติอื่นที่เน้นการใคร่ครวญด้านในและภาวนา เห็นตรงกันว่าเราทุกคนมีศักยภาพที่จะเข้าถึงชีวิตที่ลึกซึ้งกว่าที่เป็นอยู่ได้ และเหตุผลที่เรายังไม่มีชีวิตเช่นนั้นก็เพราะมนุษย์ส่วนใหญ่บนโลกนี้มีชีวิตอยู่กันอย่างผิวเผิน โดยเฉพาะในโลกสมัยใหม่ที่ผู้คนตัดขาดจากประสบการณ์ของตัวเองยิ่งกว่าที่เคย ตัดขาดจากผู้อื่น ตัดขาดจากโลกธรรมชาติ จากอารมณ์ของเราเอง และจุดประสงค์ของการปฏิบัติภาวนาโดยเฉพาะการเข้ารีทรีทก็เพื่อนำเรากลับมาอยู่ในสถานการณ์ที่สิ่งรบกวนทั่วไป ความยุ่งในชีวิตประจำวัน ถูกเอาออก กระท่อมที่เรามีในเครสโตนจะอยู่ขึ้นไปบนสันเขา ห่างไกลจากถนนที่ใกล้ที่สุด ในกระท่อมมีเพียงเตียง เตาฟืน แก๊ซกระปุกเล็ก และน้ำ แค่นั้น และการอยู่ในรีทรีท ปฏิบัติภาวนา ใช้ชีวิตอยู่ในความสันโดษกับตัวเองเพียงลำพัง ไม่มีการติดต่อจากมนุษย์อื่นใดเป็นเวลาสองวันหรืออาจถึงสองสามเดือน สิ่งที่เกิดขึ้นคือความคิดคุณจะช้าลง เมื่อเวลาผ่านไปสักพัก ความคิดและสภาวะจิตใจของคุณ ผัสสะ และอารมณ์ต่างๆ จะเริ่มเปิดกว้างขึ้น และคุณจะเริ่มสัมผัสกับชีวิตที่ลึกซึ้งและเต็มเปี่ยมยิ่งกว่าเดิม แนวคิดของรีทรีทในพุทธศาสนาคือ คุณนำความลึกซึ้งของประสบการณ์ และสภาพจิตใจนั้นกลับมาสู่ชีวิตประจำวัน คุณจะไม่มีวันกลับไปเป็นเหมือนเดิมได้เลย ทุกครั้งที่ผมเข้ารีทรีท จะเกิดการเปลี่ยนแปลงบางอย่าง ความเปิดกว้างของรีทรีทจะค่อยๆ จางไปเมื่อคุณกลับมาสู่ชีวิตปกติ แต่เอาจริงๆ มันไม่ได้หายไปไหน ถึงที่สุดแล้ว อุดมคติคือการที่เราสามารถรักษาสายสัมพันธ์ กับความลึกซึ้งอันไร้ขีดจำกัดของการดำรงอยู่ที่เราเข้าถึงในรีทรีทได้ในชีวิตปกติ ในโลกใบนี้ ในขณะที่เราทำงาน และมีความสัมพันธ์

เมื่อถึงจุดนั้น ชีวิตจะเติมเต็มมากๆ การภาวนามีบทบาทตรงนี้ เพราะเราไม่ค่อยสัมพันธ์อย่างเต็มที่กับคนที่เราเป็น ในวัฒนธรรมของเรา เรามองหาสิ่งภายนอกเสมอ ทั้งวันพักร้อน ความสัมพันธ์ใหม่ งานใหม่ ซื้อของใหม่ เรามองหาการเติมเต็มจากภายนอก และชัดเจนว่ามันไม่เคยได้ผลเลย ทำไมน่ะเหรอ? เพราะตัวเราเองเป็นอุปสรรคที่ใหญ่ที่สุดของความเต็มเปี่ยมนั่นเอง การฝึกภาวนาช่วยให้เราสามารถค้นพบว่าตัวเราเองคือปัญหา และทันทีที่ปัญหาถูกแก้ เราก็จะสามารถอยู่ในสถานการณ์ใดๆ ในชีวิต และสัมผัสถึงความลึกซึ้งและความเต็มเปี่ยมที่เราทุกคนตามหาได้ ผมจึงส่งเสริมนักเรียนของผมทุกคนให้เข้ารีทรีท เราไม่จำเป็นต้องไปหลายเดือน แค่หนึ่งหรือสองสัปดาห์ต่อปีก็สร้างความแตกต่างในชีวิตได้แล้ว รีทรีทเป็นศูนย์กลางของเส้นทางของตรุงปะ รินโปเช อย่างที่คุณรู้ [หัวเราะ]

ภายนอกกระท่อมภาวนา
ภายในกระท่อมภาวนา

ele: ขอบคุณ ผมเคยเข้ารีทรีทแค่สองครั้งในชีวิต มันไม่ง่ายเลย ทั้งน่าเบื่อ อึดอัด แต่น่าแปลก ที่มันแสนปิติในขณะเดียวกัน การไม่ทำอะไรเป็นเรื่องยากมากสำหรับผม ผมเป็นคนชอบสังคม ชอบออกไปพบปะผู้คน การอยู่ในรีทรีทจึงเป็นอะไรที่ทำให้ผมรู้สึก insecure มาก แต่มันกลับนำไปสู่ประสบการณ์แสนปีติที่อธิบายเป็นคำพูดได้ยาก

ดร.เรย์: ตรุงปะ รินโปเช คาดหวังให้เราฝึกและซึมซาบคำสอนวัชรยาน แต่ท่านก็พูดชัดว่า ท่านหวังว่าเราจะออกไปและสัมพันธ์กับโลกนี้อย่างเช่นที่ท่านทำ ท่านเป็นตัวเองไม่ใช่ในฐานะคนที่น่าเคารพ น่ายกย่อง น่าบูชา หรือแม้แต่น่าจดจำด้วยซ้ำ แต่ท่านยิ่งใหญ่ในฐานะครูผู้นำทาง ท่านเคยบอกว่า “ฉันอยากให้ศิษย์ใกล้ชิดของฉันสักคนกลายเป็นสิทธา” ในทางประวัติศาสตร์แล้ว สิทธาทั้งหลายไม่ได้จำกัดตัวเองอยู่ในพุทธศาสนาแบบดั้งเดิมหรือแม้แต่ครูของตนด้วยซ้ำ พวกเขาบางคนเป็นคนวรรณะต่ำ บางคนเป็นกษัตริย์ พราหมณ์ โยคี หรือโยคีนี พันธกิจของพวกเขาคือการนำเสนอธรรมะให้ไปไกลกว่าระเบียบกฎเกณฑ์ข้อบังคับ เชื่อมโยงกับผู้คนอย่างเปลือยเปล่า ผมคิดว่า Vajra Regent เป็นต้นแบบที่วิเศษสำหรับศิษย์ใกล้ชิดของรินโปเชทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกที่เจอท่านตั้งแต่ปีแรกๆ ที่ต่างได้รับสาส์นว่า “พวกเธอต้องบรรลุการรู้แจ้ง แล้วออกไป ท่องไปให้ทั่ว ฝึกฝน รวบรวมศิษย์ และสอนในหนทางของเธอเอง ตามแรงบันดาลใจของเธอ

ele: แต่ตอนนี้นักเรียนที่อยากเรียนกับคุณไม่สามารถไปที่ [ชัมบาลา] ได้แล้ว มันน่าสับสนเหลือเกิน รากของต้นไม้ ของสายธรรม [พัวพันกันไปหมด] – (หมายเหตุ: ในปี 2005 เร้จจี้ เรย์ แยกตัวออกมาจากองค์กรชัมบาลา เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้สอนธรรมะขั้นวัชรยานให้แก่ศิษย์)

ดร.เรย์: การมองเรื่องนี้ผ่านมุมมองประวัติศาสตร์ช่วยได้มาก เมื่อไรก็ตามที่มีคุรุผู้ยิ่งใหญ่เกิดขึ้น คาริสม่า (มนต์ขลัง) ของเขา และการสร้างสรรค์อันมหัศจรรย์ส่งผลต่อผู้คนในหลายแง่มุม มันจะเกิดปฏิกิริยาตอบสนองในรุ่นที่สองเสมอ แม็กซ์ เวเบอร์ นักสังคมวิทยาชาวเยอรมันเป็นผู้ชี้ให้เห็นถึงพลวัตเช่นนี้เป็นคนแรก เขาเรียกมันว่า “การเปลี่ยนผ่านจากมนต์ขลังเป็นรูทีน” (transition from charisma to routinization) หรือการทำให้สิ่งต่างๆ กลายเป็นกิจวัตร มันก็แค่สิ่งที่เกิดขึ้น เป็นกฎของการก้าวหน้าทางประวัติศาสตร์ แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความพยายามที่จะบีบความกว้างใหญ่ไพศาลและการสร้างสรรค์อันโกลาหลของผู้ก่อตั้งให้แคบลง มันคือความกลัว สิ่งนี้เกิดขึ้นในคริสตศาสนา สิ่งนี้เกิดขึ้นในพุทธศาสนา และในอิสลาม

ele: แน่นอน มันเกิดขึ้นกับธุรกิจรายย่อยที่ถูกซื้อโดยธุรกิจขนาดใหญ่กว่า และพวกเขาก็พยายามจัดระเบียบมัน

ดร.เรย์: ใช่ อีกสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ มนต์ขลัง (คาริสม่า) ของครูดั้งเดิมเคลื่อนย้ายออกไปจากองค์กร เราเห็นพลวัตเดียวกันนี้ในทิเบตหลังการตายของคุรุคนสำคัญ แตกตัวเกิดเป็นพัฒนาการใหม่ๆ และความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ได้ในหลายที่ ท่ามกลางผู้คนที่แตกต่างหลากหลาย มันเป็นวงจรของชีวิต ตอนที่ผู้คนยังเป็นหนุ่มสาว เป็นรุ่นที่สอง และไม่ได้รู้จักผู้ก่อตั้งดี พวกเขายินดีที่จะทำตามระเบียบข้อบังคับที่มาจากมนต์ขลังและความคิดสร้างสรรค์ของผู้ก่อตั้ง เกิดเป็นกิจวัตรและลำดับชั้นองค์กรที่ตามมา แต่ศิษย์ของผู้ก่อตั้งจะรู้สึกถึงพันธกิจหน้าที่ที่ต้องส่งต่อความเปิดกว้างและกล้าหาญเดิมแท้ที่ได้ซึมซับมา โดยปกติแล้วในทิเบต สถาบันจะมีบทบาทบางอย่างที่สำคัญ เช่น การเก็บรวมรวมคัมภีร์เข้าไว้ด้วยกัน และอื่นๆ แต่ก็มีคนอีกมากที่ออกไปสอน และริเริ่มสายธรรมในบริบทเฉพาะขึ้นมา ที่ซึ่งผู้คนได้มาดื่มกิน “น้ำแห่งชีวิต” ผมจึงไม่เห็นว่านี่เป็นปัญหาอะไร มันเป็นกระบวนการตามธรรมชาติ จริงอยู่ที่ผู้คนอาจรู้สึกสับสน แต่เพราะพวกเขาไม่รู้ถึงประวัติศาสตร์พุทธศาสนา พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่ามันต้องเป็นแบบนี้แหละ

the Great Stupa of Dharmakaya สถูปของเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช

สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนเราก็ดูจะเป็นไปตามรูปแบบนี้ มีความพยายามที่จะรักษาและบีบความกว้างใหญ่ไพศาลของคำสอนของตรุงปะ รินโปเช ให้แคบลง อาจกล่าวได้ว่าชุมชนชัมบาลากำลังถูกตรุงปะ รินโปเชหลอกหลอน และปัญหาของความทรงจำก็คือ มันไม่ใช่ ท่าน ผู้คนพยายามรักษารอยเท้าของท่านไว้ให้คงอยู่ แทนที่จะเป็นก้าวเดินของท่าน ท่านไม่ใช่รูปเคารพและท่านก็ไม่ใช่หนังสือ แต่ท่านคือ awakened mind เราจะสามารถเข้าถึง mindstream ของท่านได้ ผ่านการฝึกปฏิบัติภาวนาเท่านั้น มันจะไม่มีทางเป็นเหมือนที่เคยเป็นมาก่อน มันไม่ใช่แบบนั้นแน่ๆ มันคือการทำงานกับสรรพสัตว์ทั้งหลาย ฟังพวกเขา มองเห็นว่าความทุกข์ของพวกเขาคืออะไร และประตูไหนจะเปิดหนทางไปสู่อิสรภาพ นั่นคือวิธีการสอน แทนที่จะพยายามทำสิ่งใดซ้ำๆ มันเป็นเรื่องของการเรียนรู้ที่จะสัมพันธ์กับจิตตื่นรู้ แล้วอนุญาตให้แรงบันดาลใจหลั่งไหลออกมาเองอย่างเป็นธรรมชาติ และกล้าที่จะสื่อสารสิ่งที่เห็นออกมา แต่ตอนนี้เรากลับเห็นแต่คนขี้กลัวที่พยายามยึดอดีตเอาไว้ ผมแค่ไม่คิดว่าทำแบบนี้จะได้ผลอะไร รินโปเชไม่เคยยึดติดกับอดีต ท่านให้เครื่องมือเรามาอยู่กับปัจจุบัน และนั่นคือสิ่งที่เราต้องอยู่ด้วย ซึ่งก็คือการไม่ยึดถือสิ่งใดนั่นเอง ตอนนี้ผมคิดว่ามันยังไม่ร้ายแรงเกินไป เห็นไหมว่าข้อดีของการมองจากมุมมองทางประวัติศาสตร์ช่วยให้คุณไม่ต้องระบุชื่อ เอ่ยนาม คุณก็แค่พูดถึงพลวัตที่เกิดขึ้น

ele: อธิบายได้ดีมาก บางครั้งชุมชนของเราก็ทำผิดพลาดหลายอย่างในแบบที่ดูไม่คู่ควรกับพุทธศาสนา หรือแม้แต่ประชาธิปไตยด้วยซ้ำ เราไม่ได้เปิดกว้างเสมอไป

ดร.เรย์: เรื่องของเรื่องก็คือ คนในโลกวิชาการมองเห็นทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนของเราและพูดถึงมัน มันไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร ก็แค่สิ่งที่เกิดขึ้น แต่ในชุมชนของเรา ถ้าคุณพูดถึงสิ่งนี้ แปลว่าคุณไม่จงรักภักดี มีหน้าที่สำคัญมากในทางประวัติศาสตร์ที่ต้องทำ นั่นคือการทำให้ผู้คนพูดถึงประเด็นแท้จริง แต่พวกเขาก็ดูจะทำไม่ได้ แม้แต่เพื่อนของผม คนที่ผมรู้จักมาหลายปียังบอกว่า “ฉันไม่ยุ่งเรื่องการเมือง” เห็นไหมละว่าเขาเล่นการเมืองอยู่ การที่คุณปฏิเสธจะพูดถึงสิ่งต่างๆ นั่นหมายความว่าคุณสนับสนุนการเพิกเฉยแล้ว และนั่นถือเป็นจุดยืนทางการเมืองแบบหนึ่ง

ele: และที่ลังเล ก็เพราะว่าข้างในรู้สึกขัดแย้งอย่างมาก

ดร.เรย์: กลัวจนหัวหด

ele: ในมุมมองของพุทธธรรมหรือการตื่นรู้ เราจะสัมพันธ์กับความสัมพันธ์หรือความขัดแย้งในมิติต่างๆ เป็นเส้นทาง แทนที่จะเป็นอุปสรรคได้อย่างไร?

ดร.เรย์: ทำไมมันถึงเป็นอุปสรรคละ?

ele: เพราะมันดึงเอาพลังงานมหาศาลที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเราหรือต่อโลกนี้เท่าไหร่

ดร.เรย์: นี่คือจุดที่พุทธศาสนายุคใหม่ต่างออกไป ในวัฒนธรรมเอเชียดั้งเดิม ความสนใจอยู่ที่การสละโลก การละวางจากชีวิตประจำวัน กับความสัมพันธ์ด้วยเช่นกัน

เชอเกียม ตรุงปะ มองว่าคุณต้องเกี่ยวข้องกับสารพัดสิ่งในชีวิต … และเมื่อมองจากมุมหนึ่ง ทุกสิ่งล้วนเป็นสิ่งรบกวนใจทั้งนั้น ความลึกซึ้งของสภาวะจิตจากการภาวนากับความวุ่นวายของชีวิตประจำวันดูจะเป็นโลกสองใบที่แตกต่างกัน แต่ยิ่งเราปฏิบัติมากเท่าไร เราจะพบว่าการตื่นขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติในการภาวนาจะเป็นแรงบันดาลใจให้เราสัมพันธ์กับโลกใบนี้ …แรงบันดาลใจเหล่านี้หยั่งรากอยู่ในธรรมชาติของชีวิตมนุษย์ อันที่จริง ถ้าเราปรารถนาจะบรรลุสู่ Enlightenment เราต้องสัมพันธ์กับชีวิต เราต้องแสดงออกถึงแรงบันดาลใจนี้ต่อผู้อื่น ต่องานของเรา เราต้องสนุกและรื่นรมย์กับโลกใบนี้ เราต้องทำอย่างนั้น!

โดยทั่วไปแล้ว ผู้คนต่อต้านการภาวนาเพราะรู้สึกว่ามันจะไปรบกวนบางอย่างที่สำคัญในชีวิตของเขา ไม่ว่าจะเป็นงานหรือความสัมพันธ์ และมันก็สำคัญจริงๆ น่ะแหละ มันเป็นส่วนหนึ่งของความศักดิ์สิทธิ์ในความเป็นมนุษย์ แต่สิ่งที่พวกเขาไม่รู้ก็คือ การภาวนาจะช่วยปลดปล่อยพวกเขาจากอำนาจของอัตตา ที่วันหนึ่งจะสูบเอาแรงบันดาลใจเหล่านั้นไปหมด เพียงเพื่อจะให้ตัวตนรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยยิ่งขึ้น สิ่งที่พวกเขาไม่รู้ก็คือ จริงๆ แล้ว การภาวนาที่อาจดูยากแสนยากในตอนแรก จะช่วยปลดปล่อยชีวิต ความสัมพันธ์ แรงบันดาลใจ และพันธกิจที่แท้จริงร่วมกับครูบาอาจารย์และสรรพชีวิต