กระบวนการที่เราได้ทดลองปฏิบัติอย่างจริงจังกันในกิจกรรมนี้แน่นอนว่าคือ การภาวนา แล้วการภาวนานี้เกี่ยวข้องอย่างไรกับการทำงานกับตัวตน? การนั่ง ๆ นอน ๆ หลับตา สูดลมหายใจเข้าออกจะช่วยให้เราเรียนรู้ที่จะอยู่กับอัตตาได้อย่างไร? คำตอบของเราคือ เราคิดว่าการภาวนาในแง่มุมหนึ่ง คือกระบวนการของการสังเกตเห็นและยอมรับตัวตนของเราดี ๆ นี่เอง
ดังที่ได้กล่าวถึงไปบ้างแล้วว่าการละตัวตนไม่ใช่การปฏิเสธตัวตน กลับกัน เราคิดว่าการละตัวตนคือการ ‘ยืนยัน’ ว่าเรามีตัวตนแบบหนึ่งที่เราสมาทานคุณค่าของมันขึ้นมา และตัวตนแบบนั้นเองคือสิ่งที่กีดขวางเราจากการเข้าถึงสภาวะอันเป็นธรรมชาติที่แท้จริง อ่อนนุ่ม และเปราะบางของตัวเราเอง การภาวนาจึงเป็นการเฝ้าสังเกต เรียนรู้ และมองเห็นการทำงานของอัตตา แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่พยายามไปหยิบจับ ไม่ตัดสิน ไม่ตีความ แค่ปล่อยให้มันเกิดและดับไปและเรียนรู้ที่จะมองเห็นกลไกและโครงสร้างของตัวตน นี่เองคือเส้นทางของการภาวนา
สิ่งที่เรา (อาจจะ) ได้ค้นพบจากการภาวนา คือ การมีเมตตากรุณาต่อตัวตนของเราเอง เราเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับมัน เข้าไปสัมพันธ์กับมันทีละนิด เป็นไปได้ว่าท่าทีของเราต่อตัวตนของตัวเองและตัวตนของผู้อื่นจะอ่อนโยนมากขึ้น เราเริ่มที่จะมี ‘ความรู้สึกตัว’ ต่อสิ่งต่าง ๆ ที่กำลังเป็นไปมากขึ้น เพียงแค่ ‘รู้สึก’ ไม่ต้องคิดตัดสินตีความ ในแง่นี้การภาวนาก็คือกระบวนการของการถอดแว่นตาของความคิดเกี่ยวกับตัวตน เราเพียงแต่ปล่อยให้มันดำเนินไป เรายอมรับความ ‘เป็นได้’ ของตัวเรา การภาวนาอาจไม่ใช่การแก้ปัญหาเกี่ยวกับตัวตน แต่การภาวนาคือการฝึกให้มีการดำรงอยู่อย่างเต็มเปี่ยมเพื่อเผชิญกับสิ่งที่เกิดขึ้นและสิ่งที่กำลังจะเกิด เป็นการฝึกที่จะมี ‘presence’ กับตัวตนของเราและคนรอบข้าง การภาวนาจะช่วยให้เราเกิดความตระหนักรู้และมองเห็นถึงสำนึกแห่งตัวตนที่เคลื่อนไหวภายใน และเพียงแค่ฝึกที่จะยอมรับและอยู่กับมันโดยที่ไม่หยิบจับมันมาเบียดเบียนกัดกินตัวเราเองและผู้อื่น
เราคิดว่าในกิจกรรมนี้ พี่เล็กไม่ได้กำลังเชื้อเชิญให้เราประกาศสงครามกับอัตตา ไม่ได้โน้มนาวให้เราหยิบจับอาวุธขึ้นมาฟาดฟันหักล้างตัวตนของเราและตัวตนของคนอื่น กลับกัน เราเชื่อว่าพี่เล็กอาจกำลังบอกเป็นนัยให้เราเริ่มที่จะรู้จักเป็น ‘เพื่อน’ กับอัตตา ลองคิดเสียว่ามันคือเพื่อนสนิทที่อยู่กับเรามานานมาก ๆ เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่เคยทำความรู้จักและเข้าใจกับมันอย่างแท้จริงเลย ซ้ำร้ายเรายังทะเลาะต่อสู้กับมันอย่างหนักหน่วงมาตลอดชีวิต อาจถึงเวลาที่เราจะลองกลับมานั่งจับเข่าคุยกับเพื่อนคนนี้อย่างเปิดใจ ถึงแม้เราจะไม่ชอบหน้ามันเลยก็ตาม และเรารู้ว่ามันเป็นเพื่อนประเภทที่จะนำพาความฉิบหายมาสู่ชีวิตเรา แต่ตอนนี้เรารู้จักมันดีแล้ว เราสามารถพูดกับมันได้ว่า ‘กูรู้นะว่ามึงจะทำอะไร’ เมื่อเราตระหนักรู้เรื่องนี้อยู่สม่ำเสมอ ก็คงไม่ใช่ว่าจะเป็นไปไม่ได้เลยเสียทีเดียว ที่เราจะยอมรับเพื่อนคนนี้เป็นเพื่อนร่วมการเดินทางอันยาวนานและยาวไกลของชีวิตเรา เราคิดว่ามันก็น่าตื่นเต้นดีนะ ว่าในระหว่างการเดินทางกับเพื่อนคนนี้ เราจะได้ค้นพบอะไรอีก