The Power of Speech : คำพูด, การสื่อสาร, และการตระหนักรู้ในห้องเรียนจิตวิญญาณ

บทความโดย ธัญญา ศรีธัญญา
สรุปความจากการบรรยาย “Right Speech, Mindfulness & the Contemplative Classroom: An Experiential Panel” by Lee Worley Carolyn Gimian, and Judith Simmer-Brown กลุ่มผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยนาโรปะ 18 กันยายน 2024



ในขณะที่นั่งภาวนา เราดูจิต
ในขณะที่ใช้ชีวิตในโลก เราดูคำพูด


The Power of Right Speech สัมมาวาจา

Right Speech หรือ สัมมาวาจา เป็นหนึ่งในมรรคแปดจากคำสอนอริยสัจสี่ของพระพุทธเจ้า มรรคหรือเส้นทางทั้งแปดนี้ คือเส้นทางแห่งการหลุดพ้น คำถามคือ ทำไมการพูดที่ดีจึงสามารถพาเราไปสู่การหลุดพ้นได้?

คำพูดหรือการสื่อสารเป็นสิ่งที่ทรงพลัง เป็นเครื่องมือสำคัญในการที่มนุษย์แสดงความคิด ตัวตน และเจตจำนงของตนเองออกไปยังผู้อื่น คำพูดสามารถสร้างแรงบันดาลใจ สามารถถ่ายทอดสิ่งที่เป็นประโยชน์ สามารถเชื่อมร้อยผู้คนเข้าด้วยกัน และในทางกลับกัน คำพูดก็สามารถสร้างความเจ็บปวด สร้างความเข้าใจผิดและความแตกแยกได้เช่นกัน


การสื่อสารอันสมบูรณ์

ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า Right Speech หรือ คำพูดอันถูกต้อง แต่ถูกต้องในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ถูก ที่ตรงข้ามกับผิด คำว่า ‘สัมมา’ ในภาษาบาลีแปลว่า ‘สมบูรณ์’ สัมมาวาจาในที่นี้ หมายถึงคำพูดอันสมบูรณ์ คือการที่กายกับใจประสานกัน และถ่ายทอดออกไปเป็นวาจาที่ออกมาจากความจริงแท้ของเรา ณ ขณะนั้น

การพูดคือการเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับผู้อื่น ขยายไปถึงสรรพชีวิต คำพูดคือสิ่งที่เราจะสามารถแบ่งปันความหมายและความจริงออกไป ดังนั้นในการฝึกฝนบนเส้นทางแห่งการตื่นรู้ สัมมาวาจาเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก

กาย วาจา และความสัมพันธ์กับความว่าง

เมื่อไรก็ตามที่เราเป็นผู้พูด จำไว้เสมอว่า สิ่งที่เราเปล่งออกไปนั้นล้วนสร้างผลกระทบต่อสรรพชีวิตและสรรพสิ่งไม่มากก็น้อย และไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้นในการฝึกที่จะสื่อสารอย่างสมบูรณ์และจริงแท้ เราดำรงอยู่กับร่างกาย จิตใจ พื้นที่ หรือสถานการณ์ในขณะนั้น ด้วยการดำรงอยู่เช่นนี้ เราจึงสื่อสารออกไป

พื้นที่ว่างนี้เองคือสะพานเชื่อมระหว่างผู้พูดกับผู้ฟัง หากเราพูดโดยไม่สัมพันธ์กับพื้นที่โดยรอบ อาจจะเพราะกังวลมากเกินไป คิดเยอะเกินไปว่าจะพูดอะไร อยากระบาย พูดยังไงให้ดูดี หรือพูดยังไงให้ถูกหูคนอื่น พื้นที่นี้ก็จะแข็งตัว มันอาจกลายเป็นบทสนทนาที่ไม่รู้จะไปต่อกันยังไง ไม่พาให้เกิดความเข้าใจหรือความใกล้ชิดขึ้นมา

เราลองฝึกที่จะสัมพันธ์กับพื้นที่ภายในและพื้นที่รอบๆ ในระหว่างการสนทนา ลองฝึกเต้นรำไปกับสิ่งสดใหม่ที่เกิดขึ้นในขณะนั้น ให้คำพูดของเราเติมเต็มลานเต้นรำอย่างมีความหมายและจริงใจ

คำพูดสัมพันธ์โดยตรงกับความจริง คำพูดของเราสื่อสารความเป็นจริงของเราออกไป ไม่ว่าเราจะเป็นใคร มีตำแหน่งหน้าที่ใด เราเป็นผู้รับผิดชอบต่อสิ่งที่เราพูด ดังนั้นการตระหนักถึงความหมายของถ้อยคำและเนื้อหาที่ต้องการจะสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราสามารถฝึกตระหนักรู้ นั่นเองที่การรู้ตัวต่อคำพูดถือเป็นการภาวนาที่สำคัญ

หกข้อของการฝึกสัมมาวาจา

  1. ฟังตัวเธอเอง
  2. ฟังผู้อื่น
  3. พูดให้ช้าลง
  4. ออกเสียงให้ชัดเจน
  5. พูดจาให้ง่ายขึ้น: พูดน้อยลง
  6. ให้ความสนใจพื้นที่เช่นเดียวกับคำพูด

หกข้อนี้มาจากคำสอนที่ฝึกปฏิบัติกันใน Seminary ที่ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช และลูกศิษย์ชาวตะวันตกได้สรุปถึงการภาวนาในระดับวาจา


วาจาอันส่งผลต่อผู้อื่น

การพูดต้องมีคนมากกว่าหนึ่งคนขึ้นไป (หรือบางทีพูดคนเดียว แต่นั่นก็อาจจะมีคนฟังเป็นตัวเราเองก็ได้?) จริงๆ แล้วการพูดหรือการสื่อสารนั้นเป็นการฝึกที่จะอยู่กับปัจจุบันมาก สมมติว่าเราเตรียมเรื่องอยากจะมาพูด แต่คนตรงหน้าหรือบรรยากาศไม่เอื้อให้พูดเรื่องราวของเรา ถ้าเราไม่สัมพันธ์กับสถานการณ์ปัจจุบันตรงหน้าแล้วดึงดันจะพูดเรื่องตัวเองไปให้ได้ มันก็อาจจะไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อะไรตรงนั้น นอกจากความพอใจของเราเอง

ในคำสอนพุทธเรื่องการฝึกสัมมาวาจา มีห้าข้อปฏิบัติที่น่าสนใจ สามารถให้เราใช้ทบทวนการพูดของเราเวลาสื่อสารกับผู้อื่น ไม่ว่าจะในบทบาทครู นักเรียน เพื่อนร่วมงาน หรืออื่นๆ

          สิ่งที่กล่าว เป็นความจริงหรือไม่ ซึ่งความจริงในที่นี้ ไม่ใช่ความจริงเชิงข้อเท็จจริง เชิงวิทยาศาสตร์ หรือเป็นความจริงของฉัน แต่เป็นความจริงทางจิตวิญญาณที่เป็นทั้งความจริงแท้ภายในตัวเราและเชื่อมโยงกับผู้อื่น

          สิ่งที่กล่าว เป็นความกรุณาหรือไม่ สิ่งที่เราพูดนั้น เราพูดด้วยความกรุณาต่อผู้ฟังหรือไม่ หมายถึงไม่พูดสิ่งที่จะทำร้าย เช่นนินทา เสียดสี และหมายถึงการพูดความจริงในพื้นที่ที่ผู้ฟังมีความไว้วางใจแก่เรามากพอที่จะสามารถรับฟังได้

          สิ่งที่กล่าว ถูกกาลเทศะหรือไม่ การพูดแต่ละสิ่งควรเกิดขึ้นในเวลาที่เหมาะสม หากผู้ฟังไม่ได้อยู่ในช่วงเวลาที่จะสามารถรับฟัง การพูดของเราก็อาจไม่ก่อประโยชน์หรืออาจสร้างความเจ็บปวดได้

          สิ่งที่กล่าว เป็นประโยชน์หรือไม่ สิ่งที่เราพูดนั้น ทำให้เกิดประโยชน์ต่อสถานการณ์รึเปล่า อาจจะเป็นการชี้ข้อสังเกตให้ใครบางคน หรือกลุ่มคนที่รวมตัวกันอยู่ การพูดที่เป็นประโยชน์อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ดีได้

          สิ่งที่กล่าว นำมาซึ่งความสอดคล้องปรองดองหรือไม่ คือการพูดทำให้เกิดความเชื่อมโยงที่เพิ่มคุณค่าและความหมายให้แก่บทสนทนาและขยายออกไปยังสังคม

การฟัง พื้นที่อันไพศาลแห่งการสื่อสาร

สิ่งที่สำคัญอีกฝั่งของการพูดคือการฟัง การฝึกที่จะมีสัมมาว่าจาเราต้องฝึกที่จะฟัง การฟังโดยไม่ตัดสิน ไม่เอาตัวตนของเรามาคอยโต้ตอบจะเปิดพื้นที่อันไพศาลในตัวเราให้ผู้อื่นได้เข้ามา พื้นที่แห่งการรับฟังของเราจะเชื้อเชิญให้อีกฝ่ายแบ่งปันเรื่องราวที่ลึกซึ้งและมีความหมาย การรับฟังอย่างเปิดกว้างจะสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่โอบรับทุกประสบการณ์ให้มีชีวิตอยู่ในบทสนทนา

ด้วยการฟังอย่างลึกซึ้ง เราก็จะสามารถพูดในสิ่งที่ลึกซึ้ง การสื่อสารที่แท้จริงจะเกิดขึ้นด้วยการฝึกสัมมาวาจา ฝึกการพูดอันสมบูรณ์ ฝึกการฟังอย่างเปิดกว้าง สิ่งนี้จะสร้างความสัมพันธ์ที่จริงแท้ต่อตัวเราเองและต่อผู้อื่น และจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคมรอบตัวเราด้วยเช่นกัน




++++++++++++++++++++++++++++++++

วัชรสิทธาดำรงอยู่ได้ด้วยการเห็นคุณค่าและการสนับสนุนจากทุกท่าน

หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซต์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8