บทความโดย โอม มณีปัทเมหุม
ภาพประกอบ Nakkusu
แม้เราจะตั้งใจฝึกฝนตนเองบนเส้นทางจิตวิญญาณ ปฏิบัติสมาธิภาวนา แสวงหาการหลุดพ้น และมีปณิธานในการบ่มเพาะความรักความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์อย่างสุดหัวใจ แต่บ่อยครั้งกลับพบว่า มีบางสิ่งฉุดรั้งเราไว้ เราอยู่ตรงนั้นกับบางสถานการณ์ไม่ได้ ลงไปมากกว่านี้ไม่ได้ เปิดไม่ได้ รู้สึกไม่ได้ บางครั้งก็มีความโกรธแฝง ทริกเกอร์ง่าย ละอายลึก หรือกลัวอย่างไร้เหตุผล แม้จะมีครูบาอาจารย์ที่รักและปรารถนาดีต่อเราอย่างแท้จริงตรงหน้า ลึกๆ เรายังกลับรู้สึกว่าไม่สามารถรับความรักนั้นเข้ามาในใจ หรือไว้วางใจได้ ความรู้สึกไม่คู่ควรกับความรักยังดำรงอยู่ในเงามืดของจิตใจ และเมื่อเรามองลึกเข้าไป ก็พบรากของบาดแผลบางอย่างที่เชื่อมโยงกับปมปัญหาที่มีกับพ่อแม่ตั้งแต่วัยเด็ก
“ปมพ่อแม่” ไม่ได้หมายถึงพ่อแม่ในฐานะบุคคลเท่านั้น หากแต่หมายถึงร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างเรากับผู้ที่เลี้ยงดูเราในวัยเด็ก ไม่ว่าพวกเขาจะทำดีที่สุดแล้วหรือไม่ก็ตาม — เราต่างเติบโตมาพร้อมกับความต้องการบางอย่างที่ไม่ได้รับการเติมเต็ม ความคาดหวังที่ไม่เป็นจริง การถูกปฏิเสธโดยไม่รู้ตัว หรือการได้รับความรักแบบมีเงื่อนไข ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนก่อร่างเป็นโครงสร้างอัตตาภายในที่หล่อหลอมบุคลิก ความรู้สึกมีคุณค่า (หรือไม่มีคุณค่า) ในตนเอง และวิธีที่เราใช้สัมพันธ์กับผู้อื่นในปัจจุบัน
Carl Jung เคยกล่าวว่า
“Until you make the unconscious conscious, it will direct your life and you will call it fate.”
เราจะไม่มีวันเป็นอิสระจากอดีต หากไม่ยอมเผชิญหน้ากับปมปัญหาที่ค้างคานั้นอย่างตรงไปตรงมา ปมพ่อแม่เปรียบเหมือน หนอง หรือ บาดแผลลึกในใจ ที่เมื่อเราไม่กล้ามอง มันก็จะยังส่งอิทธิพลต่อการตัดสินใจ ความสัมพันธ์ หรือกระทั่งความสามารถที่จะรักผู้อื่นได้อย่างแท้จริง หากเราไม่เยียวยาบาดแผลดั้งเดิมนี้ เราก็มีแนวโน้มจะแสวงหาการชดเชยจากภายนอก — ด้วยความสัมพันธ์ที่ซ้ำรอยเดิม ความอบอุ่นความรักจากใครก็ได้ ความต้องการได้รับการยอมรับ หรือการพยายามเป็น “ผู้ช่วยเหลือ” เพื่อกลบปมรู้สึกไร้ค่าในใจ
ยิ่งเราทำงานในฐานะผู้ให้การช่วยเหลือ ครู นักบำบัด หรือผู้ปฏิบัติทางจิตวิญญาณ เราจำเป็นต้องสำรวจรากของตนเองอย่างลึกซึ้ง หากไม่รู้จักหรือทำงานกับบาดแผลของตนเอง เราก็อาจใช้การเยียวยาผู้อื่นเป็นการหลีกหนีความเจ็บปวดของตัวเอง หรือแอบใช้ผู้อื่นมาเติมเต็มช่องว่างในใจที่ยังไม่สมบูรณ์ของเราได้
เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช เปรียบเปรยการทำงานทางจิตวิญญาณเหมือนการตัดสายสะดือ เราถูกตัดสายสะดือตอนคลอดออกจากท้องแม่ไปแล้วรอบหนึ่ง แต่บ่อยครั้งก็ยังหลงเหลือ “สายสะดือทางอารมณ์” ที่ตัดไม่ขาด ส่งผลให้เราไม่อาจเติบโต เป็นอิสระ หรือกระทั่งหลุดพ้นทางจิตวิญญาณได้ หากเราไม่ทำงานกับมัน
การทำงานกับปมพ่อแม่ ไม่ใช่การโทษอดีตหรือต่อว่าพ่อแม่ แต่คือการหันกลับมาโอบรับความเป็นจริงของชีวิตเราอย่างกล้าหาญ เราภาวนากับ “ร่างกาย” ของครอบครัว ด้วยการตระหนักรู้ถึงความทุกข์ที่ดำรงอยู่ตรงนั้น กล้าสบตาพวกเขาอย่างที่พวกเขาเป็นโดยไม่พยายามไปเปลี่ยนแปลง หลบเลี่ยง หรือผลักไส “รู้” แล้ว “ปล่อย” เหมือนเวลาที่เราภาวนากับร่างกายของเราเอง รับรู้การมีอยู่ของความเจ็บปวดในทุกๆ ความสัมพันธ์ ระหว่างเรากับพ่อ ระหว่างเรากับแม่ แม่กับยาย พ่อกับย่า คนในครอบครัวที่ติดยา คนในครอบครัวที่ถูกฆ่าตาย คนในครอบครัวที่เป็นบ้า ฯลฯ เราสัมพันธ์กับ “all beings” ในสายสัมพันธ์ครอบครัวด้วยความกรุณา ตระหนักว่ามนุษย์ต่างก็มีบาดแผลและเงื่อนไขของตัวเอง และเราปรารถนาให้พวกเขาทั้งหมดและตัวเราเองมีความสุขและพ้นจากความทุกข์
เมื่อเรากล้ากลับไปนั่งอยู่กับความเจ็บปวดในครอบครัวอย่างอ่อนโยน ผ่อนคลายอยู่กับความทุกข์ที่ดำรงอยู่ในตัว หัวใจจะค่อยๆ เปิดออก ความกรุณาไม่ใช่เพียงแนวคิด แต่จะกลายเป็นพลังแห่งการปลดปล่อย ที่เกิดจากการเข้าใจว่าทุกชีวิตล้วนมีความทุกข์ มีปัญหา มีความแหว่งวิ่น และเราทุกคนต่างก็พยายามเอาตัวรอดอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ — และนั่นรวมถึงตัวเราเองและพ่อแม่ของเราด้วย
“Compassion is not a relationship between the healer and the wounded. It’s a relationship between equals.”
– Pema Chödrön
การเยียวยาปมพ่อแม่ คือก้าวแรกของการคืนชีวิตให้ตัวเราเองอย่างแท้จริง มันไม่ใช่แค่การแก้ไขอดีต แต่คือการเปิดทางให้ความรัก ความเข้าใจ และการเติบโตได้มีที่ทางในปัจจุบัน
เราจะรักได้มากเท่าที่เรายอมรับความเปราะบางของตัวเองได้ เราจะให้อภัยได้เท่าที่เราให้อภัยกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นกับเรา และเราจะกรุณาผู้อื่นได้อย่างลึกซึ้งเท่าที่เราเคยกล้าที่จะอยู่กับความเจ็บปวดของตนเองอย่างตรงไปตรงมา และบททดสอบที่เป็นแกนชีวิตของเราก็คือการยอมรับพ่อแม่
Alice Miller นักจิตวิทยาผู้ศึกษาบาดแผลในวัยเด็กกล่าวว่า
“The truth about our childhood is stored up in our body, and although we can repress it, we can never alter it. Our intellect can be deceived, our feelings manipulated, and conceptions confused, and our body tricked with medication. But someday the body will present its bill.”
การทำงานกับปมพ่อแม่ไม่ใช่การคิดวิเคราะห์หาสาเหตุที่มา หรือการพูดคุยในระดับเนื้อหาเท่านั้น หากแต่ต้องเป็นการทำงานกับร่างกาย จิตใจ เสียงภายใน และความรู้สึกทั้งหมดที่เคยถูกปิดกั้น กดทับ หรือไม่เคยได้รับพื้นที่ให้ได้มีตัวตนอยู่ในโลก ไม่เคยถูกรับรู้และได้ยิน หลายครั้งปมพ่อแม่ไม่ได้อยู่ในเรื่องราว แต่เป็นมวลหนักอึ้งที่ซุกซ่อนอยู่ในร่างกาย ความแน่นในหน้าอก ก้อนตึงในท้อง หรือความหน่วงเศร้าโดยไม่มีเหตุผล
การฝึกนั่งอยู่ตรงนี้ ในปัจจุบันขณะที่ไร้หลัก คาดเดาไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ รู้สึกทั้งหมดที่เกิดขึ้นโดยไม่ต้องเข้าไปแก้ไข เปลี่ยนแปลง หรือผลักไส คือก้าวแรกของการเยียวยา อนุญาตให้ความเจ็บปวดเผยตัวโดยไม่มีคำตัดสิน ให้พลังงานที่ติดค้างหรือคงค้างอยู่ในร่างกายได้คลายออกมา ปลดปล่อยออกมา
ดังที่ ปีเตอร์ เลอวีน นักจิตวิทยาผู้บุกเบิก Somatic Healing กล่าวว่า
“You have to feel it to heal it.”
บ่อยครั้งที่ก้อนความรู้สึก ที่เราไม่สามารถโพรเซสได้ในตอนนั้น ยังติดแหง็กอยู่ที่เดิม พร้อมกลไกป้องกันตัวเองอันเดิม สังเกตได้จากทุกครั้งที่มีเหตุการณ์เข้มข้นใกล้เคียงกัน ปฏิกิริยาปิดตายทางร่างกายก็ทำหน้าที่อีกแล้ว นั่นเองที่ทำให้พัฒนาการทางอารมณ์หรือกระทั่งทางร่างกายของเรายังติดอยู่ที่เดิม ไปต่อไม่ได้ เราอาจโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็จริง แต่ยังมีส่วนหนึ่งที่เรายังคงเป็น “เด็กอายุ 8 ขวบ” คนนั้น ในชั่วขณะที่เด็กน้อยขี้กลัวคนนั้นโผล่ขึ้นมา ลองจินตนาการว่าเรากำลังนั่งอยู่กับ “เด็กน้อยในตัวเรา” ผู้ซึ่งกำลังรู้สึกโดดเดี่ยว เจ็บปวด เหงา ถูกมองข้าม หรือหวาดกลัว …ให้เรานั่งอยู่ตรงนั้นกับเด็กน้อยคนนั้น โดยไม่หนี ไม่สอน ไม่ปลอบ …แค่ “อยู่ด้วย”
เมื่อทำบ่อยๆ เราอาจจะเริ่มสัมพันธ์กับเด็กน้อยที่มีบาดแผล ไม่ใช่แค่ในตัวเราเอง แต่กับทุกคนในครอบครัว เราเห็นเด็กน้อยในพ่อของเรา เด็กน้อยในแม่ของเรา เด็กน้อยในยายของเรา เป็นต้น เมื่อเราเริ่มเห็นความไม่สมบูรณ์เป็นส่วนหนึ่งของความเป็นมนุษย์ เราจะคืนศักดิ์ศรีให้กับทั้งตัวเราและพ่อแม่ โดยไม่จำเป็นต้องลบความผิด ยกย่องในสิ่งที่ไม่เป็นจริง หรือกระทั่ง “ต้องให้อภัย”
.เราไม่ต้องทำอะไรทั้งนั้น หัวใจคือ “แค่ตระหนักรู้”
เมื่อเราเห็นปมพ่อแม่อย่างตรงไปตรงมา มันจะค่อยๆ แปรเปลี่ยนจากความเจ็บปวดเป็นความเข้าใจ จากความคับแค้นเป็นความเห็นอกเห็นใจ ไปพ้นจากความหวังและความกลัวที่เรามีต่อพ่อแม่ เราจะพบกับอิสรภาพและความรักที่มีให้ต่อตัวเรา ต่อพ่อแม่ของเรา ต่อเพื่อนมนุษย์ ต่อสรรพสัตว์ ต่อสรรพชีวิต ที่ล้วนเชื่อมโยงกันทั้งหมดด้วยความทุกข์
ลองเอ่ยในใจว่า:
“ขอให้พ่อ (แม่) มีความสุข ขอให้แม่ (พ่อ) หลุดพ้นจากความทุกข์ ขอให้ พ่อ แม่ และฉัน เป็นอิสระจากการยึดมั่น การพึ่งพิงทางอารมณ์ อคติ และความเกลียดชังระหว่างกัน”
+++++++++++++++++++++++++
หากท่านชอบบทความที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ vajrasiddha.com และต้องการสนับสนุนการทำงานของพวกเรา สามารถช่วยกันแชร์ คอมเมนท์ ติชม ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย วัชรสิทธาดอทคอม ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีจิตศรัทธา สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ได้ที่ — ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8