จาก ‘บาร์’ สู่ ’พื้นที่ทางจิตวิญญาณ’ : เปิดบ้านวัชรสิทธา เทเวศร์!

เมื่อวันที่ 30 เมษายน ที่ผ่านมาเป็นวันแรกที่ชาววัชรสิทธาได้ทำพิธีขึ้นบ้านใหม่ หลังพวกเราย้ายออกจากบ้านหลังเก่ามาได้เดือนเศษ ทั้งทุ่มเท ทุ่มทุนปรับปรุงพื้นที่บาร์ให้ออกมาเป็นอย่างที่ทุกคนเห็น เอาจริงๆ ก็น่าเหลือเชื่อมากที่เราทำมันสำเร็จ จนได้เห็นบรรยากาศแห่งความไว้วางใจ และเริ่มเอนจอยในการสัมพันธ์กับสถานที่แห่งใหม่ของทุกคน

เพราะตอนแรกมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นเลยน่ะสิ!

เดิมที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของร้านอาหารถวิลหาและบาร์บ้านบางกอก เคยเป็นสถานที่ที่ตกแต่งแบบจัดเต็มสุดๆ โดยเฉพาะในยามค่ำคืน บางคนคงได้เคยมาดื่ม craft beer สั่งคั่วไก่มากินเป็นกับแกล้มมาบ้างแล้ว ด้วยความที่มีสมาชิกสังฆะหลายท่านแวะเวียนมานั่งชิลและสังสรรค์ที่บาร์แห่งนี้อยู่บ้าง เราจึงได้รู้ข่าวตอนที่บาร์และร้านอาหารย้ายออก

(สภาพก่อนเป็นวัชรสิทธา)

(สภาพหลังเป็นวัชรสิทธา)

ด้วยความดิบของตัวอาคารทำให้ช่วงแรกๆ ที่เรามาถึงมักรู้สึกว่ามีอะไรที่ไม่สะอาด หรือไม่เรียบร้อย ไม่ว่าจะสายไฟระโยงระยาง ผนังอิฐสีเขรอะ คราบกาวติดกระดาษ เหล่ามิตรสหายซึ่งได้รับเชิญมาสำรวจพื้นที่ก่อนใครก็ไม่ต่างจากทีมงานนัก จะต้องมีสักจุดให้คันไม้คันมือ อยากเข้าไปจัดการ เจ้าพื้นปูนขัด

ที่ดูใช้การได้ก็ไม่มีข้อยกเว้น

นอกจากนี้ยังมีเรื่องความร้อนอันเป็นโจทย์สำคัญให้ต้องกังวล แม้ว่าจะได้รับการเตือนจากเจ้าของอาคารก่อนหน้า ใครจะไปรู้ว่าเดือนเมษาจะร้อนนรกได้ขนาดนี้ (ปาดเหงื่อ) โชคดีที่คำขอของเราสัมฤทธิ์ผล วันขึ้นบ้านใหม่จึงเย็นสบายตลอดเช้าถึงเย็น

แต่จะบอกว่าปัจจัยนอกอาคารก็ท้าทายไม่แพ้กัน เพราะมันช่างไกลปืนเที่ยง มองไปฝั่งตรงข้ามก็เจอแต่รั้ววัง ไหนล่ะร้านข้าว!? ไหนล่ะความครึกครื้นของฝั่งเทเวศร์!? ฉะนั้นเราจึงเข้าอกเข้าใจในความกล้าๆ กลัวๆ ของคนที่ลังเลว่าจะมาที่นี่ดีไหม หรือมาแล้วก็ไม่กล้าเดินสำรวจสักเท่าไหร่

พี่ตั้มพูดบ่อยๆ ว่าถ้ามีคลาสจัดดอกไม้ที่นี่ บรรยากาศก็จะเปลี่ยนไปทันที (เราตั้งฉายาให้คอร์สอิเคะบานะว่า คอร์สล่อลวงคนมาวัชรสิทธา) เรานึกว่าจะต้องรอไปก่อนซะอีก ไม่คิดเลยว่าพี่เชคจะบินขึ้นมาจากหาดใหญ่ พร้อมสมาชิกกลุ่ม Garuda มาช่วยจัดพื้นที่ให้รื่นรมย์ และมีชีวิตชีวา ไม่ใช่แค่เราเริ่มเห็นความเป็นไปได้ในการทำให้พื้นที่การเรียนรู้น่ามาเยือน แม้แต่ศักยภาพของห้องแสดงงาน “หรีะ : มัณฑลาฑากิณี” ก็เผยตัวออกมาโดยที่เราไม่ต้องกำหนดขอบเขต หรือให้คำจำกัดความก่อน

ทางเดินทึบทึมถูกประดับด้วยรูปครูบาอาจารย์ ห้องว่างๆ มีแท่นบูชาตั้งเป็นศูนย์รวมพลังงาน และมีต้นไม้ใบเขียวจากสมาชิกสังฆะมาเพิ่มความร่มรื่น วัชรสิทธาไม่ได้ก่อร่างขึ้นจากเพียงสิ่งที่มองเห็น ยังมีความรัก ความปรารถนาดีของผู้เคยมีประสบการณ์ร่วมกันที่วัชรสิทธารวมอยู่ด้วย และที่ขาดไม่ได้เลยก็คือเจตจำนงร่วมของพวกเราที่อยากให้มีพื้นที่แบบนี้ อ่อนโยน และเปิดกว้างทางจิตวิญญาณ คงอยู่ต่อไป

ในวันที่ 30 เมษายน ประตูแห่งธรรมได้เปิดออกอีกครั้งหนึ่ง เสียงระฆังปลุกพื้นที่ซึ่งเคยหลับใหลให้ตื่นขึ้น อุปสรรคทั้งหลายถูกชำระล้างปัดเป่า พร บทเพลง และการแสดงจากเหล่าผู้มาเยือน รวมถึงความเหน็ดเหนื่อย ความไม่แน่ใจทั้งหลายได้แปรเปลี่ยนเป็นเครื่องถวายสักการะ

กระบวนการปรับปรุงพื้นที่ตลอด 1 เดือนสำหรับคนทำงานอย่างเรา มันเหมือนการเตรียมจิตเพื่อไปสู่ความเปิด เราได้ต้อนรับทั้งคนคุ้นหน้าคุ้นตา คนที่เคยไปร่วมกิจกรรมที่อาคารพงศ์วราภาในช่วงท้ายๆ แขกหน้าใหม่ซึ่งไม่เคยมีประสบการณ์ทางสายวัชรยาน และเหล่านักศึกษาที่เต็มไปด้วยความอยากรู้อยากเห็น

เจ้าอาคาร 253/1 คล้ายจะไม่ได้เตรียมอะไรไว้ให้เราเลย แต่เมื่อพื้นที่เปิดออก ทุกอย่างกลับดูเหมาะเจาะลงตัวไปหมด เสียงของฟ้า sansin ก้องกังวานในห้องหรีะคลอไปกับเสียงกีตาร์ ทั้งที่เราแทบจะไม่ได้ทำอะไรกับห้องนี้นัก

ตัวพื้นที่เข้าไปทำงานกับความรู้สึกของผู้คน และความรู้สึกก็ส่งเสริมคุณลักษณะของพื้นที่กลับไปกลับมา เราเห็นคนแปลกหน้าได้กลายเป็นคนรู้จักกัน เราเห็นความสนุกสนานของคนที่เป็นตัวของตัวเอง เราเห็นหัวใจของทุกคนที่เปิดออก และพร้อมจะแบ่งปันความรู้ ประสบการณ์ เราเห็นความงอกงามในละแวกที่ดูไม่มีชีวิตชีวาสุดๆ

แน่นอนว่าวัชรสิทธาไม่ได้เติบโตไปโดดๆ แต่เติบโตไปพร้อมกับเหล่าผู้คนที่แวะเวียนมา เพื่อรองรับสิ่งที่กว้าง และหลากหลายกว่าเดิม ภายใต้เจตจำนงซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง


แนะนำพื้นที่วัชรสิทธา เทเวศร์

Main Shrine

ห้องภาวนา หรือห้องกิจกรรมหลัก ประดิษฐานหิ้งบูชาครูของวัชรสิทธาด้านหน้า มีหิ้งบูชาธรรมบาล มีเบาะรองนั่งสำหรับกิจกรรมภาวนาและการล้อมวงทำกิจกรรม มีกระดานไวท์บอร์ด ผนังโปรเจ็คเตอร์ และระบบเครื่องเสียง

Hri : dakini space
หรีะ : มัณฑลาฑากิณี

ห้องว่าง สำหรับจัดแสดงผลงานศิลปะ งานแสดงดนตรี Art Performance

ห้องตาราขาว

ห้องอเนกประสงค์ สามารถปรับใช้งานได้หลายฟังก์ชัน เช่น เป็นห้องเรียนเล็ก ห้องพักครู ห้อง Counseling ห้องนั่งเล่น พูดคุย หรือรับประทานอาหารระหว่างเวลาพัก

สำนักงานและร้านหนังสือ

ห้องสำนักงานมูลนิธิวัชรปัญญา และร้านหนังสือ+ของที่ระลึก พื้นที่ประชุมและนั่งเงียบๆ

โซน Student Lounge

พื้นที่สนทนาพูดคุย นั่งเล่น อุ่นอาหาร เติมน้ำดื่ม