Processwork : ทุกมิติของชีวิตคือโอกาสแห่งการตระหนักรู้

บทความโดย THANYA วัชรสิทธา

ครั้งแรกที่พยายามจะทำความเข้าใจ processwork สรุปได้ประมาณว่า ‘เป็นการทะเลาะกันจนคลี่คลายไปสู่ความเข้าใจ’ ซึ่งก็สามารถนำมาใช้อธิบายประสบการณ์ได้ในระดับหนึ่ง แต่เมื่อได้เข้าไปเรียนรู้ศาสตร์นี้อย่างจริงจังก็พบว่า processwork เป็นอะไรที่สามารถทั้งขยายออก กว้าง ลงลึก และเป็นการตระหนักรู้ที่ดำรงอยู่ตลอดเวลารอบตัวเรา

จิล เอ็มส์ลี่ ครู/กระบวนกรชาวสก็อตแลนด์จากชุมชนฟินฮอร์น และ พี่ณัฐ ณัฐฬส วังวิญญู ใช้เวลาสามวันในการสอนให้เราเข้าใจกระบวนการของ Processwork ในวิธีการ คุณค่า และเป้าหมายสำคัญ ในคอร์ส ตื่นรู้ในสัมพันธภาพแห่งรัก ที่จัดขึ้นที่อาศรมวงศ์สนิท

Processwork คืออะไร?

คำว่า Processwork เริ่มต้นจาก ดร.อาร์โนลด์ มินเดล นักจิตวิทยาชาวตะวันตก ที่พัฒนากระบวนการนี้ขึ้นมาจากหลากหลายศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็น จิตวิทยาคาร์ล ยุง ปรัชญาเต๋า และควอนตัมฟิสิกส์ มาสู่การทำงานกับบุคคล คู่รัก กลุ่ม ชุมชน เพื่อการเข้าถึงเจตนาและคุณค่าของเสียงทุกเสียงในความขัดแย้ง เพื่อนำไปสู่ความเข้าใจในระดับลึก และการอยู่ร่วมกันด้วยความรักบนพื้นฐานความดีงาม

หากให้ลองอธิบายอย่างง่ายๆ วิธีการของ Processwork คือการปล่อยให้สิ่งนั้นเป็นไปตามกระบวนการจนจบในตัวมันเองและเกิดการเริ่มต้นใหม่ขึ้นมาเองโดยธรรมชาติ เหมือนฤดูกาล เหมือนไฟที่เริ่มต้นจากประกายไฟติดขึ้นมา ปล่อยให้เผาไปจนเชื้อเพลิงหมด ไฟก็จะมอดดับไปเอง  

กระบวนการนี้สามารถใช้ได้ในหลายมิติ และหลายระดับมาก ตั้งแต่การทำงานภายในกับตัวเอง ทำงานกับปมในจิตไร้สำนึก ทำงานกับคู่ คนรัก ครอบครัว ทำงานในระดับองค์กร ไปจนถึงการทำงานระดับสังคม หรือกระบวนการประชาธิปไตยเชิงลึก (deep democracy) 

สำหรับผู้เริ่มต้นในชั้นเรียนครั้งนี้ จิลใช้หลักการสามอย่างให้เราเข้าใจภาพรวมในการอธิบายโลกทัศน์ของ Processwork เพื่อสร้างความเข้าใจสู่การนำไปทำงานต่อ

Arnold Mindell

ก่อร่างสร้างอัตลักษณ์

จิลใช้สามเหลี่ยมภูเขาอธิบายการทำงานของระบบการทำงานของตัวตน บนยอดสามเหลี่ยมคือตัวการ์ตูนจิ๋วๆ ที่เป็น “ขอบ” ระหว่างสองด้านของภูเขา ด้านหนึ่งของสามเหลี่ยมคือ Primary Process (อาจจะคุ้นเคยกว่ากับคำว่า Primary self) ที่อัตลักษณ์หลัก ไม่ว่าจะเป็นลักษณะนิสัย วิธีการ พลังงาน เช่น ความสุภาพ อ่อนน้อม พลังงานแบบนิ่มๆ นวลๆ เป็นสิ่งที่เราใช้ในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ในขณะที่อีกด้านของสามเหลี่ยมคือ Secondary process (secondary self) ที่ห่างไกลจากอัตลักษณ์หลักของเรา เป็นด้านที่ถูกกั้นด้วยตัวขอบบนยอดสามเหลี่ยมไม่ให้ออกมามีบทบาทพบปะผู้อื่น เช่นนิสัยตรงข้ามกับอันแรก นิสัยก้าวร้าว เอาแต่ตัวเอง อาร์โนลด์แทนด้านแรกว่าเป็น U energy และด้านสองคือ X energy 

สองด้านนี้มาจากไหน? ตามหลักจิตวิทยา คนเราสร้างอัตลักษณ์ในระดับ unconscious ในช่วงวัย 0-8 ปี เพื่อให้สามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นๆ ได้อย่างปลอดภัย ดังนั้นส่วนสำคัญในการประกอบอัตลักษณ์หลักก็คือครอบครัว สังคม สภาพแวดล้อมในวัยเด็ก ส่วนต่อมาคือสิ่งที่เรียกว่า Beliefe system หรือชุดความเชื่อที่ถูกปลูกฝังมาจากสังคม วัฒนธรรม  เช่นชุดคุณค่า พฤติกรรมต่างๆ สิ่งนี้จะเป็นตัวที่บงการการทำงานของขอบตัวเรา ที่จะกั้นว่าอันไหนนำออกมาใช้ อันไหนเราจะไม่ข้ามไป เพื่อที่จะอยู่รอดในพื้นที่ที่เราอยู่

สองด้านที่ว่าไม่มีอันไหนเป็นสิ่งดีหรือไม่ดี แต่เป็นด้านที่เรา identify กับด้านที่เราปฏิเสธ ไม่ว่าจะด้วยเพราะอะไร เช่นพ่อเราเป็นคนโมโหร้าย เราจึงปฏิเสทความโมโหร้ายที่มีอยู่ในตัวเอง ให้เป็น X energy แต่อย่างไรก็ตามพลังงานนี้ก็มีอยู่ในตัวเรา และจะถูกกระตุกเมื่อเราเจอกับพลังงานนี้ในตัวผู้อื่นหรือในสถานการณ์ เช่นเมื่อเจอคู่ของเราที่โมโหร้าย มันก็จะ Trigger สิ่งที่ถูกปฏิเสธในตัวเราขึ้นมา

วงกลมความสัมพันธ์สามระดับ

จิลอธิบายถึงระดับความสัมพันธ์ด้วยวงกลมสามอันซ้อนกัน วงในสุดคือ inner conflict ปมขัดแย้งภายใน ที่เกิดการจากไม่ยอมรับอีกด้านของตัวเอง จุดเริ่มต้นของความขัดแย้งที่จะปรากฏออกไปในเวลาที่เราสัมพันธ์กับผู้อื่น 

วงถัดมา Signal in Relationship สัญญาณที่ปรากฏ เป็นข้อความที่ลึกไปกว่าสิ่งที่เราพูดหรือคิด ที่จะเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ เช่นการกล่าวโทษกัน จริงๆ แล้วมันคือสัญญาณที่บอกถึงความต้องการอะไรบางอย่าง

วงนอกสุดคือ Systemic ที่เป็นการกล่าวถึงคู่ กลุ่ม หรือชุมชนอย่างเป็นองค์รวม ในลักษณะที่ว่า คู่นี้มี energy U เป็นคู่รักที่ผาดโผน ขึ้นเหนือล่องใต้ 

สามวงนี้ทำงานด้วยกันอยู่ตลอดเวลา สะท้อน กระทบ และสั่นพ่องกันและกัน จากมิติภายในสุด สู่ความสัมพันธ์กับผู้อื่นทั้งใกล้และไกล

Levels of Reality 

ในกระบวนการ processwork มินเดลอธิบายถึงความจริงไว้สามระดับ ชั้นบนสุด CR – consensus reality ความจริงที่เป็นข้อตกลงร่วมกัน ว่าง่ายๆ คือความจริงในพื้นที่ที่เราใช้ชีวิตอยู่กับเพื่อนร่วมโลก ทั้งในเชิงกายภาพ หรือเชิงการวัดค่า เช่นค่านิยม ความดี ความร่ำรวย ที่คนในสังคมตกลงร่วมกัน ว่านี่คือความเป็นจริงนะ 

ลึกลงไปด้านล่าง เป็นชั้นของ Dreamland ที่อยู่ใต้ความเป็นจริงด้านบน เป็นความเชื่อ ประสบการณ์ อารมณ์ความรู้สึก ชุดความเชื่อส่วนตัวของเรา ประวัติศาสตร์ที่อยู่ในเนื้อในตัว และสัญญาณทั้งหลาย 

และลงไปที่สุด ความจริงระดับ Essence เป็นคุณค่าที่ลึกซึ้ง ไปพ้นจากตรรกะทวิภาวะ และเป็นสิ่งสากลที่ทุกคนแชร์ร่วมกัน ความจริงนี้จะอยู่ในระดับของจิตวิญญาณในเชิงของการพูดถึงความจริงสูงสุด

เฟรมเวิร์กการมองความจริงอันนี้เป็นส่วนที่น่าสนใจมากของ  processwork เราสามารถทำงานได้โดยที่คำนึงถึงความจริงทั้งสามระดับไปพร้อมๆ กัน เช่น ความขัดแย้งมักจะเกิดขึ้นในระดับ CR บนสุด ศูนย์การเรียนรู้เข้าไปก่อตั้งในพื้นที่ชุมชน ชาวบ้านไม่พอใจ เกิดความขัดแย้ง ยกเหตุผลมาแจงได้มากมาย เรื่องการเดินทาง เสียงดัง เรื่องผลประโยชน์ เราสามารถมองลึกลงไปในระดับ Dreamland เห็นอารมณ์โกรธ ความรู้สึกไม่ปลอดภัย และลึกไปถึงระดับคุณค่า อาจจะเป็นความผูกพันธ์กับผืนดิน ความเคารพที่มีต่อเจ้าที่เจ้าทางของบริเวณนั้น ที่ไม่ถูกรับรู้จากผู้เข้ามาใหม่

เมื่อสามารถลงไปในระดับที่ลึก จากจุดร่วมตรงนั้น ก็จะสามารถหาวิธีการอยู่ร่วมกันในระดับ CR ที่อาจจะไม่ได้ง่าย แต่ไม่ทับเส้นกันในระดับคุณค่า ซึ่งทำได้กับทุกๆ ความขัดแย้ง ตั้งแต่ระหว่างบุคคล กลุ่ม องค์กร ไปจนระดับประเทศ Processwork ถูกใช้ในกระบวนการระดับสังคม ที่เรียกกันว่า ประชาธิปไตยเชิงลึก (Deep Democracy) ที่ใช้กระบวนการในการรับฟังทุกเสียง เพื่อพาทั้งหมดลงไปสู่ความจริงระดับลึกที่เป็นคุณค่าร่วมกัน 

ทะเลาะกันให้ “สุด” 

ไฮไลท์อย่างหนึ่งในกระบวนการ Processwork ที่หลายคนรอคอย คือภาคปฏิบัติที่เรียกว่า Group process เริ่มจากการตั้งหัวข้อขึ้นมา (จากการโหวด)  และให้ทุกคนในห้องออกมาส่งเสียงตัวเองที่มีต่อหัวข้อนั้น เห็นด้วย ไม่เห็นด้วย ไม่เข้าใจ อินมาก ไม่สนใจ และให้ไหลไปมา เปลี่ยนจุดยืนได้ มีอารมณ์ขึ้นลงได้ อนุญาตให้ทุกอย่างเกิดขึ้น โดยมีกระบวนกรทำหน้าที่ดูแลพื้นที่ ทำให้ทุกเสียงถูกได้ยิน และคอยสร้างความตระหนักรู้ให้กลุ่ม ชี้จุดเดือดหรือ hotspot ที่กำลังจะไปสู่อะไรบางอย่าง

ทั้งหมดของกระบวนการไม่ใช่การพูดคุยเพื่อหาข้อตกลงร่วมกัน แต่เป็นการเอาความขัดแย้งมาอยู่ใน space of awareness และปล่อยให้ความขัดแย้งนั้นดำเนินไปในพื้นที่นี้ นี่เองคือใจความสำคัญของ Processwork จิลกล่าวว่า การทำ Processwork ก็คือ Awareness practice และให้กระบวนการพาไปสู่ความสมดุลใหม่ของข้อขัดแย้งเอง 

หลายๆ ครั้ง กระบวนการมักจะถูกขัดขวางและก่อให้เกิดผลกระทบตามมา ตัวอย่างใกล้ๆ ความขัดแย้งในตัวเอง กรณีเช่น คนหนึ่งกดเสียงของด้านแรงๆ ในตัวเอง ไม่ให้ความโกรธได้ส่งเสียงออกมาเลยแม้แต่นิดเดียว คนนั้นจะกลายเป็นคนเก็บกด และอาจมีผลกระทบตามมาในการพยายามจัดการพลังงานด้านนั้นเป็นพฤติกรรมต่างๆ เช่น การเสพติด ความก้าวร้าวในรูปแบบต่างๆ 

พี่ณัฐฬสเล่าว่า มันมีคำกล่างหนึ่งของมินเดล ที่ว่า “เมื่อใบไม้ใบสุดท้ายของฤดูใบไม้ร่วงหล่นลงบนพื้น ฤดูหนาวก็จะเริ่มต้นขึ้น” ในความหมายที่ว่า เราต้องรอให้กระบวนการจบสิ้นสุด เพื่อที่สิ่งใหม่จะเริ่มต้นขึ้นมาได้เองโดยธรรมชาติ 

ลำดับของความขัดแย้ง

ทีนี้ เราจะทะเลาะให้ดียังไงนะ จิลอธิบายระยะของความขัดแย้ง (phrase of Conflict) ไว้สี่ระดับ

  1. หลบเลี่ยง – พยายามที่จะไม่เผชิญหน้ากับจุดขัดแย้ง หนีไปหาสิ่งอื่นๆ
  2. แรงปะทะ แรงดึง และความขัดแย้ง – จุดที่อยู่ในความขัดแย้งอย่างเข้มข้น ทะเลาะ ส่งเสียงออกมา ใช้อำนาจ เข้าข้างตัวเองอย่างถึงที่สุด
  3. Switch role เปลี่ยนบทบาท – เมื่อได้เข้าข้างตัวเอง ได้ส่งเสียงออกมาให้สุด จะเกิดการเปลี่ยนฝั่งไปเป็นอีกฝ่ายโดยอัตโนมัติ เกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น รับรู้ได้ถึงสัญญาณต่างๆ และสิ่งที่อยู่เบื้องหลังความขัดแย้ง ชุดความเชื่อ บทบาทจากอดีต พลังงานและบรรยากาศเปลี่ยนไป
  4. ออกจากสถานการณ์ สู่ภาวะที่ไม่มีขั้ว และสามารถมองด้วยมุมมองใหม่ได้

ในคอร์สเรียนนี้ เราได้ฝึกทำแบบฝึกหัดอยู่เรื่อยๆ ในการนำสิ่งที่เป็นความขัดแย้ง หรือกำลังรบกวนใจ มาสู่พื้นที่สว่างใจความตระหนักรู้ ผ่านการเล่า แลกเปลี่ยนกับเพื่อน ในแต่ละแบบฝึกหัด เราจะได้ฝึกเป็น energy X ฝึกไปอยู่ในสภาวะไม่มีขั้วแและลองมองสถานการณ์ใหม่ ฝึกเข้าข้างตัวเองให้สุด จนไปเจอคุณค่าลึกๆ ข้างใน และฝึกใช้ร่างกายสวม energy X และ energy U

กิจกรรมเล็กๆ ที่ได้ฝึก ดูเหมือนจะไม่ได้ทำอะไรมาก แต่ผลที่ได้จากการทำแต่ละอันทรงพลังและทำงานกับตัวเรามากๆ อย่างไม่คาดคิด เพียงแค่พลิกเปลี่ยนข้างในนิดเดียว ท่าที พลังงาน vibe ในตัวเองเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด ราวกับเราได้ค่อยๆ เป็นอิสระจากสิ่งเดิม ปลดปล่อยตัวเอง ข้ามขอบไปสู่สมดุลใหม่ ทีละนิด ทีละนิด แต่ความสว่างในแต่ละครั้งก็มีความหมายมากๆ 

Rank and Power

สิ่งที่ขับเคลื่อนเรื่องทั้งหมดนี้ คือ Rank และอำนาจ ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เมื่อมีความแตกต่างกันในทางลำดับชั้น และการมีอำนาจเหนือกว่า น้อยกว่า ก็จะพาให้เกิด dynamic มากวนพื้นที่ความสัมพันธ์ และทำงานกับการกดทับ ทำให้เกิดผู้กดทับ และผู้ที่ถูกกดทับ ซึ่งนั้นจะนำไปสู่ความขัดแย้งที่ต้องการจะออกไปสู่สมดุลย์ความสัมพันธ์ใหม่

เรื่อง  Rank เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา และอยู่ในตัวเราตลอดเวลา คนคนหนึ่งมีทั้งบทบาทที่ rank สูง และ บทบาทที่ rank ต่ำ ได้เป็นทั้งผู้กดขี่และถูกกดขี่ ใน processwork สิ่งนี้จะได้เข้ามาให้พื้นที่ของความตระหนักรู้ และเช่นเดียวกันด้วยกระบวนการ ไม่ว่าจะจาก rank สูงหรือต่ำ เราสามารถเป็นอีกฝ่าย รับเอา energy X เข้ามาเพื่อที่จะ liberate ตัวเองไปจากท่าทีเดิมต่อสถานการณ์ และค้นพบหนทางที่จะอยู่กับ rank ที่แตกต่างจากเรา โดยที่มีความตระหนักรู้กับจุดยืนและสิ่งที่ตนมี 

ศาสตร์แห่ง Processwork เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากที่มาขยายมุมมองที่มีต่อโลก ต่อสถานการณ์ ต่อความสัมพันธ์ เฟรมเวิร์คที่เล่ามาทั้งหมดสามารถใช้ได้กับทุกสิ่ง และสามารถเข้าใจได้อย่างรวดเร็วมากเพราะเป็นเรื่องในชีวิตเราอยู่แล้ว กระบวนการของมันไม่ได้เป็นสิ่งพิศดาลเลย แต่เป็นเรื่องธรรมชาติมากๆ ดังนั้นเพียงเราไว้วางใจในธรรมชาติที่เกิดขึ้น รับรู้ทั้งหมดด้วยความตระหนักรู้ มันก็ไม่มีสภาวะใดเลยที่ต้องไปตัดสินหรือไปกลัว ทุกอย่างถูกนับหมดในฐานะส่วนหนึ่งของกระบวนการ ไม่มีอะไรโดนคัดออกไป 

และอย่างที่เล่าไปเรื่องลำดับของความจริง Processwork สามารถทำงานได้ลึกมาก บางจังหวะในคอร์สก็ลงลึกไประดับจิตวิญญาณ เกิดภาวะวื้อขึ้นมาได้ ซึ่งเป็นการวื้ออย่างเป็นระบบมาก มีเฟรมเวิร์กชัดเจน เป็นประสบการณ์ใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจกันเลยทีเดียว

กระบวนการ processwork เป็นเรื่องใหม่ที่น่าจับตา มีความเชื่อมโยงกับหลากหลายมิติ เข้าไปทำงานกับการเปลี่ยนแปลงด้วยความตระหนักรู้ ทำงานกับความสัมพันธ์ตั้งแต่เล็กจนขนาดกว้าง เป็นกระบวนการที่มีสักยภาพในการสร้างสังคมให้กลายเป็นมณฑลแห่งความตื่นรู้