โลกมีปรากฏการณ์ที่กำลังแสดงอยู่ : ชวนสนทนากับบันทึกลายมือท่านพุทธทาสภิกขุ

บทความโดย วิจักขณ์ พานิช

บันทึกลายมือของท่านพุทธทาส หัวข้อเดียวกับชื่อบทความชิ้นนี้ มีคำในวงเล็บห้อยท้ายว่า (ยังต้องปรับปรุงใหม่) ในโอกาสนี้ ผู้เขียนขอถือวิสาสะชวนท่านพุทธทาสสนทนา เป็นการช่วยปรับปรุงบันทึกชิ้นดังกล่าว ให้สมบูรณ์ร่วมสมัยยิ่งขึ้น



จากบันทึกชิ้นนี้ กล่าวได้ว่าโลกปรากฏการณ์ในทัศนะพุทธทาสภิกขุ คือ “โลกแห่งกิเลส”

1. โลกวัตถุนิยม อันถูกขับเคลื่อนด้วยกามคุณ มุ่งทำลายธรรมชาติ มอบเมาเสพติด กระทั่งเกิดความวิปริตของดินฟ้าอากาศ
2. โลกทางจิต อันถูกขับเคลื่อนด้วยความคิด จากความหลงผิดคิดว่ามีตัวตนตายตัว “I think, therefore I am.” แต่เป็น I am ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยกิเลส ทั้งอยากเป็น ไม่อยากเป็น หรือไม่รู้ว่าเป็น กระทั่งพัฒนาเป็นโรคทางจิต จากการตัดสิน เฆี่ยนตี บีบคั้นตัวเอง
3. โลกทางวิญญาณ อันถูกขับเคลื่อนด้วยความเห็นแก่ตัว คิดไปว่าสามารถแก้ไขปัญหาทางจิตวิญญาณด้วยวัตถุนิยม มีกามารมณ์เป็นปัจจัยที่ห้า
4. โลกทางสังคม อันถูกขับเคลื่อนด้วยความก้าวร้าวรุนแรง การเมืองเศรษฐกิจล้วนแต่เพื่อตัวกู-ของกู เอาศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมือง ก่อสงคราม อันธพาลครองโลก
5. โลกทางธรรมชาติ : อันถูกขับเคลื่อนด้วยการศึกษาที่ไม่ช่วยให้รู้จักตัวเอง ความรู้ทางธรรมชาติกลายเป็นเครื่องมือเบียดเบียนทำลายล้าง

โลกปรากฏการณ์ทั้ง 5 ข้อในทัศนะพุทธทาสภิกขุ ค่อนข้างจะให้ภาพมืดมนไร้ความหวัง หนักอึ้งในสภาพความเป็นจริงของโลกแห่งความทุกข์ เน้นย้ำถึงความเลวร้ายของกิเลส ตัณหา อวิชชา และอัตตา ที่ขับเคลื่อนนำพามนุษยชาติไปสู่วิกฤติอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สำหรับพุทธทาส การมองโลกปรากฏการณ์อย่างที่เป็น คือการใคร่ครวญให้เห็นถึงพลังทำลายล้างของกิเลส จนเกิดความเบื่อหน่าย สังเวช สิ้นหวัง กระทั่งเกิดแรงปรารถนาที่จะหลุดพ้นออกจากโลกปรากฏการณ์นี้ ที่เรียกว่าสังสารวัฏ

หากจะชวนท่านพุทธทาสสนทนาต่อ แล้วโลกปรากฏการณ์ที่ไปพ้นความเลวร้ายของกิเลสล่ะมีหน้าตาเช่นไร? การมองโลกปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “ชีวิต” หรือ “ความเป็นมนุษย์” ที่ตั้งอยู่บนธรรมชาติแห่งการตื่นรู้ (Awakening Phenomenal World) นั้นเป็นไปได้ไหม?

การเน้นย้ำถึงแง่ลบของโลกปรากฏการณ์ อาจมีข้อดีในการนำพาให้ผู้คนละวาง หรือถอนตัวจากการยึดมั่น สู่เส้นทางแห่งนิพพานหรือการหลุดพ้นได้ก็จริง ทว่าโลกมนุษย์ที่เราอยู่มันย่ำแย่ มืดมน ไร้ความหวัง ขนาดนั้นจริงหรือ? พุทธศาสนาควรตอกย้ำ นำเสนอวิสัยทัศน์เช่นนี้ในการมองโลกแก่มนุษยชาติอย่างนั้นหรือ?

อีกด้านที่ท่านพุทธทาสยังไม่กล่าวถึง คือ ธรรมชาติ “โดยเนื้อแท้” ของมนุษย์ ที่หาใช่พลังของกิเลส กิเลสเป็นเพียงแค่เครื่องเศร้าหมองที่บดบังไม่ให้เรามองเห็น “โลกตามความเป็นจริง” ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นโลกปรากฏการณ์อันแจ่ม กระจ่าง บริสุทธิ์ บริบูรณ์ ประภัสสร

ธรรมชาติโดยเนื้อแท้ดังกล่าว คือสิ่งที่พุทธศาสนามหายานเรียกว่า “พุทธภาวะ”


เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ธรรมาจารย์ชาวทิเบตผู้วางรากฐานพุทธธรรมในโลกตะวันตก ได้นำเสนอหนทางในการมองโลกปรากฏการณ์ที่แตกต่างออกไป

ในคำสอนชัมบาลา (Shambhala : The Sacred Path of the Warrior) เชอเกียม ตรุงปะ กล่าวว่า โลกปรากฏการณ์ล้วนแสดงออกถึงธรรมชาติของความดีพื้นฐาน (Basic Goodness) เช่นเดียวกับที่ มนุษย์ทุกคนล้วนเกิดมาด้วยธรรมชาติแห่งความดีพื้นฐานนั้น วิสัยทัศน์แห่งการตื่นรู้นี้ เรียกว่า “The Great Eastern Sun” เราทุกคนสามารถปลุกความดีพื้นฐานและวิสัยทัศน์แห่งการตื่นรู้นี้ขึ้นมาได้ในทุกขณะแห่งการดำเนินชีวิต นั่นคือหนทางแห่งนักรบผู้หาญกล้า อ่อนโยน และจริงแท้ ต่อการสัมพันธ์กับโลกปรากฏการณ์ที่เผยแสดงในแต่ละขณะ

หากเริ่มทำความเข้าใจโลกปรากฏการณ์ในทัศนะของท่านพุทธทาส แล้วยกระดับจิตใจขึ้นไปอยู่เหนือกิเลส ความเคยชิน หรือความกลัว (หรือ “รังดักแด้” ในคำของชัมบาลา) เราก็อาจพบได้กับโลกปรากฏการณ์อันศักดิ์สิทธิ์รุ่มรวย

1. โลกพ้นวัตถุนิยม
การไปพ้นวัตถุนิยม ไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธวัตถุ แต่หมายถึงการให้ความใส่ใจกับรายละเอียดเล็กๆ ในชีวิตประจำวัน การให้ความสำคัญกับพื้นที่ว่าง ชื่นชม ใส่ใจต่อรายละเอียดของวัตถุในพื้นที่นั้น ปลุกพลังการตื่นรู้ของวัตถุ เชื่อมสัมพันธ์กับธรรมชาติการตื่นรู้ของจิตใจ ไม่ใช่วัตถุนำจิต แต่จิตนำวัตถุ เพื่อให้วัตถุนั้นสะท้อนคุณค่าทางใจ ทางสุนทรียะ และสื่อสารถึงความหมายและการดำรงอยู่อันแท้จริงของมันในชั่วขณะนั้นๆ

2. โลกแห่งมนุษยชาติ สรรพสัตว์ สรรพวิญญาณ
โลกที่ไปพ้นการยึดมั่นที่ตายตัวทางความคิด เผยธรรมชาติของความว่าง และการเอื้ออิงอาศัยกันของสรรพสิ่ง เมื่อมีสิ่งนี้สิ่งนี้ จึงเกิดสิ่งนี้สิ่งนี้ เราไม่อาจแยก “ตัวเรา” ออกจาก “ทั้งหมด” ได้ เราค้นพบความรุ่มรวยของสายสัมพันธ์ และสรรพชีวิตที่เชื่อมโยงถึงกัน บนวิสัยทัศน์แห่งการตื่นรู้

3. โลกแห่งความรักความกรุณา
โลกที่ไปพ้นความเห็นแก่ตัว บ่มเพาะความรักความกรุณา และสันติภาวะในใจ ไปพ้นจากตัวตน เราค้นพบสภาวะไร้ขอบเขตของการไม่แบ่งแยก ความประจวบเหมาะของสายสัมพันธ์ ที่คุณสมบัติแห่งการตื่นรู้ จริงแท้ กล้าหาญ และเปิดกว้างของเรา สามารถส่งผลกระทบในทางบวกต่อคนอื่นที่เราเข้าไปสัมพันธ์ด้วย

4. โลกแห่งอิสรภาพและความกล้าหาญ
โลกที่ขับเคลื่อนด้วยหัวใจแห่งความเป็นมนุษย์ที่อ่อนโยน ทว่ากล้าแกร่ง ด้วยศรัทธาในความดีพื้นฐานของมนุษย์ เราสามารถช่วยเหลือโลกใบนี้ได้ เราสามารถทำอะไรบางอย่างให้กับโลกใบนี้ เพื่อปลดปล่อยผู้คนออกจากความไม่รู้ ความเกลียดชัง และความสิ้นหวัง เราแต่ละคนสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นให้แก่โลกใบนี้


5. โลกแห่งการเกื้อกูลระหว่างมนุษย์ ธรรมชาติ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์
โลกที่รังสรรค์ขึ้นจากการร่วมสร้างของมนุษย์ ธรรมชาติ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไปพ้นจากกำแพงอันคับแคบของตัวตน เราค้นพบศักยภาพในการเชื่อมต่อสัมพันธ์อันไร้ขอบเขต โลกนี้คือโลกอันศักดิ์สิทธิ์ และชีวิตทุกชีวิตคือชีวิตที่ศักดิ์สิทธิ์ การรู้แจ้งในธรรมชาติเดิมแท้นี้ คือหนทางเดียวในช่วยเหลือและเกื้อกูลมนุษยชาติและสรรพชีวิตบนโลกใบนี้



หมายเหตุ: บทความชิ้นนี้เขียนให้กับ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จากคำเชิญชวนของ นพ.บัญชา พงษ์พานิช และทีมงานสวนโมกข์กรุงเทพฯ