“เสียงจากมดลูก” : โอบอุ้มความเปราะบางที่ถูกกดทับผ่านการภาวนา”

บทความโดย รวงทัพพ์ แก้วแกมจันทร์

บทสะท้อนจากการเข้าร่วมกิจกรรม Naree Meditation ครั้งที่ 1

ภาพประกอบโดย Unun Worawan

ตอนต้นปีได้เข้าร่วมภาวนา ในกิจกรรม Naree Meditation สอนโดย อันอัน วรวรรณ ที่วัชรสิทธา

เล่าแบบตรงไปตรงมาไม่มีกั๊กก็คือ เมื่อเราได้ฝึกภาวนา อยู่กับร่างกายและพ้นไปจากความคิดตามปกติแล้ว  เรารับรู้ความรู้สึกต่างๆ ของร่างกายได้ไวขึ้น  จำได้ว่าพอจบเซสชั่นวันแรกแล้วกลับถึงบ้าน  เราแทบจะคลานขึ้นที่นอนเลย  มันมีความปวดแบบร้าวข้างในมดลูกมาก จนรุ่งขึ้นในเซสชั่นวันที่สอง เราได้แบ่งปันความรู้สึกนั้นกับเพื่อน ๆ ร่วมวงไปตามความจริงว่า…

“เรารู้สึกว่า ข้างในมดลูกของเรามันปวด และหนาวยะเยือก แต่เมื่อได้เชื่อมโยงลมหายใจกับการรับรู้ไปยังจุดนั้นชัดขึ้นในวันที่สอง  เราก็เริ่มสัมผัสได้ว่า ความหนาวเย็นยะเยือกข้างในมดลูกนั้นค่อย ๆ อุ่นขึ้น เหมือนกับน้ำแข็งที่เย็นแสนเย็นที่อยู่ด้านในค่อยๆ ละลายลง

ภาพประกอบโดย Unun Worawan

นั่นเป็นอีกครั้งที่เราค้นพบว่า เราสามารถสื่อสารกับร่างกายของเราได้ด้วยการภาวนา  ซึ่งตามปกติการใช้ชีวิตให้ผ่านไปแต่ละวันสำหรับเราในฐานะผู้หญิงคนหนึ่งที่เกิดมาท่ามกลางสังคมชายเป็นใหญ่  มันก็ยากเย็นแสนเข็ญอยู่แล้วที่จะทำให้เราได้มีเวลาอยู่นิ่ง ๆ สงบ ๆ และรับฟังร่างกายของเราเอง  ผู้หญิงอย่างเราต้องหลายสิ่งหลายอย่าง ต้องอดทน อดกลั้น ปากกัดตีนถีบ ไหนจะต้อง “ฮึบ” เวลาที่เราโกรธ ไม่พอใจ เสียใจ 

แต่เมื่อเราได้หยุดทำแบบนั้น  แล้วกลับมาเชื่อมโยงร่างกายของเราได้จริง ๆ  เราก็ได้ยินเสียงร้อง (แบบตะโกน) มาจากมดลูกของเราว่า “นี่เขากำลังเจ็บป่วยอยู่นะ” 

ภาพประกอบโดย Unun Worawan

ใช่แล้วค่ะ… เรามีก้อนเนื้อก้อนนึงอยู่ในนั้น แล้วเราก็ทำเป็นเฉย ๆ กับเขามานาน เหมือนคนที่อยู่บ้านเดียวกันแต่ไม่ไยดีต่อกัน  เรายังโชคดีที่เรามีโอกาสได้ไปเคาะประตูฟังเสียงของเขา  เรารู้ทันทีว่า “เขาที่อยู่ตรงนั้นกับเราตลอด” ในเวลานี้กำลังต้องการให้เราดูแล และยอมรับว่าเขามีตัวตนอยู่ข้างในตัวเรา ไม่ต่างจากเปลือกและส่วนอื่น ๆ ภายนอกตัวเราเหมือนกัน

หลังจากกิจกรรมในวันนั้น เราเริ่มกลับมาดูแลเจ้าก้อนเนื้อนั่น และสัมผัสถึงตัวตนที่มีอยู่ของเขาอย่างสม่ำเสมอ  เราเลือกที่จะไปฝังเข็มแทนการผ่าตัด  และพอเราฟังเขาว่าเขาโอเคขึ้น ไม่เจ็บปวดเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา เราก็ใช้ชีวิตร่วมกับเขาได้ ในแบบที่ไม่ได้ลืมเขาหรือคิดที่จะกำจัดเขาไป 

ตามปกติเราเป็นคนชอบคิด และเป็นคนที่รู้สึกได้ไวกว่าคนทั่วไป  แต่หลังจากช่วงเวลาที่เราได้ค้นพบเสียงข้างในตัวเราในอีกรูปแบบหนึ่งจากการภาวนา เราก็ยอมรับกับตัวเองว่า เรายังไม่ได้รู้จักความรู้สึกข้างในของตัวเองทั้งหมด  เราจึงค่อย ๆ ใช้วิธีนี้เชื่อมโยงและตั้งคำถามกับตัวเองมาอย่างสม่ำเสมอในระยะหลังว่า…

“เป็นไปได้หรือไม่ที่ว่า จากการดำเนินชีวิตของเราในทุก ๆ วันนี้ ที่เราทำทุกอย่างด้วยความเคยชิน เราคุ้นเคยกับความเจ็บปวด จนร่างกายและจิตใจของเรามันเฉยชา เพิกเฉยต่อการรับรู้และความรู้สึกในระดับที่ละเอียด  เรา Numb ร่างกายและจิตใจของเรา ด้วยการบังคับ บงการ หรืออาจไปถึงขั้นกดขี่ไม่ให้เป็นในสิ่งที่พวกเขาควรจะเป็น  เราใช้ความคิดในการวางแผนจัดการทุกสิ่งทุกอย่าง เผด็จการร่างกายและจิตใจตัวเองจนเคยชิน  กระทั่งเมื่อเรายังคงฝืนไปอย่างต่อเนื่อง  ร่างกายและจิตใจของเราก็ไปต่อไม่ไหว เขาแสดงอาการเจ็บป่วย และต้องเข้าสู่ระบบการเยียวยาแบบเฉียบพลันอย่างที่คนในยุคสมัยแห่งทุนนิยมต้องทำกัน”

ภาพประกอบโดย Unun Worawan

เมื่อเรารู้ทัน เราจึงพยายามฝึกที่จะปล่อยให้ร่างกายและจิตใจของเรา ได้มีพื้นที่ได้พักผ่อนบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ช่วงเวลาไหนที่เราเครียดมาก ๆ เราก็หยุดพัก นอนโง่ ๆ แล้วก็อยู่กับตัวเองเงียบ ๆ เราไม่ได้ทำภาวนาหรือฝึกฝนอะไรตลอดเวลา โดยเฉพาะเวลาที่เราหาทางออกไม่ได้ เราก็อนุญาตให้ตัวเองได้หยุด แล้วก็อยู่กับสภาวะนั้นเงียบ ๆ ซึ่งพอผ่านชั่วระยะเวลาหนึ่งแล้ว  เราก็มักจะได้ยินเสียงร่างกายและจิตใจบอกเรากลับมาว่า “พวกเขาพร้อมจะไปต่อแล้วนะ” ถึงตอนนั้นแหละ เราก็ค่อยเริ่มออกไปใหม่  รวมทั้งเมื่อเกิดความรู้สึกอื่น ๆ ที่มันเข้มข้นมาก ๆ อย่างเช่น โกรธ เศร้า (ที่คนชอบบอกว่ามันเป็นความรู้สึกด้านลบนั่นแหละ)  เมื่อเราสังเกตว่า ร่างกายเราเริ่มร้อนขึ้นเรื่อย ๆ เพราะอาการโกรธ แบบที่หูมันวาบ ๆ ตามันวิ้ง ๆ หรือตอนที่น้ำตามันไหลคลอ ๆ จากดวงตา จนตัวมันโยก ๆ แบบนั้นแล้ว  เราก็ต้องปล่อย ให้พื้นที่และเวลา ให้ความรู้สึกเหล่านั้นได้ออกมา เปิดเผยเสียงต่าง ๆ ที่เขาต้องการจะบอกเราเช่นกัน

เราได้ยินความโกรธบอกเราว่า “เขาต้องการความยุติธรรม” 

เราได้ยินเสียงความเศร้าบอกว่า “เขากลัวการจากกันไปไกล”

ภาพประกอบโดย Unun Worawan

เราได้ยินเสียงพวกเขาจริง ๆ ที่ชัดยิ่งขึ้น แล้วเมื่อเรารับฟังเสียงของพวกเขาอย่างกระจ่างแล้ว  เสียงพวกเขาก็ค่อย ๆ เบาลง ๆ จางลง กลายร่างไปเป็นก้อนหินและอิฐก้อนแข็ง ๆ ที่เราเอามาใช้เป็น Basement ในการใช้ชีวิตเพื่อดูแลพวกเขาให้ได้คลี่คลายต่อไป 

ถ้ามันสามารถสร้างภาพจากสิ่งที่เกิดขึ้นจากข้างในเราได้สักภาพเพื่อบอกเล่าให้คนอื่นเข้าใจ  เราก็รู้สึกว่า เจ้าอิฐก้อนแข็ง ๆ และหินก้อนเล็ก ๆ เหล่านั้น มันกำเนิดมาเพื่อทำให้เราอ่อนโยนกับตัวเองขึ้น รวมทั้งเชื่อมโยงส่วนที่เราเรียกมันว่า “จิตอันจริงแท้” ของเราด้วย  ถ้ามีโอกาสที่เราไม่วิ่งวนอยู่ในโลกทุนนิยมและทุกข์ทนอยู่ในโลกแห่งชายเป็นใหญ่นี้จนเกินไป  เราก็จะกลับมาทำการภาวนาแบบ Body Work บ้าง  

การรับฟังเสียงหลากหลายเสียงที่อยู่ข้างในตัวเองของเรา

เป็นเหมือนกับการวางรากฐานแห่งประชาธิปไตย

และสมาทานการเป็นเฟมินิสต์ 

ภาพประกอบโดย Unun Worawan

ยิ่งโดยเฉพาะเวลาที่เรามัวแต่วนเวียนกับความคิดที่ไม่มีทางออก…

ตอนที่เราโกรธเวลาที่สภาล่ม…

เราก็กลับมาหายใจเข้า หายใจออกลึก ๆ

ไล่การรับรู้ต่าง ๆ ลงไปด้านล่าง

Ground และ สงบนิ่งสักชั่วขณะ 

สำหรับเราแค่รู้ทัน และกลับมารับรู้เสียงเหล่านั้นก็นับว่าดีแล้ว  ส่วนหนทางการมีชีวิตอยู่ต่อไปข้างหน้า คงต้องฝึกกันไปยาว ๆ