พื้นฐานแห่งการฝึกสติทั้งสี่ : พื้นที่แก่ทุกประสบการณ์ชีวิต

บทความโดย ธัญญา ศรีธัญญา


ในมรรคแปดข้อท้ายๆ มีคำสอนเรื่องสัมมาสติ หรือ “Right Mindfulness””  ซึ่งขยายออกไปเป็นพื้นฐานแห่งการฝึกสติทั้งสี่ (The Four Foundations of Mindfulness)

สิ่งที่อยากนำมาเล่าให้ฟังในวันนี้ เป็นประสบการณ์ในวิชา “Buddhist Psych.” ที่เรียนไปเมื่อวันก่อน คาเรน คิสเซล เวเกลา อาจารย์ประจำวิชาได้นำสติปัฏฐานสี่เวอร์ชันของเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช มาสอนในชั้นเรียน และให้นักเรียนได้ฝึกภาวนากับพื้นฐานสี่ข้อนี้

Four Foundations of mindfulness

พื้นฐานทั้งสี่ของสติ หรือที่หลายคนน่าจะรู้จักกันดีอยู่แล้วในชื่อ สติปัฏฐาน 4 คำสอนนี้มีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลสามารถหาอ่านได้หลายแหล่ง  เวอร์ชันตรุงปะ ประกอบไปด้วย สติในร่างกาย สติในชีวิต สติในความเพียร และสติในจิต สี่ข้อนี้เป็นการพูดเรื่องเดียวกัน คือ พื้นฐานของสติในการมีประสบการณ์ของเรา ความแตกต่างในแต่ละข้อของสติปัฏฐานสี่เวอร์ชันนี้ ให้มุมมองที่น่าสนใจต่อการปฏิบัติภาวนา

Mindfulness of body
สติในร่างกาย

สติในร่างกายเป็นพื้นฐานของการฝึกภาวนา เป็นการเชื่อมโยงกับการมีอยู่และการกระทำของเรา โดยปกติแล้ว เราไม่ค่อยรับรู้ถึงร่างกายเท่าไหร่ เราทำนู่นทำนี่ไปตามความเคยชิน นานๆ ทีจะแวะรับรู้ร่ายกายสักที ดังนั้นการอยู่กับร่างกายจึงเป็นจุดสำคัญในการ “กลับมา” อยู่กับปัจจุบันขณะ

ร่างกายของเรามีสองแบบ แบบแรกคือ ร่างกายจริงๆ ตรุงปะใช้คำว่า “กายกาย (body-body)” ที่เรามีประสบการณ์ในเนื้อในตัวโดยตรง แต่ปกติแล้ว เราจะอยู่กับร่างกายแบบที่สองซะมากกว่า นั่นคือ กายจิต (psychosomatic) เป็นร่างกายที่ผ่านการปรุงแต่งทางความคิด เช่น เราคิดว่าเราเป็นคนเตี้ย มีหน้าอกเล็ก หรือร่างกายที่เราอยากจะมี หรือร่างกายที่เรา ควร จะมี ลองนึกถึงเวลาที่ส่องกระจกแล้วตกใจว่า นี่เราหน้าแบบนี้เหรอเนี่ย ในหนังสือบางเล่ม จะเรียกร่ายกายแบบแรกว่า experiential body (ร่างกายเชิงประสบการณ์) และแบบที่สองคือ conceptual body (ร่างกายเชิงความคิด)

การฝึกสติในร่างกายคือการกลับมาอยู่กับ กายกาย (บอดี้บอดี้) โดยเทคนิคคือการอยู่กับลมหายใจ ซึ่งก็คือการอยู่กับประสบการณ์ตรงในชั่วขณะ ลงจากหัว แล้วฝึก อยู่กับตัว ให้มากขึ้น โดยเฉพาะจากคอลงมา ในการฝึกข้อนี้ จะทำให้เกิดพื้นการตั้งจิตตั้งใจ (groundedness) เป็นการหยั่งของสติในประสบการณ์ตรง

Mindfulness of Life
สติในชีวิต

เช่นเดียวกับร่างกาย เราไม่ค่อยใช้ชีวิตอยู่ใน ชีวิต จริงๆ ถ้าไม่เพิ่มเนื้อหา ก็ผลักออกไป มีอยู่ครั้งนึงระหว่างรีทรีต ฉันได้ฝึกการอยู่กับประสาทสัมผัสด้วยการกินช็อกโกแล็ต อาจารย์ก็ให้ลองอยู่กับรสชาติ การเคี้ยว สัมผัสในปาก จากนั้นให้ลองคิดปรุงแต่งแบบสุดโต่งไปเลยว่าจะไปได้ถึงไหนบ้าง ฉันเคี้ยวช็อกโกแลต คิดไปถึงหนังสือเรื่องโรงงานช็อกโกแล็ตของโรอัลด์ ดาห์ล คิดถึงที่เอาไปทำหนังเวอร์ชันล่าสุด คิดถึงทิโมธี ชาลเลอเมต์  คิดถึงหนังเรื่องดูน คิดถึงเดนิสผู้กำกับหนัง”… ไปไกลออกทะเลจนอาจารย์เรียกให้กลับมา

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่า เราไม่อยู่กับเนื้อสัมผัสของประสบการณ์ตรง การฝึกสติในชีวิตคือการฝึกที่จะอยู่เทกซ์เจอร์เหล่านั้น อยู่กับรสชาติของช็อกโกแล็ต อยู่กับผัสสะ อยู่กับอารมณ์ความรู้สึก อยู่กับพลวัตของชีวิต

เทคนิคในการฝึกสติในชีวิตคือเทคนิคการแตะแล้วปล่อย (touch and go)  ด้วยการอยู่กับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างเต็มเปี่ยมโดยไม่ไปเติมแต่ง แล้วปล่อยมันไป สิ่งนึงที่จะฝึกได้ดีคืออารมณ์ความรู้สึก การฝึกภาวนาไม่ใช่การตัดความรู้สึกออกไป แต่เป็นการฝึกที่จะสัมผัสกับผิวสัมผัสมันอย่างเต็มที่ แล้วปล่อยให้มันสลายไปตามธรรมชาติ

การฝึกสมาธิในชีวิตจะทำให้เรามีประสบการณ์กับชีวิตจริงๆ อยู่ในกระแสของชีวิตที่เต็มเปี่ยมและลื่นไหล

Mindfulness with Effort
สติในความเพียร

ปกติเวลาพูดว่าความเพียร หรือความพยายาม เรามักคิดประมาณว่า “พยายามให้มากกว่านี้!” แต่ในการภาวนา สิ่งที่เราทำระหว่างภาวนาคืออะไร? คือการไม่ตามความคิด ทำงานกับสิ่งปรุงแต่งโดยไม่เพิ่มกิจกรรมทางจิตเข้าไปอีก แล้วที่นี้เราจะพยายามทำอะไรในการภาวนา?

คาเรนให้เราลองนึกว่า เวลาเราภาวนาแล้วลอยไปตามความคิด เรากลับมายังไง? ฉันกับเพื่อนๆ นั่งนึกกันในห้องเรียน ก็พบว่า มันกลับมาเองโดยไม่ต้องทำอะไร เรารู้ถึงการกลับมาในชั่วขณะนั้นเลย คาเรนเสริมว่า “ใช่มั้ย?  ในการภาวนา การกลับมา เกิดขึ้นเอง เราเพียงแค่รับรู้”

สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการตระหนักรู้เกิดขึ้นเองโดยไม่ต้องพยายาม เพราะธรรมชาติที่แท้จริงของจิตคือความตื่นอยู่แล้ว เทคนิคในการภาวนาคือ รับรู้จังหวะที่เรากลับมา และไว้วางใจในธรรมชาติของความตื่นในตัวเรา ตรุงปะเรียกจังหวะการกลับมานี้ว่า “ความตระหนักรู้ตัวแสบ” ที่จู่ๆ ก็โผล่มาจากไหนไม่รู้ อารมณ์แบบลูกมะพร้าวตกใส่หัวเหมือนในโคว้ทที่ว่า

“In the garden of gentle sanity,
may you be bombarded by coconuts of wakefulness”

Chogyam Trungpa

ดังนั้นสติในความเพียรไม่ใช่การพยายามมีสติ แต่เป็นการปล่อยวางการพยายาม ถ้าให้เรียกเต็มๆ น่าจะเป็น “สติในความเพียรอันไร้ความพยายามของการตระหนักรู้”

Mindfulness with Mind
สติในจิต

หลักสำคัญอย่างหนึ่งของการภาวนา คือการฝึกจิตให้อยู่กับปัจจุบัน บทเรียนการนั่งภาวนาที่เราได้ยินบ่อยสุด คือการดูลมหายใจ ดูความคิด ดูจิต ในที่นี้ เราไม่ได้พูดถึงจิตที่แยกเป็นวัตถุ ที่ต้องมานั่งภาวนาเฝ้าดู แต่จิตและการตระหนักรู้คือสิ่งเดียวกัน การดู ผู้ดู และ สิ่งที่ดู คือพื้นที่เดียวกัน จิตไม่เคยแยกขาดจากประสบการณ์

“จิตเป็นเหมือนท้องฟ้า ส่วนความคิด อารมณ์ ประสบการณ์ต่างๆ เป็นดั่งก้อนเมฆที่ผ่านมาและผ่านไป” เทคนิคการฝึกสติในจิต คือการอยู่ตรงกลางระหว่างพื้นที่ว่างของท้องฟ้า กับการตระหนักรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เช่นเดียวกับคำสอนเรื่องการไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ไม่จดจ่อจนการรับรู้หดแคบ และก็ไม่ปล่อยทุกสิ่งเบลอไปหมด

การฝึกนี้จะทำให้ตระหนักถึงชั่วขณะที่สดใหม่ แต่ละโมเม้นต์นั้นเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียว และไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นเราก็สามารถตระหนักรู้และอยู่ตรงนั้นได้กับทุกสิ่ง

พื้นฐานแก่ทุกประสบการณ์ของชีวิต

หากเราลองฝึกพื้นฐานการมีสติทั้งสี่ข้อนี้ จะพบว่าทั้งหมดนี้คือเรื่องเดียวกัน ไม่ได้แยกประสบการณ์แต่ละอันออกเป็นส่วนๆ การภาวนาเป็นเหมือนการเตรียมลานกว้างๆ เพื่อให้คนเข้ามาใช้ เด็กมาวิ่งเล่น ตัวเราเองไปนอนร้องไห้ หรืออะไรก็ได้ที่จะเข้ามา ความพิเศษคือลานนี้มีสี่มิติ สามารถรองรับได้รอบด้าน อนุญาตให้ทุกปรากฏการณ์เข้ามาในการรับรู้โดยไม่ต้องกลัวอะไร เพราะเราอยู่บนพื้นนี้อย่างมั่นคง และสุดท้ายแล้วสิ่งที่เข้ามาก็จะผ่านออกไปเอง ณ จุดหนึ่ง

การอยู่ในร่างกาย สัมผัสรสชาติอารมณ์ความรู้สึกของชีวิต ไว้วางใจในธรรมชาติของการตื่นรู้ และดำรงอยู่ในความไพศาลของความตระหนักรู้และปรากฏการณ์ สิ่งเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานแห่งสติเมื่อมีประสบการณ์ใดๆ เกิดขึ้น และเป็นฐานที่เปิดกว้างสำหรับรองรับอะไรก็ตามที่จะเข้ามาในพื้นที่แห่งการตระหนักรู้ ทั้งสิ่งที่เกิดขึ้นในโลกภายในและปรากฏการณ์โลกภายนอก ดังที่เชอเกียม ตรุงปะ กล่าวว่า

“..ด้วยท่าที่เช่นนี้ การภาวนากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตจริง ๆ ไม่ใช่แค่การฝึกหรือแบบฝึกหัด มันกลายเป็นสิ่งที่แยกไม่ออกจากสัญชาตญาณในการมีชีวิต ซึ่งมีอยู่ในทุกๆ ขณะแห่งการดำรงอยู่ของเรา สัญชาตญาณในการมีชีวิตนี้สามารถมองได้ว่าเป็นความตื่น การมีสติ และการตระหนักรู้”





อ้างอิง
“The Four Foundations of Mindfulness” จากหนังสือ Meditation in Action by Chogyam Trungpa (2005)