แปลและเรียบเรียงโดย ทีมงานวัชรสิทธา
จาก An Interview with Anam Thubten: Prayer, Awareness, and Choosing Enlightenment จากเว็บไซต์ shambhala.com
Jeff Cox: บางทีเวลาที่รู้สึกแย่ ผมรู้สึกอยากสวดมนตร์-ภาวนา แต่ในฐานะชาวพุทธ ผมไม่คิดว่ามันคือการสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้า หรือภาวนาเพื่อร้องขออะไร อยากให้รินโปเชช่วยอธิบายมุมมองที่มีต่อการสวดมนตร์-ภาวนา
Anam Thubten: เราสามารถทำความเข้าใจการสวดมนตร์-ภาวนาได้หลายแบบ แตกต่างกันไปตามประสบการณ์ของแต่ละบุคคล หรือกระทั่งในบุคคลเดียวกัน ก็แตกต่างกันไปในแต่ละครั้ง
สำหรับฉัน การสวดมนตร์-ภาวนา คือการแสดงออกซึ่งความศรัทธาและการอุทิศตนต่อ Enlightenment …ถือเป็นวิธีการอันทรงพลังของการปล่อยวางจิตแบบตัวตน ซึ่งวนเวียนอยู่แต่กับการควบคุม หวาดกลัว สงสัย ไม่ไว้วางใจ และโกรธ แล้วตระหนักถึงการดำรงอยู่ของจิตพุทธะ หรือโพธิจิต มันคือการแสดงออกซึ่งการศิโรราบทุกสิ่งทุกอย่างต่อการสรรค์สร้างอันยิ่งใหญ่ของจักรวาล ไปพ้นการบงการของผู้ใด และไว้วางใจการเผยแสดงอันศักดิ์สิทธิ์ของปรากฏการณ์ตรงหน้า เมื่อเธอไว้วางใจอย่างถึงที่สุด เธอจะรู้สึกถึงการปลดปล่อยจากความกลัวและความไม่มั่นคงปลอดภัย แปรเปลี่ยนเมฆหมอกเหล่านั้นเป็นความรู้สึกยอมรับ — ไม่ใช่การยอมรับในแบบที่ฝืนทนต่ออะไรบางอย่างที่เราไม่โอเค แต่เป็นการยอมรับอย่างแท้จริงด้วยความไว้วางใจ
วัตถุของการสวดมนตร์-ภาวนาไม่ใช่อะไรที่สำคัญมากนักในพุทธศาสนา แม้จะมีเทพ พุทธะ หรือโพธิสัตว์ ที่น่าเคารพศรัทธาอยู่มากมาย กระนั้นพุทธศาสนาสอนว่า เทพทั้งหลาย เช่น พระอวโลกิเตศวร หรือ ตารา ไม่ได้ดำรงอยู่นอกตัว ท่านเหล่านั้นคือการเผยแสดงของธรรมชาติที่แท้ของตัวเรา อันได้แก่ สุญญตา หรือความว่าง เราสวดภาวนาเพื่อสัมพันธ์กับธรรมชาติที่แท้นั้นในฐานะ absolute truth หรือต้นกำเนิดแห่งสรรพสิ่ง
JC: ดังนั้นการสวดภาวนาถึง “เช็นริซิก” (อวโลกิเตศวร) ก็คือหนทางหนึ่งในการปลุกเร้าพละกำลังภายในของเรา เพื่อที่จะทำให้สถานการณ์ที่เราเผชิญอยู่เป็นไปในทางที่ดีขึ้นใช่ไหม?
AT: ใช่เลย ในสายปฏิบัติวัชรยาน เรามีพุทธะ (หรือโพธิสัตว์) ทั้งสาม ได้แก่ มัญชุศรี อวโลกิเตศวร และ วัชรปาณี มัญชุศรีเป็นตัวแทนความเฉลียวฉลาดและปัญญาญาณ อวโลกิเตศวรเป็นตัวแทนความรักและความกรุณา ส่วนวัชรปาณีเป็นตัวแทนความแข็งแกร่ง ความกล้าหาญ และพลังอำนาจทางจิตวิญญาณ ทั้งสามต่างก็คือการแสดงออกของสิ่งที่เราเป็นเป็นคุณสมบัติของธรรมชาติพื้นฐานของเรา ดังนั้นเวลาที่เราสวดมนตร์-ภาวนาต่อพุทธะหรือโพธิสัตว์เหล่านี้ ถือเป็นการปลุกเร้าคุณสมบัติแห่งการตื่นรู้ที่ดำรงอยู่แล้วในตัวเรา ในแง่ปรมัตถ์ ถือว่าไม่มีวัตถุแห่งการสวดภาวนา ไม่มีการแบ่งแยกระหว่างวัตถุ/บุคคลที่เราสวดภาวนาถึง กับบุคคลที่กำลังสวดภาวนา
JC: ในหนังสือของคุณ “No Self, No Problem” คุณกล่าวถึงการยอมรับ ในฐานะกุญแจสำคัญต่อการตื่นสู่ธรรมชาติที่จริงแท้ มันหมายความว่าเราต้องไหลไปตามทุกอย่างที่เกิดขึ้นหรือเปล่า?
AT: ส่วนหนึ่งของคำสอนมหายาน คือการนำเอาสรรพสิ่งเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของหนทางสู่ Enlightenment นั่นหมายความว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับเธอ เธอยอมรับมันในฐานะหนทางที่จะพัฒนา enlightened qualities ภายในตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น ความกล้าหาญ ความรัก การให้อภัย หรือ ความกรุณา แต่จากอีกทัศนะหนึ่ง หลักการของการยอมรับเป็นอะไรที่ tricky อยู่เหมือนกัน เพราะเหมือนกับมันจะเน้นย้ำว่า ให้เธอพยายามทำให้ตัวเองยอมรับทุกสิ่งโดยตั้งใจ คำถามใหญ่ก็คือ ใครกันเหรอที่พยายามจะยอมรับหรือฝึกปฏิบัติในทีแรก อาจกล่าวได้ว่า อัตตาของเราอยู่ตรงนั้น พยายามที่จะยอมรับ (หรือไม่ยอมรับ) อัตตากำลังเล่นเกมนี้ทั้งหมดเลยก็ว่าได้
JC: ดังนั้นการยอมรับที่คุณพูดถึงอยู่นี้ ไม่ใช่สิ่งที่ตรงกันข้ามกับการปฏิเสธใช่ไหม?
AT: ไม่ใช่… enlightened mind (ริกปะ หรือ โพธิจิต) ไปพ้นจากทั้งการยอมรับและปฏิเสธ เพราะไม่มีสิ่งใดให้ยอมรับหรือปฏิเสธ จิตพุทธะนั้นมีความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์กับธรรมชาติของสรรพสิ่ง ปราศจากความขัดแย้งใดๆ ดังนั้นมันจึงไปพ้นการยอมรับหรือการปฏิเสธโดยสิ้นเชิง การยอมรับหรือการปฏิเสธไม่อาจดำรงอยู่ได้ใน enlightened mind มันดำรงอยู่ได้ก็แต่ใน ego’s mind เท่านั้น ในสายปฏิบัติซกเช็น หลักการของการยอมรับถูกมองในฐานะความพยายามอันล้ำลึกของอัตตา ซึ่งจำเป็นต้องถูกละวางเพื่อที่จะสามารถตระหนักถึงสันติภาวะอันยิ่งใหญ่ หรือธรรมชาติแห่งสรรพสิ่ง
JC: ในหนังสือของคุณ คุณใช้คำว่า non-doing awareness ผู้ปฏิบัติจะสามารถรักษา non-doing awareness ไว้ในขณะที่กระทำสิ่งต่างๆ ได้หรือไม่?
AT: ได้อย่างแน่นอน non-doing awareness ไม่ได้เกี่ยวกับว่าคุณกำลังทำอะไรอยู่หรือไม่ ศิลปะของการรักษา non-doing awareness ถือเป็นการปฏิบัติภาวนาที่ลึกซึ้งมากๆ
JC: ตรงกันข้ามกับ non-doing awareness ก็คือการคิดต่อตัวเองในฐานะผู้กระทำใช่ไหม?
AT: non-doing awareness มีได้หลายความหมาย ในเบื้องต้น เราพูดถึงมันในฐานะการไม่ทำอะไร เป็นการตระหนักรู้ที่ไปพ้นแนวคิดทั้งหลายของความพยายาม มันไม่ใช่การพยายามที่จะผลักไสหรือได้มา มันเป็นอะไรบางอย่างที่ “ตื่น” อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีสิ่งใดต้องทำให้บริสุทธิ์ ต้องละทิ้ง ต้องบรรลุผล …โดยตัวมันเองคือการไม่ทำอะไร ปราศจากความพยายามหรือกลยุทธ์ใดๆ มาเกี่ยวข้อง
JC: เป็นการตระหนักอยู่กับเนื้อหาของประสบการณ์
AT: ใช่เลย เมื่อเราดำรงอยู่ตรงนั้น มันจะเป็นอะไรที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสภาวะจิตใดๆ ก็ตามที่พบเจอในชีวิต มันแตกต่างจากสมาธิ หรือสภาวะอะไรก็ตามที่ผู้คนมองว่า “จิตวิญญาณ” เมื่อเรามีประสบการณ์กับ pure awareness จะไม่มีการกระทำ เพราะไม่มีสิ่งใดให้ต้องทำ ไม่มีความพยายามที่จะต้องทำสิ่งใดให้บริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งใดให้ต้องได้มา มันคือสายสัมพันธ์อันเป็นหนึ่งเดียวกับความจริงสูงสุด จิตแบบสังสารวัฏ หรือ ego’s mind จะวุ่นอยู่กับการทำอะไรบางอย่าง แม้กระทั่งในเส้นทางจิตวิญญาณ จิตแบบนั้นก็ยังวุ่นอยู่กับการรื้อจักรวรรดิของมายาแห่งอัตตา หรือไม่ก็กับการได้มาซึ่งอะไรบางอย่างที่เรียกว่าการหลุดพ้น ซึ่งก็ยังเกี่ยวข้องกับการทำอะไรบางอย่างอยู่มาก
JC: การตระหนักรู้อยู่ตรงนั้นในทุกๆ สภาวะ แต่เราไม่เคยสังเกตเห็น
AT: ใช่แล้ว มันคือตาแห่งปัญญา ที่รู้ถึงธรรมชาติของสรรพสิ่ง เชื่อมโยงอยู่กับความจริงสูงสุดอันลึกซึ้ง ในภาษาทิเบต การตระหนักรู้ คือ “ริกปะ” หรือ “เยเช” “เย” หมายถึง เดิมแท้ ( primordial ) ปัญญาญาณเดิมแท้อยู่ในเราแต่ละคนอยู่แล้วตั้งแต่แรกกำเนิด มันไม่ใช่ความรู้หรือหลักการที่ได้รับมาจากการอ่าน การคิด หรือการบรรยาย มันดำรงอยู่แล้วภายในตัวเรา ส่วน “เช” หมายถึง การรู้สัจธรรมอันข้ามพ้น อธิบายไม่ได้ ทว่าแสนเรียบง่าย เราสามารถเรียกมันว่า ความว่าง หรือ ธรรมตา จิตคิดเชิงตรรกะไม่อาจเข้าใจมันได้ การตระหนักรู้ในที่นี้คือปัญญา คนละเรื่องกับการที่เรารื่นรมย์อยู่กับความสงบสุขหรือสภาวะจิตที่สวยงามบางอย่าง เมื่อใดก็ตามที่เราเชื่อมต่อกับ primordial awareness นั่นคือการปฏิบัติภาวนาขั้นสูงสุด ชั่วขณะนั้น จิตของเราไม่แตกต่างจากจิตของพุทธะศากยมุนี
JC: การตระหนักรู้นี้มีสามคุณสมบัติของพุทธะทั้งสาม อย่างที่พูดถึงก่อนหน้านี้หรือไม่?
AT: แน่นอน การตระหนักรู้นี้ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกับขบวนแห่ใหญ่โตอะไร มันเกิดขึ้นอย่างเงียบๆ และลุ่มลึก ยากจะหยั่งถึงเหมือนมหาสมุทรที่ไม่อาจเห็นความลึกของมันได้ การตระหนักรู้คือจิตพุทธะ ที่กักเก็บศักยภาพอันมหาศาลแห่งการตื่น ไม่ว่าจะเป็นความสุกสว่างของปัญญา ความเบิกบาน ความกรุณา ความรัก เหล่านี้จะเกิดขึ้นโดยตัวมันเอง เหมือนพระอาทิตย์ที่ส่องสว่างบนท้องฟ้า มันคือต้นกำเนิดของ enlightened qualities ทั้งหลายที่แผ่ซ่านออกมา คุณสมบัติเหล่านี้มีอยู่แล้ว เราเกิดมากับมัน มันคือการแสดงออกของการตระหนักรู้
JC: ใครก็ตามที่มีการตระหนักรู้ คุณสมบัติของสติปัญญา ความรัก และความกรุณา จะแผ่ออกมาอย่างเป็นธรรมชาติสู่สิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งมีศักยภาพที่จะแปรเปลี่ยนสิ่งต่างๆ อย่างฉับพลัน
AT: ใช่เลย มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระพุทธเจ้าที่เดินท่องไป จากเมืองหนึ่งสู่อีกเมืองหนึ่ง ท่านนำเอา presence อันเปี่ยมกรุณาไปด้วยทุกที่ ใครก็ตามที่เข้ามาอยู่ในมณฑลนี้ เขาหรือเธอจะแสดงออกซึ่งธรรมชาติแห่งการตื่นรู้อย่างเป็นธรรมชาติ มีลามะคนหนึ่งชื่อว่า มณีลามะ จากโกล็อก ตอนที่ท่านยังเด็ก จู่ๆ ก็เกิดการตื่นรู้อย่างฉับพลัน ท่านละทิ้งชีวิตทางโลก แล้วออกเดินท่องไปทั่วทิเบตตะวันออก ด้วยความที่ท่านไม่ได้รับการศึกษาในอาราม ท่านจึงไม่รู้วิธีที่จะสอนใคร แต่ผู้คนที่ได้พบท่าน รู้สึกได้ถึงพลังสันติสุขอันยิ่งใหญ่ ไม่ว่าที่ใดที่ท่านเดินทางไป ผู้คนจะรวมตัวกันรอบๆ ท่าน แม้ท่านจะไม่รู้วิธีสอน ผู้คนก็ยังอยากมานั่งข้างๆ ท่าน บางครั้งท่านจะพูดอะไรบางอย่างอย่างฉับพลัน หรือร้องเพลงออกมา บางทีท่านจะเอ่ยมนตร์มณี (โอม มณี ปัท เม หุม) ผู้คนจึงเรียกท่านว่า “มณีลามะ” นี่คือตัวอย่างของคนที่ใช้ชีวิตอยู่กับพลังแห่งการตระหนักรู้ ซึ่งการดำรงอยู่ของเขาหรือเธอได้กลายเป็นแสงสว่างของความกรุณาและความรักโดยตัวเอง
JC: เมื่อการตระหนักรู้ดำรงอยู่แล้วในเราทุกคน แล้วทำไมเราจึงต้องฝึกปฏิบัติเพื่อตระหนักรู้ด้วย?
AT: การตระหนักรู้คือธรรมชาติที่แท้ของจิตใจเรา ที่ยังไม่ถูกลวงหลอกจากโลกแห่งมายา ยามที่จิตเราถูกลวงหลอก เราก็จะสับสน ขุ่นมัว หรือไม่รู้ในธรรมชาติที่แท้ของตน นี่คือจิตอันเป็นรากฐานของสังสารวัฏ ของความขัดแย้ง และของความทุกข์ทั้งหลาย อีกด้านหนึ่ง ก็คือการตระหนักรู้ หรือ “enlightened mind” ซึ่งอาจฟังดูยิ่งใหญ่ แต่จริงๆ แล้วเรียบง่ายมากๆ แต่ละชั่วขณะสามารถเป็นจุดพลิกได้ เราสามารถเลือกได้ว่าจะเป็นอิสระ! และตื่น! หรือไม่
มีท่อนหนึ่งในบทเพลงทางจิตวิญญาณ
“มีเพียงแค่หนึ่งพื้น (ธรรมธาตุ, ต้นกำเนิด, หรือความจริงแท้ของสรรพสิ่ง) เพียงแค่สองเส้นทาง และเพียงแค่สองผลลัพธ์”
เป็นท่อนโปรดของฉันเลย เพราะมันบอกว่า มีแค่สองทางเท่านั้น คือ ทางของการตระหนักรู้ กับทางของการไม่ตระหนักรู้ ทุกชั่วขณะคือการเลือกว่าจะอยู่บนเส้นทางไหน ดังนั้นในแต่ละขณะ เราจะ enlightened หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเรา เมื่อเราใคร่ครวญบทเพลงท่อนนี้ มันช็อคจิตเรา ทำให้เราตระหนักว่า ทางเลือกสู่ enlightenment นั้นเกิดขึ้นในทุกขณะ …มันขึ้นอยู่กับเรา
พูดง่ายๆ …มีสองสิ่งกำลังเกิดขึ้นอยู่ในตอนนี้ คือ เธอจะตื่นรู้ในชั่วขณะนี้ หรือไม่ แค่นี้ สิ่งอื่นไม่เกี่ยวเลย เป็นไปได้ว่าฉันกำลังนั่งปฏิบัติภาวนา และฝึกเทคนิคปฏิบัติทางจิตวิญญาณที่ล้ำลึก แต่ฉันไม่ตื่นเลยแม้แต่น้อย หรืออีกด้าน ฉันอาจจะสวมยีนส์ กำลังขัดส้วม แต่ดำรงอยู่ในการตระหนักรู้โดยสมบูรณ์ …นั่นต่างหากคือสิ่งสำคัญ
ท้ายที่สุดแล้ว มีการปฏิบัติเพียงหนึ่งเดียว นั่นคือการดำรงอยู่ในการตระหนักรู้ และเพราะการตระหนักรู้ไม่ใช่สิ่งที่ถูกสร้างขึ้น มันจึงไม่ได้แปรเปลี่ยนไปตามเหตุตามปัจจัย เธอไม่อาจสร้างการตระหนักรู้ได้ อะไรก็ตามที่เธอสามารถสร้างได้ คือ “นยัม” (nyam) ภวังคจิต มันอาจดึงดูด เชิญชวน น่าตื่นตา อะไรก็ตาม ผู้คนอาจหลงอยู่ในนยัม และคิดว่ามันคือริกปะ โพธิจิต หรือสมาธิ แต่นั่นคือจิตที่กำลังลวงหลอกตัวเอง การตระหนักรู้ไม่อาจถูกสร้างขึ้นได้ มีคนถามพระพุทธเจ้าว่า “อะไรเป็นเหตุให้เกิดการตระหนักรู้?” และท่านตอบว่า “การตระหนักรู้โดยตัวมันเอง” เป็นคำตอบที่เยี่ยมยอด แต่อาจเป็นอะไรที่ไม่ค่อยน่าพึงพอใจเท่าไหร่
มีลามะท่านหนึ่งจากแคว้นคามกล่าวไว้ว่า หนทางเดียวที่เธอจะสามารถมีการตื่นรู้ที่จริงแท้ คือการภาวนา 108 ครั้งต่อวัน นั่นไม่ได้หมายความตามตัวว่าเราจะต้องนั่งภาวนา 108 รอบต่อวัน แต่หมายความว่าเราต้องไม่ลืมที่จะหยุดชั่วขณะเป็นช่วงๆ ตลอดทั้งวัน หยุดชั่วขณะจากการพูดคุย ไม่ว่าที่ไหน หรือระหว่างกิจกรรมใด ในฐานะหนทางที่จะกลับมาสู่การตระหนักรู้
JC: การหลงวนอยู่ในความคิดดูจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการตระหนักรู้
AT: พระพุทธเจ้าพูดถึงความใส่ใจ ในฐานะหนทางที่ทรงพลังอย่างหนึ่งในการหลุดพ้น เป็นอิสระ แทนที่จะไหลไปตามความคิด-ความเชื่อในเรื่องราวต่างๆ แล้วใช้ชีวิตเหมือนอยู่ในความฝัน พระพุทธเจ้าแนะนำให้เราหยุดชั่วขณะ หยุดแล้วมองเข้าไปอย่างลึกซึ้ง ให้เห็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลาย แทนที่จะร่อนเร่ไปกับความคิดและความฝัน ลองหยุดและมอง ใส่ใจต่อทุกสิ่งที่เกิดขึ้น เมื่อเราทำได้เช่นนั้น อาจเกิดความเข้าใจหรือปัญญาที่สว่างวาบขึ้นมา เราหยุดชั่วขณะในฐานะหนทางในการเข้าถึงความหมายที่แท้ของสัจธรรมและอิสรภาพ
นี่คือวิธีการอันมีประสิทธิภาพ ในการตื่นขึ้น ตอนนี้! เดี๋ยวนี้เลย! ในการภาวนา เราอาจถูกสอนให้ฝึกใส่ใจกับลมหายใจและร่างกาย แต่สิ่งสำคัญไม่ได้อยู่ตรงนั้น แต่อยู่ที่การหยุดการทำงานของจิตสังสารวัฏ หยุดวงล้อของความทุกข์ซึ่งอัตตาของเราปั่นอยู่อย่างไม่หยุดหย่อน “LOOK!” เข้าไปยังความลึกสุดหยั่งของความว่าง ด้วยการสังเกตที่แหลมคม ใส่ใจ และแจ่มชัด แล้วเธออาจมองเห็นความจริงตรงนั้นเลย! เธอจะหยุดหมุนวงล้อแห่งสังสารวัฏ แล้วพบว่าความจริงของสรรพสิ่ง หรือความว่างนั้น ไม่ได้อยู่ไกลเราเลย …มันอยู่ในทุกๆ ที่
JC: เป็นอะไรที่ทั้ง empower และถ่อมตนไปพร้อมๆ กัน ที่คิดว่าแต่ละชั่วขณะเรามีทางเลือกที่จะตื่นรู้หรือไม่
AT: มันเป็นอะไรที่เรียบง่ายและธรรมดามาก แต่ต้องอาศัยวินัยและการอุทิศตนอย่างแรงกล้า ในการเอาชนะนิสัยและความเคยชินทั้งหลาย ที่เบี่ยงเบนความสนใจของเราออกจากธรรมชาติแห่งการตระหนักรู้ มันต้องอาศัยการปฏิบัติภาวนาอย่างมากมายเลยทีเดียว