Are we really Taking Refuge? : “รับพระรัตนตรัยจริงไหมนะ?”


เรามีไตรสรณคมน์เป็นที่พึ่งจริงๆ หรือ?
บทสะท้อนถึง commitment ของผู้ปฏิบัติร่วมสมัยที่มีต่อพระรัตนตรัย

Carolyn Rose Gimian เขียน
คณพล แปล
จากเว็บไซต์ lionsroar.com
ภาพประกอบ : Nakkusu

ผู้เขียนเพิ่งตระหนักได้เมื่อไม่นานนี้ว่า มีบางสิ่งกำลังเกิดขึ้นในโลกตะวันตกเกี่ยวกับพระรัตนตรัย (พุทธะ ธรรมะ และสังฆะ) อย่างที่อาจไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน นั่นคือการที่ผู้ปฏิบัติในยุคปัจจุบันรู้สึกว่าสามารถรับเอาเพียงหนึ่งในสามรัตนะมาเป็นที่พึ่งได้ ซึ่งก็คือธรรมะ

ผู้ปฏิบัติภาวนาในอเมริกาเหนือหลายคนไม่ได้มองว่าตัวเองเป็นชาวพุทธ และไม่ได้เห็นว่าการภาวนามีความเชื่อมโยงกับศาสนาแม้แต่น้อย ผู้ปฏิบัติในคำสอนพุทธที่ไร้สังกัดเหล่านี้ ไม่ได้ปฏิบัติโดยเชื่อมโยงการภาวนาเข้ากับความสัมพันธ์กับครูผู้สอน กับธรรมเนียมปฏิบัติ หรือกับชุมชนสังฆะใดเป็นพิเศษ 

ในปัจจุบัน เราสามารถเรียนรู้การฝึกสติผ่านหนังสือ ดีวีดี รายการทีวี และอินเทอร์เน็ต หรือแม้แต่ในกรณีที่เราได้รับคำสอนเฉพาะจากครูเป็นการส่วนตัว เราก็อาจมองว่าการฝึกฝนภาวนา ก็เหมือนกับการเรียนขับรถหรือเล่นเทนนิส มันไม่มี commitment ระหว่างสายสัมพันธ์ครู-ศิษย์ ไม่มีความภักดีต่อครู หรือต่อหลักธรรมใดเป็นพิเศษ

พุทธศาสนาที่เติบโตขึ้นในแถบเอเชีย มีรูปแบบและวิธีการมากมายในการทำงานร่วมกับครู ครูอาจเป็นผู้รอบรู้อาวุโส เป็นเพื่อนทางวิญญาณ หรือเป็นวัชราจารย์ผู้เข้มงวดในพุทธวัชรยาน แต่แล้วความสัมพันธ์ครู-ศิษย์จะพัฒนาขึ้นอย่างไรในแถบอเมริกาเหนือ เราคุ้นเคยกับเสรีภาพส่วนบุคคลเป็นอย่างยิ่ง เราจึงรู้สึกว่าสามารถเลือกสายสัมพันธ์กับครูในรูปแบบที่เราอยากมีได้ แต่ในธรรมเนียมปฏิบัตินั้น บทบาทของครูไม่ได้อิงจากความต้องการส่วนตัวของใคร ถึงแม้ว่าเหตุปัจจัยของแต่ละบุคคลจะมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ก็ตาม

ในหลายกรณี การเลือกครู มักสัมพันธ์กับสถานที่ที่เราอยู่อาศัย หรือชุมชนสังฆะที่เราเป็นส่วนหนึ่ง ขณะเดียวกัน ก็ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของครูในชุมชนนั้นด้วย ว่าเราจะรับมือกับการสอนได้แค่ไหน และคำสอนอะไรที่เหมาะกับตัวเรา ปัจจัยเหล่านี้ยังคงเป็นสิ่งสำคัญต่อการใคร่ครวญก่อนที่จะ commit ความสัมพันธ์กับครู หรือชุมชนปฏิบัติ

เมื่อผู้ปฏิบัติเริ่มเข้าใจบทบาทของครู เราต่างพบว่ามันมีมุมมองเรื่องอำนาจและลำดับชั้นที่ฝังรากลึกอยู่ภายในตัวเรา ยกตัวอย่างเช่น บางคนอาจกังวลว่าการผูกสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณกับครู จะนำไปสู่สายสัมพันธ์ที่ครูจะมีอำนาจเหนือตัวเราอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่ามันก็เกิดขึ้นได้ ด้วยเหตุผลนี้ผู้ปฏิบัติบางคนจึงปฏิเสธที่จะมีครู พวกเขารู้สึกว่าสามารถหาหนทางของตัวเองได้ เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า

ในศาสตร์อื่นๆ ของวัฒนธรรมตะวันตกเรา เช่น ศิลปะ การเขียน หรือแม้แต่การทำอาหาร เรายอมรับว่ามันจำเป็นที่จะต้องมีผู้สอนที่เข้มงวด ถ้าเราอยากเป็นเชฟร้านอาหารในนิวยอร์ก เราก็คงต้องเอาตัวเองเข้าไปฝึกในครัวที่เหี้ยมโหดของ(หัวหน้าเชฟ)เผด็จการ ในโลกตะวันตก เราเข้าใจว่าการฝึกตัวเองอย่างเข้มข้นคือวินัยที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ศาสตร์และศิลป์ แต่เรามักระแวงอย่างยิ่งเมื่อมันเป็นเรื่องทางศาสนา

แต่อีกด้านหนึ่ง การเชื่ออย่างไร้เดียงสาว่าการมีครู หมายถึงการละทิ้งความลังเลสงสัยโดยที่ไม่ต้องคิดอะไรอีกแล้ว เป็นทัศนคติที่สามารถนำไปสู่ความสุดโต่งอีกแบบได้เช่นกัน มันก่อให้เกิดลัทธิต่างๆ ในโลกตะวันตก และก็อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนปฏิบัติที่ดำเนินอยู่บนหลักการที่ถูกต้องได้ด้วย เช่น การไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนกลุ่มน้อยในสังฆะ หรือ ไม่ยอมรับผู้ที่ไม่ทำตัวตามวัฒนธรรมกระแสหลักของสังฆะ นี่คือจุดที่ทัศนคติเกี่ยวกับครูได้ไหลไปรวมกับทัศนคติในสังฆะโดยรวม สภาวะจิตที่มองว่าผู้คนควร “อยู่” หรือ “ไป” โดยปราศจากพื้นที่เทาๆ เป็นสิ่งที่ทำลายการบ่มเพาะจิตใจที่เปิดกว้างและมุมมองที่ไพศาลขึ้นของการปฏิบัติของเราเอง

มุมมองที่เคร่งครัดต่อระเบียบวินัยทางศาสนา ก็ดูเหมือนว่าจะมีที่มาจากรากฐานเดียวกันนั้น ไม่ใช่ว่าพฤติกรรมที่ไร้ศีลเป็นสิ่งโอเค แต่มันคือวิธีการที่เรามองและแสดงออกถึงศีลธรรมมากกว่า รวมไปถึงวิธีที่เราทำงานกับปัญหาของตัวเองและผู้อื่นด้วย การขับไล่หรือหลีกเลี่ยงใครสักคนในสังฆะ เพราะพวกเขาดื่ม สูบ หรือข้องเกี่ยวกับอบายมุข ไม่น่าใช่วิถีของชาวพุทธ

บนความเปลี่ยนแปลงและความซับซ้อนมากมาย ที่เกิดขึ้นในพุทธศาสนาโลกตะวันตก บทบาทและความหมายของสังฆะกำลังถูกนิยามใหม่ ผู้ปฏิบัติฆราวาสหรือสังฆะฆราวาส คือรูปแบบที่ชาวตะวันตกคุ้นเคย ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากสังฆะในธรรมเนียมดั้งเดิมที่เป็นชุมชนของภิกษุและภิกษุณี แต่ในบางแง่มุม วินัยของนักบวชและฆราวาสก็อาจจะไม่ได้ต่างกันขนาดนั้น ผู้เขียนมีความเคารพอย่างยิ่งต่อเหล่านักบวช แต่ก็กล้าที่จะกล่าวว่ามันมีปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ส่วนตัวและการเมืองมากมายภายในวัด ทั้งในเอเชียและตะวันตก

สำหรับพวกเราที่มุ่งมั่นจะเป็นชุมชนผู้ปฏิบัติธรรม เราจะดำเนินชีวิตให้ตรงกับความหมายของสังฆะซึ่งเป็นหนึ่งในรัตนตรัยอย่างไร การมองว่าชุมชนผู้ปฏิบัติคือรัตนะที่ล้ำค่าดูจะเป็นเรื่องยากสำหรับชาวตะวันตก เราเชื่อจริงๆ ไหมว่าสายสัมพันธ์ของเรากับผู้ปฏิบัติคนอื่นคือแหล่งกำเนิดของสติ? เราอาจมองว่ามันเป็นที่มาของการพึ่งพาหรือการแปลกแยกตัวเอง แต่เป็นที่มาของปัญญาด้วยมั้ย?

ในระดับโลกๆ ประโยชน์ของสังฆะ คือเราจะมองเห็นตัวเองและปัญหาต่างๆ ในชีวิตสะท้อนอยู่ในเพื่อนร่วมสังฆะ ซึ่งเป็นสิ่งที่อาจให้แรงบันดาลใจและทางออกแก่เราได้ เรามองเห็นข้อผิดพลาดของตัวเอง และเห็นว่าคนอื่นๆ ก็เป็นมนุษย์ไม่ต่างจากเรา เราจะถูกทำให้ถ่อมตนลง จากการที่เห็นว่าความรู้แจ้งของเราไม่ได้ยิ่งใหญ่ ลึกซึ้ง หรือพิเศษไปกว่าเพื่อนๆ ของเรา

สำหรับผู้เขียน การเดินทางไปแสวงบุญในอินเดียเมื่อปี 2010 เป็นการเปิดหูเปิดตาในแง่ของการมีศรัทธาต่อพระรัตนตรัย โดยเฉพาะความสำคัญของสังฆะ ผู้เขียนได้แวะไปยังสถานที่หลายแห่งที่เชื่อมโยงถึงศากยมุนีพุทธะ หนึ่งในนั้นคือ พุทธคยา สถานที่ที่ท่านได้ตรัสรู้ ณ ที่แห่งนั้น มันมีความรู้สึกที่ชัดเจนอย่างมากถึงพื้นที่และความสงบอันไพศาล ความรู้สึกของการเชื่อมต่อกับพระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์เติบโตขึ้นอย่างไม่อาจประมาณได้ รวมไปถึงความซาบซึ้งต่อคุณสมบัติแห่งความตื่นรู้ที่อยู่ตรงนั้นด้วย การรู้สึกถึงพลังของสถานที่เช่นนี้อยู่นอกเหนือกรอบทางความคิดของผู้เขียน ประสบการณ์ของปัญญาญาณในบรรยากาศที่แผ่ซ่านออกมาจากซากปรักหักพัง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับอีกหลายสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ในอินเดีย

การเห็นซากปรักหักพังที่ว่างเปล่าจำนวนมากในอินเดีย ทำให้ผู้เขียนตระหนักยิ่งขึ้นว่าพุทธศาสนาได้สิ้นสูญจากสถานที่เหล่านี้มาแล้วหลายศตวรรษ … แม้แต่ในทุกวันนี้ชาวพุทธในอินเดียก็ยังมีจำนวนค่อนข้างน้อย ซึ่งมันปลุกให้ผู้เขียนเห็นว่า หากไม่มีผู้คนที่ปฏิบัติคำสอน สถานที่อย่างพุทธคยาก็จะกลายเป็นสถานที่ซึ่งไร้ความหมาย คล้ายๆ กับคำถามที่ว่า “ต้นไม้ล้มในป่ามีเสียงหรือไม่ ถ้าหากไม่มีผู้ใดที่อยู่ตรงนั้นเพื่อได้ยิน” พลังของสถานที่จะถูกรับรู้ได้อย่างไร หากปราศจากสังฆะที่สัมผัสมัน มากไปกว่านั้น ธรรมะและคำสอนต่างๆ ก็คงจะสูญหายไปถ้าหากไม่มีผู้คนเรียนรู้และฝึกปฏิบัติ ในปัจจุบัน สายธรรมปฏิบัติที่ยิ่งใหญ่หลายสายยังคงมีชีวิตและแพร่หลายอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จีน ญี่ปุ่น และทิเบต เป็นเวลาราวร้อยปีเท่านั้นเองที่ธรรมะได้เริ่มกลับสู่บ้านและเผยแผ่สู่ชุมชนชาวพุทธในอินเดียอีกครั้ง

เพื่อที่จะใคร่ครวญต่อในเรื่องนี้ ผู้เขียนนึกถึงพระสูตรที่ เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช ได้แนะนำให้เป็นบทสวดเพื่อสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารแบบสงฆ์ หรือ โอริโยกิ (oryoko) “พระสูตรแห่งการระลึกคุณพระรัตนตรัย” ได้กล่าวถึงสังฆะไว้ดังนี้

“สังฆะแห่งมหายานนั้นยิ่งใหญ่ พวกเขาก้าวเดินอย่างเต็มที่ พวกเขาก้าวเดินอย่างเปี่ยมด้วยปัญญาญาณ พวกเขาก้าวเดินอย่างตรงไปตรงมา พวกเขาก้าวเดินอย่างอ่อนน้อมถ่อมตน พวกเขาควรค่าแก่การสักการะด้วยมือประนม พวกเขาควรค่าแก่การกราบไหว้ พวกเขาคือมณฑลแห่งบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ พวกเขาควรค่าแก่การน้อมรับการให้ พวกเขาคือวัตถุแห่งทาน พวกเขาคือวัตถุอันยิ่งใหญ่แห่งความเอื้อเฟื้ออันสมบูรณ์”

มุมมองนี้อาจดูขัดกับสิ่งที่เรามักประสบในสังฆะของโลกตะวันตก บางคนอาจอดไม่ได้ที่จะนึกถึงพระสูตรที่เหมาะกับศตวรรษที่ 21 เช่น “สังฆะเป็นแหล่งของความรำคาญ เป็นแหล่งอันสมบูรณ์ของความรำคาญอันยิ่งใหญ่” อย่างไรก็ดี ผู้เขียนเริ่มมองเห็นว่าความหงุดหงิดของตัวเองก็เป็นเพียงอีกด้านของเหรียญที่มีความรู้สึกซาบซึ้งขอบคุณต่อสังฆะโดยรวม คุณสมบัติความตื่นรู้ของสังฆะที่กล่าวถึงในพระสูตรนี้ ควรได้รับการมองเห็นว่ามันไม่ใช่สิ่งที่ขัดแย้งหรือเป็นการวิพากษ์สังฆะสมัยใหม่ แต่เป็นแรงบันดาลใจ

คำกล่าวที่ว่า “พวกเขาก้าวเดินอย่างเต็มที่” อาจเชื่อมโยงถึงการอุทิศตนที่จะไม่ทอดทิ้งการปฏิบัติและชุมชนผู้ปฏิบัติทั้งยามสุขและทุกข์ บางทีเราอาจจะไม่ค่อย “เปี่ยมด้วยปัญญาญาณ ตรงไปตรงมา และถ่อมตน” แต่เราปรารถนาที่จะมีคุณสมบัติเหล่านี้ สังฆะอาจไม่ได้ปรองดองกันตลอดเวลา แต่เราจะทุ่มเทให้กับการแสวงหาความกลมกลืนนั้น

เพราะสังฆะปฏิบัติและศึกษาธรรม จึงควรค่าแก่การเคารพ เพราะสังฆะไม่เพียงแต่มีคุณค่า แต่ยังจำเป็นต่อความอยู่รอดของพุทธธรรม จึงควรค่าแก่การกราบไหว้ การเป็นมณฑลแห่งบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ของสังฆะ คือการตระหนักถึงอำนาจและหน้าที่ในการรักษาธรรมะให้มีชีวิต ขณะเดียวกัน เราไม่ควรมองข้ามคุณความดีที่เราเคยบ่มเพาะ เพราะมันคือรากฐานของความ “ควรค่าแก่การน้อมรับการให้” ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นความรับผิดชอบต่อการได้รับ ไม่ใช่สิทธิที่พึงได้รับ สังฆะควรประพฤติในหนทางที่ควรค่าแก่การสนับสนุน โดยแสดงออกถึงความมีสติ ความเอื้อเฟื้อ และคุณธรรมทั้งหมดของโพธิสัตว์ เมื่อนั้นเราจึงจะเป็นวัตถุแห่งทาน วัตถุอันยิ่งใหญ่แห่งความเอื้อเฟื้ออันสมบูรณ์

ในฐานะผู้ปฏิบัติชาวพุทธ เราทุกคนมีภาระในการปกป้องและทำนุบำรุงพระรัตนตรัย หากปราศจากความพยายามของพวกเราและคนรุ่นใหม่ รัตนะเหล่านี้อาจเสื่อมและสูญหายไป ผู้เขียนคิดว่าไม่มีผู้ปฏิบัติคนไหนที่ไม่รู้สึกขอบคุณอย่างล้นพ้นต่อการได้พบกับธรรมะในชีวิตนี้ พวกเราต่างรู้สึกถึงหนี้บุญคุณอันใหญ่หลวงที่มีต่อพุทธะ ทั้งพระพุทธเจ้าในประวัติศาสตร์และครูของเรา และต่อธรรมะ รวมถึงเพื่อนผู้ปฏิบัติ 

ด้วยจิตวิญญาณเช่นนี้ ขอให้เรานอบน้อมต่อพระรัตนตรัย ในฐานะที่พึ่งสูงสุด

สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน