สะท้อนประสบการณ์ โดย วิจักขณ์ พานิช
อวโลกิตะเป็นห้องภาวนาเล็กๆ ใจกลางเมืองย่านสาทร-สีลม เปิดบริการทุกวัน 5 โมงเย็นถึง 3 ทุ่ม ให้ใครก็ได้เข้ามานั่ง จะนั่งเฉยๆ นั่งพัก นั่งถอนหายใจ หรือนั่งภาวนา ได้หมด
พื้นที่นี้เปิดบริการมาเกือบจะหนึ่งปีแล้ว มีผู้คนมาใช้บริการมากบ้างน้อยบ้าง แต่ก็ต่อเนื่องทุกวัน ทำให้สถานที่นี้เป็น public space เล็กๆ สำหรับบ่มเพาะสันติภาพและความกรุณาในใจของผู้คนในสังคมเมือง
ทุกเดือนจะมีปาฐกถา ซึ่งมีครูบาอาจารย์ที่เห็นดีเห็นงามกับการมีพื้นที่ว่างเล็กๆ แห่งนี้ แวะเวียนมาบรรยายและชวนสนทนาในหัวข้อเกี่ยวกับความรักความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์
ดีใจมาก ที่ในที่สุดก็ถึงคิว อ.สุวรรณา สถาอานันท์ หัวข้อปาฐกถาของอาจารย์คือ “ก้าวข้ามได้ แต่ไม่พ้น: ความงดงามของความข้ามไม่พ้นของโพธิสัตว์” เกิดขึ้นจากหัวข้องานวิจัยที่ อ.สุวรรณากำลังหมกมุ่นอยู่ อาจารย์สนใจมิติของ “ความรักเลือกข้าง” ว่าจะนำไปสู่คุณค่าทางจริยธรรมได้ไหม
โจทย์ของอวโลกิตะทอล์ค คือการคุยถึงความรักความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ / อุดมคติของโพธิสัตว์ ซึ่งก็ตามสไตล์อ.สุวรรณา คือไม่อยากคุยถึงพุทธศาสนาตรงๆ โดยอาจารย์จะออกตัวเสมอว่าตัวเองไม่มีความรู้เรื่องพุทธ แต่มักจะใช้วิธีการชวนสนทนากับพุทธจากความเป็นอื่น/ ความเชื่ออื่น/ ศาสนาอื่น ซึ่งครั้งนี้ อาจารย์ได้พาขงจื่อ มาคุยกับ พระอวโลกิเตศวร โดยมีพวกเราเกือบ 50 ชีวิตเป็นสักขีพยาน
ความกวนและเสน่ห์ของขงจื่อ คือท่านไม่ได้พูดเรื่องความเป็นกลาง แต่พูดเรื่องการเข้าข้าง ไม่ได้พูดเรื่องการหลุดพ้น แต่พูดเรื่องการอยู่ในความสัมพันธ์ที่เข้าข้างในบริบทต่างๆ กันอย่างมี harmony ขงจื่อให้ค่ากับความรักเสน่หา การอาทร การดูแล การอาลัยอาวรณ์ ซึ่งเป็นอะไรที่ arbitary เป็นความพอใจ นิยมรสบางอย่าง อาจจะว่าเห็นแก่ตัวก็ได้ และคำถามคือจะใช้ความรักแบบนี้เป็นฐานอย่างไร โดยไม่กลายเป็นปัญหาทางจริยธรรม
อาจารย์ยกตัวอย่างบ้านไฟไหม้ มีลูกเราและลูกเพื่อนติดอยู่ในนั้น การที่เราจะวิ่งฝ่าเพลิงเข้าไปช่วยลูกตัวเองก่อนนั้นผิดไหม? จากมุมขงจื่อคือไม่ผิด 1. หากเรายอมรับได้ว่า ถ้าคนอื่นทำแบบเดียวกันคือไปช่วยลูกตัวเองก่อน แล้วเรารับได้ หรือ 2. เมื่อช่วยลูกตัวเองได้แล้ว ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่หาทางช่วยลูกคนอื่นด้วย
ขงจื่อกำลังบอกว่า ความรักมันเริ่มจากรักแบบเข้าข้างทั้งนั้นแหละ เราย่อมรักพ่อแม่ตัวเอง หรือลูกตัวเองมากกว่าพ่อแม่/ลูกคนอื่น แล้วความรักนั้นมัน grow หรือข้ามไปสู่ความรักคนอื่นได้ด้วย มันไม่ใช่การลบตัวเองออกไปอย่างสิ้นเชิง จะรักคนอื่นได้จริงๆ ต้องเริ่มจากรักเข้าข้างให้เป็นซะก่อน สมมติถ้าบอกว่ารักพ่อแม่ทุกคนเท่าๆ กัน นั่นก็หมายความว่าไม่มีพ่อแม่เลย และก็อาจจะหมายความว่าไม่มีความรักด้วย
ประเด็นหลักของปาฐกถาน่าจะอยู่ตรงนี้ อาจารย์สุวรรณาวกกลับมาพูดถึงอุดมการณ์โพธิสัตว์แค่นิดเดียวตอนท้าย ซึ่งเชื่อมกับตอนต้นที่อาจารย์อธิบายว่า เวลาพูดถึงโพธิสัตว์ สังคมไทยจะมีความเข้าใจอยู่ 2 แบบ
แบบที่ 1: หมายถึงบุคคลที่กำลังบำเพ็ญเพื่อวันนึงจะหลุดพ้นเป็นพระพุทธเจ้า แบบนี้คือคล้ายๆ ว่าโพธิสัตว์ยังมีอะไรบางอย่างที่ไม่สมบูรณ์ คือการข้ามไม่พ้นเป็นภาวะไม่สมบูรณ์ และวันนีงจะถึงวันที่ข้ามพ้นในที่สุด
แบบที่2 : หมายถึงบุคคลที่ตั้งปณิธานการปลดปล่อยสรรพสัตว์สู่การหลุดพ้น โดยเลือกแล้วว่าจะไม่ข้ามไป ให้คนอื่นไปก่อน หรือจนกว่าจะพ้นไปด้วยกันทั้งหมด อันนี้ต่างจากแบบแรก เพราะโพธิสัตว์เลือกความข้ามไม่พ้นเป็นคุณค่าและวิถีการดำรงอยู่ตรงนี้กับผู้อื่นในโลก ความข้ามไม่พ้นไม่ใช่ความบกพร่อง แต่คือความงดงาม
ทั้งหมดที่อาจารย์สุวรรณาพาขงจื่อมาเยือนอวโลกิตะ ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นว่า ขงจื่อคือเพื่อนของอวโลกิเตศวรที่เข้าใจว่าอวโลกิเตศวรพยายามทำอะไร ไม่ใช่พระอวโลกิเตศวรในฐานะคนดี บุคคลในอุดมคติ หรือในฐานะพระพุทธเจ้าในอนาคต แต่คืออวโลกิเตศวรในฐานะคนธรรมดาๆ เช่นเรา ที่เริ่มต้นจากการเรียนรู้ความรักเลือกข้าง การรักตัวเอง ปกป้อง ดูแล อาทร คนใกล้ชิด กระทั่งสามารถขยายความรักนั้นไปสู่คนอื่นได้ เป็นโพธิสัตว์ที่มีเมตตากรุณาต่อผู้คน ท่ามกลางความขัดแย้งในใจ ความสั่นไหว ความอิหลักอิเหลื่อ ระหว่างความรักเลือกข้างกับความรักอย่างไร้เงื่อนไข ได้ไม่ต่างกับที่คนธรรมดาๆ เช่นเราต้องพบเจอ อาจารย์ชี้ให้เห็นว่า ก็เพราะการที่โพธิสัตว์ยังถืออุดมคติบางอย่างไว้ในใจนี่แหละ ที่ทำให้เกิดความรู้สึกอิหลักอิเหลื่อดังกล่าว ไม่งั้นก็ไม่ต้องรู้สึกรู้สาอะไร ไม่มีอะไรให้ก้าวข้าม ไม่มีการเติบใหญ่ของความรักความกรุณา และไม่มีความงดงามของการมีชีวิต
เหมือนทุกๆ ครั้งที่อ.สุวรรณา มาพูด ประเด็นที่ดูเหมือนจะเล็กๆ ไม่มีอะไร แต่กลับต่อยอดไปได้ไกลไม่มีสิ้นสุด การพาขงจื่อมาคุยกับโพธิสัตว์ในครั้งนี้ ช่วยให้ได้ทบทวนภาพโพธิสัตว์ในระบบคิดของเราอย่างจริงจัง…
ตกลงโพธิสัตว์เป็นคนธรรมดาเฉกเช่นเราได้รึเปล่า โพธิสัตว์เป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นเพื่อนได้ไหม เป็นคนที่ใช้ชีวิตอยู่ในความสัมพันธ์ ความขัดแย้งได้หรือไม่ การยึดถืออุดมคติความรักความกรุณาต่อเพื่อนมนุษย์ ที่ไม่ใช่ภาพล่องลอยฟุ้งฝันของการข้ามไปไหน แต่กลับย้อนให้เรามาชื่นชมความข้ามพ้นไม่ได้ ความอิหลักอิเหลื่อ หรือความขัดแย้งในใจ ที่เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลาบนเส้นทางจิตวิญญาณ ความรบกวนใจที่เกิดขึ้นจากความรักผู้อื่นไม่ได้ถูกมองเป็นอุปสรรคเหมือนเมื่อก่อน แต่สามารถถูกมองเป็นกระบวนการก้าวข้ามตัวตน ความข้ามไม่พ้นของหัวใจที่บ่มเพาะคุณสมบัติอันละเมียดละไมยิ่งๆ ขึ้น กระทั่งปัจจุบันขณะกลายเป็นโลกที่งดงาม น่าอยู่ และเปี่ยมไปด้วยความรักต่อคนที่อยู่ตรงนี้และตรงหน้า เป็นความรักเลือกข้างที่นี่ แต่ละวินาทีตรงนี้ ที่ไม่ต้องข้ามพ้นไปไหนต่อไหนอีกแล้ว