“โพธิสัตว์” : วิถีแห่งความรักความกรุณาที่มนุษย์ทุกคนเข้าถึงและเป็นได้

บทความโดย TOON วัชรสิทธา

ในจักรวาลของพุทธไทย คำว่า “โพธิสัตว์” ดูเหมือนจะเป็นคำที่ไม่ได้มีความหมายไปในทางบวกเท่าไรนัก เพราะคำนี้มักจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ว่า โพธิสัตว์คือผู้ที่ยังไม่อาจตัดกิเลสได้หมดสิ้น โดยเฉพาะกิเลสด้านที่เป็นความเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง บุคคลประเภทนี้จึงยังไม่อาจ “ข้ามพ้น” ไปสู่พระนิพพานได้ และต้องกลับมาเกิดใหม่ซ้ำๆ เพื่อสนองความอยากนี้ของตน

ทรรศนะรวมๆ เช่นนี้ ในแง่หนึ่งทำให้ภาพของการปฏิบัติธรรมในไทยกลายเป็น “เรื่องส่วนตัว” ไปอย่างไม่น่าแปลกใจ เพราะเป้าหมายสุดท้ายของการบรรลุธรรม คือการตัดกิเลสทั้งหมด รวมถึงความเมตตากรุณา (ซึ่งถูกมองว่าเป็นความอยากชนิดหนึ่ง) ไปด้วย ตรงกันข้ามกับพุทธศาสนาในโลกสากล ที่แนวคิดแบบมหายานเป็นที่แพร่หลาย การปฏิบัติธรรมไม่เคยเป็นเรื่องส่วนตัว แต่เป็นเรื่องของการฝึกตนเพื่อประโยชน์ต่อผู้อื่นก่อนตนเอง กระทั่งเป็นการตระหนักถึง “การหลุดพ้นส่วนรวม” โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์ของตัวเองแม้แต่น้อย และนี่คือความหมายของเส้นทางโพธิสัตว์ในพุทธมหายาน

อีกความเข้าใจหนึ่งเมื่อกล่าวถึงโพธิสัตว์ก็คือ เรามักจะนึกถึงนามของโพธิสัตว์ชื่อดังในอดีต ไม่ว่าจะเป็น อวโลกิเตศวร มัญชุศรี กษิติครรภ์ ไมเตรยะ (ศรีอริยเมตไตร) ฯลฯ หรือแม้แต่ทศชาติของศากยมุนีพุทธะ แต่ละองค์ที่กล่าวถึงล้วนแต่เป็นโพธิสัตว์ผู้มีชื่อเสียง เปี่ยมไปด้วยบารมี ความศักดิ์สิทธิ์ และอิทธิฤทธิ์ปาฎิหาริย์ต่างๆ ที่ดูเหมือนจะเหนือมนุษย์อย่างยิ่ง จนเราอาจลืมไปว่าเจ้าของนามเหล่านั้นล้วนเป็นมนุษย์เฉกเช่นเดียวกับเราทั้งสิ้น

ความเข้าใจเรื่องโพธิสัตว์ที่มีหลากหลายในสังคมไทย อาจทำให้เรามีมุมมองต่อโพธิสัตว์ในแบบไกลตัว มองเป็นเรื่องตำนานหรือเรื่องคนอื่นที่มีบุญบารมีมากกว่าเรา แต่ในพุทธศาสนาทิเบต ที่มีการจัดกลุ่มองค์ความรู้ในพุทธศาสนาเป็น 3 ระดับ (ตามการหมุนกงล้อพระธรรมของพุทธะทั้ง 3 ครั้ง) โพธิสัตว์คือวิถีที่ผู้ปฏิบัติทุกคนสามารถฝึกฝนและปฏิบัติ ด้วยปณิธานอันแรงกล้าที่จะเป็นหนึ่งในพระพุทธเจ้าในอนาคต

ในคลาสเรียน Second Turning หรือ “การหมุนกงล้อธรรมครั้งที่สอง” ณ วัชรสิทธา เราได้เรียนพุทธธรรมแบบทิเบต ที่กล่าวถึงวิถีโพธิสัตว์ ในฐานะส่วนสำคัญของเส้นทาง “มหายาน” ซึ่งผู้สอนอย่าง วิจักขณ์ พานิช ได้ย้ำในห้องเรียนเสมอว่ามหายานในทรรศนะแบบทิเบตนั้นเป็น “ส่วนขยาย” จากองค์ความรู้ใน First Turning หรือ คำสอน “หินยาน” นั่นเอง แต่ด้วยส่วนขยายนี้ ทำให้วิถีการปฏิบัติและเป้าหมายสูงสุดในขั้นหินยานและมหายานมีจุดที่แตกต่างกันอย่างน่าสนใจ ซึ่งความแตกต่างนี้มีหัวใจอยู่ที่ความเข้าใจเรื่องความไม่มีตัวตน

Bodhisattvas care only for the benefit of others


ธรรมชาติแห่งความไม่มีตัวตน 2 ขยัก

ในคำสอน First Turning เราได้เรียนรู้เรื่อง สภาวะธรรม หรือชื่อเรียกหน่วยย่อยที่สุดของปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น ณ ขณะนั้นๆ เราสามารถที่จะมองเห็นสิ่งต่างๆ ในฐานะหน่วยเล็กๆ ที่เกิดและดับลงอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด การรับรู้ ฯลฯ ทั้งหมดนั้นล้วนเป็นสภาวะธรรมที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ

การมองทุกสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นหน่วยย่อยๆ เช่นนี้ ทำให้เราสามารถเริ่มต้นทำงานกับ “ความทุกข์” ที่เกิดจาก “ตัวตน” หรือ “อัตตา” ของเราได้ เราเริ่มพบว่าสิ่งที่เราคิดว่าเป็นตัวเรา แท้จริงแล้วเกิดขึ้นจากการประกอบขึ้นของสภาวะธรรมต่างๆ มากมาย การดำรงอยู่ของตัวเรา อย่างน้อยที่สุดก็คือการมาประชุมกันของขันธ์ทั้ง 5 กอง เมื่อตระหนักได้เช่นนี้ เราจะเกิดมุมมองใหม่ต่อชีวิต และเกิดแรงบันดาลใจที่จะฝึกฝนการปล่อยวางต้นเหตุแห่งทุกข์หรืออัตตาตัวตนลง ลดละการโต้ตอบที่เกิดจากความเคยชิน ปล่อยให้สภาวะธรรมทั้งหลายดำเนินไปอย่างที่มันเป็น โดยที่เราไม่จำเป็นต้องยึดถือสิ่งใดเอาไว้ในฐานะเจ้าของ นี่คือความเข้าใจในธรรมชาติแห่งความไม่มีตัวตนของ “ตนเอง” ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการหมุนกงล้อพระธรรมครั้งแรก

เมื่อเปลี่ยนโหมดเข้าสู่คำสอนใน Second Turning ฉากทัศน์ และองค์ประกอบต่างๆ ก็เปลี่ยนความหมายออกไปอย่างสิ้นเชิง แต่การเปลี่ยนความหมายนี้ไม่ได้เป็นการขัดแย้งกับชุดคำสอนก่อนหน้า มันเป็นความรู้สึกคล้ายๆ กับการดูซีรีส์ภาคต่อ ที่เราเริ่มเข้าใจที่มาที่ไปของสถานการณ์และตัวละครต่างๆ มากกว่าเดิม จากการเรียนรู้ที่จะปล่อยความยึดมั่นในอัตตาของตนเอง เราเริ่มก้าวมาสู่ความเข้าใจเพิ่มเติมที่ว่า สภาวะธรรมต่างๆ ที่เราเคยคิดว่ามันเป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ตามธรรมชาตินั้น แท้จริงแล้วก็ไม่ได้มีตัวตนที่เป็นเอกเทศเช่นเดียวกัน ทุกสิ่งล้วนแต่เกิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัยมากมายที่มาสัมพันธ์กัน และไม่อาจดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง ด้วยการอธิบายเช่นนี้ ทำให้หัวข้อใหญ่ในการศึกษา Second Turning คือเรื่องของธรรมชาติแห่งความไม่มีตัวตนของสรรพสิ่ง หรือ ที่เรียกกันว่า ความว่าง นั่นเอง

เมื่อความเป็นตัวฉัน ตัวเธอ และสิ่งอื่นๆ จางลง

การเรียนรู้เรื่องความว่าง ส่งผลต่อท่าทีของผู้ปฏิบัติที่มีต่อตนเองและผู้อื่น การรับรู้ถึงสายสัมพันธ์ที่มองไม่เห็นระหว่างสภาวะธรรมต่างๆ อาจทำให้เส้นแบ่งความเป็น “เขา” “เรา” “สิ่งอื่นๆ” จางลงไป เราพบว่าชุดคำสอนนี้ได้เชื่อมโลกทั้งใบเข้าด้วยกัน ไม่มีสิ่งอื่นๆ ที่ปราศจากการมีอยู่ของเรา และไม่มีเราที่ปราศจาการมีอยู่ของสิ่งอื่นๆ ในคลาสเรียนเราพูดกันถึงคำศัพท์ที่ ติช นัท ฮันห์ ใช้อธิบายธรรมชาติแห่งความเชื่อมโยงนี้ว่า “Interbeing” หรือ สภาวะแห่งการเอื้ออิงอาศัยกันและกันของสรรพสิ่ง

การนำเอาความจริงระดับปรมัตถ์ข้อนี้มาสู่การดำเนินชีวิต อาจต้องใช้เวลาและการฝึกฝน แต่ระหว่างการบวนการ มันจะค่อยๆ หล่อหลอมให้เราเริ่มมองเห็นสิ่งต่างๆ ในแบบมวลรวมมากขึ้น เราไม่แบ่งแยกสิ่งหนึ่งออกจากสิ่งหนึ่งอย่างสิ้นเชิง เราจะให้ความสำคัญกับสายสัมพันธ์ของสิ่งต่างๆ ที่ดำรงอยู่อย่างงดงามในแบบที่มันเป็น เมื่อเรามองเห็นปลาเราอาจเห็นสายสัมพันธ์ของมันกับแม่น้ำ ต้นไม้ และสายฝน เมื่อเรามองเห็นพืชผักในจานข้าวเราอาจมองเห็นแสงแดด ไส้เดือน และผืนดิน ฯลฯ การมองเห็นสายสัมพันธ์เช่นนี้ ทำให้สำนึกแบบตัวตนที่แยกขาดจากทุกสิ่งเบาบางลง

จากนั้น มันอาจเริ่มจากคนที่เรารัก หรือ คนที่เราใกล้ชิด ที่เรามองเห็นอย่างชัดเจนว่าความทุกข์ต่างๆ ที่เขากำลังประสบนั้น เกิดมาจากความพยายามที่จะแยกขาดตัวตนของเขาออกไปจากสิ่งอื่นๆ เรามองเห็นความทุกข์ที่เกิดขึ้นจากการหลบเลี่ยงธรรมชาติที่กำลังดำเนินไป ความทุกข์ที่เกิดจากการใช้แรงมหาศาลต้านทานหรือพยายามควบคุมสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปตามความคิดหรือสิ่งที่เขาเข้าใจว่ามันควรจะต้องเป็นเช่นนั้น แต่น่าเศร้าที่มันไม่ได้ช่วยให้พวกเขาพ้นจากความทุกข์ได้เลย ณ จุดนี้ ผู้ปฏิบัติย่อมเกิดความรู้สึกเห็นอกเห็นใจขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ เพราะการมองเห็นคนที่เราห่วงใยเป็นทุกข์กับเรื่องที่ไม่จำเป็นต้องทุกข์ก็ได้มันน่าเจ็บปวด และเราจะเริ่มเฟ้นหาวิธีการมากมายเพื่อช่วยบรรเทาความทุกข์ของพวกเขาให้จางคลายลง

ความกรุณาของโพธิสัตว์ มีลักษณะเป็นเช่นนี้ มันเป็นความรู้สึกอยากช่วยเหลือผู้อื่นที่เรารักอย่างยิ่งให้พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง โดยที่เราไม่สนใจว่าจะต้องทำมันด้วยวิธีใดหรือแม้แต่เราจะต้องเหนื่อยแค่ไหนก็ตาม ทั้งยังเป็นความกรุณาที่ไม่ได้เอาตนเองเป็นที่ตั้งอีกด้วย การช่วยเหลือคนที่เรารัก ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการที่เราจะมีความสุขในภายหลังหรือไม่ แต่มันเกี่ยวกับการที่คนเหล่านั้นจะสามารถรอดพ้นจากสภาพแห่งความทุกข์ของสังสารวัฏที่ไม่มีวันจบสิ้นได้หรือไม่

อย่างที่กล่าวว่าในเบื้องต้น ปณิธานเช่นนี้อาจเกิดขึ้นจากความรู้สึกที่เรามีต่อคนใกล้ตัวหรือคนที่เรารักอยู่แล้ว แต่เมื่อเราดำเนินอยู่บนเส้นทางนี้ไปนานมากขึ้น โพธิจิตของเราก็จะค่อยๆ เติบโตและเบ่งบาน เราอาจค้นพบว่าสรรพสัตว์ทั้งปวงล้วนแต่เป็นคนที่เราสามารถรักได้ทั้งสิ้น หัวใจที่เปิดออกไปเรื่อยๆ เช่นนี้ เป็นลักษณะของการเติบโตทางจิตวิญญาณในคำสอนของพุทธมหายาน แต่หากกล่าวอย่างถึงที่สุด การเปิดออกนี้ก็ไม่ใช่เรื่องของการเปิดไปสู่ “สิ่งอื่น” หรือ “คนอื่น” ด้วยซ้ำ เพราะบนพื้นฐานของความว่างแล้วสรรพสิ่งทั้งปวงล้วนไม่ได้แยกขาดจากกัน วิจักขณ์พูดถึงมุมมองเช่นนี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า “โลกนี้คือส่วนขยายของร่างกายของเรา” ซึ่งหมายความทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้คือส่วนหนึ่งของเราทั้งหมด  การสร้างประโยชน์เพื่อผู้อื่น การเปิดใจสู่สถานการณ์ที่เราไม่คุ้นชินหรือไม่ชอบ ก็ล้วนแต่เป็นการปฏิบัติที่อยู่บนวิถีของการทำความเข้าใจ “เรา” ทั้งสิ้น

การหลุดพ้นในคำสอนของ Second Turning จึงเป็นเรื่องของทั้งหมด หรือ “ส่วนรวม” อย่างไม่มีทางเลือกอื่น บนทรรศนะเช่นนี้ ไม่มีสิ่งใดที่เป็น “เรื่องส่วนตัว” อันแยกขาดจากสิ่งอื่นเลยแม้แต่น้อย จากการเริ่มต้นทำงานกับตัวตนของตัวเองในขั้นหินยาน เรากระโจนสู่การตระหนักถึงความจำเป็นที่ต้องทำงานกับสรรพสิ่งทั้งหมดดั่งคำสอนของมหายาน ซึ่ง ณ จุดนี้เอง ที่วิถีแห่งโพธิสัตว์ได้เริ่มต้นขึ้น

วิถีโพธิสัตว์

บนเส้นทางการเรียนรู้ในพุทธศาสนา มักมีการสอนเรื่องทรรศนะที่ถูกต้องก่อนเป็นลำดับแรกๆ เพื่อให้เกิดความเข้าใจในเชิงคอนเซปต์ขึ้นมาก่อน แต่กระนั้น ผู้ศึกษาก็ต้องตระหนักอยู่เสมอว่าความเข้าใจเชิงวิชาการก็ยังเป็นเพียงความจริงระดับสัมพัทธ์ หาใช่ประสบการณ์ที่แท้จริงระดับปรมัตถ์ไม่ เพราะประสบการณ์จริงเป็นเรื่องที่พ้นไปจากความคิดหรือความเข้าใจเชิงความรู้ทั้งสิ้น เราจำเป็นต้องเรียนรู้มันผ่านประสบการณ์เฉพาะตนเท่านั้น

แต่ประโยชน์จากความเข้าใจเชิงความรู้และการมีทรรศนะที่ถูกต้อง จะช่วยให้เราออกเดินสู่หนทางแห่งการปฏิบัติได้อย่างมีทิศทาง และเราจะค่อยๆ เกิดความเข้าใจความเป็นจริงในระดับปรมัตถ์ผ่านประสบการณ์ที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง วิจักขณ์ พูดถึงความเฉพาะตัวบนเส้นทางมหายานไว้ว่า “มันจะเป็นประสบการณ์ที่ส่วนตัวมากๆ จนบางทีเราไม่สามารถจะอธิบายมันออกมาให้ใครฟังได้ และมีเพียงตัวเราเองเท่านั้นที่เข้าใจมันอย่างแท้จริง”

สิ่งที่น่าสนใจในมิติของประสบการณ์บนเส้นทางมหายานก็คือ นอกเหนือไปจากการปฏิบัติภาวนาซึ่งเป็นพื้นฐานอันขาดไม่ได้แล้ว มหายานยังพูดถึงการปฏิบัติที่เป็นเรื่องของการบ่มเพาะความไม่มีตัวตนผ่านการกระทำหกรูปแบบ (บารมี6) อีกด้วย สิ่งนี้ทำให้มิติของประสบการณ์แบบมหายานขยายกว้างสู่การกระทำ รูปแบบ วิธีการ และผลลัพธ์ ประสบการณ์ของการปฏิบัติในขั้นนี้จึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวอย่างยิ่ง

ขณะเดียวกันชุดคำสอนเดียวกันนี้ก็ทำให้การเป็นผู้ปฏิบัติในเส้นทางมหายานหรือโพธิสัตว์ต้องสัมพันธ์กับผู้คน โลก และสถานการณ์ต่างๆ อยู่เสมอ จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่ผู้ปฏิบัติบนหนทางนี้จะปลีกวิเวกตนเองออกไปจากโลกโดยไม่สนใจเสียงเพรียกของสรรพสัตว์ที่กำลังตกทุกข์ได้ยาก และด้วย “วินัย” เช่นนี้ของมหายาน ทำให้ภาพของการฝึกปฏิบัติในพุทธศาสนาพลิกกลับอย่างสิ้นเชิง จากที่เราอาจคุ้นเคยกับภาพของนักบวชที่หลีกเร้นความวุ่นวาย ไม่มาข้องเกี่ยวกับสถานการณ์ล่อแหลมต่างๆ พยามฝึกตนให้บริสุทธิ์ผุดผ่องโดยไม่เกลือกกลั้วสิ่งที่เป็น “ทางโลก” แต่ในทรรศนะของพุทธทิเบตที่มีคำสอนขั้นมหายาน กลับกล่าวให้เราวกกลับมาทำงานกับโลกใบนี้ กับผู้คน และสถานการณ์โลกย์ๆ ไม่ว่าจะขาว ดำ หรือ เทา เพื่อช่วยปลดปล่อยสรรพสัตว์จากความทุกข์ทั้งปวง

ในความหมายเช่นนี้โพธิสัตว์จึงมีพันธกิจที่ผูกพันอยู่กับชีวิตมากมายนับล้าน พวกเขาจึงจำเป็นต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อทำงานกับสังสารวัฏ มันเป็นวินัยข้อสำคัญที่พวกเขาจะไม่เลือกหนทางหลุดพ้นที่ตัดขาดจากสรรพสัตว์ทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง เพราะหนทางแห่งการเป็นผู้มีประโยชน์จำเป็นจะต้องยินดีในการกลับมาเกลือกกลั้วกับสังสารวัฏ จวบจนสรรพสัตว์ทุกหมู่เหล่าจะสามารถข้ามพ้นความไม่รู้ของตนได้ นี่คือปณิธานอันยิ่งใหญ่ที่เสมอเหมือนกับพระพุทธเจ้าในอดีตทุกพระองค์ เส้นทางนี้ของโพธิสัตว์ จึงเป็นเส้นทางแห่งการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต

การมีวิถีและชุดคำสอนเช่นนี้ ทำให้เรามองเห็นความเป็น “สากล” และ “ร่วมสมัย” ของพุทธศาสนาได้เสมอไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใด เพราะวินัยแห่งการสร้างประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ทำให้ผู้ปฏิบัติที่จริงแท้กับวิถีนี้พยายามที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างประโยชน์ให้กับสังคมหรือชุมชนที่ตนเกี่ยวข้องด้วยวิธีต่างๆ ที่เหมาะสมกับปัญหาหรือสถานการณ์ ณ พื้นที่และช่วงเวลานั้น วิถีของมหายานจึงเป็นท่าทีของการกระทำ ความเคลื่อนไหว ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความรักในสรรพสิ่ง

ขณะเดียวกันด้วยชุดคำสอนเช่นนี้ เราจึงสามารถมองเห็น “โพธิสัตว์” มากมายที่ดำรงอยู่บนโลกร่วมกันกับเรา แม้คนเหล่านั้นอาจไม่ใช่ผู้ที่ใกล้ชิดกับพุทธศาสนาก็ตาม แต่ด้วยคอนเซปต์เช่นนี้ เราสามารถที่จะเคารพ ชื่นชม และศรัทธาในหัวใจของผู้คนที่เสียสละประโยชน์ส่วนตน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวมได้เสมอ เพราะแก่นแท้ของโพธิสัตว์คือวิถี หาใช่ศาสนา หรือความเชื่อใดๆ



เส้นทางโพธิสัตว์ เส้นทางของพุทธะ

เป้าหมายของโพธิสัตว์ทุกคน คือการได้ตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรือการตื่นรู้อย่างสมบูรณ์ในฐานะพระพุทธเจ้า ซึ่งเส้นทางนี้ไม่ใช่เส้นทางสั้นๆ ที่จะเดินไปถึงภายในภพชาติเดียวเท่านั้น เรจินัลด์ เรย์ กล่าวถึงความยาวนานของเส้นทางนี้ไว้ว่า “เส้นทางสู่การตื่นรู้โดยสมบูรณ์นั้นทอดยาวแทบไม่มีจุดสิ้นสุด ตลอดสามอสงไขย ผ่านล้านล้านภพชาติ…” นั่นคืองานอันหนักหนาของโพธิสัตว์ที่อุทิศตนเพื่อสรรพสัตว์และการตื่นรู้อย่างสมบูรณ์

ในเมื่อมันยากเย็นเช่นนั้น บางเราอาจเกิดคำถามขึ้นว่าทำไมต้องทำขนาดนั้น ทำไมการช่วยเหลือสรรพสัตว์แบบโลกย์ๆ จึงสามารถเป็นหัวใจสำคัญในการตื่นรู้ได้ การกลับมาเกิดใหม่ครั้งแล้วครั้งเล่ามันเกี่ยวข้องกับการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าอย่างไร หรือแม้แต่ว่าเป้าหมายในการเป็นพระพุทธเจ้าแท้จริงแล้วมีความหมายว่าอย่างไร

ในหนังสือ The Indestructible Truth ซึ่งเป็นหนังสือเล่มสำคัญที่นำมาใช้ศึกษากันในคลาส Second Turning เขียนถึงการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าไว้ว่า “ผู้ปฏิบัติที่ตั้งปณิธานที่จะเดินตามเส้นทางเดียวกับศากยะมุนีพุทธะ ในที่สุดจะกลับมาเกิดเหมือนท่านในโลก(หรือภพภูมิ) ซึ่งพุทธธรรมไม่เป็นที่รู้จัก แสวงหาสัจธรรมสู่การหลุดพ้น จนบรรลุสู่การตื่นรู้อันสมบูรณ์ แล้วจึงก่อตั้งและถ่ายทอดสายปฏิบัติแห่งธรรมะ” จากประโยคนี้ เราจะเห็นได้ว่าความสำคัญของพระพุทธเจ้าคือการที่ท่านสามารถตรัสรู้ได้ด้วยตนเองแม้ในดินแดนที่ปราศจากชุดคำสอนพุทธธรรมใดๆ มาก่อน ทั้งยังเป็นผู้ริเริ่มสายปฏิบัติแห่งพุทธธรรมในดินแดนนั้นๆ เพื่อปลอดปล่อยสรรพสัตว์จากความทุกข์ทั้งปวงอีกด้วย สิ่งนี้นับว่าเป็นคุณค่าที่สูงที่สุดที่คนผู้หนึ่งจะสร้างให้แก่โลกได้

แต่การจะบ่มเพาะคุณสมบัติเช่นนั้นขึ้นมา เราจำเป็นต้องผ่านประสบการณ์มากมายนับไม่ถ้วน เพื่อที่จะเกิดความเข้าใจอันถ่องแท้ต่อความทุกข์ของสรรพสัตว์ ซึ่งหนทางเดียวในการก้าวไปสู่จุดนั้นก็คือการเริ่มต้นหนทางแห่งโพธิสัตว์ตั้งแต่วินาทีนี้ และเปิดหัวใจเอาไว้ให้พร้อมที่จะสัมผัสกับความเจ็บปวด ความทุกข์แสนสาหัส ความไม่ได้รับการยอมรับหรือถูกเข้าใจ และสัมพันธ์กับสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั้นด้วยความรักที่ตั้งอยู่บนพื้นหลังแห่งความว่างอันปราศจากตัวตน

เรจินัลด์ เรย์ กล่าวถึงคุณสมบัติสัพพัญญูแห่งพุทธะเอาไว้ในหนังสือ The Indestructible Truth ว่า “ความเป็นสัพพัญญูของพุทธะ คือการรู้แจ้งในประสบการณ์และความรักความกรุณาในหัวใจ ที่จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการผ่านความทุกข์มาแล้วทุกรูปแบบ” เส้นทางโพธิสัตว์จึงไม่มีทางลัดใดๆ ทุกประสบการณ์ต้องเล่นเอง เจ็บเอง เรียนรู้เอง กระนั้นด้วยหัวใจอันจริงแท้และเปี่ยมด้วยความรักความกรุณาอันปราศจากตัวตน หนทางแห่งการตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ แม้จะยากเย็นแสนเข็ญเพียงไหน ก็จะเปี่ยมด้วยความรื่นรมย์ ดังโศลกของศานติเทวะที่รจนาไว้ว่า

“All the joy the world contains

Has come through wishing happiness for others.

All the misery the world contains

Has come through wanting pleasure for oneself”