บทความโดย วิจักขณ์ พานิช
ในทุกบทภาวนา เมื่อเราเอ่ยจากใจว่า “ขอให้บุญกุศลนี้จงแผ่ไพศาลไปยังสรรพสัตว์ทั้งปวง” เรากำลังตั้งเจตจำนงต่อสิ่งที่ลึกซึ้งยิ่งกว่าหลักคิดทางศาสนา นี่ไม่ใช่แค่การทำความดีหรือเป็นคนดีอย่างที่เราถูกปลูกฝัง แต่คือการเชื่อมหัวใจไปยังเป้าหมายสูงสุดของการเป็นพุทธะ — ปณิธานแห่งการหลุดพ้นเพื่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งปวงโดยไม่มียกเว้น
คำว่า “สรรพสัตว์” ในภาษาไทย แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “all beings” ซึ่งมีความหมายที่น่าสนใจ หากถอดความตามรากศัพท์ “สัตตวะ” หมายถึงผู้มีชีวิต ผู้มีภาวะแห่งการดำรงอยู่ เป็นผู้ที่ยังเวียนว่ายอยู่ในภพภูมิแห่งการเกิดและดับ
สรรพสัตว์อาจไม่ได้ดำรงอยู่เพียงภายนอก หากแต่ยังหมายรวมถึง “ทุกการดำรงอยู่” ของปรากฏการณ์ภายใน ทั้งในกายและในใจของเรา
เราอาจคุ้นเคยกับสรรพสัตว์ในหกภพภูมิตามคำสอนพุทธศาสนา ได้แก่ สัตว์นรก เปรต เดรัจฉาน อสุรกาย มนุษย์ และเทวดา เราสัมพันธ์กับสรรพสัตว์เหล่านั้นราวกับเป็น “ผู้อื่น” เป็นเพื่อนร่วมวัฏฏะที่เราปรารถนาจะช่วยปลดปล่อยออกจากความสับสนและความทุกข์ แต่เป็นไปได้ไหมว่าในแต่ละขณะ ตัวเราเองก็แปรเปลี่ยนเวียนว่ายอยู่ในหกภพภูมิเหล่านั้นเช่นเดียวกัน หรืออาจกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า สรรพสัตว์เหล่านั้นล้วนเวียนว่ายอยู่ในมหาสมุทรจิตใต้สำนึกของเราอย่างเชื่อมโยงถึงกันหมดนั่นเอง
เมื่อความโกรธลุกวาบขึ้น เราก็เป็นสัตว์นรก เมื่อความหิวกระหายครอบงำจิตใจ เราก็คือเปรต เมื่อจิตใจเต็มไปด้วยริษยา เราก็คืออสุรกาย เมื่อหมกมุ่นในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เราก็คือเดรัจฉาน เมื่อเฝ้าใฝ่หาความสุขและหลีกหนีจากความทุกข์ เราก็คือมนุษย์ และเมื่อปล่อยตัวล่องลอยเสวยสุข เราก็กลายเป็นเทวดา
ไม่ว่าเราจะอยู่ในภพภูมิใด ณ ขณะใด การดำรงอยู่ในสภาวะนั้นล้วนมีสถานะเป็น “being” — สภาวะที่ไม่ใช่ตัวตนตายตัว มีเงื่อนไขแห่งเหตุปัจจัย มีการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป ไม่ถาวร
mental beings หรือ emotional beings เหล่านี้ ยังเชื่อมโยงกับ somatic beings เช่น ความเจ็บปวดในอก ความเกร็งในท้อง ความกลัวจนตัวสั่นที่อธิบายไม่ได้ ความคิดหรือภาพหลอนที่โหมกระหน่ำเป็นห่าพายุ เฟลท์เซนส์ต่างๆ ที่ก่อตัวขึ้นและเปลี่ยนรูปอย่างกำกวมไม่ชัดเจน สรรพสัตว์เหล่านี้ไม่ใช่ “ศัตรู” ที่ต้องขจัด หากแต่เป็น “สรรพสัตว์” ที่เราสามารถเผชิญได้ หากใจเราเปิดกว้าง
ระหว่างที่เราสัมพันธ์ รับรู้การมีอยู่ของพวกเขา เราก็จะเริ่มแผ่คุณสมบัติในทางบวกของโพธิจิต เช่น ไมตรี ในขณะนั้น เราก็กำลัง “ให้” พวกเขา “ปลดปล่อย” พวกเขา และอุทิศกุศลที่เกิดจากการตระหนักรู้นั้น ให้แก่พวกเขาอย่างเป็นธรรมชาติ
อาจกล่าวได้ว่า การอุทิศกุศลในความหมายที่ลึกที่สุด คือการมอบ “พื้นที่ว่าง” ให้แก่การดำรงอยู่ทั้งปวงได้ปรากฏอย่างไม่ผลักไส ไม่กอดรัด ไม่ตัดสิน เราไม่จำเป็นต้อง “กำจัด” ความเศร้า หรือ “เอาชนะ” ความกลัว หากแต่ยอมให้สรรพสัตว์ดำรงอยู่อย่างที่เขาเป็น เข้าใจธรรมชาติแห่งความไม่มีตัวตนของสภาวะปรุงแต่งชั่วคราวเหล่านั้น
สรรพสัตว์ทั้งหลาย — ไม่ว่าจะอยู่ในนามของความคิด ความรู้สึก อารมณ์ หรือแม้แต่ผู้คนที่เรารักหรือเกลียด — ล้วนแล้วแต่เป็นปรากฏการณ์ของใจ ที่รอการปลดปล่อยด้วยความเข้าใจและความรักทั้งสิ้น
ตั้งแต่นี้ไป เมื่อใดที่เราตั้งเจตจำนง ปณิธาน หรืออุทิศกุศลทั้งหมดจากการภาวนาให้แก่สรรพสัตว์ ลองสังเกตประสบการณ์และมุมมองที่เปลี่ยนไป เมื่อใดที่เราภาวนา การอุทิศกุศลก็ควรมาคู่กันเสมอ
ขอให้สรรพสัตว์พบความสุขและเหตุแห่งความสุข
ขอให้สรรพสัตว์พ้นจากความทุกข์และเหตุแห่งความทุกข์
ขอให้สรรพสัตว์รื่นรมย์เบิกบาน ไร้ซึ่งความเศร้าหมอง
ขอให้สรรพสัตว์ดำรงอยู่ในความไว้วางใจ เป็นอิสระจากการยึดมั่นและความเกลียดชัง
ขอให้จิตวิญญาณแห่งการภาวนาในแต่ละวันของเรานำไปสู่การเปิดรับ ตระหนักรู้ และนำพาสรรพสัตว์ทั้งปวงข้ามฝั่งไปสู่การหลุดพ้น ด้วยพื้นที่ว่างอันไพศาลของใจ ด้วยความรักและความเข้าใจในธรรมชาติอันดีงามพื้นฐานของความไม่มีตัวตน ความดีงามทั้งหมดที่เราอุทิศ ก็คือความดีงามพื้นฐานที่มีอยู่แล้วในสรรพชีวิตที่ปรากฏ
“ด้วยอำนาจแห่งคุณงามความดี
ขอสรรพสัตว์จงไปสู่การรู้แจ้ง
ขอจงกำราบศัตรู หมู่มาร และความชั่วร้ายให้หมดสิ้น
จากคลื่นพายุโหมกระหน่ำแห่งการเกิด แก่ เจ็บ และตาย
จากมหาสมุทรวัฏสงสารอันกว้างใหญ่
ข้าขอปลดปล่อยสรรพสัตว์ทั้งปวง”