บทความโดย THANYA วัชรสิทธา
อ้อมดาวและนิว เพื่อนชาวเกาะพะงันที่ข้ามน้ำข้ามทะเลมาเจอกันอีกครั้งที่กรุงเทพเมืองแสงสี สองคนนี้ใช้ชีวิตอยู่ที่เกาะพะงันมานานหลายปี อ้อมดาวเป็นครูสอนโยคะ ส่วนนิวทำงานออกแบบและเล่นดนตรีกลางคืน และในปีโควิดที่ผ่านมา ทั้งคู่ก็ได้เริ่มต้นทำแบรนด์เครื่องดื่มคราฟค์โคล่า “ดื่มด่ำ” ซึ่งเป็นสิ่งที่พาเรามาเจอกันในวันนี้ ที่งาน Taste of Rights: ผัสสะแห่งสิทธิ ที่ The Jam Factory เมื่อวันเสาร์ที่ 10 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา
คราฟต์โคล่า ที่พาทั้งคู่เดินทางออกมาจากเกาะพะงัน ไปออกร้านในพื้นที่ใหม่ๆ เปิดเส้นทางแห่งความเป็นไปได้ทั้งแต่คนชง จนถึงคนดื่ม น่าจะมีอะไรมากไปกว่าแค่เครื่องดื่ม ในงานนี้เราเลยมาฟังทั้งคู่เล่าถึงจุดเริ่มต้น การทำงานร่วมกันและเส้นทางที่คราฟต์โคล่าเดินมาตั้งแต่เริ่มต้น
“ดื่มด่ำ” ของขวัญจากเกาะพะงัน
จุดเริ่มต้นของการทำคราฟต์โคล่าขาย มาจากช่วงล็อกดาวน์โควิดที่ทั้งคู่ไม่สามารถทำงานที่ทำอยู่เดิมได้ จึงต้องหาอาชีพใหม่ และอ้อมดาวก็เกิดไอเดียจากช่วงเวลาที่ทั้งคู่มักไปดูพระอาทิตย์ตกที่ริมทะเล และเห็นผู้คนนั่งชมวิวพร้อมกับเครื่องดื่มในมือ อยากทำเครื่องดื่ม soft drink ที่ใครก็ดื่มได้ เป็นตัวเลือกที่ไม่มีแอลกอฮอล์ คราฟต์โคล่าจึงถือกำเนิดขึ้นมา โดยทั้งสองไปเรียนรู้วิธีการทำ ปรับสูตรให้เพื่อนๆ ชาวเกาะมาช่วยกันชิม จนออกมาเป็นแบรนด์ ดื่มด่ำ ซึ่งชื่อนี้อ้อมดาวคิดไว้ตั้งแต่ก่อนจะเริ่มทำคราฟต์โคล่าขายแล้ว
“เราทำมาเรื่อยๆ ทำมาจนถึงจุดที่เราตระหนักได้ว่า มันพาเรามาไกลเหมือนกันนะ ในความรู้สึกที่ว่าเป็นการเดินทางกับมัน เราก็เดินทางกับมันมาเรื่อยๆ เหมือนไอเดียนี้ก็เล่นกับเราอยู่ตลอดเวลา” – นิวเล่า
สองปีกับการเดินทางเติบโตของอ้อมดาว-นิวและดื่มด่ำ เรียนรู้กันและกัน โลดแล่นไปบนพื้นที่ต่างๆ บนเกาะด้วยกัน และยังพาให้ทั้งสองคนเดินทางออกจากเกาะมาเติบโตในเมืองใหญ่ที่ท้าทายและหลากหลายกว่าเดิม
ทั้งนิวและอ้อมดาว ย้ำกับเราหลายรอบว่าสิ่งนี้ที่กำลังทำอยู่ คือ ของขวัญจากเกาะพะงัน “ตอนที่อยู่เกาะ ตอนที่กำลังจะออกจากเกาะ เราบอกทุกคนเลยนะว่าจริงๆ แล้ว นี่เป็นสิ่งที่เกาะพะงันให้เราเป็นของขวัญ ซึ่งเรายินดีมากๆ เขาให้เรา เขาอยากให้เราทำอันนี้ เขาอยากให้เราเป็นของขวัญ”
“คราฟต์” กลับไปหารากเหง้า เพื่อเปิดกว้างสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่
นิวเล่าย้อนให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของเครื่องดื่มโคล่าก่อนจะมาเป็นภาพจำในทุกวันนี้ ตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสหกรรมที่เพิ่งมีการคิดค้นโซดาขึ้นมา ผู้คนตื่นเต้นกับน้ำซ่าๆและเชื่อว่าสามารถรักษาโรคได้ ในสมัยนั้นโซดาวางขายตามร้านขายยา และเริ่มมีการผสม concentrate (น้ำผลไม้เข้มข้น) โดยมีส่วนผสมหลักคือเครื่องเทศและผลไม้ พวกอบเชย ซินามอน วานิลา และผลไม้ซิตรัส ส้ม มะนาว ใบโคคา ในตอนทำความรู้จักกับโคล่า พวกเขาก็กลับไปเริ่มจากตรงนั้น
นิวและอ้อมดาวทำแบรนด์ออกแบบร่วมกันในชื่อว่า HOM LOCAL CRAFT ที่นำผลิตภัณฑ์พื้นบ้านมาออกแบบใหม่ ผ้าทอท้องถิ่น เช่น ผ้าขาวม้า นำมาทำเป็นกระเป๋า beachware และนิวเล่าว่า ไปบังเอิญเจอกับวุ้นเส้นของกลุ่มแม่บ้านที่อำนาจเจริญ “กินแล้วก็รู้สึกว่า เฮ้ย! มันมีวุ้นเส้นแบบนี้ด้วยเหรอวะ ทำวุ้นเส้นเองเลยเหรอวะ ไม่เคยกินเลย เคยกินแต่แบบวุ้นเส้นในห้าง วุ้นเส้นทั่วไปตามท้องตลาด เราก็ไปคุยกับเขา เอาของเขามาขาย ทำแพ็คเกจใหม่ เล่าเรื่องในแบบของเรา”
“เรารู้สึกว่าสิ่งต่างๆ มันไม่ได้มีอยู่แค่ใน modern trade ในท้องตลาด เราไปเจอซีอิ๊วดอกบัวของสงขลา เจอซีอิ๊วของหาดใหญ่ เจอซีอิ๊วของเบตง… เออ มันมีซีอิ๊วแบบนี้ด้วยว่ะ รสชาติมันเป็นแบบนี้ มีเกลือแบบนี้ด้วยเหรอ กลายเป็นแบบว่า มันมีของดีที่ถูกซ่อนอยู่ ไม่ได้ถูกพูดถึงในการตลาด มันทำให้เรารู้สึกว่าความหลากหลายของการกิน การอยู่ การเลือกมันหายไป มันกลายเป็นว่ามีแต่ช้อยส์ที่เขามีให้เราเลือกแค่นี้ เราก็ใช้แค่นี้ เลือกแค่นี้ แต่พอเรามองเข้าไปลึกๆ มันยังมีอะไรมากไปกว่านั้น”
จากความตั้งใจที่จะพาของดีท้องถิ่นมาอวดโฉมกับชาวเกาะและชาวกรุง ส่วนผสมของโคล่าดื่มด่ำจึงเน้นที่ผลิตพันธ์ท้องถิ่น น้ำตาลโตนดจากสงขลา น้ำตาลมะพร้าวจากสมุทรสาคร กระเจี๊ยบแบบไทยๆ ที่เป็นการสนับสนุนชุมชนไปพร้อมๆ กัน
“เอาจริงๆ เครื่องเทศในไทยมันเยอะมาก มีทุกอย่าง มีหมดเลย แต่คนจะไม่ค่อยเห็นว่าเครื่องเทศมันอยู่ตรงไหน เหมือนเรากินพะโล้ เราไม่รู้ว่าในนั้นมันมีอะไรบ้าง ไม่รู้ว่าเขาเรียกอะไรบ้างที่เขาใส่พะโล้ แต่เรากินพะโล้ทุกวันเว้ย ซึ่งเครื่องเทศพวกนั้นบ้านเรามีมันครบทุกอย่างเลยมันเป็นสิ่งที่อยู่กับเราอยู่แล้ว”
แก้วโคล่าที่เต็มไปด้วยเรื่องราว
ถ้าใครได้มีโอกาสไปเจอร้านดื่มด่ำตามงานอีเว้นท์ต่างๆ จะรู้เลยว่านิวและอ้อมดาวไม่ได้ขายแค่คราฟต์โคล่า แต่ยังถ่ายทอดเรื่องราวเบื้องหลังที่มาของเครื่องดื่มแก้วที่คุณซื้อไปให้ด้วย ด้วยการตกแต่งร้านที่ไม่ว่าไปในสถานที่ไหน ดื่มด่ำก็จะปรับตัวเองเข้ากับมุมนั้นในสถานที่แห่งนั้น แสดงความ “ชาวเกาะพะงัน” ออกมาอย่างกลมกล่อม ของตกแต่งร้านที่มาจากทะเล และบรรยากาศที่แผ่ออกมาจากตัวทั้งคู่
เมื่อของขวัญชิ้นนี้พาทั้งคู่เดินทางออกจากเกาะ สิ่งที่นิวและอ้อมดาวสื่อสารออกไปแก่ทุกคนก็คือเรื่องราวบนเกาะพะงัน ผู้คน ชุมชน วัฒนธรรม บรรยากาศ และจิตวิญญาณของเกาะ “เราคิดว่าเราเป็น channel ของเกาะ เรากับนิวมองเห็นภาพเดียวกันว่าสิ่งนี้เป็นของขวัญที่เกาะพะงันให้ ละที่นี้เราจะทำไงต่อกับของขวัญชิ้นนี้ เราก็รับมันไว้ด้วยความเต็มใจเพราะเรารักพื้นที่นี้ เราก็ตั้งใจมากๆ ที่จะทำมัน สื่อสารมันออกไป เท่านั้นเอง” อ้อมดาวเล่า
ของขวัญจากเกาะชิ้นนี้ไม่ใช้ได้มาแล้วก็จบ แต่คราฟต์โคล่ามีชีวิตโลดเต้นโต้ตอบกันตลอดเวลา เรียกได้ว่าเป็นเหมือนการทำงานร่วมกันของคนต้มและตัวเครื่องดื่ม แม้แต่โคล่ามะขามที่อ้อมดาวทำมาขายในอีเว้นท์รอบนี้ ยังออกมาด้วยเวทมนตร์ที่อ้อมดาวก็ยังบอกว่า มันไม่ได้มาจากเธอคนเดียว “เราก็รู้ว่าตัวโปรดักมันจะดิ้นได้อยู่แล้ว แต่อันนี้มันมาเองนะแก! มะขามอันนี้ก็มาเอง! ตอนนั้นแบบ กูคิดไรไม่ออก เออ เอามะขามมาใส่ วันก่อนเจอมะกรูด ก็เอามาใส่ ก่อนหน้าเจอสาโทก็ลองเอามาเติม เฮ้ยมันได้ ไม่พอ เอาบ๊วยลงไปใส่ มันก็มาของมันเอง”
ขั้นตอนการคราฟต์ที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณ
จากพื้นที่เกาะพะงันที่ไม่ได้มีแค่มุมของการปาร์ตี้ แต่ยังมีด้านของจิตวิญญาณที่หากคุณเป็นผู้แสวงหาทางจิตวิญญาณ จะต้องเคยได้ยินเรื่องราวหรืออาจจะต้องเคยไปเกาะพะงันสักอย่างน้อยหนึ่งครั้ง คราฟต์โคล่าของอ้อมดาวและนิวที่เกิดขึ้นจากบรรยากาศนั้นก็อบอวลไปด้วยจิตวิญญาณในทุกกระบวนการ
“เรามี ritual ในการทำ อย่างเวลาเราทำโคล่า เราชอบเปิดเพลงพระแม่ฟังไปด้วย เพลงอินเดีย เพลงสวด เรารู้สึกว่ามันอยู่ใน comfort zone และมันทำให้เรามีสมาธิ ใครจะทำอะไรฉันไม่ได้ ฉันได้รับการปกป้อง และตอนทำก็ blessing ใส่น้ำโคล่า ขอให้คนกินอร่อย บางทีที่มันสะดุด เราก็หยุดแล้ว เอ้อ ยังไงต่อ แล้วจู่ๆ ก็รู้ว่าต้องใส่อันนี้ อันนี้ เหมือนมีใครมาบอก มีครูมาบอก (หัวเราะ) พอมีปัญหามา เหมือนตอนโคล่าไหม้ มันขม เราอยู่กับมันในหม้อห้าลิตร ตีสอง นิวต้องไปทำอย่างอื่น ทำส่วนทางโลกย์ เราก็อยู่ในครัว เอาไงดีวะ คุยกับตัวเอง เริ่มคุยกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์์ละ หันไปเจอมะขาม ใส่เลย ชิมไป เติมเกลือหิมาลายัน มา! ไล่ผี! สุดท้ายมันใช้ได้ อร่อยเลย”
กิจกรรมที่ทั้งคู่ทำเป็นประจำเวลาอยู่ที่เกาะพะงันคือกลุ่มนั่งภาวนารวมตัวกับเพื่อนๆ ทุกสัปดาห์ อ้อมดาวเล่าว่า ในการทำโคล่าทุกขั้นตอนก็เหมือนกับได้ใช้ความรู้สึกจากการภาวนามามีส่วนร่วม การทำ “ดื่มด่ำ” นี้เป็นทั้งการทำงานกับนิว พาร์ทเนอร์ของเธอ ทำงานกับตัวโคล่าในการสร้างสรรค์ และทำงานกับตัวเอง ทั้งในการมีสมาธิอยู่กับกระบวนการ และเวลาที่ต้องออกไปสัมพันธ์กับลูกค้าในพื้นที่ต่างๆ
อ้อมดาวผูกพันธ์กับชุมชนของวัชรสิทธามาอย่างยาวนาน เห็นหน้าเห็นตากันอยู่เสมอ ทั้งคู่ก็ซึมซับกับคำสอนและวิถีปฏิบัติของท่านเชอเกียม ตรุงปะ ที่เป็นแก่นหลักของวัชรสิทธาจนเข้าไปเป็นความเข้าใจในเนื้อในตัว และให้สิ่งเหล่านั้นมาอยู่ในวิถีชีวิตทางโลกย์อย่างไม่แยกขาดและมีการตระหนักรู้อยู่เสมอ
แม้ว่าจะอยู่ห่างไกล แต่เมื่อไหร่ที่เราเป็นกัลยาณมิตรทางจิตวิญญาณแล้วระยะทางหรือระยะเวลาก็ไม่ได้ทำให้ความสัมพันธ์เจือจางลง เมื่อไหร่ก็ตามที่ได้กลับมาพูดคุยกันก็จะรู้สึกราวกับว่าไม่ได้แยกจากกันเลยแม้แต่น้อย และชุมชนทางจิตวิญญาณก็จะโอบอุ้มกันและเกื้อหนุนกันในเส้นทางจิตวิญญาณที่ไม่ใช่ทางที่ง่าย แต่เต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่า ความจริงแท้ และสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง
“ชุมชนสังฆะวัชรสิทธา ดีใจที่เราได้เป็นส่วนหนึ่งเสมอ ตั้งแต่เรายังไม่ทำโคล่า หรือเป็นอะไร ตั้งแต่เรายังปีกหักซะด้วยซ้ำ เราก็มีสังฆะคอยโอบอุ้มเราอยู่เสมอ แม้จะอยู่ไกล ย้ายไปอยู่เกาะพะงัน ตอนนี้เราเติบโตแล้ว เริ่มมาหัดเดินในกรุงเทพ ชุมชนนี้ก็คอยโอบอุ้มเราทั้งให้พื้นที่กับโคล่า และทั้งเรากับนิวไม่รู้สึกโดดเดี่ยวกลางกรุง เหมือนสังฆะคอยโอบอุ้ม soul ของเราด้วย”
มากกว่าเครื่องดื่มโคล่าเย็นๆ หอมๆ แต่เป็นจิบสู่การเปิดรับประสบการณ์
“อ้อมดาวเรียกมันว่า conscious drink” นิวชี้แก้วที่อยู่ในมือ
เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นงานคราฟต์ สิ่งที่ทำด้วยมือมนุษย์ย่อมต่างจากของที่มาจากโรงงาน จากเครื่องจักร แม้จะไม่สมบูรณ์แบบไร้ที่ติอย่างโคล่ายี่ห้อที่เราเห็นขายทั่วไป แต่สิ่งที่สร้างขึ้นมาจากมือสื่อสารออกไปโดยตรง จะเต็มไปด้วยชีวิต เรื่องราว และความเป็นไปได้ที่จะเปิดกว้างออกไปไกลอย่างที่สินค้าอุตสาหกรรมไม่มีทางทำได้
“สุดท้ายแล้วคราฟต์โคล่ามันจะอยู่ตรงไหน มันก็คือ sensation ของคน ของเฉพาะตัวเขาเอง วันหนึ่งที่เราผลิต มันคือของเราแต่พอเราปล่อยน้ำแก้วนี้ออกไปมันไม่ใช่ของเราแล้ว มันคือการรับรสของเขาที่เขาจะสัมพันธ์กับเรายังไง” อ้อมดาวเล่า “มันเหมือนเป็น message ที่ส่งต่อว่า ในสิ่งที่คุณทำทุกสิ่งทุกอย่าง คุณคิดกับมันยังไง เหมือนเราทำชงน้ำ คนมาบอก นี่มันน้่ำพะโล้เย็น บางทีถ้าเราไม่ได้ฝึกจิต หรือเราไม่ได้เปิด เราคงโกรธ คงด่าไปแล้ว แต่เรามองว่าเราต้องสลายตัวตนเราไป มันไม่ใช่ของเรา มันเป็นความคิดของเขา เราสร้างเครื่องดื่มของเราอย่างดีที่สุดแล้ว และเราก็ปล่อยมันออกไปให้คนมีประสบการณ์กับมัน เขาอาจจะอร่อยไม่อร่อย ก็เป็นเรื่องของเขา”
อิสรภาพแห่งทางเลือกจากคราฟต์โคล่าแล้วนี้ในมือ
“คนถามว่าเราทำแบบนี้มันจะไปสู้แบรนด์ใหญ่ได้หรอ เราก็บอกว่ามันสู้ไม่ได้หรอก แต่ถ้าเราไม่ทำมันก็จะไม่มีทางเลือกที่เแยกออกมา มันก็เท่าเดิม อย่างคราฟต์เบียร์มันก็ทำกันมานานมากๆ กว่าสังคมไทยจะรู้ว่าเขาทำเบียร์เองกันได้ด้วย มันนานกว่าคนจะตระหนัก จะมี awareness กับมันได้ มันเป็นเรื่องเดียวกัน คือสิ่งที่คนธรรมดาทั่วไป อยากจะสร้างอะไรบางอย่าง อยากจะทำ start up อยากทำคราฟต์เบียร์ อยากทำแบรนด์อะไรที่มันมี way ของตัวเอง ให้มันเกิดความหลากหลายในตลาด เข้าไปแชร์ส่วนแบ่งกับเจ้าใหญ่ๆ บ้าง” – นิวเล่า
ผู้คนมักชินกับการรับรู้ว่าโคล่ามีแค่รูปแบบเดียว โค้ก เป๊ปซี่ หรือยี่ห้ออื่นๆ ที่วางขาย การทำคราฟต์โคล่าที่ทั้งคู่ทำนั้นราวกับทำให้โคล่าเป็นอิสระจากการผูกขาดภาพจำของผู้คน ขัดจังหวะความเคยชินในรสชาติเดิมๆ ภาพผลิตภัณฑ์เดิมๆ เพิ่มทางเลือก สร้างความหลากหลายให้แก่พื้นที่แห่งการลิ้มรส “แกนของเราจริงๆ มันไปไกลกว่าน้ำ มันคือภาพพระอาทิตย์ตกที่เราได้ไปด้วย มันคือเพื่อนๆ เรา มันคือชุมชน มันคือประสบการณ์”
เราถามอ้อมดาวว่าเวลาทำเครื่องดื่มแต่ละแก้วให้ลูกค้าเธอรู้สึกยังไง แก้วคราฟต์โคล่าที่เป็นตัวแทนของการเดินทาง ประสบการณ์ มิตรภาพ ทางเลือกใหม่ๆ เครื่องดื่มของขวัญจากเกาะพะงัน สู่คนที่กำลังจะดื่มมันเข้าไป
“เราอยากให้เขาอร่อยและมีความสุข มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ และสิ่งที่เขาตัดสินใจทำ แค่ดื่มด่ำ แค่รับผิดชอบในสิ่งที่ทำ หรืออาจจะไม่ก็ได้ เคยมีลูกค้ามากินแล้วบอกไม่อร่อย เราก็บอกเขาว่า มันอาจจะไม่ใช่โค้กที่อยู่ในใจคุณ แต่มันคือ sensation ของคุณ เราให้มันเป็นประสบการณ์ของเขา มันอาจจะมาป๊ะมาชนกับเราบ้าง แต่มันก็ทำให้ได้เรียนรู้ว่าโลกมันหลากหลาย และความหลากหลายนั้นสวยงาม”