บทความโดย ธัญญา ศรีธัญญา [THANYA วัชรสิทธา]
บทสะท้อนประสบการณ์จากการเข้าร่วมกิจกรรม Lineage Blessing : พรแห่งสายธรรม กับ Elizabeth Olmsted
ในค่ำคืนพิเศษที่วัชรสิทธาคืนนี้ เอลิซาเบ็ท โอล์มสเต็ท พี่สาวแห่งสายธรรม ศิษย์ใกล้ชิดของเชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช เธอพบครูของเธอตั้งแต่ช่วงปี 1970s ขวบปีที่ตรุงปะเริ่มวางรากฐานพุทธธรรมในอเมริกา และดึงดูดลูกศิษย์ชาวตะวันตกมากมาย และภายหลัง ศิษย์เหล่านั้นก็ได้นำธรรมะกระจายออกไปทั่วทุกทิศทาง
เอลิซาเบ็ทใช้ชีวิตอยู่ที่หัวหิน ประเทศไทย และในโอกาสพิเศษเล็กๆ นี้ เราเชิญเธอมาที่วัชรสิทธาเพื่อเล่าเรื่องราวสายสัมพันธ์ที่เธอมีต่อธรรมะ และต่อครูของเธอ
พบครู
ในวัยสาว เอลิซาเบ็ทเดินทางตามหาความหมายของชีวิต ประสบการณ์โชกโชนข้ามน้ำข้ามทะเล ไปอังกฤษ อเมริกา อินเดีย ใช้ชีวิตในอาศรมฮินดู หาทางจัดการชีวิตตัวเองเพื่อให้สามารถแสวงหาและเติบโตทางจิตวิญญาณได้ตั้งแต่อายุยังน้อย เธอเล่าว่า คนอื่นอาจเข้าใจว่าเธอมีเงินเยอะ เลยทำแบบนี้ได้ “เปล่าเลย ฉันฉกฉวกทุกโอกาสที่จะทำให้สามารถเดินบนเส้นทางนี้ และดูเหมือนว่า ทุกๆ ครั้ง มันจะไปรอดได้เสมอ“
หลังจากผ่านการแสวงหาอย่างเข้มข้น แต่ยังไม่พบคำตอบ เอลิซาเบ็ทได้พบกับหนังสือ meditation in action เขียนโดย เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช เธออ่านหนังสือเล่มนี้และเกิดแรงบันดาลใจอยากพบกับผู้เขียน จึงเดินทางออกจากอาศรมที่อยู่ในตอนนั้น เพื่อมาฟังการบรรยายของตรุงปะ
“It was love at the first sight”
นั่นคือวินาทีที่เธอได้เจอกับตรุงปะ เธอบอกได้ทันทีว่า “นี่คือครูของฉัน” เอลิซาเบ็ทฝึกปฏิบัติใกล้ชิดกับตรุงปะ เป็นเวลา นาน 8 ปี ก่อนจะเดินทางไปใช้ชีวิตในเนปาล ที่ซึ่งเธอมีโอกาสได้ใกล้ชิดกับ ตุลกุ อูเจ็น รินโปเช และลามะที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ อีกหลายท่าน
มีคนถามเธอว่า หลังจากการตกหลุมรักตรุงปะแล้ว พอได้มาอยู่ด้วยกันจริงๆ เป็นยังไงบ้าง เจอด้านอื่นๆ ของครูแล้วรับไม่ได้บ้างไหม เธอตอบอย่างไม่ลังเลว่า
“ตรุงปะมีเพียงด้านเดียว คือความเยี่ยมยอดและความกรุณา”
“พอมาย้อนนึกดู ตอนนั้นที่ตกหลุมรักเขา ฉันไม่ได้แยกแยะเลยว่ามันคือความรักแบบไหน แบบหนุ่มสาว แบบโรแมนติค หรืออะไร แต่มองกลับไปก็ ใช่ มันต่างกัน ความรักที่มีต่อครู และความรักของครู นั้นไม่เคยทำให้ผิดหวัง และไม่เคยหายไปไหนเลย“
Do it yourself
เอลิซาเบ็ทเล่าว่า ในการบรรยายครั้งแรกของตรุงปะที่เธอไปฟัง ท่านบอกว่า ศาสนาพุทธเป็นเส้นทางแบบ “Do It Yourself” ท่านตรุงปะไม่สามารถฉุดช่วยใครได้ทั้งนั้น “การตื่นรู้เป็นของเธอและมีเพียงเธอเท่านั้นที่จะสามารถเดินทางไปถึงได้” สิ่งนี้เองเป็นแรงบันดาลใจให้เธอมาพบเขาและเป็นศิษย์ของเขา
ตรุงปะกล่าวว่า Enlightenment การตื่นรู้นั้นมีอยู่แล้วในตัวเรา หากจะพูดให้ตรงกว่านี้ก็คือ เราคือธรรมชาติของการตื่นรู้
เช่นนั้นแล้วปัญหามันอยู่ตรงไหนล่ะ ถ้าเราคือความตื่นรู้อยู่แล้ว คำตอบคือก็เพราะเราเข้าใจผิด เราหลับใหลอยู่ และเราหลงลืมธรรมชาติที่แท้จริงของตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ มองให้เห็นสภาวะแห่งการตื่นรู้นั้น เราต้องเดินทางย้อนกลับสู่การเป็น what we really are
เอลิซาเบ็ทเล่าว่า บ่อยครั้งเมื่อเราฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณ เราทำตามสิ่งที่ถูกสอนไปเรื่อยๆ มักจะเกิดคำถามว่า “นี่เรากำลังทำอะไรอยู่เนี่ย?” แล้วที่นี้ในการภาวนาแบบ DIY ที่ว่านี้ คือเรากำลังทำอะไร
เอลิซาเบธ สรุปสิ่งที่เธอเรียนรู้จากตรุงปะว่า การฝึกปฏิบัติทางจิตวิญญาณทั้งหมดที่เราทำนั้น สามารถจำแนกออกได้เป็นสองประเภท
- Cutting through ทะลวงสิ่งกั้นขวางทางจิตทั้งหลายออกไป
- Pointing out ชี้ให้เห็นถึงธรรมชาติของจิต
นี่คือสองสิ่งที่อยู่ในการเดินทางไปสู่ความตื่นรู้ภายในตัวเอง พอมีเส้นทางและจุดหมาย เราก็เป็นผู้เดินและผู้รับผิดชอบเส้นทางของตนเอง นั่นคือความหมายของเส้นทางแบบ DIY
Supplication to the Takpo Kagyus
บทสักการะสายธรรมทักโป คากิว
เอลิซาเบ็ทเลือกนำบทสวดในสายธรรมมาให้อ่านและใคร่ครวญความหมายของแต่ละบทตอน เธอเล่าว่า บทสวดสองบทแรกที่ตรุงปะมอบแก่นักเรียนของเขา คือบท Supplication to the Takpo Kagyus บทสักการะสายธรรมทักโป คากิว และบทสวด The Sutra of the Heart of Transcedent Knowledge หฤทัยสูตรแห่งความรู้อันข้ามพ้น ซึ่งในยุคนั้น เมื่อลูกศิษย์แต่ละตนได้รับไปจะเก็บไว้อย่างดีราวกับของศักดิ์สิทธิ์ ห้ามวางพื้น ห้ามหาย
เมื่อเอลิซาเบ็ทพาเราอ่านบทสักการะไปทีละท่อน เธอชี้ให้เห็นถึงความล้ำลึ้ก และความหมดจดของคำสอนที่ร้อยเรียงอยู่ในบทสวดบทเดียว
เริ่มต้นของบทสักการะสายธรรม เป็นการปลุกเร้า (Invocation) ต่อคุรุ ครูบาอาจารย์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผู้พิทักษ์ และเหล่ามหาสิทธา ด้วยการขานชื่อ ทุกครั้งที่มีการขานชื่อคุรุ แรงสั่นสะเทือนจะปลุกเร้าขึ้นมาภายใน เป็นสิ่งง่ายๆ ที่ทรงพลังและยิ่งใหญ่
ต่อจากนั้นเป็นการสรรเสริญ (Praise) ต่อเหล่าผู้ที่เดินทางมาก่อน จากนั้นจึงเป็นการกล่าวว่า “I hold your lineage; grant your blessing so that I will follow your example.” ข้าขอสืบทอดสายธรรมของท่าน ได้โปรดประทานพร เพื่อที่ข้าจะน้อมนำท่านเป็นแบบอย่าง”
“มันเป็นคำพูดที่ยิ่งใหญ่มากเลยนะ ข้าขอเป็นผู้สืบทอดสายธรรม มันหมายความว่าเรารับเอาสิ่งนี้มาถือไว้ และเราจะต้องเป็นคนลงมือทำเองแล้วนะ”
Pointing out
ชี้ให้เห็นถึงธรรมชาติของจิต
ท่อนกลางของบทสวด เป็นการ pointing out หรือการชี้ให้เห็นธรรมชาติของจิต ซึ่งเป็นหัวใจของการภาวนาในสายปฏิบัติวัชรยาน เอลิซาเบ็ทชวนพวกเราให้อ่าน และแลกเปลี่ยนกัน ในแต่ละท่อนจะเป็นคำสอนที่แตกต่างกันออกไป
ในท่อนหนึ่ง กล่าวว่า
“Awareness is the body of meditation, as is taught.
Whatever arises is fresh-the essence of realization.
To this meditator who rests simply without altering it
Grant your blessings so that my meditation is free from conception.
ความตระหนักรู้คือร่างกายแห่งการภาวนา ดังที่ท่านสอนไว้
ไม่ว่าสิ่งใดบังเกิดล้วนสดใหม่ หัวใจแห่งการรู้แจ้ง
สำหรับผู้ปฏิบัติที่สามารถดำรงอยู่ในธรรมดาสภาวะโดยปราศจากขัดขืน
ได้โปรดประทานพร เพื่อที่การภาวนาของข้า จะปราศจากหลักการปรุงแต่งทั้งปวง”
ท่อนนี้เป็นการชี้ให้เห็นว่า ทุกสิ่ง ทุกความคิด ทุกประสบการณ์ ล้วนเป็นการตื่นรู้ หากเราไม่เข้าไปรบกวน ขัดขวางมัน เช่นความคิดที่โผล่เข้ามาระหว่างการภาวนา หากเราพยายามไปหยุด หรือไปจับมัน ก็ไม่ต่างจากการพยายามสร้างแมวกับหนู ให้วิ่งไล่วนอยู่ในจิตอย่างนั้น แต่เราเพียงปล่อยให้ความคิดเข้ามา และดำรงอยู่ตรงนั้นด้วยความตระหนักรู้ รับรู้เฉยๆ มันก็จะสลายไปสู่ความว่างเช่นเดิม ซึ่งเมื่อฝึกไปเรื่อย เราสามารถใช้คุณสมบัตินี้กับทุกสิ่ง คนที่มาด่าเรา เรื่องที่เราไม่ชอบใจ ความทุกข์ ความเจ็บปวด ซึ่งล้วนเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หากเราเพียงอยู่ มันก็จะสลายไปเองตามธรรมชาติ
ท่าทีแบบนี้ไม่ได้หมายความว่า จะทำให้เราไม่มีประสบการณ์อะไรเลยเพราะไม่โต้ตอบ กลับกัน เมื่อเราอนุญาตให้ทุกสิ่งเข้ามาในตัวเรา เราอยู่กับมันอย่างเต็มที่โดยไม่พยายามเปลี่ยนแปลงมัน เราจะได้รับประสบการณ์ที่เต็มเปี่ยม และในที่สุดมันก็จะโฟลว์ผ่านเราไป
ในส่วนสุดท้ายของบทสักการะ เป็นการร้องขอให้เราได้อยู่กับครู เมื่อได้อ่านท่อนสุดท้ายนี้ ก็รู้สึกถึงความไม่แยกขาดของตัวเรากับสายธรรม เป็นความซาบซึ้งเต็มตื้นในความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิตที่อยู่ในกระแสธารแห่งธรรมะนี้ร่วมกับกัลยาณมิตร เพื่อนพี่น้องทางธรรม และเหล่านักรบทั้งหลายที่เดินมาก่อนหน้า
หินยาน มหายาน วัชรยาน
ลูกศิษย์ตรุงปะทุกคนจะต้องเรียนและฝึกปฏิบัติตั้งแต่ขั้น หินยาน มหายาน ก่อนจะเข้าสู่วัชรยาน เอลิซาเบ็ทเล่าถึงการเรียน Seminary รีทรีทสามเดือนซึ่งถือเป็นการปฏิบัติเข้มข้นที่ตรุงปะจะสอนทุกปี ตลอดช่วงเวลาที่สอนธรรมะที่อเมริกา สามเดือนนั้นจะเป็นการเรียนปริยัติ การฝึกปฏิบัติอย่างหนัก และฟังบรรยายจากตรุงปะ
ทุกครั้งที่ตรุงปะมาบรรยาย แม้ท่านจะดื่มหนักแค่ไหน แต่เมื่อเริ่มถ่ายทอดคำสอน ท่านจะแม่นยำ เฉียบคม เต็มไปด้วย wisdom ไม่มีท่าทีความเมามายแม้แต่น้อย เธอเล่าว่าช่วงเวลาที่ตรุงปะมาสอนจะเป็นอะไรที่พิเศษมากๆ
ลูกศิษย์ตรุงปะคือผู้ฝึกวัชรยาน เมื่อถามว่า วัชรยานคืออะไร? สำหรับเธอเองก็ไม่สามารถให้คำจำกัดความ ความหมายของวัชรยานตามขนบได้ เธอเล่าจากประสบการณ์ว่า วัชรยานนั้นคือการ embody ทุกประสบการณ์ เราใช้ชีวิตอย่างเต็มที่ ไม่ต้องพยายามเป็นใครหรือเป็นอะไร เราสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ด้วยมุมมองของความตื่นรู้ มุมมองของความศักดิ์สิทธิ์ และให้สิ่งเหล่านั้นเข้ามาเป็นเนื้อเป็นตัวเรา ขยายความเป็นไปได้ออกไปไม่รู้จบ
เธอยังกล่าวเสริมว่า “หินยานและมหายานไม่เคยหายไปไหนเลย บางครั้งเราเกิดความโกรธรุนแรงขึ้นมา มันไม่ใช่ว่า เฮ้ย เราเอาความโกรธนั้นเข้ามาเป็นตัวเราแล้วใส่เลย ไม่ใช่ เราใช้หินยานหยุดมันไว้ไม่ให้ไปทำร้ายคนอื่น เหมือนเอาฝามาครอบไว้ บางครั้งเรารู้สึกไม่ชอบใครบางคน ไม่อยากชวนคนนี้มาปาร์ตี้ จังหวะนั้นเราก็ใช้ท่าทีแบบมหายาน ในการเปิดตัวเองออกไปโอบรับผู้อื่นเข้ามา ทั้งสามยานเกิดขึ้นอยู่เสมอ เกิดขึ้นพร้อมกันอยู่ตลอดเวลา”
เชอเกียม ตรุงปะ
มีผู้ฟังถามอลิซาเบ็ทว่า สำหรับเธอ สายธรรมคืออะไร? มันหมายความว่าอะไรในการอยู่ในสายธรรม?
“มันเหมือนการได้กลับบ้านที่แท้จริง” เธอเล่าว่าเธอมาจากครอบครัวที่ไม่อบอุ่น เมื่อได้มาเป็นนักเรียนตรุงปะ ได้อยู่ร่วมกับผู้ปฏิบัติ มันทำให้เธอรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน อยู่กับครอบครัว
และด้วยท่าทีของผู้ปฏิบัติที่ฝึกฝนไปสู่การตื่นรู้ ท่าทีของการสัมพันธ์กับทุกสภาวะอย่างตรงไปตรงมา เธอรู้สึกว่าเมื่อเธออยู่ในสายธรรมนี้ เธอจะเป็นอะไรก็ได้ เผชิญกับอะไรก็ได้
“ตรุงปะไม่เคยพยายามที่จะหลบเลี่ยงความเจ็บปวดเลย เขาเคยชอบนักเรียนหญิงคนนึง แต่เธอปฏิเสธเขา เขาร้องห่มร้องไห้ด้วยความเสียใจ และแซวตัวเองว่า “ใครจะมาอยู่ดูแลใจฉันในคืนนี้เนี่ย?” เขาพร้อมจะเปิดรับทุกความเจ็บปวดเข้ามา อยู่กับมันอย่างเต็มที่ แต่ก็สามารถล้อเล่นกับตัวเองได้ ฉันอยู่กับเขาที่เป็นแบบนี้มันทำให้รู้สึกว่า ทุกสภาวะสามารถเผชิญได้“
ความทุกข์ ความเจ็บปวด สังสารวัฏมีอยู่จริงที่นี่ แต่เราไม่ได้มาเรียนธรรมะ ฝึกปฏิบัติ เพื่อจะเดินทางไปไหน นิพพานไม่ใช่ที่อื่น มันคือที่นี่ ความทุกข์เดียวกัน ความเจ็บปวดเดียวกันนี่แหละ สิ่งที่เปลี่ยนคือ จิตที่ตื่นรู้
“..ได้โปรดประทานพร เพื่อที่ข้าจะตระหนักถึงความไม่แยกขาดของสังสารและนิพพาน
ไม่ว่าจะผ่านไปสักกี่ชาติ ขอให้ข้าไม่แยกขาดกับคุรุผู้ทรงคุณ
ได้ร่วมรื่นรมย์ในรสพระธรรมอันหอมหวาน
ก้าวเดินบนเส้นทางอันเลิศล้ำ
ขอให้ข้าเข้าถึงวัชรดาราโดยพลัน”