บทความโดย แบรี่ บ็อยส์
แปลและเรียบเรียงโดย วิจักขณ์ พานิช
![](https://vajrasiddha.com/wp-content/uploads/2023/05/ship2-1024x536.png)
ในพุทธศาสนา มีคำศัพท์มากมายที่อธิบายถึงการกระทำที่มัวหมองของมนุษย์ เช่น บาป, กรรม, กิเลส, นิวรณ์, อกุศล, ฯลฯ ทว่าความงดงามของพุทธศาสนาคือ การไม่โฟกัสไปที่การกล่าวโทษหรือตัดสิน
พุทธศาสนาเน้นย้ำให้เข้าใจถึงธรรมชาติของสังสารวัฏ ซึ่งไม่ใช่บาปกำเนิด แต่เป็นเพียงมุมมองที่ผิดพลาด เป็นความผิดพลาดที่เริ่มต้นเล็กๆ แล้วจึงค่อยๆ ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเราเริ่มเข้าใจและมองเห็นมุมมองที่ผิดพลาด เราก็อาจหยุดให้ความเข้าใจผู้กระทำความผิดพลาด แล้วค้นหาว่าเราได้ทำผิดพลาดเช่นไรตั้งแต่ทีแรก
ในตอนต้น มุมมองที่ผิดพลาดอาจพรางตาเรา กระทั่งคิดไปว่า “มีบางสิ่งที่ผิดปกติเกี่ยวกับฉัน” เช่น ฉันเป็นคนไม่โอเค ฉันไม่ดีพอ ฉันห่วยแตก เป็นต้น มันต้องใช้ความอดทนและความเพียรในการดำรงสติอยู่กับความเป็นจริงของประสบการณ์ เพื่อที่จะมองเห็น “สิ่งที่เข้ามาทำให้ใจเศร้าหมอง” ตามที่เป็นจริง และเห็นว่า มันต่างจากธรรมชาติของสิ่งที่เราเป็นจริงๆ อย่างไร
กิเลส แปลว่า อุปสรรค หรือ ความไม่บริสุทธิ์ เป็นบางสิ่งบางอย่างที่เข้ามากั้นขวาง ทำให้จิตมัว หมอง หรือติดขัด
แกนกลางของ “กงล้อชีวิต” มีภาพที่แสดงให้เห็นถึงพลังงานที่ขับเคลื่อนสังสารวัฏ ประกอบด้วยสัตว์สามตัว ซึ่งเป็นตัวแทนของ “ยาพิษทั้งสาม” เป็นรากของกิเลส หรือแก่นอันเน่าเฟะของสังสารวัฏ
หมู เป็นตัวแทนของ โมหะ หรือความไม่รู้ และความเพิกเฉย
ไก่ เป็นตัวแทนของ ราคะ หรือ การยึดมั่นถือมั่น และความอยากไม่มีที่สิ้นสุด
งู เป็นตัวแทนของ โทสะ หรือ ความโกรธ และความก้าวร้าว
![](https://vajrasiddha.com/wp-content/uploads/2023/05/b0923da898e06fd546a3056aca225110.jpg)
ก่อกวนและยุ่งเหยิงอย่างที่มันเป็น กระนั้นกิเลสก็ดำรงอยู่ชั่วครั้งชั่วคราว มาๆ ไปๆ แต่ด้วยความที่มันแท็คทีมร่วมกับกรรม จึงพัฒนากลายเป็นมวลพลังของแนวโน้มและความเคยชิน
“ราวกับคู่หูศิลปินผู้เก่งกาจและเฉลียวฉลาด กรรม กับ กิเลส ร่วมมือกันสรรค์สร้างสังสารวัฏอันนำชีวิตไปสู่วงจรแห่งความทุกข์”
กรรม คือผลรวมของการกระทำในอดีต ที่ก่อให้เกิดเป็นนิสัยและความเคยชินในการเห็นสิ่งต่างๆ ในแบบหนึ่ง ส่งผลต่อเนื่องเป็นโมเมนตั้มของกิจกรรมในชีวิตเราทั้งหมด ส่วน กิเลส เข้ามาสวมรอยใช้งานโมเมนตั้มนั้น ด้วยการบรรจุหีบห่อเป็นชุดการตอบโต้ เพิกเฉยไม่รู้ไม่ชี้, ผลักไส, ดึงเข้า และขยายเป็นรูปแบบอีกนับไม่ถ้วนบนธีมหลักสามอย่างนั้น เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่า เราจะไม่มีทางมีประสบการณ์ของชั่วขณะอันสดใหม่ของความเปิดกว้าง และหากกิจกรรมของกิเลสถูกขัดจังหวะ เราจะสามารถมีประสบการณ์ของความเปิดกว้างและอิสรภาพได้ในทันที ณ ชั่วขณะนั้นๆ ซึ่งหากประสบการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบ่อยและขยายความเป็นไปได้ออกไป สังสารวัฏก็อาจพลิกเปลี่ยนเป็นนิพพาน ซึ่งหมายถึง การหลุดพ้น หรือการรู้แจ้ง
ในโลกตะวันตก นอกจากจะแปล “กิเลส” ว่า “defilement” (มลทิน, ความด่างพร้อย) บ่อยครั้งในทางจิตวิทยา เรายังพบกับคำว่า “conflicting emotions” ในที่นี้ กิเลสคือ “อารมณ์ขัดแย้ง” ที่พลุ่งพล่าน ไม่คลี่คลาย ไม่ปลดปล่อย ในโลกสมัยใหม่อาจรวมถึงสภาวะจิตที่รวมศูนย์ไปที่ตัวตน อย่างความวิตกกังวล ความกลัว ความโกรธ ความอิจฉาริษยา ความหดหู่ซึมเศร้า ฯลฯ เมื่อเรานึกถึงมนุษย์ที่มีเลือดมีเนื้อ เราจะนึกถึงอารมณ์ที่พลุ่งพล่าน เป็นไปไม่ได้ที่ในฐานะ “มนุษย์ปุถุชนที่มีกิเลส” เราจะกำจัดสิ่งที่เป็นศูนย์กลางชีวิตของเราทิ้งไปในทันทีได้
![](https://vajrasiddha.com/wp-content/uploads/2023/05/14081592055_7d13f406a2_k-1.jpg)
กระนั้นหากไม่เผชิญความเป็นจริงของชีวิตมนุษย์ที่ถูกขับเคลื่อนด้วยกิเลส หากกิเลสไม่ถูกทำงานหรือสัมพันธ์ด้วย ก็ไม่อาจมีความก้าวหน้าบนเส้นทางจิตวิญญาณ ตรงกันข้ามหากผู้ปฏิบัติพยายามจนเกินไปที่จะกำจัดกิเลส พยายามสร้างสภาวะ “กิเลส-ฟรี” และมุ่งหลุดพ้นจากความเป็นมนุษย์ สุดท้ายแล้วอาจกลายเป็นหนทางหลีกเลี่ยงที่จะทำงานกับกรรมของตนเอง เป็นเส้นทางที่ไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายในและการรู้แจ้งในธรรมชาติของจิตใจที่แท้จริง มาร์ปะเปรียบการพยายามกำจัดกิเลสจนเกินพอดี เหมือนกับ “การโยนจิตลงแม่น้ำ” เป็นการวิ่งหนีจากสิ่งที่จะช่วยให้เกิดการค้นพบตัวเองที่แท้จริง การปฏิเสธกิเลสก็เหมือนกับการโยนโอกาสแห่งการตื่นรู้ทิ้งไป
สิ่งที่น่าค้นหาสำหรับผู้ปฏิบัติภาวนาคือ ความสัมพันธ์อันแยกขาดจากกันไม่ได้ระหว่าง กิเลส กับ จิตรู้แจ้งที่เป็นมนุษย์และจริงแท้ ด้วยหนทางใดที่เราจะขจัดเครื่องกั้นขวางหรือสิ่งปกคลุมใจ ข้ามพ้นเงื่อนไขและข้อจำกัดของความเป็นมนุษย์ เพื่อไปสู่การเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
Meditation is a way to become more fully human.
การภาวนาคือหนทางสู่การหลุดพ้นจากอำนาจของกิเลส
การภาวนาคือหนทางสู่อิสรภาพ และการเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์และเต็มเปี่ยมยิ่งๆ ขึ้น