บทความโดย ติช นัท ฮันห์
แปลและเรียบเรียงโดย ทีมงานวัชรสิทธา
การฟังผู้อื่นอย่างลึกซึ้งเป็นรูปแบบหนึ่งของการภาวนา
เราตามลมหายใจและฝึกสมาธิระหว่างการฟัง และเราจะได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เกี่ยวกับคนอื่นที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เมื่อเราฝึกฟังอย่างลึกซึ้ง เราจะสามารถช่วยคนที่เราฟังให้ขจัดการรับรู้ที่กำลังทำให้พวกเขาทุกข์ทรมานออกไปได้ เราสามารถฟื้นฟูความสมดุลในความสัมพันธ์ มิตรภาพ ครอบครัว ชุมชน ประเทศ และระหว่างประเทศ การฟังนั้นทรงพลังมาก
ก่อนที่จะฟังผู้อื่นได้ดี เราจำเป็นต้องให้เวลาในการฟังตัวเอง บางครั้งเมื่อพยายามฟังผู้อื่น เรากลับไม่สามารถได้ยินสิ่งที่พวกเขากำลังพูด เพราะอารมณ์และความคิดของเราดังเกินไป เหมือนมีเสียงตะโกนอยู่ข้างในที่ร้องเรียกความสนใจของเราอย่างไม่หยุดหย่อน เราควรจะสามารถนั่งเงียบๆ อยู่กับตัวเองได้ กลับมาหาตัวเองได้ และฟังว่ามีอารมณ์ใดกำลังเกิดขึ้นโดยไม่ตัดสินหรือขัดจังหวะ เราสามารถฟังความคิดที่เกิดขึ้นและปล่อยให้มันผ่านไปโดยไม่ยึดติดกับมัน เมื่อเรามีเวลาฟังตัวเอง เราก็จะสามารถฟังผู้อื่นได้ดีขึ้น
เมื่อฟังตัวเองอย่างลึกซึ้ง เราจะสามารถเข้าใจตัวเอง ยอมรับตัวเอง รักตัวเอง และเริ่มสัมผัสได้กับความสงบสันติภายใน บางทีเราอาจยังไม่ยอมรับตัวเอง เพราะเราไม่เข้าใจตัวเองเลย เราไม่รู้วิธีฟังความทุกข์ของตัวเอง ดังนั้น เราจำเป็นต้องฝึกฟังความทุกข์ของตัวเองก่อน เราต้องอยู่กับมัน รู้สึกกับมัน และโอบกอดมัน เพื่อจะได้เข้าใจมันและให้มันค่อยๆ แปรเปลี่ยน บางทีความทุกข์ของเราอาจมีต้นกำเนิดมาจากพ่อแม่ของเรา หรือจากบรรพบุรุษของเรา หรือแม้กระทั่งจากประเทศชาติของเรา การฟังตัวเองจะช่วยให้เราเข้าใจความทุกข์ของเรา ความทุกข์ของพ่อแม่เรา และของบรรพบุรุษ เรา และเราจะรู้สึกได้ถึงเซนส์ของการปลดปล่อย
เมื่อเรามีเวลาฟังตัวเอง เราก็สามารถฟังผู้อื่นได้ดีขึ้น
เมื่อหยุดความยุ่งเหยิงของจิตใจและกลับมาที่ตัวเราเอง ความทุกข์ของเราอาจดูรุนแรงมากขึ้น เพราะเราคุ้นเคยกับการเพิกเฉยและหลีกหนีจากความเจ็บปวด ด้วยการหันเหความสนใจ มันอาจทำให้เราสามารถเบลอๆ ชาๆ ไปได้ชั่วขณะหนึ่ง แต่ความทุกข์ภายในต้องการความสนใจจากเรา และมันจะโตขึ้นจนกว่าเราจะให้ความสนใจกับมัน นั่นคือเหตุผลที่การฝึกแรกคือการเลิกหนี กลับบ้านมายังร่างกายและรู้สึกถึงความทุกข์ของเรา—ความโกรธ ความวิตกกังวล ความกลัว ความทุกข์คือลักษณะหนึ่งของพลัง ส่วนสติเป็นพลังอีกอย่างที่สามารถใช้เพื่อโอบกอดความทุกข์
พลังของสติคือการรับรู้ความทุกข์และโอบกอดมัน
การฝึกคือการไม่ต่อสู้หรือกดข่มความรู้สึก แต่คือการอุ้มความรู้สึกนั้นด้วยความอ่อนโยน เหมือนแม่อุ้มลูก—แม้ว่าแม่จะไม่เข้าใจในตอนแรกว่าทำไมลูกถึงเป็นทุกข์—พลังแห่งความอ่อนโยนนั้นก็สามารถนำมาซึ่งการบรรเทาได้ หากเรารับรู้และอุ้มความทุกข์ ขณะที่เราหายใจอย่างมีสติ ก็จะมีการบรรเทาทุกข์เกิดขึ้นตรงนั้นทันที
ความทุกข์ของเธอกำลังพยายามดึงดูดความสนใจจากเธอเพื่อบอกอะไรบางอย่าง และตอนนี้เธอสามารถใช้โอกาสนี้ในการฟังมัน
สามวิธีในการฟัง
ฟังเสียงระฆัง
บางครั้งเราต้องการเสียงที่เตือนให้เรากลับมาสู่การหายใจอย่างมีสติ เราเรียกเสียงนี้ว่า “ระฆังแห่งสติ” ในพลัมวิลเลจและศูนย์ฝึกอื่นๆ ในประเพณีของเรา เราหยุดและฟังเมื่อเราได้ยินเสียงโทรศัพท์ดัง เสียงนาฬิกาดัง หรือเสียงระฆังในวัด เสียงเหล่านี้คือระฆังแห่งสติ เมื่อเราได้ยินเสียงระฆัง เราหยุดพูดและหยุดเคลื่อนไหว เราผ่อนคลายร่างกายและตระหนักถึงลมหายใจของเรา เราทำมันอย่างเป็นธรรมชาติ เพลิดเพลินไปกับมันโดยไม่มีความเคร่งเครียด เมื่อเราหยุดเพื่อหายใจและฟื้นฟูความสงบและสันติในใจของเรา เราจะรู้สึกเป็นอิสระ งานของเราจะสนุกขึ้น และเพื่อนที่อยู่ข้างหน้าก็จะเป็นจริงมากขึ้น
บางครั้งร่างกายของเราอาจอยู่ที่บ้าน แต่จิตใจของเรากลับไม่อยู่ที่นั่น เสียงระฆังสามารถช่วยนำจิตใจเรากลับไปที่ร่างกาย เพราะเสียงระฆังสามารถช่วยให้เรากลับมายังตัวเอง เราจึงถือว่าเสียงระฆังเหมือนกับพระโพธิสัตว์ เป็นเพื่อนที่ช่วยปลุกให้เราตื่นขึ้น แล้วกลับไปหาตัวเองอีกครั้ง ด้วยการหายใจเข้าและออกสามครั้ง เราสามารถปล่อยความตึงเครียดในร่างกายและจิตใจ แล้วกลับไปสู่สภาวะที่เยือกเย็นและชัดเจน
เสียงระฆังคือเสียงของพุทธะ เรียกให้เธอกลับไปที่ตัวเอง กลับไปที่ปัจจุบันขณะ กลับไปที่บ้านที่แท้จริงของเธอ
ในธรรมเนียมปฏิบัติของเรา เราจะไม่พูดว่า “ตี” ระฆัง แต่เราจะพูดว่า “เชิญระฆังให้ดัง” ผู้ที่เชิญระฆังคือครูระฆัง (bell master) เราเรียกไม้ตีที่ใช้เชิญระฆังว่า “ผู้เชิญ” มีระฆังหลายชนิด: ระฆังใหญ่ที่สามารถได้ยินได้ทั่วทั้งหมู่บ้านหรือย่าน; ระฆังเล็กที่ประกาศกิจกรรมและสามารถได้ยินได้ทั่วทั้งศูนย์ฝึก; ระฆังในห้องนั่งสมาธิที่ช่วยในการฝึกหายใจและนั่งสมาธิ; และระฆังขนาดเล็กที่พกพาไปได้ทุกที่
เมื่อเชิญระฆังให้ดัง เธอหายใจเข้าและออกลึกๆ สามครั้ง หากเธอรื่นรมย์กับการหายใจเข้าและหายใจออก หลังจากสามลมหายใจเข้าและสามลมหายใจออก เธอจะรู้สึกผ่อนคลาย สงบ นิ่ง มีสติ เธอสามารถท่องบทกวีนี้ให้ตัวเองขณะหายใจเข้าและออก:
ฟัง ฟัง
เสียงที่ยอดเยี่ยมนี้จะพาฉันกลับ
ไปยังบ้านที่แท้จริงของฉัน
“ฟัง ฟัง” หมายถึงการฟังด้วยใจขณะหายใจเข้า “บ้านที่แท้จริงของฉัน” คือลมหายใจชีวิต ทั้งหมดนี้มีอยู่แล้วที่นี่ ตอนนี้ หากเธอฝึกได้ดี อาณาจักรแห่งพระเจ้าและแดนสุคตของพุทธะจะสามารถเข้าถึงได้ เมื่อใดก็ตามที่เธอกลับบ้านไปที่ตัวเองด้วยเสียงระฆัง
หากเรามีความมั่นคง ตื่นตัว มีอิสระและมีสติ เสียงระฆังที่เราเชิญจะสามารถช่วยให้คนสัมผัสสิ่งที่ลึกที่สุดในตัวพวกเขา
ร่างกาย คำพูด และจิตใจในความเป็นหนึ่งเดียว
ฉันส่งใจของฉันพร้อมกับเสียงระฆังนี้
ขอให้ผู้ฟังตื่นจากความหลงลืม
และข้ามพ้นเส้นทางแห่งความวิตกกังวลและความเศร้า
เสียงระฆังคือเสียงของพุทธะเรียกให้เธอกลับไปที่ตัวเอง กลับไปที่ปัจจุบันขณะ กลับไปที่บ้านที่แท้จริงของเธอ ทุกครั้งที่เธอได้ยินเสียงนี้ เธอสัมผัสถึงพุทธะในตัวเธอ เราหลบภัยในปัจจุบัน ในเกาะของตัวเอง เราจะมั่นคงขึ้น มีเสถียรภาพมากขึ้น และทุกข์น้อยลงทันที
ฟังเด็กน้อยในใจของเรา
เมื่อเราพูดถึงการฟังด้วยความเมตตา เรามักจะคิดถึงการฟังคนอื่น แต่เราต้องฟังเด็กที่บาดเจ็บในใจของเราเช่นกัน บางครั้งเด็กที่บาดเจ็บในตัวเราต้องการความสนใจทั้งหมดจากเรา เด็กน้อยคนนั้นอาจปรากฏขึ้นจากความลึกในจิตสำนึกและขอความสนใจจากเรา หากเรามีสติ เราจะได้ยินเสียงพวกเขาเรียกหาความช่วยเหลือ ในขณะนั้น แทนที่จะให้ความสนใจกับอะไรก็ตามที่อยู่ข้างหน้าเรา เราควรหาสถานที่เงียบสงบและกลับไปโอบกอดเด็กที่บาดเจ็บนั้นอย่างอ่อนโยน เธอสามารถพูดกับเด็กนั้นด้วยภาษาแห่งความรัก บอกว่า “ในอดีต ฉันทิ้งเธอไว้คนเดียว ฉันห่างหายไปจากเธอ ตอนนี้ฉันรู้สึกเสียใจมาก ..ฉันจะโอบกอดเธอ”
เธอสามารถพูดว่า “ที่รัก ฉันอยู่ที่นี่เพื่อเธอ ฉันจะดูแลเธออย่างดี ฉันรู้ว่าเธอทุกข์ทรมานมาก ฉันยุ่งมากและละเลยเธอมาตลอด แต่ตอนนี้ฉันได้เรียนรู้วิธีกลับมาหาเธอแล้ว” ฟัง และถ้าจำเป็น เธอสามารถร้องไห้ไปพร้อมกับเด็กคนนั้นได้เ
เมื่อใดก็ตามที่เธอต้องการ เธอสามารถนั่งและหายใจกับเด็กคนนั้น “หายใจเข้า ฉันกลับไปหาเด็กที่บาดเจ็บของฉัน; หายใจออก ฉันจะดูแลเด็กที่บาดเจ็บของฉัน”
เธอต้องพูดกับเด็กในใจของเธอหลายครั้งต่อวัน เพื่อให้การเยียวยาสามารถเกิดขึ้น โอบกอดเด็กนั้นด้วยความอ่อนโยน และยืนยันกับเขาว่าเธอจะไม่ทิ้งเขาอีกแล้ว และเธอจะไม่ปล่อยเขาให้อยู่คนเดียว เด็กน้อยนั้นถูกทิ้งให้อยู่ลำพังมาเป็นเวลานาน นั่นคือเหตุผลที่เธอต้องเริ่มการฝึกนี้ทันที
เพราะถ้าไม่ทำตอนนี้ แล้วเธอจะทำเมื่อไหร่?
ฟังเสียงของบรรพบุรุษของเรา
เมื่อฝึกฝนแล้ว เราจะเห็นว่าเด็กที่บาดเจ็บในตัวเรานั้นไม่ใช่แค่เราเอง เด็กที่บาดเจ็บของเราอาจเป็นตัวแทนของผู้คนหลายรุ่น
แม่ของเราอาจเป็นทุกข์มาทั้งชีวิต พ่อของเราอาจมีความทุกข์เช่นกัน บางทีพ่อแม่เราอาจจะไม่สามารถดูแลเด็กน้อยที่บาดเจ็บในตัวเองได้ ดังนั้นเมื่อเรากำลังโอบกอดเด็กน้อยที่บาดเจ็บในตัวเรา เรากำลังโอบกอดเด็กที่บาดเจ็บจากรุ่นก่อนๆ ด้วย การฝึกฝนนี้ไม่ใช่แค่การฝึกฝนสำหรับตัวเราเอง แต่เป็นการฝึกฝนสำหรับบรรพบุรุษหลายรุ่นก่อนหน้าและลูกหลานจำนวนมากมายของพวกเขา
ร่างกายของเธอต้องการเธอ ความรู้สึกของเธอต้องการเธอ การรับรู้ของเธอต้องการเธอ เด็กที่บาดเจ็บในตัวเธอต้องการเธอ ความทุกข์ของเธอต้องการให้เธอฟังและยอมรับมัน กลับบ้านและอยู่ตรงนั้นเพื่อสิ่งเหล่านี้
บรรพบุรุษของเราอาจไม่รู้วิธีดูแลเด็กที่บาดเจ็บในตัวเอง ดังนั้นพวกเขาจึงส่งต่อเด็กที่บาดเจ็บนั้นมาให้เรา การฝึกของเราคือการยุติวงจรนี้ ผู้คนรอบตัวเรา ครอบครัวและเพื่อนๆ ของเราอาจมีเด็กที่บาดเจ็บภายในตัวเองอย่างรุนแรง หากเราช่วยเหลือตัวเองได้ เราก็สามารถช่วยพวกเขาได้ เมื่อเราได้รับการเยียวยาจากความทุกข์ของเราเอง ความสัมพันธ์ของเรากับผู้อื่นก็จะง่ายขึ้น มีสันติและความรักมากขึ้นในตัวเรา
กลับไปและดูแลตัวเอง ฝึกการเดินอย่างมีสติและการหายใจอย่างมีสติ ทำทุกอย่างด้วยสติ
เพื่อที่เธอจะสามารถอยู่ตรงนั้นได้จริงๆ
เพื่อที่เธอจะสามารถรักได้
จาก “Listening to Our Ancestors : Three practices for listening mindfully—to ourselves and others” by Thich Nhat Hanh จาก Tricycle Magazine