บทความโดย โคทม อารียา
ผมเข้าอบรมเรื่อง “โศลกมูลฐานว่าด้วยทางสายกลาง หรือ มูลมัธยมกการิกา” ซึ่งจัดโดยสถาบันวัชรสิทธา และมีโสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์เป็นวิทยากร โสรัจจ์เคยเป็นอาจารย์สอนปรัชญาที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และแปลหนังสือปรัชญามหายานหลายเล่ม เล่มที่นำมาสอนเป็นผลงานของนักปราชญ์ชาวอินเดียใต้ชื่อนาคารชุน ผู้มีชีวิตอยู่ราวคริสตศตวรรษที่สอง หนังสือ “มูลมัธยมกะฯ” เป็นการอธิบายเรื่องความว่างหรือศูนยตา และถือเป็นคัมภีร์พื้นฐานของสำนักมัธยมกะ ซึ่งมีการถ่ายทอดไปยังจีน ญี่ปุ่น ทิเบต ฯลฯ
หนังสือมูลมัธยมกะฯ มีความลึกซึ้งและยากเกินกว่าที่ผมจะเข้าใจ ยอมรับว่าเพราะไม่เข้าใจจึงสงสัยอยากรู้ หวังเก็บสิ่งที่โสรัจจ์ได้ศึกษาและนำมาอธิบายมาใคร่ครวญเพื่อจะเข้าใจปรัชญามหายานขึ้นมาบ้าง ตอนท้ายของการอบรม มีการให้การบ้าน คือให้นักเรียนไปเขียนมาว่าได้อะไรไปบ้าง โจทย์ที่เป็นข้อสงสัยที่ผุดขึ้นในระหว่างเรียน สามารถตอบโจทย์ได้ไหม อันที่จริงโสรัจจ์ได้ตอบโจทย์ไปบ้างแล้ว การเขียนบทความนี้ขอถือเป็นการทำการบ้านส่งครูก็แล้วกัน
คำถามข้อหนึ่งที่ไม่อยู่ในบทเรียนคือ หลังจากถูกขับออกจากอินเดีย ทำไมมหายานจึงเผยแพร่ไปทางเหนือ (จีน – ทิเบต – ญี่ปุ่น ฯลฯ) และเถรวาทจึงเผยแพร่ไปทางใต้และตะวันออกของอินเดียมากกว่า ผมไม่มีคำตอบที่เป็นวิชาการ แต่คิดว่ามหายานมีลักษณะเปิดกว้าง และสามารถผสานกลมกลืนกับวัฒนธรรมและความเชื่อของดินแดนที่เผยแพร่ไปถึงได้อย่างดี ดังจะเห็นได้จากการเข้ากันกับศาสนาเพินที่เป็นความเชื่อดั้งเดิมของทิเบต กับลัทธิเต๋าของจีน กับศาสนาชินโตของญี่ปุ่น เป็นต้น
ผมจึงหยิบหนังสือลำนำกวีแห่งเต๋า ที่ ธำรง ปัทมภาส เรียบเรียงขึ้นมาอ่าน ก็พบบทกวีที่ชาวพุทธมหายานอาจสัมผัสได้ เช่น
จิตประดุจน้ำแข็งหยกสะอาดใส
สงบนิ่งไม่ไหวติง
บำเพ็ญปฐมลักษณ์อันไร้ฝุ่นธุลี
ฝึกจิตจนสู่ความว่างเปล่า
พฤฒาจารย์ หวู่เหยี่นหยิว รจนา
มีก็ได้ ไร้ก็ดี
จะมีจะไร้อย่างไรก็ดี
นิรกรรมภาวะเป็นไปโดยเช่นนี้
ธรรมวิถีใช่มิใช่สุญญตา …
ทำก็ได้ ไม่ทำก็ดี
จะทำไม่ทำอย่างไรก็ดี
อนัตตาธรรมวิถีเป็นไปโดยเช่นนี้
บำเพ็ญจิตโดยเสรีเห็นแจ้งธรรม
นักพรตเต๋า จางซานฟง รจนา
ขอยกตัวอย่างจากหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่เขียนโดย ซุนเรียว ซูสุกิ ชื่อ “จิตใจเซน จิตใจของผู้เริ่มฝึกหัด” วรรณี อัศวชนานนท์ แปล ซูสุกิกล่าวว่า “สำหรับนักศึกษาเซนแล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นคือการไม่คิดอย่างทวิภาค “จิตดั้งเดิม” ของเรานั้น รวมทุกๆ สิ่งไว้ในตนเอง มันจะสมบูรณ์พอใจในตัวมันเอง เธอไม่ควรที่จะสูญเสียภาวะจิตใจที่เป็นตัวของตัวเองไปเสีย นี่มิได้หมายถึงจิตใจที่คับแคบ แท้ที่จริงนั้น คือจิตที่ว่าง และจิตที่เตรียมพร้อม … เปิดกว้างต่อทุก ๆ สิ่ง”
จากบทกวีและบทประพันธ์ข้างต้น ปรากฏคำของมหายาน เช่น ความว่างเปล่า และการไม่คิดอย่างทวิภาค ที่อยู่ในข้อคิดคำนึงของนักปราชญ์ทั้งชาวจีนและญี่ปุ่น แต่นาคารชุนได้ไปไกลกว่าการแบ่งเป็นสอง (ทวิภาค) คือมองถึงตรรกะที่แบ่งความเป็นไปได้ว่ามีสี่มุม (จตุษโกฏิ) ได้แก่: มี, ไม่มี, ทั้งมีและไม่มี, มีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่ แต่นั่นก็เป็นเพียงการโต้แย้งทางตรรกวิทยา ไม่อาจหาข้อยุติได้ และไม่เป็นประโยชน์แก่การพ้นทุกข์ โสรัจจ์ได้อ้างในบทนำของหนังสือมัธยมกการิกา ถึง จูฬมาลุงโกยวาทสูตร โดยพระพุทธเจ้าตรัสแก่มาลุงโกยะว่า สัตว์ที่ตายไปแล้ว มีอยู่, ไม่มีอยู่, ทั้งมีอยู่และไม่มีอยู่, มีอยู่ก็ไม่ใช่ ไม่มีอยู่ก็ไม่ใช่ นั้น ไม่ทรงแสดงทรรศนะที่เป็นคำตอบ เราอาจคิดว่า คำถามนี้เป็นอจินไตยก็ได้
เรื่องนี้ทำให้ผมนึกถึงนักปราชญ์ชาวนอร์เวย์ที่เป็นปรมาจารย์ด้านการแก้ไขความขัดแย้งคนหนึ่ง ชื่อ โจฮัน กัลตุง เขาใช้คำว่าตรรกะสี่ทางเลือก (tetralemma) ที่ขยายความให้กว้างกว่าตรรกะสองทางเลือก (dilemma) ที่เราคุ้นเคยอยู่ ถ้ามีสองทางเลือก คำตอบก็คือ ใช่ หรือ ไม่ใช่ (either or) เท่านั้น แต่อันที่จริงยังมีทางเลือกอีกสองทางเลือกคือ ทั้งใช่และไม่ใช่ (both and) และ ไม่ใช่ทั้งใช่หรือไม่ใช่ (neither nor) เข้าใจว่ากัลตุงยืมตรรกวิทยาของพุทธศาสนามาใช้เพื่อเสนอว่า การแก้ไขความขัดแย้งคือการมองหาคำตอบที่คู่ขัดแย้งทั้งสองพอใจ หรือชนะทั้งคู่ (both and) นั่นเอง ขอสรุปทั้ง “จตุษโกฏิ” และ tetralemma เป็นแผนภาพดังนี้
Either there is (มี) both there is and is not (มีและไม่มี)
จตุษโกฏิ (สี่มุมมอง)
tetralemma (สี่ทางเลือก: either, or, neither nor, both and)Neither there is nor is not (มีก็ไม่ใช่ ไม่มีก็ไม่ใช่) or there is not (ไม่มี)
หนังสือมัธยมกะฯ มีโศลกที่คล้ายจะยกข้อถกเถียงในธรรมวาที (การโต้วาทีธรรม) ซึ่งดูเหมือนจะเป็นวิธีหนึ่งที่ใช้ในมหาวิทยาลัยนาลันทา คือให้พระนิสิตนำคำสอนของสำนักต่าง ๆ มาโต้แย้งกัน โดยสำนักมัธยมกะมีวิธีการที่จะหักล้างข้อโต้แย้ง คือให้เหตุผลว่า ข้อโต้แย้งที่ยกมานั้นใช้ไม่ได้ เพราะจะลดทอนลงเป็นความไร้สาระหรือไม่ได้รับการยืนยัน แต่โศลกไม่ได้บอกตรง ๆ ว่าข้อโต้แย้งที่ถูกหักล้างคืออะไร ผมจึงขอไปอ้างอิงหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่โสรัจจ์เป็นผู้แปลและเขียนบทนำเช่นกัน หนังสือนั้นชื่อว่า “วิถีชีวิตของพระโพธิสัตว์” (โพธิจรฺยาวตาร) เขียนโดยศานติเทวะ ซึ่งนอกจากจะกล่าวถึงข้อโต้แย้งของสำนักอื่น ๆ แล้ว ยังอธิบายถึงลักษณะเฉพาะของมหายานอย่างชัดเจนด้วย
ผมเข้าใจว่า คำสอนมหายานเป็นการต่อยอดจากคำสอนหินยาน* คือยอมรับคำสอนที่เป็นสาระสำคัญของหินยาน* ที่อยู่ในพระสูตรและพระวินัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอริยสัจสี่ โพชฌงค์เจ็ด สติปัฏฐานสี่ ฯลฯ อย่างไรก็ดี มีข้อแตกต่างกันบ้างในด้านพระอภิธรรม โดยเฉพาะคำสอนมหายานมีจุดเน้นเพิ่มเติมอย่างน้อยสามประการคือ เรื่องโพธิจิต ศูนยตา และมหากรุณา ซึ่งมีอยู่บ้างแล้วในคำสอนของหินยาน*
*ใช้หินยานเพื่อสื่อถึงคำสอนในพัฒนาการก่อนมหายาน
มหายานสอนให้อธิษฐานโพธิจิต ในฐานะนักเรียน ผมมีคำถามในใจว่าโพธิจิตคืออะไร คำตอบดูเหมือนจะเป็นว่า โพธิจิตคือจิตที่มุ่งมั่นต่อการตรัสรู้ เพื่อช่วยเหลือสัตว์ทั้งหลายให้พ้นทุกข์ คือจิตของผู้ลงมือเดินทางเพื่อเข้าถึงการตรัสรู้นั้น คือจิตของผู้เริ่มก้าวเข้าสู่วิถีชีวิตของพระโพธิสัตว์ การปฏิบัติตามเส้นทางมหายาน ไม่ต้องละทิ้งเส้นทางหินยาน โศลกที่ 41-42 ของบทที่ 4 ของโพธิจรฺยาวตารเขียนไว้ว่า
“ข้าฯไม่ได้แม้กระทั่งปลดปล่อยตนเองจากทุกข์ทางใจนี้
โพธิจรฺยาวตาร โดย ศานติเทวะ
ข้าฯไม่รู้ขีดจำกัดของข้าฯเอง
ข้าฯพูดในเวลานั้นราวกับว่าข้าฯเสียสติไป
ด้วยเหตุนี้ ข้าฯจะไม่มีวันหันหลังให้แก่การทำลายล้างกิเลสเครื่องเศร้าหมอง”
ศานติเทวะคงหมายความว่า ถ้าไม่ทำลายกิเลสและปลดปล่อยตัวเองจากทุกข์ การไปพูดเรื่องปลดปล่อยผู้อื่นจะเป็นการพูดราวคนบ้า กล่าวอีกนัยหนึ่ง การปฏิบัติคำสอนเถรวาทถือเป็นเรื่องจำเป็นเบื้องต้น คำสอนหลักของเถรวาทคือ ศีล สมาธิ ปัญญา ส่วนมหายานเน้นการบำเพ็ญบารมี 6 ที่เพิ่มเรื่องทาน ขันติ และวิริยะเข้าไปด้วย ในด้านวิธีปฏิบัติก็มีจุดเน้นเฉพาะ เช่น การบำเพ็ญทานบารมี หมายถึงการมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อื่น หมายถึงการอธิษฐานให้มีโพธิจิตขึ้นในใจอย่างแรงกล้า การบำเพ็ญสมาธิบารมี หมายถึงการแลกเปลี่ยนตนเองกับผู้อื่น คือยกคนสองประเภทขึ้นพิจารณาขณะทำสมาธิ ประเภทแรกคือตัวผู้ปฏิบัติ ประเภทสองคือสรรพสัตว์ไม่มีประมาณ เพื่อให้เห็นว่าการปฏิบัตินั้น ไม่ควรเป็นไปเพื่อตนเองเพียงฝ่ายเดียว
สมาธิต้องแนบแน่นกับศูนยตา หากยังยึดมั่นกับบางสิ่งบางอย่าง จิตไม่เข้าถึงศูนยตาอย่างถ่องแท้ ยึดมั่นว่าบางอย่าง “มี” หรือ “ไม่มี” ด้วยการปรุงแต่ง จะไม่เข้าถึงความเป็นพุทธะอย่างสมบูรณ์ อาศัยสติอาจระงับกิเลสได้ แต่ถ้าไม่เข้าใจว่า ทุกสิ่งมิได้มีตัวตนเป็นของตนเอง ต้องอิงอาศัยกันและกันทั้งสิ้น ก็ไม่อาจหลุดพ้นอย่างหมดจด
ในระหว่างการอบรม ผมได้ถามโสรัจจ์ว่า อธิษฐานโพธิจิตแล้ว การเข้าถึงศูนยตาจะทำให้เกิดมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ได้อย่างไร คำตอบคือมหากรุณาจะปรากฏโดยธรรมชาติ ซึ่งขอสรุปความเข้าใจของผมจากการอ่านคำนำที่โสรัจจ์เขียนในหนังสือ “โพธิจรฺยาวตาร” ดังนี้ การปฏิบัติสมถะช่วยให้จิตสงบ การบำเพ็ญปัญญาบารมีอาศัยโครงสร้างการปฏิบัติสติปัฏฐานสี่ โดยเฉพาะการเห็นธรรมในธรรม เห็นสรรพสัตว์ทั้งมวลในสังสารวัฏ การปฏิบัติวิปัสสนาถึงระดับ “ไม่ต้องคิด” การตัดกิเลสให้ขาด ปัญญาจะเจาะทะลุถึงศูนยตา จากศูนยตาและธรรมที่มุ่งถึงสรรพสัตว์ มหากรุณาจะปรากฏขึ้นโดยธรรมชาติ
ในระหว่างการอบรม ผมยังถามอีกคำถามหนึ่งคือ นาคารชุนคงถูกโต้แย้งดังปรากฏในโศลกที่ 1. ของบทที่ยี่สิบสี่ ข้อโต้แย้งคือ “หากทั้งหมดนี้เป็นความว่าง ก็จะไม่มีการเกิดหรือการดับ และสำหรับท่าน ผลสรุปก็คือว่า อริยสัจสี่ไม่มีอยู่” นาคารชุนจึงตอบข้อโต้แย้งในโศลกที่ 7; 8; และ 10. ว่า
“7. ณ ที่นี้ เรากล่าวว่าท่านไม่เข้าใจศูนยตา หรือจุดหมายของศูนยตา หรือความหมายของศูนยตา ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงถูกทำร้ายด้วยความเข้าใจผิด ๆ นี้ 8. คำสอนอันได้แก่พระธรรมของพระพุทธเจ้า ตั้งอยู่บนความจริงสองประการ ได้แก่ความจริงของแบบแผนทางโลก (สมมติสัจจะ) กับความจริงระดับสุดท้าย (ปรมัตถสัจจะ) 10. เมื่อไม่อิงอาศัยสมมติสัจจะ ความหมายของปรมัตถสัจจะก็ไม่อาจสอนได้ เมื่อไม่มีการเข้าใจความหมายของปรมัตถสัจจะ ก็ไม่อาจบรรลุพระนิพพานได้”
นาคารชุนยังกล่าวต่อในโศลกที่ 12. ว่า
“12. พระธรรมเป็นสิ่งลึกล้ำ และยากสำหรับคนโง่จะเข้าใจ”
ผมยอมรับความข้อนี้ แต่อดเถียงไม่ได้ว่า นาคารชุนมีทางออกแบบง่ายคือ ให้ถือว่าพระธรรมที่ไม่ลึกล้ำสามารถอธิบายและศึกษาโดยใช้ภาษาในแบบสมมติสัจจะ ส่วนศูนยตาที่ลึกล้ำก็ให้วิปัสสนาเพื่อหยั่งถึงสิ่งที่ล้ำลึกเกินกว่าวาจาและความคิดจะพรรณนาได้
จากข้อเขียนบทนำของโสรัจจ์พอจับความได้ว่า สมมติสัจจะเป็นการปรุงแต่งของจิต เมื่อจิตเกิดยึดติด ก็คิดว่าสิ่งนั้นมีความเป็นอยู่ที่แท้จริง เมื่อเกิดความขัดแย้งระหว่างความคิดนึกที่มาจากการปรุงแต่ง กับความเป็นจริงตามธรรมชาติ ก็เกิดเป็นความทุกข์ การอธิบายศูนยตาและความเป็นจริงตามธรรมชาตินั้นลำพังภาษาที่เป็นการบัญญัติ ยังไม่พอ สิ่งที่มีชื่อเรียกย่อมเป็นผลมาจากการปรุงแต่ง เพื่อเข้าถึงพระธรรมที่ลึก ต้องอาศัยปรมัตถสัจจะที่ปราศจากการปรุงแต่งของจิต ต้องอาศัยความว่างที่ไม่มีสิ่งใดอยู่เลย อย่างไรก็ดี ความจริงสมมุติและความจริงปรมัตถ์เป็นหนึ่งเดียวกัน ทุกสิ่งที่ประกอบกันเป็นสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ต้องอาศัยสิ่งอื่น ๆ ทั้งนั้น การบอกว่าทุกสิ่งเป็นความว่าง ไม่ได้หมายความว่าไม่มีสิ่งเหล่านั้นอยู่ เราสามารถยืนยันอริยสัจสี่ได้ เนื่องจากความทุกข์จะมีอยู่ได้ด้วยเหตุปัจจัย หมายความว่าศูนยตาและปฏิจจสมุปบาทเป็นเงื่อนไขของกันและกัน
ที่มหาวิทยาลัยนาลันทา เถรวาทและมหายานอยู่ร่วมกันได้ แม้จะมีการโต้วาทีอยู่เสมอ เถรวาทบางคนถึงกับกล่าวหาว่า มหายานเชื่อในการมีจิตบริสุทธิ์ซึ่งเท่ากับเชื่อในการมี อาตมัน นาคารชุนเป็นปราชญ์ฝ่ายพราหมณ์ ดังนั้น มหายานเป็นทรรศนะที่สานุศิษย์ของปรัชญาเวทานตะใช้มองพระพุทธศาสนา จึงไม่ใช่พระพุทธศาสนาโดยแท้ (สงสัยว่าแพ้วาทีเลยกล่าวหาแบบเหมารวม ฟังแล้วคล้ายกับการกล่าวหาร่วมสมัยทีเดียว) แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันมากคือ มหายานเป็นคำสอนที่ไม่ใช่พุทธวจนะ มีเพียงคัมภีร์เถรวาทที่ได้รับการยืนยันสองฝ่าย (ทั้งฝ่ายเถรวาทเองและฝ่ายมหายาน) ศานติเทวะตอบว่า สองฝ่ายยืนยันก็ไม่แน่ว่าจะแท้ คำสอนของมหายานครอบคลุมมากกว่าเท่านั้นเอง ทั้งฝ่ายเถรวาทและฝ่ายมหายานต่างก็มีการโต้แย้งภายในฝ่ายเอง
ผมทักไปในระหว่างการอบรมว่า ประโยคต่าง ๆ ในโศลกของมัธยมกการิกา มีประโยคปฏิเสธและประโยคคำถามมากมาย หาประโยคบอกเล่าที่จะมายืนยัน “ความจริง” ได้ยากยิ่ง ประเด็นนี้ก็คิดว่าสำคัญ ในเมื่อทุกสิ่งคือของว่าง ทั้งสี่มุมของตรรกะ “จตุษโกฏิ” ก็ยึดถือไม่ได้ แล้วยังไงดีเล่า ผมได้ข้อคิดเห็นจากบทนำที่โสรัจจ์เขียนอีกนั่นแหละ ว่าเรื่องนี้ทำให้สำนักมัธยมิกะแตกเป็นสองนิกายย่อย คือสำนักปราสังคิกะมัธยมิกะ ที่ถือว่าเราไม่สามารถยืนยันว่าข้อความใดเป็นความจริง แม้ข้อความ “ความว่างมีอยู่จริง” หรือ “ทุกสิ่งเป็นของว่าง” เนื่องจากความหมายของภาษาเองก็เป็นของว่าง ส่วนนิกายย่อยอีกนิกายหนึ่งคือ สำนักสวตันตริกมัธยมิกะ หาพบซึ่งข้อความที่ยืนยันได้ว่าจริง อย่างน้อยหนึ่งข้อความ คือ “ความว่างมีอยู่จริง” เป็นจริงตามความเป็นไปของธรรมชาติ โสรัจจ์ไม่ชี้ชัดว่าคล้อยตามนิกายย่อยใดหรือไม่ เพียงแต่บอกว่ายังถกเถียงกันอยู่
ส่วนเรื่องที่ไม่น่าถกเถียงคือประโยชน์ของคำสอนมหายานที่มีต่อมนุษยชาติ โดยปัจจุบัน ผู้ที่เป็นตัวแทนคำสอนนี้คือองค์ดาไลลามะที่สิบสี่ ผู้ไม่หยุดยั้งที่จะสอนและเป็นตัวอย่างในทางปฏิบัติ ในเรื่องความกรุณาต่อมวลมนุษยชาติ ขอยกคำกล่าวของท่านในเรื่อง “ประชาคมโลกและความรับผิดชอบสากล” ในโอกาสการเริ่มต้นแห่งศตวรรษที่ยี่สิบเอ็ด ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า
“อาตมาเชื่อว่า … เราต้องเรียนรู้ที่จะสร้างคุณประโยชน์แก่มนุษยชาติ แทนที่จะทำประโยชน์เพียงเพื่อตนเองและครอบครัว หรือประเทศชาติของตนเพียงเท่านั้น ความรับผิดชอบต่อมนุษยชาติทั้งปวงเป็นกุญแจไปสู่การอยู่รอดของมวลมนุษยชาติ และยังเป็นพื้นฐานสำคัญในการสร้างสันติภาพโลกที่แท้จริง รวมทั้งก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรที่เหมาะสม และการรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างถูกวิธี ด้วยความห่วงใยถึงอนาคตของอนุชนรุ่นหลัง”
เท็นซิน กยัตโซ, องค์ทะไลลามะที่สิบสี่
ขอฝากข้อความข้างต้นไปยังผู้ที่ทำสงครามอย่างเอาเป็นเอาตายในขณะนี้ ผู้ที่พูดถึงแต่ชัยชนะของฝ่ายตนบนหายนะของอีกฝ่าย โปรดสดับฟังด้วยเถิด
โสรัจจ์ลงท้ายการอบรมด้วยการชวนให้เราอ่านประโยคสุดท้ายของโศลกสุดท้าย ดังนี้
“พระองค์ทรงสอนพระสัทธรรมอันประเสริฐ อันนำไปสู่การละวางเสียสิ้นซึ่งทรรศนะทั้งปวง”
โสรัจจ์ชี้ว่า คงไม่มีข้อความใดที่จะสรุปใจความของ “มูลมัธยมกการิกา” ได้ดีกว่าข้อความเริ่มต้นที่เป็นการกราบนมัสการพระพุทธองค์ ครูผู้ประเสริฐผู้ทรงสอนว่า
“สิ่งใดที่เกิดขึ้นด้วยเหตุปัจจัย
มูลมัธยมกการิกา
สิ่งนั้นไม่มีดับ ไม่มีเกิด
ไม่มีทำลาย ไม่เที่ยง
ไม่มีการมาไม่มีการไป
ไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีเอกลักษณ์
สงบระงับ และปลอดจากการปรุงแต่งด้วยมโนทัศน์”
ขอขอบคุณอาจารย์โสรัจจ์ ผู้เป็นครูของพวกเราในการอบรมครั้งนี้
+++++++++++++++++++++++++
หากท่านชอบบทความที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ vajrasiddha.com และต้องการสนับสนุนการทำงานของพวกเรา สามารถช่วยกันแชร์ คอมเมนท์ ติชม ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย วัชรสิทธาดอทคอม ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีจิตศรัทธา สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ได้ที่ — ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8