มหายาน : ธรรมะของหัวใจ

บทความโดย คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์



มหายานคือธรรมะที่สื่อสารกับหัวใจ หากเรามองการศึกษาธรรมะจากมุมมองพัฒนาการแบบที่พุทธศาสนาทิเบตวางรากฐานไว้ เราจะเห็นถึงความชาญฉลาดในการสื่อสารคำสอนที่ยกระดับขึ้นมา

จากวินัยแห่งการสละละวาง เส้นทางการปฏิบัติเพื่อปล่อยวางตัวตนทุกรูปแบบ เรามีความกล้าและไม่คิดมากที่จะปล่อยการยึดมั่นทางความคิด เป็นท่าทีที่เรารู้สึกได้ในประสบการณ์ตรงว่าตัวตนทั้งหมดที่เราคิดว่าเราเป็น ล้วนแต่เป็นมุมมองอันจำกัดที่ไม่จริงทั้งสิ้น น่าแปลกที่การปล่อยกลับไม่ได้ทำให้เราว่างเปล่า แต่ทำให้เรารู้สึกถึงอิสรภาพในชีวิตมากขึ้น เรากังวลกับชีวิตตัวเองน้อยลง จนบางครั้งเราอาจเริ่มรู้สึกถึงความพึงพอใจบางอย่างต่อชีวิต ที่ไม่จำเป็นต้องมีอะไรเพิ่มมากกว่าสิ่งที่มันเป็น หรือก็คือความรู้สึกมั่นใจว่าเราจะอยู่ได้กับกรรมทั้งหมดที่จะสุกงอมขึ้นในชีวิต เมื่อวินัยไม่ได้เป็นการคิด หรือเป็นความพยายามเท่ากับช่วงแรก เมื่อนั้นการสัมพันธ์กับคำสอนที่เข้ามาทำงานกับหัวใจ จะเป็นสิ่งที่เข้ามาแปรเปลี่ยนเราอย่างลึกซึ้ง

คลาสเรียนการหมุนกงล้อธรรมครั้งที่สอง เริ่มขึ้นด้วยปรัชญาปารมิตาหฤทัยสูตร ที่เข้ามาหักล้างทฤษฎีเดิมๆ จากคำสอนในการหมุนกงล้อธรรมครั้งแรก แต่มันไม่ได้เป็นการหักล้างที่ชี้จุดผิดพลาดของทฤษฎีเดิม ทว่าเป็นการหักล้างอันเกิดจากการชี้ไปยังประสบการณ์ที่กว้างขึ้น มันจึงไม่ใช่การล้มล้าง แต่เป็นการรวมเอาคำสอนชุดเดิมเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสัจธรรมที่ใหญ่กว่า

คำสอนในการหมุนกงล้อธรรมครั้งที่สอง หรือ คำสอนมหายาน จึงถูกเรียกว่าเป็น คำสอนปรมัตถธรรม (ความจริงสูงสุด) จุดเด่นของธรรมในขั้นนี้คือ มันไม่อาจทำความเข้าใจได้ผ่านความคิด และด้วยเหตุนั้น มันจึงไม่ได้มีวิธีการใดที่ถูกต้องที่สุดในการเรียนรู้ธรรมขั้นนี้ ผู้ศึกษามหายานแต่ละคนเพียงแค่นำเอาคำสอนนี้เข้ามาภายใน หล่อเลี้ยงมันไว้ สัมพันธ์กับมัน โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความพยามใดๆ เพื่อที่จะเข้าใจ สิ่งที่เราอาจจะทำได้คือการสังเกตปฏิสัมพันธ์และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประสบการณ์ของเราเองที่มีต่อคำสอน แล้วเส้นทางของผู้ปฏิบัติก็จะค่อยๆ ชัดเจนขึ้นจากความกระจ่างของหัวใจที่ซึมซับคำสอนเข้ามาโดยไม่ต้องผ่านลำดับของการคิดวิเคราะห์

น่าสนใจที่เมื่อคำสอนสื่อสารตรงเข้ามาสู่หัวใจ ความเข้าใจที่เกิดขึ้นนั้นจะทำให้เกิดบางสิ่งที่อาจเรียกว่าเป็นสายสัมพันธ์ระหว่างตัวเรากับคำสอนหรือบางครั้งก็คือผู้สอนด้วย สายสัมพันธ์นี้จะเข้ามาดำรงอยู่ภายในใจเราราวกับเป็นสิ่งมีชีวิต มันช่วยเปิดเราออกสู่ประสบการณ์ที่เกินกว่าการคาดคะเน และบนหนทางที่เราใช้ชีวิตอยู่บนการทำงานของสายสัมพันธ์นี้ ความรู้แจ้งก็จะค่อยๆ คลี่เผยออกมาอย่างเป็นธรรมชาติ

คำสอนสำคัญชิ้นหนึ่งในมหายานที่พลิกเปลี่ยนกระบวนทัศน์จากผลลัพธ์ของหินยาน คือคำสอนเรื่องการปล่อยความคาดหวังในการบรรลุธรรม ดังที่ปรัชญาปารมิตากล่าวว่า “ไม่มีทั้งการบรรลุธรรมและการไม่บรรลุธรรม” คำสอนนี้ไม่ได้เป็นเพียงอุปายะให้เราปล่อยวางจากเป้าหมายสูงสุดที่อาจเคยยึดถือไว้เท่านั้น แต่ยังชี้ให้เราเห็นว่า บนหนทางของธรรมะ ไม่มีสิ่งข้างนอกที่ต้องมองหาหรือรอคอยเพื่อทำให้สำเร็จ แต่ทุกสิ่งล้วนแต่อยู่ข้างในเราอย่างเพียบพร้อมอยู่แล้ว

จากจุดเริ่มต้นของความพึงใจในสิ่งที่เรามี เราจะสัมผัสได้จากประสบการณ์ว่าความพึงใจนี้ไม่ใช่ความพึงพอใจที่เย่อหยิ่งหรือมีในสิ่งที่เราชื่นชอบ แต่มันเป็นความพึงใจที่เกิดจากสายสัมพันธ์ภายในระหว่างเรากับธรรมะ จนเกิดเป็นพื้นแห่งความรักที่ไม่มีอะไรกั้นขวาง เราสัมผัสได้ถึงอิสระในการเผยตัวขึ้นของความรักนี้ และบางครั้งเราก็รับรู้ได้ว่ามันเริงระบำอยู่ในความตระหนักรู้

คุณสมบัติบางอย่างทีเกิดขึ้นระหว่างทาง ทำให้เรามองเส้นทางสู่การหลุดพ้นด้วยมุมมองใหม่ มันอาจไม่ใช่หนทางของไขว่คว้าสิ่งอื่นอีกต่อไปแล้ว แต่เป็นการดิ่งลึกลงไปรู้จักกับชีวิตและหัวใจของเราเอง ผ่านการพบพานกับผู้คน สถานการณ์ และสรรพชีวิต ด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง หรือ ที่เรียกว่าหัวใจของโพธิจิต

มหายานเรียกการบรรลุธรรมขั้นสูงสุดเอาไว้ว่า อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ หรือ การบรรลุสู่การเป็นพุทธะเพื่อสรรพสัตว์ทั้งปวง ซึ่งเป็นการรู้แจ้งที่แตกต่างไปจากหินยาน การรู้แจ้งของพุทธะนี้ ไม่ได้มีความหมายเพียงสภาวะแห่งการตื่นรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นพุทธะที่ปฏิบัติพุทธกิจ เฉกเช่นเดียวกับพุทธะทั้งหลายในอดีตด้วย ด้วยเหตุนี้เมื่อเราได้เริ่มต้นเดินอยู่บนหนทางมหายานในฐานะโพธิสัตว์ที่มีเป้าหมายแห่งการบรรลุเป็นพุทธะแล้ว จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ทุกประสบการณ์ที่เข้ามาทำงานกับเรา ล้วนแต่เป็นโอกาสให้เราแสดงตนเป็นพุทธะ ที่พร้อมทำทุกอย่างเพื่อช่วยเหลือผู้อื่นให้พ้นจากความทุกข์ โดยไม่จำเป็นต้อง “ไปเป็น” สิ่งใดก่อน ทว่าเราทำได้ขณะนี้ เดี๋ยวนี้เลย เพียงแค่เราสัมพันธ์กับธรรมชาติเดิมแท้และเนื้อแท้ของเรา ที่เป็นพุทธะอยู่แล้วเสมอ




++++++++++++++++++++++++++++++++

หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8