อานัม ทุบเท็น เขียน
ธัญญา ศรีธัญญา [THANYA วัชรสิทธา] แปล
จากบทความ The Sacred Desire to Exist
เมื่อผู้คนเริ่มมีวิกฤตการดำรงอยู่ หรือนั่งทบทวนชีวิตอย่างลึกซึ้ง มักมีคำถามที่ปกติแล้วไม่ถามกัน เช่น “ฉันมาทำอะไรที่นี่? ทำไมถึงมีจักรวาลนี้เกิดขึ้นแต่แรก? ทำไมสิ่งต่างๆ จึงมีอยู่?”
โดยส่วนใหญ่แล้ว เราไม่เข้าใจหรอกว่าทำไมเราถึงมาอยู่ ณ ตรงนี้ เรามาเริ่มต้นที่นี่ได้อย่างไร หรือทำไมเหตุการณ์ทั้งหลายจึงเกิดขึ้นกับเรา ความไม่รู้อันแสนลี้ลับนี้เป็นเหมือนพื้นหลังของการดำรงอยู่ของเราเสมอ
แน่นอน บางครั้งเราพยายามใช้หัวคิดวิเคราะห์ว่าทำไมมันจึงเกิดขึ้น ทำไมเราจึงมาอยู่นี่ และอะไรจะเกิดในวันพรุ่งนี้ เราสามารถเข้าใจในเหตุและผลที่มีขอบเขตแน่ชัด ทว่ามันยังคงมีความลี้ลับอยู่เสมอ ความไม่รู้ Unknown ความลี้ลับนี้แหละ ที่เราเรียกว่า “กรรม”
เราสามารถพูดได้ว่า “ทุกสิ่งคือกรรมของเรา” แต่เราไม่อาจเข้าใจกรรมได้ ปราชญ์โบราณหลายคนมักพูดว่า “อย่าเสียเวลาไปวิเคราะห์กรรม เพราะเราไม่มีทางเข้าใจมันได้ทั้งหมด”
จากแนวคิดเรื่องกรรม เราไม่มีวันเข้าใจความลี้ลับของการดำรงอยู่ของตนเอง บางครั้งเราหวังว่ามันจะมีคำอธิบายที่กระจ่างชัดให้แก่ทุกอย่าง เพื่อเป็นตำรับยาที่ใช้ในการแก้ปัญหาทั้งหมดของเรา โดยเฉพาะปัญหาใหญ่ๆ ซึ่งก็คือการที่วันนึงเราจะต้องตาย แน่นอนว่าความปรารถนาของคนเรา คือการมีชีวิตที่ยืนยาว หรืออาจจะมีชีวิตอยู่ไปตลอดกาลเสียด้วยซ้ำ ทว่าการเป็นอมตะนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ แต่ผู้คนส่วนหนึ่งก็ยังคงปรารถนาสิ่งนี้ ประเด็นคือเราอยู่ที่นี่แล้ว และเราทำอะไรไม่ได้ มันสายไปเสียแล้วที่จะเปลี่ยนใจ ยินดีต้อนรับสู่โลกใบนี้ เราอยู่ที่นี่อย่างสมบูรณ์ และจนถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีทางจะออกไปจากที่นี่ เช่นนี้ สิ่งที่เราทำได้คงจะเป็นการเพลิดเพลินอยู่ในโลกนี้ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ดูเหมือนว่ามีความปรารถนาของจักรวาลที่จะดำรงอยู่ ไม่ใช่ความปรารถนาในระดับสัญชาตญาณ แต่เป็นความปรารถนาที่เป็นเหมือนแรงขับ แรงที่ดำรงอยู่มาชั่วนิรันดร์ อย่างที่ปราชญ์ชายหญิงในโลกโบราณกล่าวว่า จักรวาลไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด ทฤษฎีนี้ยอดเยี่ยมมาก จักรวาลไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุด และพลังขับเคลื่อนที่เป็นอนันตกาล คือความปรารถนาที่จะดำรงอยู่ ด้วยแรงปรารถนานี้ ทุกสิ่งทุกอย่างจึงเกิดขึ้นมา ตั้งแต่ที่เล็กที่สุดจนถึงความเป็นจริงอันไร้จุดสิ้นสุด รวมถึงฝุ่นผงบนโซฟา ทั้งหมดของจักรวาลเกิดมาด้วยแรงปรารถนานี้ ความปรารถนาที่จะดำรงอยู่นี้ศักดิ์สิทธิ์ในตัวมันเอง บริสุทธิ์ ไม่ใช่สิ่งธรรมดา เราทั้งหมดเกิดมามีชีวิตก็เพราะพลังนี้ ดังนั้นถ้ามองจากมุมนี้ เราเกิดมาจากความศักดิ์สิทธิ์ …ไม่ใช่จากบาปดั้งเดิม แต่เป็นความศักดิ์สิทธิ์เดิมแท้
มันไม่ผิดเลยที่เราจะมีความปรารถนาในการดำรงอยู่ เมื่อมองไปรอบๆ เราจะเห็นว่าทุกสิ่งมีความปรารถนาที่จะดำรงอยู่ ต้นไม้ ดอกไม้ ภูเขา ล้วนมีความปรารถนานี้ทั้งสิ้น เราสามารถเห็นความปรารถนานี้ในตัวเอง บ้างเป็นไปตามเหตุผล บ้างก็ไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย เวลาเราป่วย เราปรารถนาจะมีชีวิตยืนยาว ไม่ใช้ด้วยเหตุผลที่เห็นแก่ตัว แต่เพื่อจะได้อยู่กับคนที่เรารัก เราอยากช่วยเหลือสนับสนุนพวกเขา มันเป็นความปรารถนาที่มีเหตุผลและกล้าหาญ บางทีความปรารถนาที่จะดำรงอยู่ก็เป็นสัญชาตญาณล้วนๆ ไม่มีเหตุผลเบื้องหลัง ท้ายที่สุดแล้ว เราทำได้แค่ ปล่อย ให้ทุกอย่างเป็นไปตามความลี้ลับอันยิ่งใหญ่ ที่เรียกว่า กรรม มันเป็นข่าวดี ว่ามั๊ย? จำที่นักปราชญ์โบราณกล่าวไว้ได้ใช่ไหม “อย่าไปวิเคราะห์กรรม” เราไม่ต้องพยายามหาที่มาไปเสียทุกเรื่อง เราสามารถปล่อยให้เป็นไปตามความไม่รู้ ในอ้อมกอดของความลี้ลับอันไม่มีที่สิ้นสุด
พุทธะกล่าวว่า รากความทุกข์ของมนุษย์คือความอยาก ท่านพูดถึงความอยากสามประเภท; ความอยากที่จะมีอยู่ ความอยากในรสสัมผัส และความอยากที่จะไม่มีอยู่ วิธีการส่องสว่างให้เห็นรากความทุกข์นี้ไม่ใช่อะไรที่เป็นนามธรรมหรือคอนเซ็ปต์ ทุกคนสามารถมีความคิดเกี่ยวกับความอยาก เราสามารถเข้าใจหลักการนี้ได้ด้วยความคิด ร่างกาย กระทั่งกระดูกของเรา พุทธะกล่าวว่า ความอยากทั้งสามนี้ เป็นเหตุแห่งความทุกข์ทั้งมวลของมนุษย์
ความอยากแรก คือความอยากที่จะดำรงอยู่ ความอยากนั้นเป็นมากกว่าความปรารถนาในระดับสัญชาตญาณ จำไว้ว่าทุกสัญชาตญาณ ทุกความปรารถนานั้นโอเคในตัวมันเอง ความปรารถนาที่จะดำรงอยู่ของจักรวาลนั้นโอเคในตัวมันเอง จงโอบรับมันไว้ เคารพมันโดยไม่ต้องรู้สึกผิด ความปรารถนานั้นเป็นธรรมชาติ แต่ความอยากนั้นต่างออกไป ความอยากไม่ได้เป็นธรรมชาติ ความปรารถนาที่จะดำรงอยู่นั้นเป็นธรรมชาติ มันไม่ถูกปรุงแต่ง อะไรที่เป็นธรรมชาติจะเฮลตี้ เรารู้ว่ามันมีสภาวะจิตที่ดีและที่ไม่ดี และก็มีสัญชาตญาณที่ดีและที่ไม่ดี ความปรารถนาที่จะดำรงอยู่นั้นเป็นสุขสภาวะที่ดี เฮลตี้แน่นอน เพราะมันเป็นสิ่งที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด
ความอยากดูเหมือนจะไม่ใช่สุขภาวะที่ดี มันเหมือนเป็นความปรารถนาในขั้นวิปลาส เป็นความหมกมุ่นที่จะดำรงอยู่ ความอยากมักมาพร้อมความกลัวและความรู้สึกไม่ปลอดภัย เป็นความกลัวตาย ที่บางทีมาพร้อมกับความรุนแรง เป็นความรุนแรงในการต่อสู้กับความเป็นจริง ความไม่เที่ยง และการเปลี่ยนแปลง
เราอาจเคยได้ยินธรรมาจารย์เซนกล่าวว่า พวกเขาข้ามพ้นทั้งการมีชีวิตและความตาย เราสามารถก้าวข้ามความตายได้จริงๆ ล่ะหรือ? มันขึ้นอยู่กับว่าเราเข้าใจการก้าวข้ามความตายว่าอย่างไร จากมุมมองหนึ่ง เราก้าวข้ามความตายไม่ได้ ยังไงเราทุกคนต้องตาย ในอีกมุมมองหนึ่ง เราสามารถก้าวข้ามความตายได้ ในจุดที่เราสามารถตัดผ่านและปล่อยความอยากที่จะดำรงอยู่ได้ เราก็ก้าวข้ามความตายได้แล้ว มันไม่มีแล้วซึ่งความกลัวตาย ณ จุดนั้น เราเข้าสู่การยอมรับอย่างหมดจด
นอกเหนือจากความอยากที่จะดำรงอยู่ ซึ่งเป็นความหมกมุ่นอันวิปลาสในการมีอยู่ของตัวเอง เราจะพบได้กับความอยากอีกหลายรูปแบบที่เกิดขึ้นตามมา ความอยากได้ความปลอดภัย ความสำเร็จ อำนาจ ความรัก การเป็นที่ยอมรับ ความแน่นอน ความมั่งคั่ง และอีกมากมาย ความอยากได้ความสบาย อยากได้สถานการณ์ที่ราบรื่น เราเห็นชัดว่าความทุกข์มาจากความอยากเหล่านั้น อันที่จริง ถ้ามองเข้าไปยังจิตตัวเองตอนนี้ บางทีเธออาจจะเห็นความทุกข์ เธอเห็นความทุกข์ไหม? นี่เป็นการมองเข้าไปที่ทรงพลังมาก มีพลังสุดๆ ในการตรวจสอบตัวเองและทบทวนตัวเอง นั่นคือเหตุที่ทำไมพุทธะจึงกล่าวว่า “เราต้องตั้งคำถามและมองเข้าไป เพื่อที่จะเข้าใจรากแห่งความทุกข์” ท่านไม่เคยบอกให้ก้าวข้ามความทุกข์ ท่านบอกให้ตระหนักถึงความทุกข์และตัดที่รากของมัน ช่างเป็นคำกล่าวที่ปราดเปรื่องจริงๆ
ความปรารถนาเป็นธรรมชาติของเรา แต่ความอยากนั้นวิปลาส ความอยากคือความปรารถนาที่กลายเป็นความวิปลาส ความปรารถนานั้นมีคุณสมบัติเดิมแท้ตามธรรมชาติอยู่มากมาย จงรับรู้ความทุกข์และรากแห่งทุกข์ แล้วเรียนรู้ที่จะปล่อยวางมัน บางครั้งเธอจะค้นพบพื้นที่ภายในตัวเธอที่ไม่มีความอยากอีกต่อไป ที่ที่เป็นอิสระ นี่เป็นสาเหตุที่ทำไมเรามาสนใจการภาวนา เมื่อจิตและกายเราสงบนิ่ง เรารู้สึกว่ากำลังยืนอยู่บนพื้นที่ไหนสักแห่งในตัวเราเอง ที่ซึ่งไม่มีความอยากและความกลัวอีกแล้ว นี่คือสภาวะธรรมชาติของการดำรงอยู่ของเรา สภาวะอันเป็นธรรมชาตินี้เป็นอิสระจากความอยากอยู่แล้ว
การดำรงอยู่ของเรานั้นงดงาม เธอเคยมีช่วงเวลาที่รื่นรมย์กับการดำรงอยู่ของเธอไหม? ชั่วขณะที่เธอรู้สึกปลอดโปร่ง เธอแค่ยินดีกับการมีชีวิต เธอมีความสุขเมื่อได้หายใจ ได้กลิ่น สัมผัส รู้รสชาติ เราเป็นสุขเหลือเกินในช่วงเวลาแบบนี้ เรายินดีกับข้อเท็จจริงที่ว่า เรากำลังมีชีวิตอยู่ในชั่วขณะนี้ เรากำลังดำรงอยู่ในตอนนี้
แปลจาก The Sacred Desire to Exist – Lions Roar, April 2023
https://www.lionsroar.com/the-sacred-desire-to-exist/
+++++++++++++++++++++++++
หากท่านชอบบทความที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ vajrasiddha.com และต้องการสนับสนุนการทำงานของพวกเรา สามารถช่วยกันแชร์ คอมเมนท์ ติชม ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย วัชรสิทธาดอทคอม ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีจิตศรัทธา สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ได้ที่ — ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8