บทความโดย วิจักขณ์ พานิช
“ชายผู้หนึ่งกำลังจะตายจากบาดแผลที่ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษเข้าที่ดวงตา ในสถานการณ์คับขันเช่นนั้น เราต้องการความรู้ที่เอาไปใช้ได้ทันท่วงที วิธีที่จะดึงลูกศรออก แล้วช่วยให้ชายผู้นั้นรอดพ้นจากความตาย ความรู้อื่นๆ อาจฟุ่มเฟือยและไม่จำเป็น เผลอๆ อาจยิ่งทำร้ายชายผู้นั้นเสียด้วยซ้ำ เพราะมันจะยิ่งสร้างการหันเหออกนอกทางและสูญเสียเวลาอันมีค่า เราต่างก็เป็นชายผู้กำลังตายคนนั้น และสิ่งที่เราต้องการคือ ความรู้ที่เอาไปปฏิบัติได้จริง สัมพันธ์กับสถานการณ์ความทุกข์ในชีวิตของเราจริงๆ ไม่ใช่ไอเดียล่องลอยที่อธิบายว่าสิ่งต่างๆ เป็นเช่นไร”
เรจินัลด์ เรย์, จากหนังสือ “Indestructible Truth”
เราทุกคนต่างเป็นชายที่ถูกยิงด้วยลูกศรอาบยาพิษเข้าที่ดวงตา ความเจ็บปวดมักทำให้เรากระเสือกกระสนดิ้นรนที่จะหนีออกจากทุกข์ด้วยกลยุทธ์ต่างๆ และโดยมากแล้ว วิธีที่เราเลือกใช้มักทำให้สถานการณ์แย่ลงมากกว่าจะดีขึ้น
การทำสมาธิภาวนาอาจดูเหมือนเป็นกิจกรรมฟีลกู้ดในทีแรก ทำจิตใจให้สงบ ผ่อนคลาย ตามลมหายใจ แผ่ความรักความกรุณาให้สรรพชีวิต ซึ่งในด้านหนึ่ง การภาวนาก็เป็นกระบวนการที่ช่วยบ่มเพาะความอ่อนโยนและความรักความกรุณาในใจเราจริง ทว่ามันยังมีอะไรในการภาวนามากกว่านั้น โดยความหมายที่แท้จริงแล้ว การภาวนาคือการทำงานกับกรรม กิเลส และตัวตน เพื่อเข้าถึงสัจธรรมแห่งอนัตตาหรือความไม่มีตัวตน ความหมายของการดึงลูกศรออกจากดวงตาด้วยหนทางการภาวนา ก็คือการมองไปยังความจริงแห่งประสบการณ์ในแต่ละขณะ และเห็นแจ้งด้วยตัวเองว่า ไม่มีสิ่งที่เป็นตัวตนที่แยกขาดจากสิ่งอื่นๆ อย่างที่เราเคยคิด อาจกล่าวได้ว่า ลูกศรไม่ได้ถูก “ดึง” ออกเสียทีเดียว แต่ด้วยดวงตาที่เห็นธรรมตามที่เป็นจริง ตัวเราไม่มีอยู่ ลูกศรจึงไม่มีอยู่ ไม่มีการ “ติด” อยู่ในดวงตาเราอีกต่อไป และการหลุดพ้นก็อยู่ตรงนั้นแล้ว
เมื่อลูกศรยังปักอยู่ในดวงตา เราไม่จำเป็นต้องสร้างเรื่องเล่าเพิ่มเติม ไม่ต้องกลบเกลื่อน ไม่ต้องหาคำอธิบายที่สวยหรู การพยายามเข้าไป “คิด” หรือ “เข้าใจ” ความเจ็บปวดผ่านกระบวนการของมโนภาพและความหมายทั้งหลาย กลับยิ่งเป็นการตอกย้ำพิษร้ายลึกเข้าไปในบาดแผล การภาวนาในภาวะเช่นนี้ คือการนั่งอยู่กับความเจ็บปวดนั้นอย่างตรงไปตรงมา ปลดปล่อยเนื้อเรื่องในหัว ไม่เติมแต่งอัตลักษณ์ให้กับความรู้สึก ให้พื้นที่ว่างๆ เปิดออกกลางความเจ็บกลางใจ และเฝ้ามองด้วยความอ่อนโยน
เมื่อตั้งมั่นอยู่กับความรู้สึกของร่างกายและการรับรู้ตรงๆ อย่างไม่ปรุงแต่ง ความเจ็บปวดก็ยังอยู่ แต่มันจะ “เคลื่อน” ไปได้ดั่งปรากฏการณ์ธรรมชาติ ความเจ็บปวดเป็นสภาวะที่แปรเปลี่ยนได้ จากสิ่งที่เราเคย “กลัว” หรือ “ผลักไส” กลับกลายเป็น ‘่just something’ ที่เราสามารถนั่งอยู่กับมันได้โดยไม่ถูกกลืนกิน เมื่อไม่ “ติด” ความเจ็บปวดก็จะค่อยๆ “process” และคลี่คลายด้วยตัวของมันเอง
ในช่วงเวลาที่เรานั่งนิ่งอยู่กับความเจ็บปวด ความคิดต่างๆ จะถาโถมเข้ามาเหมือนพายุ — ความคิดถึงความผิดพลาดในอดีต, ความกลัวอนาคต, ความรู้สึกว่าตนเองไร้ค่า, โกรธเคือง, สิ้นหวัง — ทุกถ้อยคำในหัวเป็นเสมือนปีศาจเร่ร่อนที่พยายามบั่นทอนจิตใจให้ถอยหนี ตุลกู อูร์เจ็น กล่าวไว้ว่า ความคิดลบๆ ที่ถาโถม ก็เหมือนกับ “วิญญาณร้าย”
“พลังที่ขัดขวาง คือความคิดของเราเองที่ปรากฏออกมาภายนอก ซึ่งเรียกอีกอย่างว่า “วิญญาณร้าย” พวกมันคือแรงที่ฉุดรั้งเราไม่ให้เข้าถึงสภาวะแห่งการตรัสรู้ ที่แท้จริงแล้ว ล้วนกำเนิดจากความคิดของเราเอง จากอวิชชา”
ตุลกู อูร์เจ็น รินโปเช, จากหนังสือ “Vajra Speech”
การปฏิบัติที่แท้จริง ไม่ใช่การต่อสู้กับปีศาจเหล่านั้นด้วยกำลัง หากคือการปล่อยให้มันปรากฏขึ้น, อยู่, และดับไป ด้วยความรู้สึกตัวที่อ่อนโยนแต่มั่นคง เราไม่หนี ทว่าไม่สู้ เราเพียง อยู่ กับมัน ราวกับฟ้าเปิดกว้างให้พายุโหมกระหน่ำโดยไม่หวั่นไหว
และในที่สุด ด้วยการไม่ต่อสู้และไม่หลีกหนี การที่เรา process ก้อนความเจ็บปวดนี้ตั้งแต่ต้นจนจบกระบวนการ เราก็ได้ “หมดกรรม” กับความเจ็บปวดนั้นในที่สุด — ไม่ใช่ด้วยการกำจัดมัน แต่ด้วยการที่ความเจ็บปวดและความคิดทั้งหลายหมดสิ้นฤทธิ์อำนาจในการขับเคลื่อนเราไปไหนต่อไหนอีกต่อไป
เราจึงได้รู้จากประสบการณ์ตรงว่า แก่นแท้ของการภาวนาไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงโลกภายนอก เปลี่ยนแปลงคู่กรณี หรือแม้แต่เปลี่ยนแปลงตัวเราเอง แต่คือการเปิดออกอย่างไม่มีเงื่อนไขต่อ “ทั้งหมด” ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันขณะ และเมื่อนั้น ความเจ็บปวดก็ไม่ใช่ศัตรู แต่ความเจ็บปวดจะกลายเป็นครู เป็นพาหนะที่พาเราข้ามพ้นสู่ความเป็นอิสระ
ด้วยมุมมองเช่นนี้ เราจะไม่ใช่ผู้ถูกยิงด้วยลูกศรอีกต่อไป
และเราไม่ใช่ผู้บาดเจ็บที่ต้องการการเยียวยาบาดแผลอีกแล้ว
แต่เราคือ “ธรรมชาติ”
ความเดิมแท้ของความว่าง ความอ่อนโยน และการตื่นรู้อันไพศาล
ความเจ็บปวดได้พาเรากลับคืนสู่บ้านอันแท้จริง
หัวใจ ที่ไม่เคยถูกใครหรือสิ่งใดทำร้ายได้เลย