โดย ชาร์ลอต โจโก เบ็ค
แปลเรียบเรียงโดย ทีมงานวัชรสิทธา

เมื่อไม่กี่สัปดาห์ก่อน มีคนมอบบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “ความทุกข์” ให้ฉัน ส่วนแรกของบทความกล่าวถึงความหมายของคำว่า “ทุกข์” (suffering) โดยแยกองค์ประกอบของคำออกมาให้เห็นชัดเจน ส่วนที่สอง “fer” มาจากคำกริยาในภาษาลาติน ferre ซึ่งหมายถึง “แบกรับ” และส่วนแรก “suf” มาจาก sub ซึ่งหมายถึง “ใต้” ดังนั้นในคำนี้จึงมีความรู้สึกว่า “อยู่ภายใต้” “รับจากข้างใต้” “อยู่ใต้อย่างสมบูรณ์” (To totally be under) หรือ “รองรับบางสิ่งจากเบื้องล่าง”
ในทางตรงกันข้าม คำว่า “affliction” (ความทุกข์ทรมาน), “grief” (ความโศกเศร้า), และ “depression” (ภาวะซึมเศร้า) ล้วนให้ภาพของ น้ำหนักที่กดทับ หรือบางสิ่งที่ ถาโถมลงมา บนตัวเรา แท้จริงแล้วคำว่า “grief” เองก็มาจากภาษาละติน gravare ซึ่งแปลว่า “กดทับลงมา”
ดังนั้น เราสามารถมองความทุกข์ได้สองแบบ แบบแรกคือ ความทุกข์ที่รู้สึกเหมือนถูกกดทับจากภายนอก เป็นสิ่งที่ถาโถมเข้ามาทำให้เราทุกข์ทรมาน ส่วนแบบที่สองคือ การอยู่ใต้สิ่งนั้น—เพียงแค่ รับมัน และ เป็นหนึ่งเดียวกับมัน และความแตกต่างในการทำความเข้าใจความทุกข์นี้เป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญสู่การเข้าใจการปฏิบัติของเรา
รากฐานของการปฏิบัติของเรา และอริยสัจข้อแรก คือคำกล่าวของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ชีวิตคือความทุกข์” พุทธะไม่ได้กล่าวว่าชีวิตเป็นทุกข์บางครั้ง—พุทธะกล่าวว่า ทั้งหมดของชีวิตคือความทุกข์
บ่อยครั้งผู้คนมักกล่าวว่า “ฉันเข้าใจว่าชีวิตคือความทุกข์ เมื่อทุกอย่างเลวร้ายและทุกอย่างไม่น่าพึงพอใจ แต่ฉันไม่เข้าใจว่าทำไมชีวิตถึงยังเป็นทุกข์ในช่วงเวลาที่ทุกอย่างเป็นไปด้วยดีและฉันรู้สึกมีความสุข” ความจริงแล้ว ความทุกข์มีอยู่หลายระดับ ตัวอย่างเช่น เมื่อเราไม่ได้ในสิ่งที่ต้องการ เราทุกข์ แต่ในขณะเดียวกัน เมื่อเราได้รับสิ่งนั้นแล้ว เราก็ยังทุกข์ เพราะเราตระหนักดีว่า เมื่อได้มาแล้ว ก็สามารถสูญเสียมันไปได้ ไม่ว่าเราจะได้รับมันหรือไม่ก็ตาม ไม่ว่าเหตุการณ์จะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นกับเรา ความทุกข์ยังคงอยู่ เพราะ ธรรมชาติของชีวิตคือความไม่แน่นอนและการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เรารู้ว่าเราไม่อาจยึดมั่นในสิ่งที่น่าพึงพอใจได้ตลอดไป และเราก็รู้ว่าแม้สิ่งที่ไม่น่าพึงพอใจจะหายไป มันก็สามารถกลับมาได้เสมอ

เรื่องนี้ทำให้ฉันนึกถึงคำสอนของ พระอาจารย์ฮวงโป“จิตนี้ไม่ใช่จิตแห่งความคิดปรุงแต่ง และมันหลุดพ้นจากรูปลักษณ์ทั้งปวง ดังนั้น พุทธะและสรรพสัตว์จึงไม่แตกต่างกันเลย หากท่านสามารถละทิ้งความคิดปรุงแต่งได้ ท่านก็จะบรรลุทุกสิ่ง แต่หากพวกท่านไม่ละวางมันเสียโดยฉับพลัน ต่อให้ใช้ความพยายามเป็นกัปกัลป์ พวกท่านก็จะไม่มีวันสำเร็จ”
ปัญหาของเราคือการเล่นกลของจิตเรา ความโน้มเอียงที่จะปรุงแต่งสิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ความคิดปรุงแต่งนั้นไม่ใช่สิ่งผิดโดยตัวมันเอง แต่เมื่อเรายึดติดกับความคิดเห็นของตน และเชื่อว่ามันเป็นความจริงอย่างสัมบูรณ์และไม่เห็นว่ามันเป็นความคิดเห็น เมื่อนั้นเราก็ทุกข์ นั่นคือความทุกข์ที่เห็นผิด นี่คือ “ความทุกข์ที่ผิดพลาด “”ความแตกต่างเพียงเสี้ยวกระเบียดนิ้ว อาจทำให้สวรรค์และโลกถูกแยกออกจากกัน”
ประเด็นที่ต้องเพิ่มเติมตรงนี้คือ ไม่สำคัญว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะเป็นเช่นไร มันอาจจะไม่ยุติธรรม อาจจะโหดร้าย ทุกคนต่างเคยผ่านเหตุการณ์ที่ไม่เป็นธรรม โหดร้าย และทารุณที่เกิดขึ้นกับเรากันทั้งนั้น ตามปกติแล้ว เรามักคิดว่า “นี่มันเลวร้ายเกินไป” เราต่อสู้กับมัน เราต่อต้านมัน พยายามทำตามคำกล่าวของเชกสเปียร์ที่ว่า”จงจับอาวุธต่อสู้กับทะเลแห่งความยากลำบาก และด้วยการต่อต้านมัน จงยุติมันเสีย”
มันคงจะดียิ่งหากเพียงมันสามารถยุติ “ลูกธนูและก้อนหินแห่งโชคชะตาอันโหดร้าย” ได้ แต่วันแล้ววันเล่า เราต่างต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ดูเหมือนไม่ยุติธรรมที่สุด และเรามักคิดว่าหนทางเดียวที่จะรับมือกับการถูกโจมตีนี้คือ “การต่อสู้กลับ” และวิธีที่เราต่อสู้ก็คือ ด้วยจิตใจของเราเอง เราติดอาวุธให้ตัวเองด้วยความโกรธและความคิดเห็นของตนเอง ห่อหุ้มตัวเองด้วยความชอบธรรมราวกับกำลังสวมเสื้อเกราะกันกระสุน เราคิดว่านี่คือวิถีแห่งชีวิต สิ่งที่เราทำสำเร็จทั้งหมดนั่นคือมันกลับยิ่งทำให้ความแตกแยกขยายตัว ทำให้ความโกรธรุนแรงขึ้น และท้ายที่สุด เราก็ทำให้ทั้งตัวเองและผู้อื่นเป็นทุกข์มากขึ้น หากหนทางนี้ไม่ได้ผล แล้วเราจะรับมือกับความทุกข์ของชีวิตได้อย่างไร
มีเรื่องเล่าของ ซูฟี เรื่องหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้..
ครั้งหนึ่ง มีชายหนุ่มคนหนึ่งซึ่งเป็นลูกชายของครูผู้ยิ่งใหญ่แห่งยุค พ่อของเขาได้รับการเคารพและนับถือจากผู้คนมากมาย ด้วยการเติบโตขึ้นมาท่ามกลางคำสอนอันลึกซึ้งของผู้เป็นพ่อ ชายหนุ่มจึงเชื่อมั่นว่าเขารู้ทุกสิ่งที่ควรรู้แล้ว แต่พ่อของเขากับกล่าวกับเขาว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น พ่อไม่สามารถสอนสิ่งที่เจ้าจำเป็นต้องรู้ได้ คนที่เจ้าควรไปพบคือครูชาวนา—ชายผู้ไม่รู้หนังสือ เป็นเพียงชาวไร่ชาวนาเท่านั้น” ชายหนุ่มไม่พอใจนักกับคำแนะนำนี้ แต่เขาก็ออกเดินทางด้วยความไม่เต็มใจนัก จนกระทั่งมาถึงหมู่บ้านที่ครูชาวนาอาศัยอยู่ ในเวลานั้นเอง ชายชาวนากำลังขี่ม้าเดินทางจากไร่ของเขาไปยังอีกไร่หนึ่ง และเมื่อเห็นชายหนุ่มเดินเข้ามาหา
เมื่อชายหนุ่มเข้ามาใกล้ เขาก้มศีรษะทำความเคารพ ครูชาวนามองลงมาแล้วกล่าวว่า “ยังไม่พอ”
ชายหนุ่มจึงคุกเข่าลง แล้วทำความเคารพอีกครั้ง ครูชาวนาเอ่ยขึ้นว่า “ยังไม่พอ”
จากนั้น เขาก้มลงจนระดับเดียวกับเข่าของม้า แต่ครูชาวนายังคงกล่าวว่า “ยังไม่พอ”
สุดท้าย ชายหนุ่มก้มลงจนหน้าผากสัมผัสกับกีบเท้าของม้า เมื่อเห็นดังนั้น ครูชาวนาจึงกล่าวว่า “เจ้ากลับไปได้แล้ว—การฝึกของเจ้าเสร็จสิ้นแล้ว”
และนั่นคือทั้งหมดที่ชายหนุ่มได้รับจากการฝึกฝน

จนกว่าเราจะยอมก้มลงและยอมรับความทุกข์ของชีวิต—ไม่ใช่ต่อต้านมัน แต่ศิโรราบและเป็นหนึ่งเดียวกับมัน—เราจะไม่มีวันมองเห็นชีวิตตามความเป็นจริง
นี่ไม่ได้หมายถึงการยอมจำนนหรือการไร้การกระทำแต่อย่างใด แต่หมายถึงการ เป็น ความทุกข์นั้นโดยสมบูรณ์ ไม่ใช่การปกป้องตัวเอง ไม่ใช่การยอมรับเพียงบางสิ่ง แต่คือการเปิดออกอย่างสมบูรณ์ ยอมรับทุกสิ่งอย่างหมดจด—ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจ แต่กลับเป็นหนทางเดียวที่แท้จริงในการดำเนินชีวิต
การฝึกฝนของเราตลอดชีวิตคือเพียงสิ่งนี้เอง
ในทุกช่วงเวลา เรามีมุมมองหรือจุดยืนที่แข็งตัวเกี่ยวกับชีวิต เราเปิดรับบางสิ่งและปฏิเสธบางสิ่ง เราอาจยึดติดกับมุมมองนั้นเป็นเวลานาน แต่หากเราฝึกฝนอย่างจริงจัง การฝึกฝนของเราจะสั่นคลอนมุมมองนั้น—เราไม่สามารถยึดมั่นมันได้ตลอดไป
เมื่อเราเริ่มตั้งคำถามกับมุมมองของตัวเอง เราอาจรู้สึกดิ้นรนสับสนหรือวุ่นวายใจ เพราะเรากำลังพยายามทำความเข้าใจกับแง่มุมใหม่ของชีวิต และอาจใช้เวลานานกว่าที่เราจะยอมรับมันได้ เราอาจปฏิเสธมัน ต่อสู้กับมัน แต่นั่นเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการฝึกฝน
ท้ายที่สุด เราจะเริ่มเต็มใจที่จะ “สัมผัส” กับความทุกข์ แทนที่จะต่อสู้กับมัน และทุกครั้งที่เราทำเช่นนั้น—ทุกครั้งที่เราเข้าไปสู่ความทุกข์ และปล่อยให้มันเป็นไป—ภาพของชีวิตเราจะไพศาลขึ้น
ดัดแปลงจาก Everyday Zen โดย ชาร์ลอตต์ โจโกะ เบ็ค และตีพิมพ์ซ้ำด้วยความอนุเคราะห์จาก HarperOne สำนักพิมพ์ในเครือ HarperCollins Publishers ลิขสิทธิ์ 2007
ชาร์ลอตต์ โจโกะ เบ็ค (1917-2011) เป็นครูผู้ก่อตั้งศูนย์เซนแห่งซานดิเอโกและสำนักเซนจิตธรรมดา ผู้เขียนหนังสือ Everyday Zen: Love and Work และ Nothing Special: Living Zen โจโกะ เบ็คเป็นที่รู้จักในการผสมผสานคำสอนเซนพุทธดั้งเดิมกับจิตวิทยาตะวันตก
ที่มาบทความ: To Totally Be Under : A Story by Zen Teacher Charlotte Joko Beck
++++++++++++++++++++++++++++++++
หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8