บทความโดย ธัญญา ศรีธัญญา
ณ วันนี้ สังคมไทยมาถึงจุดที่ผู้คนให้ความสำคัญกับสุขภาวะทางจิตใจ การพูดถึงสภาวะจิต อารมณ์ ความเจ็บปวด ภาวะวิตกกังวล โรคซึมเศร้า กลายเป็นหัวข้อปกติ และกระบวนการรักษาก็เข้ามาอยู่ในวิถีชีวิตผู้คนอย่างเป็นธรรมดามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการพบจิตแพทย์ เซสชั่นกับนักจิตวิทยา เข้าเวิร์คช็อป หรืออีกหลากหลายวิธีการ
การที่คนคนหนึ่งตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการรักษาหรือเยียวยาจิตใจ ถือเป็นก้าวสำคัญของการตระหนักรู้ตนเอง ยอมรับความทุกข์ และเป็นอิสระจากสภาวะใดก็ตามที่ติดข้องอยู่ กระบวนการดังกล่าวถือเป็นการเริ่มต้นการเดินทางภายในของแต่ละบุคคล
ในเส้นทางการทำงานกับตัวเองและกับผู้อื่นในทางจิตใจและจิตวิญญาณเช่นนี้ หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเกิดประสบการณ์ที่ personal แต่ก็ impersonal ไปพร้อมกัน ลองนึกภาพเวลาอยู่ในเวิร์คช็อป เมื่อได้ยินได้ฟังความทุกข์ของเพื่อน ส่วนหนึ่งในตัวเราก็สั่นไหว สั่นสะเทือนตาม ซึ่งอาจมาจากปูมหลังส่วนตัว และการแชร์ความทุกข์ร่วมกับเพื่อนคนนั้นไปด้วยกัน ประสบการณ์นั้นอาจนำไปสู่ connection, bonding, intimacy สายสัมพันธ์อันจะพัฒนาขึ้นจากความเชื่อมโยงถึงกันของเรื่องราวในจิตใจ
Therapeutic Relationship
การทำงานกับจิตแพทย์หรือนักบำบัดจะเกิดความสัมพันธ์ของ “ผู้ให้บริการ” และ “ผู้รับบริการ” ในบริบทที่เป็นทางการ (professional) จะมีการกำหนดกติกาและข้อตกลงบางอย่างร่วมกัน อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกที่เป็น personal ย่อมเกิดขึ้นในความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะในตัวของผู้รับบริการหรือผู้ให้บริการ
ประสบการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นในสายสัมพันธ์อื่นๆ ของผู้ช่วยเหลือ-ผู้ให้ความช่วยเหลือ รวมถึงความสัมพันธ์ครู-ศิษย์ บนเส้นทางจิตวิญญาณด้วย
Transference And Countertransference
ในวงการจิตวิทยาและการบำบัด คำว่า Transference คือพลวัตของความรู้สึกที่ผู้รับบริการมีต่อนักบำบัด สะท้อนการที่ความรู้สึก ความต้องการ หรือความคาดหวังในจิตใต้สำนึกที่มีต่อใครบางคนในชีวิต ถ่ายโอนไปไว้ที่นักบำบัดแทน เช่น นักบำบัดอาจทำให้นึกถึงพ่อ อาจทำให้เกิดความคาดหวังการได้รับความใส่ใจหรือความอบอุ่นจากอีกฝ่าย ที่มาจากร่องนิสัยโดยไม่รู้ตัว นักบำบัดอาจกระตุ้นความโกรธภายในที่มีจากปมในอดีต ทำให้อยู่ในเซสชั่นทีไรมีความโกรธขึ้นถูกกระตุ้นขึ้นมาตลอด หรือนักบำบัดอาจทำให้ความโหยหาความสัมพันธ์โรแมนติกเผยออกมา มองเห็นเขาหรือเธอเป็นคนรักในอุดมคติที่ตามหา
สภาวะการถ่ายโอนเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นกับผู้ให้บริการได้เช่นกัน เรียกว่า Countertransference คือการที่จิตแพทย์ นักบำบัด ผู้ให้ความช่วยเหลือ เกิดความรู้สึกหรือความคาดหวังที่ผิดไปจากการทำงานปกติของตัวเอง เช่น ผู้เข้ารับบริการคนนี้มีลักษณะบางอย่างทำให้นึกถึงคนรักเก่า นึกถึงแม่ นึกถึงน้องชาย ซึ่งภาพดังกล่าวจะทำให้เกิดปฏิกิริยาส่วนตัวออกมา เช่น ต้องการปกป้อง เป็นห่วงเป็นใยมากกว่าปกติ หรือมีอคติกับคนคนนั้น ความรู้สึกเหล่านี้เกิดจากเรื่องราวเบื้องหลังของนักบำบัด ประสบการณ์ชีวิต และปมปัญหาบางอย่างในใจที่ยังไม่ถูกคลี่คลาย
ในแง่ของผู้รับบริการ ความรู้สึกและโปรเจคชั่นที่มีต่อนักบำบัด กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาบวกลบรุนแรงต่อสิ่งนอกตัวและมีแนวโน้มเพิกเฉยต่อการมองเข้าไปยังภายในตัวเองจริงๆ เช่น “เซสชั่นนี้ดีจัง ไม่เคยรู้สึกดีแบบนี้มาก่อน” หรือ “นักบำบัดคนนี้ไม่ดีเลย ไปหาคนใหม่ดีกว่า” เมื่อผู้ให้บริการไม่สามารถตอบสนองความคาดหวังที่มีจาก unfinished business ภายในใจได้ หากโปรเจคชันนี้ไม่ถูกตระหนักรู้ ก็จะนำไปสู่การตามล่านักบำบัดที่ดีต่อใจแบบไม่มีวันจบ ซึ่งอาจหมายถึง การบำบัดที่ไม่มีวันจบ เพราะไม่ได้เข้าไปแตะหรือหลีกเลี่ยงการทำงานกับต้นเหตุของโปรเจคชันนั้นอย่างจริงจัง
Dede Kammerling นักจิตบำบัดชาวอเมริกากล่าวไว้ในบทความ “Understanding Transference And Countertransference” ว่า Transference และ Countertransference ที่เกิดขึ้นในกระบวนการบำบัดไม่ใช่สิ่งไม่ดี ตรงกันข้าม Transference หรือ อารมณ์ความรู้สึกและความคาดหวังของผู้รับบริการที่มีต่อนักบำบัด หากได้รับการตระหนักรู้อย่างเท่าทัน ก็สามารถทำให้นักบำบัดช่วยพาลงไปทำความเข้าใจต้นเหตุของโปรเจคชั่นเหล่านี้ ซึ่งเป็นปมที่ยังไม่ได้รับการมองเห็น อันดำรงอยู่ภายในใจของผู้รับบริการ
แม้สิ่งเหล่านี้สามารถนำมาทำงานร่วมกับผู้รับบริการอย่างมืออาชีพได้ ทว่านักบำบัดก็ต้องฝึกที่จะตระหนักถึง Countertransference ที่เกิดขึ้นกับตนเอง และไม่ตอบโต้ จนทำให้การบำบัดออกนอกลู่นอกทางไป Dede Kammerling ชี้ให้เห็นว่า ประสบการณ์ของการเป็นนักบำบัดจะทำให้เห็นสิ่งนี้เร็วขึ้น และยังสามารถใช้มันเป็นประตู่ในการลงลึกไปกับผู้รับบริการได้อีกด้วย
Transference และ Countertransference สามารถหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นได้หรือไม่?
คำตอบคือ ไม่ ปรากฎการณ์นี้เกิดขึ้นก็เพราะทั้งนักบำบัดและผู้รับบริการต่างก็เป็นมนุษย์ ในพื้นที่การบำบัดที่อนุญาตให้ความเปราะบางเผยออกมา ย่อมเต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึก ความทรงจำในอดีต การสั่นพ้องทางกาย ดังนั้นแทนที่จะพยายามกำจัดความรู้สึกส่วนตัวนี้ วิธีการที่ดีที่สุด คือนำมันเข้ามาอยู่ในการตระหนักรู้ มองกลับมาข้างใน แล้วใช้มันในการแปรเปลี่ยน
“ไม่มีอะไรที่เป็นข้อผิดพลาด เราต่างพยายามที่จะเติบโต เมื่อไรก็ตามที่การกระทำบางอย่างดูจะ “ไม่ช่วย” และอาจเป็นภัยต่อตัวเราและผู้อื่น เราก็ต้องกลับมาทบทวนวิธีการของเรา”
อ้างอิง
Mariah Parker – Understanding Transference And Countertransference
Transference vs. Countertransference: What’s the Difference?
++++++++++++++++++++++++++++++++
หากท่านได้ประโยชน์จากการอ่านบทความชิ้นนี้ และชื่นชมการสร้างสรรค์เนื้อหาดีๆ บนเว็บไซท์นี้
ท่านสามารถร่วมบริจาคสนับสนุนการดำเนินงานของ vajrasiddha.com ได้ที่
ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8