เซ็นจู เอิร์ธลิน มานูเอล เขียน
ทีมงานวัชรสิทธา เรียบเรียง
ภาพประกอบโดย Nakkusu
ครั้งหนึ่งนักเรียนคนหนึ่งที่มาฟังบรรยายของฉันกล่าวว่าเขาพยายามภาวนา แต่กลับทำให้เขาทุกข์ สีหน้าของเขาเต็มไปด้วยความเจ็บปวด ฉันโน้มตัวไปหานักเรียนคนนั้น ท่ามกลางผู้คนประมาณหกสิบคนในห้อง แล้วบอกเขาว่า “หยุดการภาวนา”
ฉันพูดเช่นนั้นในศูนย์ภาวนาแห่งหนึ่งขณะสวมชุดพระเซ็น นั่นเป็นข้อเสนอให้นักเรียนคนนั้นไม่ต้องดิ้นรน หยุดบีบบังคับตัวเองเพื่อให้ไปถึงสิ่งที่เรียกว่าภาวะของการภาวนา เป็นการเชื้อเชิญให้เขาลืมความคิดที่ว่า ต้องลอยขึ้นเหนือผืนดินแห่งความทุกข์ที่สั่นคลอน และล่องลอยไปสู่สวรรค์แห่งนิพพาน
ฉันต้องการผลักเขาลงจากเบาะแห่ง “ความสำเร็จจากการภาวนา” ต้องการรื้อถอนจิตที่หลงยึดมั่นว่า รู้แล้วว่าควรภาวนาอย่างไร ฉันเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญในการทำให้ผู้ฝึกภาวนาได้สะดุ้งตื่น จากความเคยชินและความยึดติดต่อการปฏิบัติภาวนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเห็นว่า ความคิดคือสิ่งเลวร้ายที่สุดของการภาวนา ความตั้งใจของฉัน คือการสนับสนุนให้ผู้ปฏิบัติขยายขอบเขตของการภาวนาข้ามพ้นจากคำสอน ท่าทาง เวลาที่ใช้ และวิธีหายใจ ให้เลิกตั้งเป้าว่าจะภาวนาไปเพื่อเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือแปรเปลี่ยนสภาพบางสิ่ง เพราะการเปลี่ยนแปลงนั้นกำลังเกิดขึ้นอยู่แล้วโดยธรรมชาติ หลายคนบอกว่าไม่มีเวลาภาวนา นั่นเพราะพวกเขามองว่าการภาวนาคือการหยุดชีวิตชั่วคราว แล้วจึงกลับมาใช้ชีวิตใหม่ด้วยจิตใจที่ปลอดโปร่งและหัวใจที่เป็นสุข ประหนึ่งว่าการภาวนาคือการเข้าไปในกล่องล่องหนและลบล้างความคิดทั้งหมด
ในการเชื้อเชิญให้ผู้แสวงหาการหลุดพ้นหยุดภาวนา ฉันกำลังชี้ให้เห็นถึง ธรรมชาติของจิตที่เป็นอิสระอยู่แล้ว และอนุญาตให้จิตได้คงความเป็นอิสระจากการควบคุมของเรา
หลายคนได้รับการสอนเกี่ยวกับการภาวนาให้ใส่ใจ บ่มเพาะ มีสติ อยู่กับปัจจุบัน นับลมหายใจ หยุดคิดฟุ้งซ่าน มีสมาธิตั้งมั่น บรรลุถึงความว่าง ไปพ้นทวิลักษณ์ทางความคิด มองลึกเข้าไป หรือทำอะไรบางอย่างเพื่อหยุดจิตของเราจากการเป็นปัญหา บางคนได้รับการสอนให้รู้จักการฟัง แล้วการฟังก็จะกลายเป็นอีกภารกิจหนึ่งที่ต้องทำให้สำเร็จอีก
หลายคนพยายามทำสิ่งเหล่านี้ทั้งหมดตั้งแต่เริ่มต้นการภาวนา และพยายามให้เกิดความเชี่ยวชาญทั้งหมดภายในหนึ่งหรือสองเดือน พวกเขารู้สึกว่าต้องรีบเข้าถึงสภาวะอันลึกซึ้ง เข้าถึงจิตที่รวมเป็นหนึ่งเดียวกับความจริงสูงสุด เพื่อให้ความทุกข์สิ้นสุดลง เพื่อให้การทำงานหรือความสัมพันธ์ดำเนินไปด้วยดี การฝึกภาวนาจึงกลายเป็นความพยายามอย่างหนักของปัญญา เป็นภารกิจ เป็นงานหนักท่ามกลางงานหนักอื่นๆ กลายเป็นสถานที่ของการต่อสู้ดิ้นรน และบางทีก็กลายเป็นเหตุแห่งทุกข์ไปซะงั้น จะเป็นอย่างไร หากเราลงจากบันไดแห่งการปีนป่าย เพื่อไปสู่ความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการภาวนาลงมา แล้วมาพักอยู่กับความสัมพันธ์ที่เป็นสันติกับจิตใจ
ไม่ใช่หน้าที่ของเราที่จะสร้างความตื่นรู้หรือการหลุดพ้นผ่านการฝึกภาวนา เราไม่จำเป็นต้องบังคับตนเองด้วยการควบคุมลมหายใจหรือร่างกายเพื่อให้ตื่นรู้ พุทธภาวะมีอยู่แล้วโดยไม่ต้องภาวนา ไม่ว่าเราจะพบมันหรือไม่ก็ตาม การรู้แจ้ง การตื่นรู้ และการหลุดพ้นเป็นสิ่งดั้งเดิมพื้นฐาน ไร้กาลเวลา และไปพ้นความคิด ทว่าสิ่งเหล่านี้ก็ดำรงอยู่ของมันอยู่แล้ว
ข่าวดีคือ เราสามารถตระหนักรู้และตื่นรู้ในขณะที่ความคิดเกิดขึ้นได้ ใช่แล้ว ความคิดที่เราพยายามอย่างหนักเพื่อลดหรือกำจัดผ่านการภาวนา แท้จริงแล้วคือกระจกสะท้อนหรือการปรากฏขึ้นของการตระหนักรู้ การตื่นรู้และการหลุดพ้นที่เกิดขึ้นในจิตที่สมบูรณ์อยู่แล้ว เพียงแต่ “เรา” คือผู้ที่นำความคิดนั้นกลับมาเคี้ยวกลับมาคิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เป็นวัน เป็นเดือน เป็นเราที่ให้ความหมายและความสำคัญแก่ความคิดเหล่านั้นมากเกินไป
การปล่อยให้จิตคิดหรือวิ่งเตลิดไปมาเป็นเรื่องที่โอเค สิ่งที่นำไปสู่ความทุกข์ไม่ใช่ความคิด แต่เป็นสิ่งที่เราทำกับความคิดเหล่านั้นต่างหาก เมื่อเรานำความคิดที่วิ่งไปวิ่งมานั้นไปสู่การกระทำ เรามักจะกลายเป็น คนหุนหันพลันแล่น คนวิตกกังวล คนใจร้อน คนที่ยึดมั่นว่าจะต้อง “ทำอะไรสักอย่าง” ตามที่คิดว่าควรจะเป็น ถ้าเรารอ 100 วันก่อนจะทำตามความคิดเหล่านั้น เราอาจจะพบกับความนิ่งและความตื่นรู้ ซึ่งเรามักพยายามดิ้นรนให้ได้มาด้วยการภาวนา
การทำให้จิตใจสงบไม่ได้หมายความว่าต้องสงบลงหรือหยุดการคิดมากเกินไปเสมอไป มันไม่ได้หมายถึงการตัดสินเอาเองว่า จิตที่สงบ ควรเป็นอย่างไร แล้วจึงพยายามสร้างมันขึ้นมา ลองพิจารณาสิ่งนี้ดู “จิตที่สงบสามารถเกิดขึ้นได้แม้ในขณะที่ความคิดเกิดขึ้นและคุณก็ไม่ทำอะไรกับมัน” ไม่ว่าความคิดนั้นจะเกิดขึ้นกี่ครั้งก็ตาม จิตและร่างกายจะพักภายในสภาวะ “ของการไม่ทำอะไรเลย”ขณะที่เรายังคงหายใจต่อไป คุณไม่ต้องหยุดและบอกตัวเองให้หายใจในเมื่อคุณก็หายใจอยู่แล้ว ลมหายใจที่คุณหายใจอยู่ก็ดีพอแล้ว แม้แต่การสังเกตลมหายใจก็ยังเป็นการทำอะไรบางอย่าง ในการไม่ทำอะไรเลยนั้น การตระหนักรู้และแม้แต่การตื่นรู้ก็จะปรากฏขึ้น หากคุณรู้สึกสับสน ไม่ได้หมายความว่าความตระหนักรู้และการตื่นรู้ไม่มีอยู่ มันหมายความว่าจิตกำลังทำงานและกำลังให้โอกาสคุณเลือกที่จะปล่อยหรือยึดติดกับสิ่งที่คุณคิดว่าสำคัญและจำเป็น คุณเพียงแค่ต้องตระหนักถึงสิ่งนี้
ธรรมชาติของจิตคือการเผยให้เห็นความตระหนักรู้ของเราผ่านการปรากฏของความคิด มันแสดงให้เราเห็นว่าเราตระหนักรู้ถึงอะไร หรือตื่นรู้ถึงอะไร เมื่อจิตสงบแล้ว เรากำลังพัก อยู่ในสิ่งที่กำลังถูกเผยให้เห็น ไม่ว่าเราจะรู้สึกในแง่ลบหรือแง่บวกต่อมัน หรือมีความรู้สึกขัดแย้งและสับสน เราไม่จำเป็นต้องทำอะไรกับสิ่งที่กำลังถูกเผยให้เห็น แม้แต่กับการคิดเชิงเหตุผล การวิเคราะห์ หรือการจัดระเบียบความคิดของเรา การเผยให้เห็นและความเข้าใจก็ยังเกิดขึ้นได้ เราสามารถพักอยู่กับความคิดเหล่านั้น ไม่ว่ามันจะเต็มไปด้วยความสับสน จิตที่วิ่งไปวิ่งมา หรือความคิดเชิงเหตุผล ขณะที่ทั้งหมดเกิดขึ้นและจางหายไป นำการตระหนักรู้มาสู่เรา ในช่วงเวลานั้น ปล่อยให้ความคิดทั้งหมดเป็นประสบการณ์ที่เป็นอิสระจากการกดข่มไว้ ด้วยหนทางนี้ เราไม่ได้บีบบังคับให้เกิดการตระหนักรู้หรือการตื่นรู้ เราไม่ได้สร้างประสบการณ์ของเราขึ้นมาเอง แต่เป็นการอนุญาตให้สิ่งที่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติภายในเราได้เป็นอิสระที่จะเป็นเช่นนั้น ด้วยมุมมองต่อความคิดแบบนี้ ร่างกายและจิตใจก็จะสงบลงโดยธรรมชาติ
ความคิดของจิตสามัญธรรมดาจะคอยบอกคุณว่าต้องทำอะไรบ้างในแต่ละวัน แต่หากคุณสามารถรับมือกับความคิดที่ผุดขึ้นโดยไม่ต้องสังเกต เฝ้าดู ใคร่ครวญ วิเคราะห์ หรือแม้แต่ภาวนา ความตระหนักรู้ที่กว้างใหญ่ไพศาลกว่าก็อาจเกิดขึ้นได้
สิ่งที่ฉันนำเสนอคือประสบการณ์ที่ไม่ต้องอาศัยการภาวนา และเกิดขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติกับความคิดของเราเอง ประสบการณ์เช่นนี้สามารถปลดปล่อยเราให้หลุดพ้นจากการติดอยู่ในความคิดนับพัน และอารมณ์ที่มาพร้อมกับความคิดเหล่านั้นโดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนลมหายใจของเราเลย มันสามารถคลี่คลายตัวเราออกจากการยึดถือการภาวนาว่าเป็นแค่การกระทำ ทักษะ หรือเครื่องมือเท่านั้น
ก่อนที่เราจะลงมือออกเดินทางตลอดทั้งชีวิตเพื่อเป็นนายเหนือจิต อย่างที่บางคนเชื่อว่า การภาวนาคือการเดินทางเช่นนั้น เป็นไปได้ไหมที่เราจะหันมามองและรู้จักธรรมชาติของจิต ว่าแท้จริงแล้ว มันคือสิ่งที่ไหลลื่น ส่องสว่าง และปลดปล่อยตัวเองอยู่แล้ว