คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : “เราบูชาพุทธะ พุทธะบูชาเรา”


บทความเรียบเรียงโดย ทีมงานวัชรสิทธา


มองจากภายนอก การ “บูชา” คือการถวายสิ่งของแก่สิ่งที่เราเคารพ ไม่ว่าจะเป็น พระพุทธะ พระเจ้า หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลาย ด้วยเครื่องบูชาต่างๆ อย่าง ดอกไม้ ธูป เทียน อาหาร หรือน้ำหอม ซึ่งดูเป็นเรื่องของการสัมพันธ์กับสิ่งที่มีอำนาจ “เหนือกว่า” ด้วยท่าทีนอบน้อมของตัวเราเองที่มีอำนาจ “ด้อยกว่า” แต่สำนึกเช่นนี้ เป็นแค่ระดับหนึ่งของการบูชาเท่านั้น ซึ่งอ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง ชี้ชวนให้เห็นถึงมิติที่หลากหลายและลึกซึ้งของการบูชา ในคลาส “ปูชา” ณ วัชรสิทธา

“เราสามารถแบ่งการบูชาออกได้เป็น 2 รูปแบบกว้างๆ คือ 1. การบูชาภายนอก เป็นการถวายเครื่องบูชา สิ่งของที่น่าพึงใจต่างๆ 2. การบูชาภายใน ซึ่งเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นข้างในทั้งหมดโดยปราศจากสิ่งของ ซึ่งบางทีอาจจะมีรูปแบบเข้ามาเกี่ยวข้องบ้างเช่น การจินตภาพ หรือ การใช้มุทรา

ในความเป็นมนุษย์ เราเริ่มจากความรู้สึกที่เราอยากถวายหรือมอบสิ่งดีๆ ให้กับสิ่งที่เราเคารพ ซึ่งเป็นสำนึกโดยทั่วไป แต่จากสำนึกนี้ เราสามารถพัฒนาความใกล้ชิดในการสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นได้ หรือกล่าวคือเราสามารถพัฒนาสำนึกหรือมุมมองในการบูชาของเราได้”

ธาตุทั้งห้า – เบื้องหลังของการถวายบูชา

โดยทั่วไป การถวายบูชาหรือการ offering คือการมอบเครื่องบูชาซึ่งเป็นสิ่งน่าพึงใจต่อเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งสัมพันธ์กับ ผัสสะทั้ง 6 คือ ตา-หู-จมูก-ลิ้น-กาย-ใจ ซึ่งเป็นเบื้องหน้าของการบูชา ทว่าในปรัชญาฮินดูหลายสำนัก ได้มีการอธิบายถึงมิติที่ซ้อนอยู่เบื้องหลังกิจกรรมนี้ นั่นคือการกล่าวถึงธาตุทั้งห้า ดิน-น้ำ-ไฟ-ลม-อากาศ(พื้นที่ว่าง) ในฐานะ “รากฐาน” ของการบูชา พวกเขามองว่าจักรวาลคือการประกอบขึ้นธาตุทั้งห้า  และเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์คือธาตุทั้งห้า เพราะฉะนั้นเทพเจ้าที่เราบูชาคือการสำแดงของธาตุต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น พระคเณศ คือธาตุน้ำ พระเทวี-ธาตุไฟ พระศิวะ-ธาตุดิน สุริยะเทพ-ธาตุลม พระวิษณุ-ธาตุอากาศ

อ.ตุล กล่าวว่า เมื่อเทพคือธาตุทั้งห้า นัยของการบูชาเทพจึงเป็นการ purify ธาตุต่างๆ ให้บริสุทธิ์ จากมุมมองนี้ สิ่งของที่เป็นเครื่องบูชาก็สะท้อนถึงธาตุทั้งห้าด้วยเช่นกัน

“น้ำที่เราถวายคือธาตุน้ำ ประทีป-ธาตุไฟ ธูป-ธาตุลม ดอกไม้-ธาตุดิน เสียงสวดมนต์-ธาตุอากาศ เพราะเสียงเป็นสิ่งที่ซ่านไปในพื้นที่ว่างของอากาศ การบูชาจึงไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากการที่ธาตุสัมพันธ์กับธาตุ ขณะเดียวกัน ถ้าเรามองการบูชาจากมุมทางวัฒนธรรม มันคือการมอบถวายหรือปรนนิบัติที่ทำให้เกิดความสุขทางผัสสะ แต่เมื่อมองของมุมของหลักปรัชญาขั้นลึก มันคือการสัมพันธ์ของธาตุกับธาตุ เป็นการชำระให้ธาตุต่างๆ สุกสว่างและมีพลัง”


การบูชาคือการสื่อสาร

อีกมิติของพิธีกรรมบูชาคือการ “สื่อสาร” อ.ตุล อธิบายว่าการสื่อสารเมื่อเราทำพิธีบูชาจะประกอบไปด้วยมิติ 3 ระดับ ชั้นนอกสุดคือการสื่อสารกับชุมชนหรือสักขีพยานในพิธี ถึงบทบาทของตัวผู้ประกอบพิธีกรรม เช่น การที่ผู้ทำพิธีกรรมเดินไปจุดธูปไหว้พระ ก็สะท้อนถึงสถานะของการเป็น “คนกลาง” ระหว่างชุมชนกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์

การสื่อสารระดับต่อมาคือการสื่อสารกับเทพหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ “เมื่อเราทำการบูชา เราอาจสื่อสารด้วยท่าทีได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการนอบน้อมเคารพ การปรนนิบัติ ซึ่งเป็นไปเพื่อการทำให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์พึงพอใจ ซึ่งบางครั้งก็เป็นไปเพื่อร้องขอบางสิ่ง แต่ในแง่หนึ่งเราก็อาจมองได้ว่ามันคือการแสดงความรัก”

ระดับสุดท้ายเป็นชั้นในสุด คือการสื่อสารกับตัวเอง เป็นการทำงานกับสำนึกภายในของเรา เพราะในขณะที่เราทำการบูชา มันก็เป็นการตอกย้ำต่อสำนึกภายในเราเองว่า “ฉันเป็นทาสรับใช้สิ่งศักดิ์สิทธิ์” “ฉันเป็นสาวก” “ฉันเป็นลูกศิษย์” หรือ “ฉันกำลังทำหน้าที่ของผู้ศรัทธา” ฯลฯ การสื่อสารระดับภายในนี้คือสิ่งที่พัฒนาและบ่มเพาะให้เติบโตขึ้นได้ อ.ตุล กล่าวว่า

“การสื่อสารในระดับที่สาม สามารถไปได้ไกลกว่าการตอกย้ำสำนึกแบบเดิมๆ ว่าเราด้อยกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แต่เราสามารถมีสำนึกใหม่ว่าเรากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นหนึ่งเดียวกัน และตัวเราเองก็มีความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกับสิ่งที่เรากำลังบูชาอยู่ สำนึกในรูปแบบนี้เป็นสิ่งที่ผู้บูชาก้าวไปไม่ค่อยถึง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่ามันมีวัฒนธรรมหรือขนบของการนอบน้อม ซึ่งด้านหนึ่งก็เป็นสิ่งที่ทำให้เราอ่อนน้อมถ่อมตน แต่หากเรามีเป้าหมายของการบูชาที่ไม่ได้เป็นเพียงการ “ร้องขอ” หรือพัฒนาตัวเอง แต่ต้องการจะเข้าใกล้ความจริงสูงสุดหรือความตื่นรู้ การมีสำนึกแบบสุดท้ายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เพราะมันคือการที่เราได้ย้ำกับตัวเองว่า เรากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นหนึ่งเดียวกัน ในตัวเรามีภาวะอันศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน”


เราบูชาพุทธะ พุทธะบูชาเรา

อ.ตุล ยกตัวอย่างอุบายวิธีที่ชี้ให้เห็นถึงความศักดิ์สิทธิ์​ภายในของตัวผู้บูชา ซึ่งซ่อนอยู่ในรูปแบบการบูชาของพุทธศาสนาทิเบต

“ในวัฒนธรรมทิเบต เวลาที่เราถวายเครื่องบูชาพระรัตนตรัยหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เราจะถวายด้วยเครื่องบูชา 8 อย่าง แทนด้วยถ้วยน้ำ 7 ใบ 1.น้ำใช้ 2.น้ำดื่ม 3.ดอกไม้ 4.ธูป 5.ประทีปหรือเทียน 6.เครื่องหอม 7.อาหาร 8.เสียง (ใช้สังข์เป็นสัญญะ) สิ่งที่ผมรู้สึกว่าน่าสนใจคือ ในหลายๆ สถานที่เวลาเขาตั้งแท่นบูชา เขาจะจัดชุดบูชา 2 ชุด คือถ้วยน้ำ 14 ใบ ชุดแรกเรียงเข้าหาพระ และอีกชุดเรียงในทิศตรงข้าม ซึ่งเขาอธิบายว่าเครื่องบูชาชุดแรกเราใช้เพื่อบูชาท่าน และอีกชุดคือท่านใช้บูชาเรา

ผมรู้สึกว่านี่คือนัยที่ลึกซึ้งที่สุดของการจัดพิธีบูชา เวลาที่เราก้มกราบหรือถวายเครื่องบูชา พระพุทธะหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็บูชาเรากลับมาในแบบเดียวกัน ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องแปลกในคติแบบพุทธมหายาน เพราะว่าเราคือพุทธะและพุทธะก็คือเรา การบูชาคือการที่พุทธะไหว้กันและกัน”

สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน