บทความโดย คณพล วงศ์วิเศษไพบูลย์
ภาพประกอบโดย Nakkusu
การเป็นผู้ปฏิบัติธรรมฆราวาส อาจดูเป็นอะไรที่อิสระเสรี เราไม่ต้องอยู่ภายใต้เครื่องแบบหรือกฎเกณฑ์ข้อห้ามแบบนักบวช การไม่สละออกจากโลก อาจมองได้ว่าเป็นความท้าทายของผู้ปฏิบัติในรูปแบบนี้ เพราะเรายังอยู่ท่ามกลางความเคยชินเดิม กิเลสเดิม สิ่งแวดล้อมเดิมๆ วิจักขณ์ พานิช มักจะกล่าวอยู่บ่อยครั้งว่า แม้เราจะเป็นฆราวาส แต่หากเป้าหมายของเราคือการตื่นรู้ ความเข้มข้นของการปฏิบัติก็จะต้องไม่ย่อหย่อนไปกว่านักบวช เราต้องก้าวสู่การเป็นผู้ปฏิบัติธรรม full-time
การเป็นผู้ปฏิบัติ full-time จึงหมายถึงว่า แม้เราจะไม่ได้สละบทบาทหน้าที่หรือสิ่งแวดล้อมในชีวิต แต่เราจะใช้ทุกอย่างที่เรามีในฐานะหินก้าวสู่การหลุดพ้นจากตัวตน เป็นการปฏิบัติอยู่ในโลก ในชีวิตธรรมดาของเราเอง ด้วยมุมมองนี้ โลกก็อาจเต็มไปด้วยความรุ่มรวยของวัตถุดิบที่เราสามารถใช้เพื่อทำงานกับตัวตนของเรา
เมื่อเราเริ่มต้นทำงานกับตัวตน เราได้สำรวจรูปแบบพฤติกรรมต่างๆ ในชีวิตของเรา ชีวิตประจำวันที่ดูซ้ำไปซ้ำมานั้น เต็มไปด้วยความเคยชินของการตอบโต้ต่อประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ทั้งที่เรารู้ตัวและไม่รู้ตัว บางการตอบโต้ก็แนบเนียนและรวดเร็วจนรู้สึกว่ามันเป็นตัวตนของเรา ส่วนใหญ่แล้วการตอบโต้ตามความเคยชินมักเกิดขึ้นเพราะเราอยู่กับประสบการณ์บางอย่างไม่ได้ มันท่วมท้น เข้มข้น ในร่างกายของเรา เราจึงต้องหนีออกมาโดยการทำอะไรบางอย่างที่เบี่ยงเบนเราออกมาจากประสบการณ์นั้น
ความอยู่ไม่ได้ในประสบการณ์ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องใหญ่ๆ อย่างการสูญเสีย ความเจ็บป่วย หรือความผิดหวัง เพียงรูปแบบเดียว แต่อาจเป็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่เราไม่ได้ตระหนักถึงเท่าไร เช่น ความคิดกังวล ความว่างๆ ที่น่าเบื่อ หรือ ความไม่ได้ดั่งใจเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งเมื่อเราหนีออกมาบ่อยเท่าไร เราก็ยิ่งเคยชินกับรูปแบบการหนีนั้นมากขึ้น จนอาจนำไปสู่ “การเสพติด” วิธีการจนกลายมาเป็นตัวตนที่สร้างความทุกข์อีกชั้นแก่เรา
วิจักขณ์ เคยพูดถึงวิธีการหนีว่ามันเป็นแรงกระตุ้นที่เกิดจากการชักนำของยาพิษทั้งสามหรือกิเลส ไม่ว่าจะเป็นความอยาก ความก้าวร้าว หรือความไม่แยแส เขาอุปมาว่าเราหล่อเลี้ยงตัวตนของเราโดยการเสพยาพิษของสิ่งที่เราติดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเป็น เหล้า บุหรี่ เซ็กซ์ โทรศัพท์ งาน ฯลฯ หรือแม้แต่การปฏิบัติทางจิตวิญญาณที่เป็นการหลบเลี่ยงออกมาจากประสบการณ์หรือความทุกข์ ก็นับว่าเป็นสิ่งเสพติดที่เสริมสร้างตัวตนอย่างหนึ่งได้เช่นกัน เชอเกียม ตรุงปะ เรียกสิ่งนี้ว่า “วัตถุนิยมทางจิตวิญญาณ”
จนเมื่อเราเห็นว่าตัวตนเหล่านี้เป็นความทุกข์ เป็นสิ่งที่จำกัดเราจากการมีประสบการณ์ตรงกับ reality เราจึงเริ่มมองหาหนทางที่จะทำงานกับมัน หนึ่งในเครื่องมือทรงประสิทธิภาพที่มีในพุทธศาสนาก็คือ “ศีล” เมื่อมองไปยังศีล เราอาจรู้สึกถึงกฎเกณฑ์ข้อห้ามที่จะเข้ามาควบคุมความประพฤติของเรา ซึ่งอันที่จริงก็ไม่ผิดนัก แต่แทนที่เราจะมองว่าศีลคือข้อกำหนดทางศาสนา เราสามารถมองจากความเข้าใจเรื่องตัวตนและยาพิษ แล้วเห็นว่า การมีศีลคือการที่เราทำงานกับแนวโน้มการเสพติดยาพิษของตัวตน เป็นการ “ขีดเส้น” ให้กับตัวเองว่าเราจะทำหรือไม่ทำอะไร ซึ่งการมีศีลในแบบที่เราตระหนักรู้ถึงที่มา อาจทำให้เรามีแรงบันดาลใจในการรักษามันไว้ให้บริสุทธิ์
การมีศีลในความหมายของการทำงานกับตัวตน อาจมองได้ว่าเป็นการดูแลตัวเอง เยียวยาตัวเอง หรือรักตัวเอง วิจักขณ์ แชร์มุมมองเรื่องศีลในโพธิจิตรีทรีทเอาไว้ว่า “ศีลที่ดีที่สุด คือศีลที่เราออกแบบให้กับตัวเอง เป็นเหมือนการปรุงยาเฉพาะที่ใช้เพื่อรักษาตัวเอง” แน่นอนว่าข้อศีลมากมายในพุทธศาสนานั้นคิดมาไว้ดีอยู่แล้ว แต่ในฐานะผู้ปฏิบัติธรรมฆราวาส เราอาจจะลองสำรวจแนวโน้มของตัวตนให้ดีก่อน แล้วลองขีดเส้นที่เหมาะสม โดยประเมินทั้งจาก “กำลัง” ของตัวเอง และอาการของโรคที่เป็นอยู่ ศีลที่เคร่งครัดมากไปอาจทำไม่ได้จริง แล้วหมดกำลังใจที่สุด หากหย่อนไปก็อาจจะไม่ได้ทำงานกับตัวตน มันจึงเป็นการออกแบบที่ต้องจริงใจกับตัวเองอย่างที่สุด
ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ที่เวลาพุทธศาสนากล่าวถึงการยกระดับจิตใจ ก็จะกล่าวถึงองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ ศีล สมาธิ ปัญญา การมีศีลเป็นรากฐานที่สำคัญของการปฏิบัติธรรมที่ทำงานกับตัวตนของเรา มิเช่นนั้น ไม่ว่าเราจะฝึกสมาธิหรือศึกษาธรรมมากแค่ไหน เราก็จะยังคงมีแนวโน้มที่จะหนีออกจากชีวิตและความทุกข์ของเราเอง ธรรมะที่รับมาฝึกฝนก็จะรั่วออกผ่านความอยู่ไม่ได้กับประสบการณ์ที่เข้มข้น การมีศีลจะช่วยให้เราดำรงอยู่ในพื้นที่แห่งการตระหนักรู้ไม่ว่าจะอยากหนีมากแค่ไหน เราจะได้ลิ้มรสกับประสบการณ์แห่งความทุกข์ที่เราไม่เคยสัมผัส เราจะได้พบกับรายละเอียดมากมายของชีวิตที่เราเลี่ยงมาโดยไม่รู้ตัวมาตลอด
แม้จะอยู่ได้ยากหรือรู้สึกเป็นทุกข์ แต่การรู้ตัวว่ากำลังทำงานร่วมกับศีลอยู่ก็อาจสร้างความรื่นรมย์บางอย่างให้แก่เรา และเมื่อถึงจุดหนึ่งเราอาจสามารถข้ามพ้นตัวข้อห้ามของศีลที่เรายึดถือ ไปสู่การมีกำลังที่จะหยุดตัวเองจากการหนีออกจากประสบการณ์ที่เราไม่อยากสัมพันธ์ด้วยในชีวิต ซึ่งนี่อาจเป็นศีลข้อเดียวที่แท้จริง มันคือศีลแห่งชีวิตที่เปิดกว้าง ไร้เงื่อนไข ซึ่งทุกประสบการณ์จะสามารถเข้ามาทำงานกับตัวตนของเรา และปลดปล่อยเราออกจากความยึดมั่นและเข้าใจผิดในตัวตนนั้น
การเป็นผู้ปฏิบัติธรรมฆราวาส เราต่างมีชีวิตในรูปแบบที่เฉพาะของตัวเอง เรามีสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ มีงาน มีสังคมที่แตกต่างกันออกไป แต่เราสามารถเป็นผู้ปฏิบัติธรรมที่แท้จริงได้ เราสามารถเข้าถึงปณิธานอันยิ่งใหญ่ของเราได้ เพียงแต่เราต้องเริ่มต้นที่จุดเริ่มต้น นั่นคือการยอมรับชีวิตในแบบที่เรามี มองตัวเอง และทำงานกับตัวเองอย่างไม่ประนีประนอมกับตัวตน และยกเอาวินัยเช่นนี้ขึ้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา