Set Boundary : “ศีล” ในฐานะการขีดเส้นกับตัวเองด้วยการตระหนักรู้

บทความโดย วิจักขณ์ พานิช

อย่างที่ทราบกันดี อัตตานั้นฉลาดและเจ้าเล่ห์มาก มันสามารถหากลยุทธ์ที่จะ manipulate ทุกอย่างมารับใช้ตัวมัน เมื่อเราเริ่มมองเห็นความวิปลาสของอัตตาที่มีแนวโน้มจะลุกลามขยายตัวไปไม่มีที่สิ้นสุด การฝึกปฏิบัติด้วยการขีดเส้นกับตัวเอง หรือ “set boundary” ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำกับตัวเองเป็นพื้นฐาน เหมือนการยับยั้งไม่ให้มะเร็งร้ายลุกลาม ก่อนจะเริ่มทำการรักษา

ในทางจิตวิทยา “set boundary” คือ การสร้างขอบเขตที่ชัดเจนให้กับตัวเอง เพื่อปกป้องพลังงาน ความรู้สึก และคุณค่าในชีวิต โดยไม่ปล่อยให้ถูกละเมิดหรือข้ามเส้นที่เรากำหนดไว้ เป็นการตั้งขอบเขตทั้งทางกาย วาจา และใจ เพื่อรักษาความมั่นคงภายในและการเคารพตัวเอง ขณะเดียวกันก็เป็นการบอกอย่างตรงไปตรงมาว่าเราต้องการอะไรและไม่ต้องการอะไร ซึ่งไม่ใช่การสร้างกำแพงเพื่อปิดกั้น แต่คือการสร้างพื้นที่ปลอดภัยที่เราสามารถเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริง

ในพุทธศาสนา การขีดเส้นกับตัวเอง ทำได้โดยการรักษาศีล — “ศีล” ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงการสร้างกรงขังหรือข้อห้ามที่บีบคั้น หากแต่เป็นการสร้าง พื้นที่แห่งสติและเจตจำนง เพื่อไม่ให้ตัวเราหลงไปกับกระแสอารมณ์ ความคิด หรือกิเลสที่คอยฉุดรั้ง การขีดเส้นคือการกลับมาสู่ความชัดเจนในเส้นทางที่เราตั้งใจจะเดินไป พร้อมกับการสร้างกรอบที่มั่นคงให้แก่ตัวตนใหม่ที่แม้จะยังไม่แข็งแรง ได้หยั่งรากและเติบโต

คนทั่วไปในสังคมพุทธมักเข้าใจว่า ศีลคือข้อบังคับทางศีลธรรม คนมีศีลคือคนดี คนไม่มีศีลคือคนชั่ว แต่สำหรับผู้ปฏิบัติภาวนา ศีลมีคุณค่าที่ลึกซึ้งในเชิงประสบการณ์มากกว่านั้น ศีลเป็นเสมือนเครื่องเตือนใจให้เราตระหนักถึงการกระทำ คำพูด และความคิดในทุกๆ ขณะ การรักษาศีลเป็นการสร้างแนวทางให้แก่ชีวิต เป็นการขีดเส้นที่ไม่ใช่การจำกัดเสรีภาพ แต่เป็นการเปิดพื้นที่ให้จิตใจได้เรียนรู้ที่จะไม่หนีจากตนเอง — ไม่หนีจากความเจ็บปวด ไม่หนีจากความว่าง และไม่หนีจากสิ่งที่เราไม่อยากเผชิญ

การขีดเส้นให้ตัวเองเป็นสิ่งที่ต้องหมั่นฝึกฝนในทุกขณะ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ตัวเรา “ถูกกระตุ้น” สิ่งสำคัญคือการหันกลับมาทบทวนตัวเอง เรากำลังทำอะไรอยู่? เรากำลังเดินไปในทิศทางที่ตั้งใจไว้หรือไม่? การขีดเส้นคือการสร้างขอบเขตที่ชัดเจน ไม่ใช่เพื่อ กันคนอื่นหรือความเป็นไปได้อื่นออกไป แต่เพื่อกันตัวตนของเราเองไม่ให้หลุดออกไปนอกเส้นทาง หลุดออกไปจากความตั้งใจ หลุดออกไปจากการฝึกฝน และหลุดออกไปจากสติ

การขีดเส้นให้ตัวเองด้วยศีล จึงเป็นหนทางในการกลับมาสู่การภาวนาที่แท้จริง หากเราไม่ขีดเส้น ไม่สร้างกรอบแห่งศีล เราจะปล่อยให้ตัวตนของเราปั่นไปตามความคิดและอารมณ์ที่ถาโถม เป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไม่รู้จบ หากไม่มีศีล เราก็ไม่มีทางจะภาวนาหรือ “ทำงานกับตัวตน” ได้อย่างแท้จริงเลย

การขีดเส้นคือการกลับมา “หยุด” เพื่อถามตัวเองว่าเรากำลังทำอะไร? หยุดเพื่อไม่ให้การกระทำหรือคำพูดของเราถูกชักนำไปตามแรงกระตุ้นหรือ impulse ของกิเลส ศีลจึงเป็นเส้นที่เราขีดไว้เพื่อเป็นเครื่องมือในการตื่นรู้ ไม่ใช่เพื่อกักขังตัวเองอย่างที่เราเคยเข้าใจ เราสร้างพื้นที่ปลอดภัย เป็น”กรรมฐาน” ให้ตัวตนได้กลับมาทบทวนการกระทำในแต่ละขณะ — กลับมาเห็นว่าทุกการกระทำของเรานั้นสอดคล้องกับเจตนาแห่งการตื่นรู้หรือไม่

เราตระหนักว่าทุกการกระทำมีผล ทุกคำพูดมีผล และทุกความคิดมีผล และที่สำคัญคือเราไม่จำเป็นต้องทำมันต่อ เมื่อเราขีดเส้นให้ตัวเองได้ เราจึงสามารถหยุดได้ หยุดเพื่อเห็น ทบทวน และตื่นขึ้น ไม่ให้ตัวตนหลงหรือไหลไปตามกระแสแห่งอารมณ์และความคิด การหยุดไม่ใช่การยอมแพ้หรือการปฏิเสธชีวิต แต่คือการกลับมาเผชิญหน้ากับตัวเองอย่างตรงไปตรงมา — กลับมาเห็นสิ่งที่เราทำ กลับมาเห็นเจตนาที่เราตั้งไว้ และกลับมาทบทวนว่าเรากำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางที่เราตั้งใจไว้จริงๆ หรือไม่

การขีดเส้นให้ตัวเองคือการสร้างกรอบแห่งการเคารพตนเอง เมื่อเรารักษาศีล เรากำลังบอกตัวเองว่าเรามีคุณค่าเพียงพอที่จะปฏิบัติตามคำมั่นที่เราตั้งไว้ ไม่ใช่เพื่อใคร แต่เพื่อตัวเราเอง การเคารพตนเองจึงไม่ได้เกิดขึ้นจากการทำให้คนอื่นพอใจ แต่เกิดขึ้นจากการยืนหยัดบนเส้นทางที่เราขีดไว้ แม้ในช่วงเวลาที่เราหวั่นไหว

ศีลจึงเป็นทั้งกรอบและทิศทาง เป็นทั้งการหยุดและการเดิน เป็นทั้งการไม่ทำร้ายและการกระทำที่มีสติ เมื่อเราขีดเส้นให้ตัวเองได้อย่างมั่นคง เราจึงสามารถมองเห็นตัวเองได้ชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อนั้นประตูแห่งอิสรภาพที่แท้จริง— การหลุดพ้นจากอำนาจของตัวตนจึงจะเปิดออกได้

การขีดเส้นให้ตัวเองจะค่อยๆ กลายเป็นหนทางสู่อิสรภาพ เสริมสร้างกำลังที่ตั้งมั่นบนเส้นทางที่เปิดกว้างและมั่นคง ปกป้องพื้นที่ปลอดภัยแห่งการเจริญสติ เพื่อที่ว่าตัวตนอันวิปลาสทั้งหลายจะได้ทบกลับเข้ามาอยู่ในพื้นที่นั้น เกิดการเรียนรู้ ใคร่ครวญ คลี่คลาย หลอมรวม และปลดปล่อยตัวเองอย่างเป็นธรรมชาติ

เมื่อเรารู้จักเส้นของตัวเองดี ถึงจุดหนึ่งเราก็สามารถปล่อยตัวเองได้ แล้วเส้นที่ขีดไว้ก็ได้กลายเป็นความเป็นปกติในเนื้อในตัว และไม่มีความจำเป็นต้อง “กลัวตัวเอง” อีกต่อไป เราปลดปล่อยตัวเองให้สัมผัสรสชาติอันลุ่มลึกของไวน์ที่ดื่ม เสียงหัวเราะเฮฮาบนโต๊ะอาหาร การรับฟังความทุกข์ใจของเพื่อน มิตรภาพที่งดงามไม่ข้ามเส้น เสียงดนตรีบรรเลงปลอบประโลมความเศร้า ความเงียบงันของความตาย รสสัมผัสของการร่วมรักอันอ่อนโยนกับคนรักและความใกล้ชิดทางใจที่สื่อสารไม่ได้ผ่านคำพูด ความร้อนในกายจากความโกรธเมื่อเผชิญหน้ากับความอยุติธรรม และความฉับพลันไม่ลังเลที่จะพูดความจริงอย่างตรงไปตรงมายามสถานการณ์เรียกร้อง

จากความสงบเย็นเป็นปกติในตัวเอง ขยายไปสู่คุณสมบัติอันข้ามพ้นของ “compassion” และ “integrity”
แล้วศีลก็ได้กลายเป็นรากฐานสำคัญอันจะนำไปสู่ อิสรภาพแห่งการมีชีวิต


+++++++++++++++++++++++++

หากท่านชอบบทความที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ vajrasiddha.com และต้องการสนับสนุนการทำงานของพวกเรา สามารถช่วยกันแชร์ คอมเมนท์ ติชม ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย วัชรสิทธาดอทคอม ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีจิตศรัทธา สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ได้ที่ — ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8

สถาบันวัชรสิทธา ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นพื้นที่ทดลองทางการศึกษา บนพื้นฐานของการภาวนา การใคร่ครวญด้วยใจ และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อย่างเป็นมนุษย์ระหว่างผู้เรียน