บทความโดย โอม มณีปัทเมหุม
ในโลกของจิตวิทยาและจิตวิญญาณ มนุษย์เรามักเผชิญกับการแบ่งแยกภายในตัวเองระหว่างสองบุคลิกที่ดูเหมือนจะขัดแย้งกัน การแบ่งแยกนี้มิใช่เรื่องบังเอิญ หากแต่เป็นกลไกการปกป้องตัวเองจากความเจ็บปวดและความกลัวที่ฝังลึกอยู่ในจิตใต้สำนึก แต่เมื่อทวิลักษณ์เหล่านี้ยิ่งแบ่งแยกและขาดสะบั้นจากกันมากขึ้นเท่าไหร่ มันก็ยิ่งสร้างความขัดแย้งและความเจ็บปวดในจิตใจมากขึ้นเท่านั้น
“Splitted Personalities”
คอนเซ็ปต์ Splitted Personalities หรือการแบ่งแยกภายในตัวเองนี้ เป็นแนวโน้มของจิตที่แบ่งแยกแง่มุมของตัวเราที่แตกต่างกันออกเป็น “ตัวตนที่ขัดแย้ง” ราวกับว่ามีคนสองคนทะเลาะกันอยู่ข้างใน ตัวอย่างที่ชัดเจนอันหนึ่งที่จะยกขึ้นมาเป็นตัวอย่างคือ “good girl” กับ “bitch” — ฝ่ายหนึ่งอาจเป็น “ตัวดี” ว่านอนสอนง่าย สุภาพ และต้องการความรักการยอมรับ ในขณะที่อีกฝ่ายเป็น “ตัวร้าย” ผู้ดื้อดึง แข็งกร้าว ไม่ยอมอ่อนข้อให้ใคร
การแบ่งเป็นสองขั้วของตัวตนเช่นนี้สามารถเกิดขึ้นในฐานะ coping mechanism เพื่อเอาชีวิตรอดท่ามกลางความคาดหวังทางสังคม (ครอบครัว) ความขัดแย้งทางอารมณ์ภายในตัวเอง หรือทรอม่าในอดีตที่ไม่ได้รับการเยียวยา
จาก “หนูน้อยหมวกแดง” สู่ “แม่มดใจร้าย”
เริ่มต้นจากด้าน “เด็กดี” (Good Girl) เป็นภาพลักษณ์ของเด็กผู้หญิงที่แสนจะเรียบร้อย ใสซื่อ อ่อนโยน ว่านอนสอนง่าย ยอมผู้อื่นเสมอ เสียสละ ช่างเอาอกเอาใจ เธอต้องการความรัก การยอมรับจากสังคม พยายามทำให้ทุกคนพอใจ จนมักปฏิเสธความต้องการและความรู้สึกลึกๆ ของตนเอง เพื่อรักษาความสงบสุข
ที่มาของด้านเด็กดี เกิดจากเงื่อนไขของการเลี้ยงดู บรรยากาศในครอบครัว ความกลัวการถูกปฏิเสธ การขาดความรัก และคุณค่าแบบชายเป็นใหญ่ที่ครอบงำ และผลที่ตามมา ทำให้เด็กดีคนนี้ มีภาวะเก็บกด ไม่รู้ว่าตัวเองที่แท้จริงคือใคร ไม่เห็นคุณค่ากระทั่งปฏิเสธตัวเองอย่างเรื้อรัง มีพฤติกรรม passive-aggressive
ส่วน “หญิงร้าย” (Bitch) เป็นภาพลักษณ์ของผู้หญิงที่กล้าพูดกล้าทำ ไม่ยอมใคร เธอแสดงความโกรธ ความไม่พอใจ แสดงออกท้าทายไม่สนใจใคร และไม่รับผิดชอบผลที่จะตามมา เธอปฏิเสธการยอมตามคนอื่น เพื่อปกป้องตัวตนจากการถูกเอาเปรียบ โดยเฉพาะจากอำนาจเหนือที่กดทับ เธอพร้อมจะใช้ความก้าวร้าวเพื่อสร้างกำแพงป้องกันความอ่อนแอภายใน
ที่มาของด้านหญิงร้าย เกิดจากอารมณ์โกรธที่เก็บกด การตอบโต้ต่อการบงการจัดการของ “เด็กดี” และความต้องการที่จะปกป้องตัวเองจากความเจ็บปวด และผลที่ตามมา ทำให้หญิงร้ายคนนี้แยกตัวออกจากสังคม หลบๆ ซ่อนๆ มีความรู้สึกผิดฝังลึก กลัวการถูกมองเห็นว่า “ชั่วร้าย” “ไม่ดี” “ไม่น่ารัก” และจะรู้สึกมีอำนาจขึ้นมาผ่านการต่อต้านหรือล้มโต๊ะ
สองบุคลิกนี้มักจะสลับไปมาขึ้นอยู่กับสถานการณ์และสภาวะจิตใจของบุคคล ขณะที่คนหนึ่งพยายามรักษาภาพลักษณ์ของความดีงามและความเป็นที่รัก อีกคนหนึ่งกลับแสดงออกถึงการเหวี่ยง ปะทุ และปฏิเสธ norm อย่างรุนแรง

ความแตกหักของทวิลักษณ์
เมื่อทวิลักษณ์นี้ยิ่งห่างกันมากขึ้น ความขัดแย้งภายในจะยิ่งรุนแรงและส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต เราอาจรู้สึกเหมือนมีสองตัวตนที่ไม่สามารถประนีประนอมกันได้ ระหว่าง “เด็กดี” ที่เฝ้าคอยจัดการวางแผนดูแล “บ้าน” อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อให้แน่ใจว่าอะไรๆ จะไม่ถูกทำพัง และ “หญิงร้าย” ที่จู่ๆ ก็โผล่ขึ้นมาอย่างดุดัน เพื่อตอบโต้ความอึดอัดจากการถูกกดทับและพร้อมทำลาย “บ้าน” อย่างไม่สนใจใครทั้งนั้น
ความตึงเครียดเกิดขึ้นเพราะสองตัวตนนี้ต่างก็ไม่ใช่ตัวตนที่จริงแท้ มันต่างก็ถูกสร้างขึ้นในฐานะปฏิกิริยาต่อความคาดหวังทางสังคมหรือบาดแผลทางใจที่ต่างกัน กล่าวง่ายๆ คือ มันต่างก็เป็นกลไกการเอาตัวรอดของเราในช่วงเวลาหนึ่ง แต่ ณ จุดนี้ ตัวตนที่เราสร้างขึ้นมามันทะเลาะกันหนัก และดูเหมือนจะใช้ไม่ได้กับสถานการณ์ตอนนี้อีกต่อไปแล้ว แต่ขณะเดียวกันเราก็ไม่รู้ว่าจะอยู่อย่างไรโดยไม่มีมัน
เมื่อสงครามภายในไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลงง่ายๆ ยิ่งพยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีการเดิมๆ ทุกอย่างก็ยิ่งดูแย่ลง ความแตกหักของทวิลักษณ์จะเริ่มนำไปสู่ ภาวะสับสนในตัวตน มีเสียงตีกันข้างในอื้ออึงอยู่ตลอดเวลา กระทั่งไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วเราเป็นใครกันแน่ รู้สึกกลวงเปล่า ไร้ชีวิตชีวาภายใน ไร้ซึ่งความจริงแท้ในตัวเอง หากรุนแรงขึ้น อาจนำไปสู่ ภาวะซึมเศร้า รู้สึกสิ้นหวัง ไร้ค่า ไม่อยากทำอะไรเลย กระทั่งคิดอยากฆ่าตัวตาย เมื่อไม่สามารถรวมสองตัวตนเข้าด้วยกันได้ พวกมันก็อาจเริ่มแยกตัวออกจากความรู้สึกและความทรงจำของตัวเอง เข้าสู่ภาวะ Disassociation เป็นความรู้สึกเหมือนมองดูตัวเองจากภายนอก เหมือนตัวเองเป็นคนแปลกหน้า แปลกแยกจากสิ่งรอบตัว ด้านชาทางอารมณ์ ความทรงจำบางช่วงถูกกดทับจนหายไป อาจมี พฤติกรรมทำลายตัวเอง (Self-destructive Behaviors) เช่น การทำร้ายตัวเอง การใช้สารเสพติด และการมีพฤติกรรมเสี่ยง หากอยู่ในความสัมพันธ์ใกล้ชิด ก็จะลักษณะผลักดึง คืออยากเก็บคนรักไว้เป็นตัวประกันหรือที่พักพิงปลอดภัย แต่ยามที่ไม่สามารถอดทนต่อการกดทับทางอารมณ์ได้อีกต่อไป ก็จะเกิดปฏิกิริยาผลักไสและทำร้ายให้เจ็บปวด เป็น Toxic Relationship ที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและความไม่ไว้วางใจ
การหลอมรวม ประสานขััว จากมุมมองทางจิตวิทยา
การทำงานภายในกับตัวตนในกรณีนี้ เกี่ยวข้องกับการทำความรู้จักและยอมรับทั้งสองด้านในตัวเรา ในฐานะการแสดงตนของความเจ็บปวด จากความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนองในระดับลึก ไม่ว่าจะการมองหาความปลอดภัย ความรัก หรือความจริงแท้ในตัวเอง
มอบความรักให้ตัวเอง
ด้วยการรับรู้ให้ลึกไปถึงความกลัว ความเจ็บปวด หรือความต้องการที่ไม่ได้รับการตอบสนอง ที่ขับเคลื่อนทั้งสองตัวตนที่ขัดแย้ง เราฝึกที่จะนั่งอยู่ตรงนั้นกับเหตุการณ์ เรื่องราว ความเจ็บปวด โดยไม่ตามความคิดหรือสตอรีไลน์ที่เหมือนหนามแหลมทิ่มแทงครั้งแล้วครั้งเล่า เรามอบความรักให้เด็กน้อยคนนั้น เรามอบความรักให้หญิงสาวคนนั้น แล้วเราก็จะค่อยๆ หลอมรวมกลายเป็นความรัก แทนที่จะติดแหง็กอยู่กับสองตัวตนที่ขัดแย้ง
สร้างฐานของการรู้ตัว
ใช้แบบฝึกหัดง่ายๆ ในการอยู่กับร่างกาย รู้ตัว ผ่อนคลาย เป็นพื้นที่ว่าง และตระหนักรู้กระบวนการทางจิตที่เข้มข้นเป็นชั่วขณะ
การตระหนักรู้อารมณ์ โดยไม่เก็บกด หรือไม่รีบไปทำอะไร
ด้วยการมองเข้าไปยังอารมณ์ที่อยู่ข้างใต้ เช่น ความโกรธ ความกลัว หรือความละอาย แล้วสำรวจที่มาของอารมณ์เหล่านั้น เราไม่ใช้กลไกในการกดข่มอารมณ์ แต่ค่อยๆ กลายเป็นท้องฟ้ากว้างแห่งการตระหนักรู้อันไร้เงื่อนไขแทน
ฝึกยืนยันตัวเองและขีดเส้น
มองพฤติกรรม “หญิงร้าย” ด้วยมุมมองใหม่ มองเห็นว่าด้านการแสดงออกที่อาจดูเลวร้าย ไม่น่ารัก ยอมรับไม่ได้ หรือส่งผลเสียเหล่านั้น คือการยืนยันตัวเอง ที่ healthy ต่อชีวิต ลองสังเกตชั่วขณะที่หญิงร้ายแสดงตัวและสำรวจความรู้สึกและความต้องการของเธอ ณ ขณะนั้น แล้วลอง “ขีดเส้น” (set boundary) อย่างตระหนักรู้ ด้วยความรับผืดชอบต่อชีวิตและผลที่จะตามมาทั้งหมดอย่างสง่างาม
แสดงออกจากจริงใจ
อนุญาตตัวเราทั้งด้านที่น่ารักและด้านที่ยืนยันตัวเอง ด้านที่ดูแลให้สิ่งต่างๆ ราบรื่นและด้านที่ทรงพลัง ให้ได้แสดงตนโดยไม่ตัดสินหรือแปะป้ายว่าอันนึง “ดี” หรือ อีกอัน “ร้าย” ลองไปพ้นนิสัย ความเคยชิน และกลยุทธ์เดิมๆ ที่ใช้เอาตัวรอด แล้วสื่อสารออกมาจากความรู้สึกหรือความต้องการในชั่วขณะนั้นๆ อย่างฉับพลันโดยไม่คิดประดิษฐ์
สร้างบทสนทนาภายใน
สื่อสารกับทั้งสองตัวตนที่ขัดแย้ง รับฟังสิ่งที่แต่ละตัวตนต้องการ และหาโอกาสให้ทั้งสองมาสนทนา เพื่อรู้จัก ยอมรับ และเข้าใจกัน เหมือนเรากำลังสร้างบรรยากาศของสันติภาพและ harmony จากการพูดคุยและรับฟังความแตกต่าง
การทำงานกับทวิลักษณ์ภายในจากมุมมองพุทธศาสนา
ในคำสอนพุทธศาสนา คอนเซ็ปต์เรื่องทวิลักษณ์และตัวตนที่ขัดแย้งนี้ สามารถถูกทำความเข้าใจในฐานะความพยายามของอัตตาในการรักษา ควบคุม และหลีกเลี่ยงความเจ็บปวด ทั้ง “เด็กดี” และ “หญิงร้าย” เหมือนสองด้านของเหรียญเดียวกัน ทั้งสองต่างก็ถูกสร้างขึ้นมาจากการตอบโต้อย่างมีเงื่อนไขจากการปรุงแต่งทางความคิด จนกลายเป็นแบบแผน ความเคยชิน หรือนิสัย เสริมกำลังด้วยอำนาจกิเลสที่ขับเคลื่อนตัวตนนั้น
หัวใจของการหลอมรวมตัวตนที่แตกหักนี้ อยู่ที่การตระหนักรู้ธรรมชาติของความว่าง ขณะที่เราโอบกอดสภาวะของตัวตนเหล่านั้นอย่างที่เป็น
ทั้ง “เด็กดี” และ “หญิงร้าย” ล้วนแต่เป็นการปรุงแต่งทางความคิด ปราศจากแก่นสารภายในที่แท้จริง ตัวตนทั้งสองเกิดขึ้นจากเงื่อนไขและเหตุปัจจัย ทางครอบครัว ทางสังคม ทางวัฒนธรรม หรือจากปมบาดแผลในอดีต การทำงานกับผลกรรมเหล่านั้นอย่างตรงไปตรงมาด้วยการตระหนักรู้ จะนำไปสู่การปลดปล่อยและคลี่คลายโดยตัวมันเอง
ทางสายกลางของการไม่เก็บกด และไม่กระทำออกไปโดยไม่รู้ตัว แต่มองเห็นและรับรู้อย่างเปิดกว้าง คือการไปพ้นตัวตนที่ตายตัว และรู้แจ้งว่า แม้ตัวตนสองขั้วนี้จะตบตีกันหรือปั่นป่วนโกลาหลเพียงใด ที่สุดแล้วมันก็ไม่ใช่ความจริง เราสามารถอนุญาตให้ตัวตนเหล่านี้เกิดขึ้น แสดงออกซึ่งความรู้สึก อารมณ์ หรือความต้องการระดับลึก “รู้เฉยๆ” มองมัน เห็นมัน แล้วปล่อยให้มันสลายไปในความว่าง
ชั่วขณะของพื้นที่การตระหนักรู้อันกว้างใหญ่ที่โอบอุ้มและเป็นอิสระจากสองขั้วตรงข้ามนี้เอง คือ ประสบการณ์ของความเป็นตัวเราที่แท้จริงที่เราค่อยๆ บ่มเพาะทีละน้อยจากการภาวนา
+++++++++++++++++++++++++
หากท่านชอบบทความที่ตีพิมพ์บนเว็บไซต์ vajrasiddha.com และต้องการสนับสนุนการทำงานของพวกเรา สามารถช่วยกันแชร์ คอมเมนท์ ติชม ได้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย วัชรสิทธาดอทคอม ดำเนินงานเพื่อประโยชน์ด้านการศึกษาอย่างไม่แสวงหาผลกำไร ผู้ที่ได้รับประโยชน์ และมีจิตศรัทธา สามารถสนับสนุนการดำเนินงานของเว็บไซต์ได้ที่ — ธนาคารกสิกรไทย สาขาบางกระบือ ประเภทออมทรัพย์ ชื่อบัญชี “มูลนิธิวัชรปัญญา” เลขที่ 053-3-67904-8