ความรักใน “สันติภาพ” เริ่มต้นที่ความเข้าใจใน “สมถภาวนา”

บทความโดย วิจักขณ์ พานิช
เรียบเรียงโดย พรทิภา จันทรพราม

สรุปความจากกิจกรรม “สังฆะปฏิบัติ” เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2565

ที่มาภาพ: Pille Kirsi จาก Pexels

ไม่ว่าเราจะฝึกภาวนาในสายปฏิบัติไหนในโลก จะมีพื้นฐานอยู่ 2 ส่วนด้วยกัน นั่นคือคือส่วนของ“สมถะ” และส่วนของ “วิปัสสนา”  ซึ่งในพุทธศาสนาทิเบตก็มีการแยกออกเป็น 2 ส่วนแบบนี้เช่นเดียวกัน โดยในภาษาอังกฤษ คำว่า “สมถะ” จะใช้ว่า “Calm Abiding” ส่วน “วิปัสสนา” ใช้ว่า “Clear Seeing”

สังฆะปฏิบัติเมื่อวันอังคารที่ 7 มิถุนายน 2565 ครูตั้ม (วิจักขณ์ พานิช) มานำภาวนาและพูดคุยถึง การฝึกสมถภาวนา และการฝึกที่จะ Identify กับคุณสมบัติของสันติภาวะ

ในขั้นต้นของการปฏิบัติ คือ “ฝึกที่จะมีสันติ กับสภาวะอะไรก็ตามที่เกิดขึ้น” ปล่อยจากการต่อต้าน ปล่อยจากการขัดขืน ปล่อยจากการตัดสิน ปล่อยจากการคิดล่วงหน้า แล้วดำรงอยู่ในสันติในใจต่ออะไรก็ตามที่เกิดขึ้น และนั่นคือ หัวใจของสมถภาวนา

การฝึกสมถะมักจะใช้ ลมหายใจ หรือ ร่างกาย เป็นตัวช่วยในการทำให้เราอยู่ในสันติภาพภายใน (Peace Within) หากลองสังเกตดูจะพบว่าในขั้นของสมถะนั้น จะเป็นขั้นของการ “ปล่อยสิ่งที่มากั้นขวางเรากับสภาวะต่างๆ” เป็นขั้นตอนของการฝึกที่จะปล่อยจากความเครียด ความเกร็ง ความกลัว ความประหม่า ปล่อยจากการวิ่งตามความคิด ปล่อยจากการวิ่งตามสิ่งเร้าภายนอก หรือ Impulse ข้างใน

การฝึกฝนในขั้นสมถะ “เราฝึกที่จะ Identify กับคุณสมบัติของสันติ” กล่าวคือ เราตระหนักว่าธรรมชาติพื้นฐานที่สุดของเราคือสันติ ไม่ว่าจะมีสภาวะทางกาย ทางอารมณ์ หรือทางจิตใดๆ เกิดขึ้น ทั้งหมดก็ยังคงอยู่ในบรรยากาศของสันติภาพ การฝึกในขั้นสมถะนั้นมีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เรามีประสบการณ์ที่ลึกซึ้งของสันติภาพ

“สันติภาพนี่ไม่ได้หมายความว่าไม่มีการทะเลาะกัน ไม่มีการขัดแย้ง ไม่ได้หมายความว่าสงบราบคาบ

ถ้าเราเข้าใจสันติภาพในแบบนั้น นั่นอาจจะเข้าข่ายของเผด็จการ สันติภาพไม่ใช่อะไรแบบนั้นแน่ๆ

หากแต่ในบรรยากาศของสันติภาวะ มันอนุญาตให้สิ่งต่างๆ เกิดขึ้นได้อย่างเป็นธรรมชาติ

มีพื้นที่ ไม่ได้บังคับ ไม่ได้คาดคั้น ไม่ได้ไปขู่เข็ญ เป็นบรรยากาศของสันติภาพที่เปิดกว้างและเป็นธรรมชาติ”

-วิจักขณ์ พานิช-

ขอให้เราหมั่นกลับมาอยู่กับลมหายใจ หมั่นกลับมาอยู่กับร่างกาย นำพาตัวเองมาสู่บรรยากาศของสันติ – 

เมื่อเรา Identify กับคุณลักษณะพื้นฐานของสันติ เราจะเริ่มรู้สึกว่ามีไมตรี มีความเป็นมิตรกับสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นความสัมพันธ์บนพื้นฐานของสันติภายในที่เปิดกว้าง เราไม่ได้ต้องการที่จะต่อสู้ เราไม่ได้ต้องการที่จะกำราบ ไม่ได้ต้องการที่จะปฏิเสธ ไม่ต้องการที่จะคาดคั้นกับอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นทั้งในร่างกายและจิตใจ การที่เราฝึก Identify กับคุณลักษณะของสันติ ทั้งหมดนี้คือหัวใจของสมถภาวนาทั้งสิ้น

ในการฝึกขั้นสมถะ

• เมื่อเราปวดขา เราก็มีสันติกับอาการปวด

• ถ้าเราปวดท้อง เรารู้เฉยๆ แล้วกลับมาตามลมหายใจ กลับมาอยู่กับร่างกาย บ่มเพาะสันติภาพต่ออาการปวดท้อง

“เราไม่สามารถบังคับความทุกข์ได้ ..

ความทุกข์ที่จะเกิดมันก็ต้องเกิด เราไม่จำเป็นต้องทุกข์ทรมานกับการปฏิเสธหรือการขัดขืน

เราสามารถบ่มเพาะสันติในใจต่อความทุกข์ นี่คือความรู้แจ้งของการฝึกสมถะ”

-วิจักขณ์ พานิช-

ที่มาภาพ: อวโลกิตะ

การฝึกสมถะสามารถที่จะฝึกในสิ่งแวดล้อมแบบไหนก็ได้ เสียงเงียบ เสียงดัง อยู่ในป่า หรืออยู่ในเมือง

เริ่มต้นด้วยมีสันติต่อลมหายใจ สันติต่อร่างกาย เชื่อมต่อกับ basic sanity

• ให้ Space ของการตระหนักรู้ในกายแสดงออกถึงคุณลักษณะของสันติ

• Identify กับธรรมชาติพื้นฐานของจิตที่คือ basic sanity, basic goodness

• เมื่อมีสิ่งใดเป็นตัวกระตุ้น กวนตะกอนให้ขุ่นขึ้นมา… เรารู้เฉยๆ ปล่อย ไม่ต้องตาม ไม่ต้องให้อาหารเพิ่ม

“จากนั้นเราจะรู้สึกได้ว่าน้ำค่อยๆ ใส ตะกอนขุ่นค่อยๆ นอนนิ่ง

อาจจะมีปลาแหวกว่าย มันอาจจะมีนก มีจิงโจ้น้ำ”

• แค่รับรู้เฉยๆ แล้วกลับมาอยู่กับธรรมชาติของความนิ่ง ใส สงบของจิต

ที่มาภาพ: S Migaj จาก Pexels

ฝึกที่จะทำความรู้จักกับสันติภาพ หรือ สันติภาวะ แล้ว Identify กับมัน รู้สึกชื่นชม ขอบคุณที่มีสิ่งที่เรียกว่าสันติเป็นธรรมชาติพื้นฐาน เราสามารถที่จะ Connect กับสันติ หรือสันติภาพนี้ได้ตลอดเวลา โดยไม่จำเป็นต้องไปเรียกร้องเงื่อนไขจากภายนอก เพียงแค่ปล่อยจากการกระตุ้นเร้า จากการวิ่งตามความคิด วิ่งตามสิ่งภายนอก แล้วกลับมา Identify กับคุณลักษณะของใจ ที่โดยพื้นแล้วมีความใส นิ่ง กระจ่าง

ดังนั้นในขั้นของสมถภาวนา นอกจากการทำจิตให้สงบหรือนิ่งลงแล้ว สิ่งสำคัญไม่น้อยกว่ากันคือการที่เรา Identify ตัวเองกับสันติภาวะนั้นด้วย นั่นคือการเริ่มต้นการมองอย่างแจ่มชัดหรือ วิปัสสนา จุดเริ่มต้นของการรู้จักตัวเองและเข้าใจตัวเองว่าโดยเนื้อแท้แล้ว เราคือใคร?

สันติภาพคือพื้นฐาน คือธรรมชาติของเรา คือสิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณและชื่นชม คือสิ่งที่อยู่ตรงนั้นเสมอไม่ใช่เพียงแค่ในขณะที่เราภาวนา สันติภาวะอยู่ตรงนั้นอยู่แล้วเสมอ เป็นสิ่งที่สวยงาม ดีงาม ไม่จำเป็นต้องมีอะไรมาปรุงแต่งให้มันดีหรืองามยิ่งกว่านี้ เราทุกคนต่างมีสันติอยู่ในใจเป็นพื้นฐาน และปรารถนาที่จะดำรงอยู่ในสันติภาพนี้ในฐานะพื้นฐานของความสุข

ในขั้นวิปัสสนา คือการนำเอาบรรยากาศนี้ นำธรรมชาติพื้นฐานอันนี้ไปสัมพันธ์กับสภาวะต่างๆ ที่เกิดขึ้น ใส่ใจ มอง เปิด ฟัง ทำความเข้าใจ โดยไม่ได้เอาความสงบไปกดข่ม

“อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นในกายเรา ในอารมณ์เรา ในจิตเรา สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ เราอนุญาตให้ทั้งหมดเกิดขึ้นได้ ในบรรยากาศ หรือในธรรมชาติพื้นฐานของสันติ”

“สมถภาวนานำไปสู่จุดที่เราปราศจากศัตรู เริ่มจากการไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อตัวเราเอง ไม่เป็นศัตรูต่อความคิด ต่ออารมณ์ หรือแม้กระทั่งเป็นศัตรูกับคนอื่น”

ที่มาภาพ: Urban Creature

ฝึกที่จะใช้พื้นฐานของสมถะไปสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ อย่างที่เป็น ทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ อนุญาต เปิด

• รู้จักอารมณ์ของเรา รู้จักพลังงานของเราเอง รู้จักความทุกข์ของเรา รู้จักความปั่นป่วนข้างในของเรา ด้วยท่าทีแบบสมถะ

• รู้จักคนอื่น ฟังคนอื่น สัมพันธ์กับคนอื่น อนุญาตให้คนอื่นเป็นอย่างที่เป็น ด้วยท่าทีแบบสมถะ

• ชื่นชมผู้อื่น, Empower ผู้อื่น, Liberate ผู้อื่น ด้วยท่าทีแบบสมถะ

“การฝึกที่จะสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆ ด้วยท่าทีของสันติ คือพื้นฐานเดียวกัน
กับการตระหนักถึงธรรมชาติของความว่างนั่นเอง สันติไมตรี จึงเป็นพื้นฐานของความรักความกรุณาที่มีต่อผู้อื่น”