สรุปกิจกรรมโดย KHANOON
(สรุปจากกิจกรรมเวทานตะ : ค้นหาสัจธรรมภายในตน กับ คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง 27-28 สิงหาคม 2565)
แนวคิดเรื่องการหลุดพ้นเป็นอะไรที่ชาวพุทธต่างคุ้นเคย เราเห็นว่าโลกใบนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ ความปรารถนาไปพ้นจากสภาพอันเป็นทุกข์นี้จึงปรากฏขึ้น อันที่จริงชาวพุทธก็ไม่ใช่พวกเดียวที่มีแนวคิดเกี่ยวกับโลกอื่น ไม่ว่าจะเป็นโลกหลังความตาย นรก สวรรค์ หรือนิพพาน แม้แต่ความเข้าใจเรื่องทุกข์ อวิชชา กรรม จนถึงสังสารวัฏ ก็มีอยู่ในหลายๆ ศาสนาซึ่งเกิดร่วมสมัยกันในอินเดีย
การหลุดพ้นเป็นเป้าหมายสูงสุดที่เราอยากไปให้ถึง ขณะเดียวกันนั้นก็แทบเป็นไปไม่ได้สำหรับปุถุชนที่ไม่มีอะไรวิเศษวิโสอย่างเราๆ ความน่าสนใจของ “ปรัชญาเวทานตะ” หนึ่งในปรัชญาสำคัญทางฮินดู ที่อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง นำมาสอนเมื่อปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา คือมันไม่ได้นำเสนอเพียง ‘สัจธรรม’ อันเป็นเนื้อแท้ของเราอยู่แล้ว แต่ยังมีหนทางแห่งความภักดีต่อพระเจ้าให้เราเลือกเดินด้วย ที่เราเห็นคนฮินดูบูชาเทพจนคล้ายงมงาย มันมีที่มาที่ไปนะ
ปูพื้น
ก่อนอื่นเรามาปูพื้นกันก่อนว่า “เวทานตะ” คืออะไร? เวทานตะแปลตรงตัวว่าส่วนสุดท้ายของคัมภีร์พระเวท หรือก็คือ ‘อุปนิษัท’
อุปนิษัทป็นจุดเปลี่ยนทางคำสอน และมุมมองต่อโลกในยุคพระเวท จากการมองว่าชีวิตในโลกนี้ดีอยู่แล้ว คนก็เริ่มแสวงหาธรรมเพื่อปลดเปลื้องตนเอง ทำให้เหล่านักบวชมีความสำคัญมากกว่าพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมเฉยๆ อย่างที่รู้กันว่าการไปสู่ความหลุดพ้นเป็นเรื่องของใครของมัน ชุมชนเลยพัฒนาไปสู่ความเป็นปัจเจกมากขึ้น
นอกจากนี้เวทานตะยังหมายถึง ‘สำนักเวทานตะ’ ซึ่งรับเอาอุปนิษัทมาเป็นรากฐานความคิดทางปรัชญาด้วย ต้องบอกก่อนว่าสำนักเวทานตะยังจำแนกย่อยได้อีกมากมาย แม้จะยกให้ ‘พรหมัน’ เป็นความจริงสูงสุดเหมือนกัน แต่รายละเอียดปลีกย่อยแตกต่างไปตามแต่ละสำนัก ดังนั้นจึงขอยกเอา “ปรัชญาอไทวตเวทานตะของศังกราจารย์” (Samkara’s Advaita Vedanta) ผู้โด่งดังเป็นจุดอ้างอิงให้พวกเราเข้าใจตรงกัน
พรหมันคือสิ่งจริงแท้
‘อไทวตะ’ แปลว่า ไม่เป็นสอง (non-dualism) พรหมัน หรือ ‘สัจธรรม’ จึงถือเป็นสิ่งจริงแท้เพียงหนึ่งเดียว
แล้วมันคืออะไรล่ะ?
นี่เป็นเรื่องน่าปวดหัว เพราะสัจธรรมเป็นสิ่งที่อธิบายไม่ได้ด้วยภาวะคู่ (duality) ภาษาซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวของความคิดจึงตกร่องนี้เต็มๆ แต่ภาษาก็เป็นสิ่งเดียวที่เรามี การให้คำจำกัดความจึงออกมาในรูปประโยคนิเสธ (ไม่ใช่สิ่งนั้น ไม่ใช่สิ่งนี้) หรือใช้ภาษาขัดแย้งกันเพื่อดึงเราออกจากความคิด เช่น ‘ทั้งเคลื่อนไหว และไม่เคลื่อนไหว’ แล้วตกลงมันยังไงกันแน่เนี่ย!?
ตอบแบบกำปั้นทุบดิน พรหมันคือ ‘เนื้อแท้’ ของเรา ข้อจำกัดของภาษาไม่สามารถอธิบายสภาวะแห่งการเข้าถึงพรหมันได้อย่างแท้จริง และแต่ละคนก็คงชุดคำอธิบายเฉพาะให้กับประสบการณ์ดังกล่าว ถึงอย่างนั้นผู้เข้าถึงจะประจักษ์รู้ได้ด้วยตัวเอง ส่วนพวกเราที่ไม่รู้ คงต้องปล่อยให้พรหมันเป็นสิ่งลี้ลับต่อไป (กระซิก)
จากความพยายามในการอธิบาย ‘พรหมัน’ ทำให้เราเห็นว่าตัวมันเองนั้นปราศจากคุณสมบัติ เรียกว่า ‘นิรคุณพรหมัน’ อย่างไรก็ตามมันสามารถฉายภาพปรากฏ (projection) ออกมาเป็นพระเจ้า (อีศวร) เป็นโลก เป็นตัวเราแต่ละคน (ชีวาตมัน หรืออาตมัน) เรียกด้านนี้ว่า ‘สคุณพรหมัน’ ดูประหนึ่งว่ามีสิ่งเหล่านี้อยู่จริงๆ ทว่าทั้งหมดเป็นแค่ ‘มายา’ เท่านั้น
โลกเป็นมายา
เนื่องจากพรหมันคือสิ่งจริงแท้หนึ่งเดียว สิ่งอื่นๆ จึงนับเป็นมายา รวมถึงโลกที่เราอาศัยอยู่ และตัวตนของเราด้วย แน่นอนว่าช่างเป็นคำอธิบายที่ขัดกับความรู้สึกของมนุษย์ทุกๆ คนเสียซะเหลือเกิน
หากเทียบกับคำสอนทางพุทธศาสนาเรื่องขันธ์ 5 ทุกอย่างคือการประกอบสร้างของเหตุปัจจัย แต่ ‘อวิชชา’ หรือความไม่รู้ ทำให้เรา ‘หลง’ คิดไปว่าความสืบเนื่องของสิ่งประกอบสร้างมีตัวมีตนจริงๆ ในขณะที่เวทานตะมองว่าทุกสิ่งกับพรหมันไม่ได้แยกขาดจากกัน ฉะนั้นการแบ่งแยกโลก พระเจ้า และตัวเราออกจากพรหมันจึงเป็นการรับรู้ด้วย ‘อวิทยา’ ซึ่งก็คืออวิชชาในภาษาพุทธนั่นแหละ
“ภาวะที่เราแยกกัน ภาวะที่เราเห็นเป็นตัวเราแต่ละคน แน่นอนพูดในระดับสมมติสัจจะก็คือมีตัวเราแต่ละคน พูดในระดับปรมัตถสัจจะไม่มีตัวเราแต่ละคน แต่การแยกกันเป็น ‘play’ เป็นความรื่นรมย์บางอย่างของพระเจ้าที่ ‘just a play’ มันเป็นอรรถรส แล้วไม่มีความจงใจของพระเจ้านะครับ อันนี้ต่างกับศาสนาอื่น ศาสนาอื่นบอกว่าพระเจ้าจงใจ หรือแม้กระทั่งฮินดูเอง พระเจ้าสร้างจักรวาล และโลกนี้เพื่อให้เหมาะสมกับดวงวิญญาณแต่ละดวง เพื่อที่เราจะสามารถรับเงื่อนไขของกรรมแต่ละคน โลกนี้คือโลกที่สมบูรณ์แบบ สมบูรณ์แบบในแง่ที่ว่ามันถูกออกแบบเพื่อพวกเรา ‘แต่ละคน’
แต่ศังกราจารย์บอกว่า เฮ้ย! พูดแบบนี้แปลว่าพรหมันจะต้องมีความคิดสิ เพราะฉะนั้นทั้งหมดนี้ พระเจ้าไม่ได้คิดอะไรฮะ พระองค์แค่ ‘Dance’ เสร็จแล้วอะไรจะกระเด็นร่วงลงมาบ้าง พระองค์ไม่มีอารมณ์ด้วย เป็น ‘Blissful Dance’ กลายเป็นลีลา หรือจังหวะของเราแต่ละคน
กระบวนการที่พรหมัน project มาเป็นสคุณพรหมัน หรือพระเจ้า พระเจ้า project โลก เกิดขึ้นเมื่อไหร่ ไม่มีใครตอบได้ ตอบได้แค่ว่ามันเป็น play และไม่สามารถที่จะยืนยันแง่เวลาได้ (อนาทิ) เพราะสังสารวัฏยาวไกลเกินกว่าเราจะรับรู้”
– อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
อุปมายอดนิยมทั้งในฝั่งพุทธศาสนา และฮินดู คือ ‘เห็นขดเชือกเป็นงู’ (Rope-Snake Analogy) ใช่แล้ว เราเองก็เคยมองเห็นสายยางรดน้ำในสวนเป็นงูเหมือนกัน (สะดุ้งโหยง) ภาพงูที่เราเห็นนี่แหละคือมายา หากเราไม่มีอวิทยาแล้วไซร้ ก็จะเห็น ‘ความจริง’ หรือสายยางเท่านั้น แต่ถ้าเราไม่เคยเห็นหน้าค่าตาของงูมาก่อนล่ะ?
เราเลยสามารถสรุปได้อีกอย่างว่า มายาคือสิ่งที่เราไม่มีประสบการณ์ตรงต่อมัน ทันใดนั้น เรามาเกิดบนโลก ยิ่งใช้ชีวิตอยู่นานเท่าไหร่ ยิ่งสะสมความเข้าใจผิด ยิ่งรับรู้ผิดพลาด ทุกอย่างดูสมจริงเกินกว่าจะปฏิเสธ เมื่อนั้นการหลุดพ้นก็ลอยห่างออกไป เพราะฉะนั้น! พระเจ้า! ท่านช่วยหยุดเต้นทีเถอะ!
สัจจการแห่งตน : “เรากับพรหมันคือสิ่งเดียวกัน”
ในแนวทางของศังกราจารย์ การหลุดพ้น (โมกษะ) คือการตระหนักรู้ว่า ‘เรากับพรหมันคือสิ่งเดียวกัน’ แต่มันยากมากในการเปลี่ยนความรู้สึกต้อยต่ำในฐานะมนุษย์ เราไม่ดีพอ เราเกิดมาพร้อมบาป เราจึงต้อง ‘กลายเป็น’ บางสิ่งที่ดีกว่าตอนนี้ มันคือสภาวะอันปราศจาก ‘ที่พึ่ง’ เมื่อเราคือสิ่งสูงสุดนั้นเอง แน่นอนว่าเราย่อมกลัวการไร้ที่ยึดเหนี่ยว
การเข้าถึงสัจธรรมจึงไม่อาจเข้าใจผ่านการคิดวิเคราะห์ เพราะมันทำงานกับตัวตนของเราลึกมากโดย เราคือใคร เรากำลังกลัวอะไร กำลังปรารถนาสิ่งไหน กำลังรู้สึกยังไง เราไม่สามารถปฏิเสธปฏิกิริยาทั้งทางอารมณ์ความรู้สึก และความคิดเมื่อถูกเขย่าตัวตนได้
“สำนักศังกราจารย์ยืนยันข้อความในอุปนิษัท ว่าไม่มีเราที่เป็นส่วนหนึ่งของพรหมัน ‘เราคือพรหมมัน’ ในแง่นี้เราจะเห็นว่าเป็นปรัชญาที่มนุษย์อยู่ในสถานภาพที่สูงที่สุดเลย มนุษย์คือตัวความจริง เราทุกคนคือตัวความจริงแท้ เขาถึงพูดว่าตระหนักรู้ในตัวตนเนี่ย มันเป็น self-realization นี่แหละคือนิพพาน คือนิรวาน หรือโมกษะ มันไม่ใช้คำว่า liberation ไม่ใช้ salvation
การตื่นรู้ หรือการตระหนักรู้สูงสุด คือการตระหนักรู้ตนเอง เรียกว่า ‘สัจจการแห่งตน’
วิธีที่จะหลุดพ้นตามสำนักเวทานตะของศังกราจารย์คือบำเพ็ญโยคะทางจิต หลุดพ้นแล้วไม่ได้ไปรวมกับอะไร มันคือการกลับมาสู่ตัวเราที่เป็นความจริงอยู่แล้ว จริงๆ จะเห็นว่าเวลาพูดถึงนิพพานในศาสนาแบบอินเดีย มันคล้ายกันเลยคือคุณไม่ได้ไปรวมกับอะไร คุณไม่ได้ becoming อะไร คุณแค่กลับมาสู่การตระหนักรู้ถึงสภาวะเดิมแท้ แต่นี่มันพูดแบบ radical มากๆ มันก็ฟังแล้วฮึกเหิมเนอะ แต่ในขณะเดียวกันก็สยดสยองนิดๆ”
– อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
เมื่อเปรียบเทียบกับการบรรลุนิพพานของพุทธศาสนาซึ่งนำเราไปสู่สภาวะปราศจากตัวตน หรือความว่าง โมกษะของศังกราจารย์กลับมีนัยว่าเรา ‘เป็น’ พรหมัน ถ้าพูดตามหลักการแล้วอาจจะต่างกัน แต่เราไม่มีทางรู้ได้ว่าในเชิงประสบการณ์ คำอธิบาย 2 ชุดนี้ให้ความรู้สึกเหมือนหรือต่างกันยังไง โชคดีจริงๆ ที่เคยมีคนเอะใจกับจุดนี้มาก่อนพวกเราแล้ว
“ในโลกของเรามันมีขอบเขตชัดของศาสนา แต่ผมว่าโลกโบราณไม่ใช่ แล้วพอนักปฏิบัติทั้งหลายมันอิงจากประสบการณ์ ถ้าประสบการณ์มันใกล้เคียงกัน เราจะตัดสินกันยังไงดี
ตอนแรกผมก็คิดว่าคำสอนสุญญตาเป็นของพุทธ ผมไปอ่านคัมภีร์ฮินดูเล่มหนึ่งชื่อ อวทูตคีตา อ้าว! แล้วไหนบอกเป็นอัตลักษณ์ของใครคนใดคนหนึ่ง อ.ประมวล เพ็งจันทร์ พูดคำหนึ่ง ผมจำได้แม่นเลยเรื่องนี้ สมมติพุทธใช้ภาษาว่ามันไม่มีตัวตน แต่ฮินดูบอกว่ามีตัวตนแต่เป็นตัวตนที่ปราศจากขอบเขตเนี่ย แล้วมันต่างกันยังไง! เพราะว่าเวลาเราพูดถึงอาตมัน มันไม่ได้เป็น self มันไม่ได้มีขอบเขต เพราะมันคือตัวความจริง แล้วมันต่างกันยังไงกับเวลากับพูดถึงสภาวะพระธรรมกาย ผมไม่ได้พยายามจะเคลมว่ามันเหมือนกันนะ ประตูทางเข้ามันคนละอันกัน
ตรุงปะ (Chögyam Trungpa) ท่านก็พูดว่าวิถีแบบพุทธเนี่ย ต้องเริ่มต้นจากตัวเรา คือหมายถึงว่าเราต้องมองย้อนกลับเข้ามาในตัวตนแล้วตัดสภาวะของสิ่งแวดล้อมก่อน เอกลักษณ์ของพุทธเป็นแบบนั้น ประตูทางเข้ามันเป็นแบบนั้น คุณต้องเริ่มจากการทำความเข้าใจตัวตนก่อน แล้วหลังจากนั้นค่อยแผ่ขยายการรับรู้ออกไปสู่โลก ธรรมชาติของโลกเป็นอย่างนั้นๆ ฮินดูคือคนละทางกันเท่านั้นเอง คือเริ่มต้นจากข้างนอกก่อน มีพระเจ้า มีจักรวาล มีนู่นนี่นั่น รับรู้ถึงภาวะการดำรงอยู่ของโลกแล้วค่อยกลับมาที่ตัวคุณ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสภาวะที่คุณเข้ามาตอนแรก”
– อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
It’s just a ‘Play‘!
พูดมาถึงตอนนี้ มีใครรู้สึกอยากโยนทุกอย่างทิ้งแล้วหนีเข้าป่า ขอให้ยกมือขึ้น! ในเมื่อโลกนี้ ตัวเรา ทุกสิ่งอย่างก็ มาย๊า มายา คนเราจะอดทนทำงานหาเงินไปเพื่ออะไรกัน!?
ช้าก่อน สาธุชนผู้เหน็ดเหนื่อย! ศังกราจารย์เขาก็ไม่ได้ฟันธงนะว่าโลกนี้มันจริง หรือไม่จริง มายาเป็นการฉายปรากฏ เป็น ‘ปรากฏการณ์’ จึงเป็นไปได้ที่มันจะจริงในบางจังหวะ แล้วก็ปลอมในบางแง่มุม เพราะฉะนั้นกลับไปทำมาหากินกันต่อเลยจ้า
ในระดับสมมติสัจจะ โลกนี้ยังจริงอยู่ บาปกรรม หรือการการเวียนว่ายตายเกิดเองก็ด้วย การใช้ชีวิตโดยรู้ว่าโลกนี้จริง และปลอมไปพร้อมกันชวนสับสนอยู่ไม่น้อย เราควรมีอารมณ์ร่วมกับเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตรึเปล่า การมีความรู้สึกเป็นความหลงไหม คนที่ปฏิบัติภาวนาน่าจะเคยเกิดความขัดแย้งประมาณนี้ในใจอยู่บ้าง
“มาร์ปะซึ่งเป็นอาจารย์ของมิลาเรปะ มหาสิทธาชาวทิเบต ตอนที่มาร์ปะเป็นฆราวาส เป็นต้นสายธรรมปฏิบัติที่ยิ่งใหญ่ มาร์ปะท่านมีลูกมีเมีย หลังไปศึกษาธรรมะกับนาโรปะที่อินเดียมา ท่านก็กลับมาบ้าน แล้วก็ทำนาทำสวน สอนธรรมะไปด้วย ดูแลชาวบ้านไปด้วย อยู่มาวันหนึ่งลูกชายตกม้าตาย อาจารย์ก็ร้องไห้ ฮือๆ
‘ลูกกู’
ลูกศิษย์ถามว่า ‘อ้าว อาจารย์เพิ่งสอนว่าสรรพสิ่งเป็นมายา’
‘เอ้า มันก็มายาจริง กูถึงร้องไห้ไง’
ถามว่ามาร์ปะเสียใจจริงไหม?….
จริง แต่มันโคตรมายาเลยว่ะ เหมือนจริงสุดๆ เนี่ยมายาแท้เลย ถ้ามาทำไม่รู้สึกๆนี่เสแสร้ง เอาความคิดมาบังไว้ อินกับมัน เล่นกับมันเต็มที่คือเข้าใจมายา”
– อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
สมมติว่าเราบรรลุแล้ว แต่ตราบใดที่เรายังมีกายเนื้อซึ่งเป็นสิ่งกั้นขวางอยู่ ก็ยังไม่ใช่การบรรลุโมกษะอย่างสมบูรณ์ ฉะนั้นหากเราจะเต็มที่กับชีวิตในฐานะมนุษย์ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร บางครั้งเราคิดว่าการสร้างตัวตนเพื่อทำงานในบทบาทต่างๆ ขัดแย้งกับการเข้าถึงสัจธรรม มันจึงจำเป็นที่ต้องเข้าใจว่าจริงๆ แล้วไม่ได้มีความขัดแย้งใดเลย ท่องไว้! ตัวตนเป็นการทำเพื่ออยู่รอดใน ‘สมมติสัจจะ’ ส่วนมันจะส่งเสริมการฝึกปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นในระดับ ‘ปรมัตถสัจจะ’ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับว่าเราสร้างตัวตนไหนขึ้นมา
“ตอนที่เราเรียนเรื่องตัวตนแท้ แล้วพูดว่าเราต้องละทิ้งความคิดเกี่ยวกับตัวเรา แต่โลกปัจจุบันให้คุณค่ากับการแสดงตัวตน ฉันเป็นคนอย่างนี้ ฉันมีความสามารถด้านนี้ ฉันแต่งตัวอย่างนี้ มันกลายเป็นแบรนด์ดิ้งใช่ไหมครับ มันก็เป็นคุณค่าด้วย เราจะเห็นคนที่เป็น influencer ต่างๆ แม้กระทั่งผม ผมไปทำรายการก็ถูกเซตอัพคาแรกเตอร์แบบนี้เลย
แต่สิ่งหนึ่งที่ผมได้เรียนรู้ ในฐานะเถรวาทด้วย ให้ทุกอย่างเป็นการเล่น ถ้าวันหนึ่งเราจะต้องเซตอัพแบรนด์ดิ้งทำอะไรสักอย่างในเชิงการค้า เล่นกับมันไปเลย รู้แหละว่ากำลังทำอะไร แต่เล่นตามบทเต็มที่ แล้วก็ถอนตัวออกมา เวลาที่เราอยู่คนเดียวแล้วไม่ต้องโชว์ตัวให้กับคนอื่น เรากลับมาสู่ตัวตนที่เราค้นหา”
– อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ความภักดีต่อพระเจ้า
อย่างที่บอกไปว่ามันยากที่เราจะมองว่าตัวเราคือสัจธรรมโดยปราศจาก ego เราประเมินแล้วว่า ‘เราไม่น่าจะหลุดพ้นเองได้ในชีวิตนี้’ แล้วจะทำยังไงดีล่ะ?
การบูชาเทพเจ้านี่แหละคือคำตอบ!
สำนักเวทานตะในยุคหลังมองว่าโลกนี้ถึงกลียุค จากความดี 4 ส่วน เหลืออยู่แค่ส่วนเดียว ฉะนั้นมีแต่ความรัก ความภักดีต่อพระเจ้าที่จะช่วยให้เราหลุดพ้น โดย ‘ปรัชญาเวทานตะฝ่ายเทวนิยม’ ได้พัฒนามาจาก ‘ขบวนการภักติ’ (Bhakti Movement) ซึ่งแพร่จากภาคใต้ของอินเดีย
จริงๆ แล้วคำสอนเรื่องพรหมัน หรือตัวอุปนิษัทเองเป็นสิ่งที่สอนเฉพาะในวรรณะพราหมณ์ และบรรดาศิษย์ใกล้ชิดเท่านั้น ขณะที่ขบวนการภักติไม่ได้สนใจว่าคุณมาจากชนชั้นวรรณะไหน และให้ความสำคัญกับอารมณ์ความรู้สึก จนถึงความรักต่อเพื่อนมนุษย์มาก
ความแตกต่างอีกอย่างของฝ่ายเทวนิยม คือมองว่า ‘พรหมันคือพระเจ้า’ โดยพระเจ้าสูงสุดสำหรับทุกนิกายในฝ่ายนี้คือพระวิษณุ แต่ไม่ได้นับถือปางเดียวกันทั้งหมด อาจเป็นพระนารายณ์ พระราม หรือพระกฤษณะแทน การหลุดพ้นจึงเป็นการตระหนักว่าเราเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของพระเจ้า ชีวาตมันเป็นส่วนหนึ่งของพรหมัน
ที่เราเห็นคนฮินดูกราบไหว้รูปเคารพ ก็เพราะเขามองว่านี่คือพระเจ้าจริงๆ และอุปมาโมกษะว่าเหมือนการได้ดื่มด่ำกับความรักของพระเจ้า (รสลีลา) ในดินแดนบรมสุขนิรันดร์ ทำให้ปรัชญาเวทานตะกลับไปสู่ความเป็นศาสนากว่าแต่ก่อน นอกจากนี้การเต้นรำขับร้อง หรือการร้องสรรเสริญนามของพระเจ้า (นามสังกีรตัน) ในที่สาธารณะก็เป็นอีกหนึ่งหนทางให้คนอื่นๆ ได้รับกุศลไปสู่ความหลุดพ้นด้วย
“มันมีหนทางเดียวเท่านั้นที่จะไปสู่ความหลุดพ้นได้ นั่นก็คือหนทางแห่งความจงรักภักดี หนทางแห่งความรักของพระเจ้า อย่างอื่นเป็นเรื่องรองทั้งหมด อันนี้คือภาพของนิพพาน ความหลุดพ้น ความรักในเวทานตะอีกพวกหนึ่ง
เป็น self-realization ที่ belong to พระเจ้า จุดเริ่มต้นต่างกัน จุดหมายปลายทางต่างกัน เวลาพูดอย่างนี้มันอาจจะเป็นคนละแง่กับแบบแรก เราเป็น self ที่ไม่ได้เป็น self อย่างโดดเดี่ยว นอกจากคุณต้องตระหนักว่าคุณเป็น self แล้วเนี่ย คุณยังต้องตระหนักว่า true self ของคุณอยู่กับพระเจ้า ไม่ว่าจะรัก หรือเป็นส่วนหนึ่ง หรือยังไงก็แล้วแต่
ถ้าเราอยากจะเป็นสายภักติ ก็รักกันให้เต็มที่ รักจนกระทั่งตัวตนเรามันสลายหายไป ไม่มี ‘คนรัก’ กับ ‘คนที่ถูกรัก’ อีกต่อไปแล้ว มันมีแต่ความรัก”
– อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
เริ่มแรกพระเจ้าอาจอยู่ในสถานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งสูงส่งกว่าเรา หากเราไม่หลงงมงายไปเสียก่อน ก็เป็นโอกาสที่จะได้พัฒนาความรัก ความศรัทธา ความไว้วางใจ จนเกิดการหลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งกับพรหมัน แนวทางของศังกราจารย์ กับสายเทวนิยมอาจแตกต่างกันในเชิงหลักการ แต่ทั้ง 2 ทางก็นำไปสู่การพลิกเปลี่ยนมุมมองต่อตัวตนไม่แบบใดก็แบบหนึ่ง
พรของคุรุ
สายเทวนิยมมีพระเจ้าเปรียบดั่งสิ่งสูงสุด ส่วนสายศังกราจารย์ที่เน้นเรื่องสัจธรรมภายในตน ‘คุรุ’ หรือผู้ถ่ายทอดคำสอนจะมีความสำคัญมากกว่า นอกจากสอน คุรุยังมีหน้าที่เขย่าอัตตาของเรา และใช้สถานการณ์ต่างๆ ให้เราได้เข้าไปมีประสบการณ์กับความหลุดพ้นด้วยเนื้อตัวของตัวเอง คุรุเลยไม่ได้มีภาพลักษณ์ใจดี ประคบประหงม บางครั้งการสอนก็เป็นสิ่งที่เรายอมรับไม่ได้ กระนั้นก็เป็นการทำไปด้วยความรัก และเมตตา
“เวทานตะสายศังกราจารย์ไม่ค่อยยกย่องพระเจ้า แต่สิ่งหนึ่งที่เขาเน้นมากๆ เลยคือ ‘bless of guru’ เขาบอกว่าหนทางทั้งหลาย คุณไม่มีพร หรือไม่มีคำสอนของคุรุไม่ได้ แล้วครูคือทั้งหมดเลยของการที่คุณจะเข้าไปสู่ความลึกลับของ self- realization
คุรุอันนี้มี 2 แง่มุม หนึ่ง คือคุรุในฐานะคนสอน มันต้องมีมนุษย์สอนเรา ไม่อย่างนั้นสิ่งเหล่านี้เราจะรู้ได้ยังไง สองคือครูที่เป็น inner guru (คุรุภายใน) มันคือสภาวะธรรม มันคือ inner voice มันคือภูเขาสักลูกหนึ่ง มันคือสภาวะบางอย่างที่เป็นครูของเรา ครูที่มองไม่เห็น แล้วด้วยพรของ 2 อย่างนี้ก็จะทำให้เราเข้าถึงความจริงสูงสุดได้
เพราะฉะนั้นพวกอไทวตะทุกพวกเลยจะเน้นเรื่องครูมาก เพราะเหมือนกับเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในหนทางของแต่ละเวทานตะ แม้ว่าพวกหลังอาจจะเน้นพระเจ้า แต่ว่าสุดท้ายกว่าจะรู้จักพระเจ้า มันต้องมีคนสอน”
– อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
ทางเลือกในการหลุดพ้น
2 ประตูใหญ่ๆ ของการหลุดพ้นในปรัชญาเวทานตะ คือ การตระหนักรู้ว่าเราคือพรหมัน และความภักดีต่อพระเจ้า ไม่มีวิธีไหนดี หรือด้อยไปกว่ากัน ที่สุดแล้วทั้ง 2 วิธีการก็เป็นแค่ทางให้เราเลือกเดินเพื่อไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่กว่าอย่าง ‘โมกษะ’
ในการปฏิบัติจริงอาจไม่ได้มีเส้นแบ่งอะไรชัดเจนว่าเรากำลังอยู่บนเส้นทางไหนกันแน่ ยิ่งในปัจจุบันที่เราต่างก็เข้าถึงความรู้ของทุกๆ ศาสนา เรามีหนทางมากมายให้เดิน เรากังวลว่าเส้นทางไหนถูกต้องที่สุด จน ‘ประสบการณ์’ แห่งความจริงแท้ ประจักษ์แจ้งในตนถูกละเลยไป
เราอาจเริ่มจากการมีพระเจ้าเป็นที่ยึดเหนี่ยว จนกระทั่งเปลี่ยนรูปแบบความสัมพันธ์มาอยู่ในระดับเดียวกัน เมื่อเรากราบไหว้พระเจ้า นั่นก็คือเราเช่นกัน เมื่อเราสื่อสารกับพระเจ้า เรากำลังเชื่อมต่อกับเนื้อแท้ของตัวเอง หรือเราจะเดินสายภาวนา ละวางตัวตนตั้งแต่แรก ทั้งหมดขึ้นอยู่กับ ‘เรา’
“วันหนึ่งผมไปคุยกับอ.สุวรรณา สถาอานันท์ การทำธีสิสเรื่องเวทานตะมันสับสนๆ ส่วนตัวผมก็ชอบพระเจ้าแบบมีตัวตนอะ ผมจะได้บูชา ผมจะได้รัก ผมจะได้อะไร แต่พอศังกราจารย์บอกว่าความจริงสูงสุดมันเป็นตัวเรา ไม่มีตัวตน แล้วผมจะเอายังไงดีวะ! ผมจะเชื่อมโยงกับพระเจ้ายังไงดี
อ.สุวรรณาบอกว่าฉันก็คิดเหมือนเธอนะ บางครั้งเวลาพูดเรื่องพระเจ้าเนี่ย แต่ฉันก็คิดว่า ในฐานะที่ฉันเป็นมนุษย์บางครั้งเราก็อยากจะเป็นคนมีสติปัญญาสูงส่ง ฉะนั้นการที่เราจะคิดว่าสัจธรรมคือตัวเรามันก็ไม่ผิด แต่บางขณะ ในบางช่วงของชีวิต เราก็อยากได้รับการตอบสนองทางอารมณ์ความรู้สึก เราก็อยากได้รับความรัก เราก็อยากมีความรัก จะคิดถึงพระเจ้าในแง่ของคนบ้างไม่ได้หรอ เธออาจจะไม่จำเป็นต้องเลือกก็ได้ แล้วแต่ว่าเธอจะคิดกับตัวเองยังไง ฉะนั้นเธอจะเอาทั้ง 2 อย่างก็ได้
ผมก็ เออ ดี! ปลดล็อก! กูเป็น 2 อย่างก็ได้วะ”
– อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง