บทความโดย ชัยณภัทร จันทร์นาค
สรุปความจากคอร์ส พลังเยียวยาแห่งโพธิจิต กับ วิจักขณ์ พานิช 13 – 15 กันยายน 2562 ณ วัชรสิทธา
สวนกระแส
คงไม่ใช่แค่ครั้งหนึ่ง แต่เป็นนับครั้งไม่ถ้วนที่เราต้องเผชิญกับความเจ็บปวดหลากหลายรูปแบบ เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง ที่ต่างฝากรอยแผลเป็น หรือคราบเปื้อนฝังแน่นให้กับเรา จนเราอาจใช้พลังงานในชีวิตไปกับการพยายามปิดบังสิ่งเหล่านั้น หรือไม่เราก็พยายามอย่างเอาเป็นเอาตายในการตัดเฉือนส่วนที่เราคิดว่าไม่ควรมีอยู่ออกไป
เมื่อพบกับความเคว้งคว้างในสถานการณ์ที่สับสน ความพยายามกลับไม่เป็นผล รักพังไม่เป็นท่า ความสัมพันธ์ที่ไม่เป็นดังหวัง ฯลฯ ตัวตนของเราได้ลั่นไกให้เราปิดกั้น ตัดขาดการเชื่อมต่อกับธรรมชาติที่ไร้ขอบเขตของหัวใจอย่างอัตโนมัติ
เราอาจมีเหตุผลมากมายจากคนใกล้ตัว สังคม หรือแม้แต่ตัวเราเองที่มาสนับสนุนการปิดใจแล้วเดินต่อไปของเรา เราอาจบอกว่าการพลัดพราก เกิดแก่เจ็บตายเป็นเรื่องธรรมดา คนรักดีๆ หาใหม่เอาข้างหน้าได้ หรืออีกหลากหลายแนวคิดที่นำมากดทับความรู้สึกที่กำลังพยายามจะบอกอะไรเราบางอย่าง …ที่ลึกๆ เราเองก็อยากให้มันแสดงตัวออกมา พรั่งพรูออกมาอย่างหมดจด ชัดเจน
“อะไรก็ตามที่ติดค้างในตัวเรา มันต้องการที่ทางในการคลี่คลายตัวเอง การที่เราพยายามจะขมวดมันกลับเข้าไป ด้วยกลไกที่พยายามปกป้องหรือป้องกันตัวเอง แม้จะทำได้ในชั่วขณะหนึ่ง แต่ในระยะยาว ลึกๆ เรารู้อยู่ว่ามันเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ตัวเรา อาจเรียกว่าเป็นการหลบเลี่ยงที่จะสัมผัสตัวเราที่แท้จริง”
– วิจักขณ์ พานิช
กระบวนการแรกสุดในคอร์ส “พลังเยียวยาแห่งโพธิจิต” สอนโดย วิจักขณ์ พานิช เป็นการฝึกที่จะปลดเปลื้องตนเองออกจากความเคยชินของตัวตนในการตีความและควบคุมทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อที่เราจะสามารถไว้วางใจและสัมพันธ์กับประสบการณ์ที่เกิดขึ้นได้อย่างที่เป็น
ในด้านหนึ่งกระบวนการเหล่านี้คล้ายกับการทรมานตัวเอง แต่อันที่จริง มันเป็นหนทางตรงและหนทางเดียวในการคลี่คลายสิ่งที่อัดแน่นอยู่ภายใน คล้ายกับการออกจากปัญหาความเครียดจากงานที่คั่งค้างด้วยการลงมือทำให้เสร็จ แทนที่จะหาขนมมาขบเคี้ยวแก้เครียด
เมื่อเราเรียนรู้ที่จะตัดผ่านความเคยชินที่ไม่เป็นผลดีต่อการคลี่คลายสิ่งที่คงค้างอยู่ภายในไปเรื่อยๆ สิ่งที่เราจะพบต่อมาก็คือ ความตระหนักรู้อันสดใหม่ในตัวเราและสถานการณ์ที่รอให้เรามองเห็นมาโดยตลอด
ประสบการณ์ของการตระหนักรู้ถึงสิ่งที่กำลังเป็นอยู่จะเป็นเหมือนกับพลังสะสมที่จะทำให้เรามีความกล้าและไว้วางใจในการเข้าสัมพันธ์กับประสบการณ์ทั้งภายในและภายนอกโดยปราศจากเครื่องป้องกันใดๆ
“หัวใจหรือความรู้สึกที่อ่อนไหว เปราะบาง ลึกๆ ข้างในตัวเรา ความเป็นเด็ก ความบริสุทธิ์ ความละเอียดอ่อนที่อยู่ข้างในตัวเรา ผมคิดว่าเราหลอกตัวเราไม่ได้ เราภาวนาเพื่อปล่อยจากความคิด จากสิ่งที่เรายึดถือ แล้ว Connect กับ True Self ตัวตนที่แท้จริงของเรา เป็นธรรมชาติที่ลึกที่สุดที่แท้จริงของเรา เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือกลไกต่างๆ ที่เราใช้พอก สร้างกำแพง หรือสร้างตัวตนเคลือบฉาบเอาไว้”
– วิจักขณ์ พานิช
เราต่างมีข้อจำกัดที่กำหนดทิศทาง สร้างวังวนในชีวิตของเรา นำพาเราไปเจอเรื่องเดิมๆ กับผู้คนแบบเดิม และจบลงด้วยฉากเดิมๆ แต่หากเราซื่อตรงต่อตนเองและกล้าที่จะทำงานกับข้อจำกัดเหล่านั้น เราอาจจะออกจากวังวนเดิมๆ ไปสู่วงที่ใหญ่กว่าได้ และวงเหล่านั้นก็อาจหายไปในที่สุด เช่นเดียวกับความต้องการที่จะออกจากวง และนั่นเองคือธรรมชาติของการเดินทางทางจิตวิญญาณ
“สิ่งทั้งหลายที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา ผู้คนที่ผ่านเข้ามา ประสบการณ์ที่เกิดขึ้น เหตุการณ์ที่เจ็บปวด ต่างเป็นสิ่งงดงามที่เข้ามาช่วยให้กระบวนการภายในสามารถทำงานอย่างต่อเนื่อง จนเราสามารถดำรงอยู่ใน True Self ตัวตนที่แท้จริง ความเป็นเราที่แท้จริงได้เสมอ”
ความรัก = โพธิจิต
“เวลาที่เรามีความรักหรือหัวใจเราเปิด เราต้องมีกระบวนการที่ค่อยๆ พาเราเข้าไป ผ่อนคลาย ภาวนา หายใจ แล้วถึงจะตกหลุมรักได้ไหม …ไม่ต้องใช่ไหม มันเหมือนเป็นสัญชาตญาณบางอย่างที่จู่ๆ เราก็ไว้วางใจเฉยเลย แล้วบางทีก็เป็นความไว้วางใจที่ค่อนข้างไร้เดียงสาเสียด้วย”
-วิจักขณ์ พานิช
เราไม่รู้ตัวเลยว่าเราตกหลุมรักได้อย่างไร คำอธิบายต่างๆ อาจตามมาทีหลัง แต่เราต่างรู้ดีว่าเสี้ยววินาทีที่รักตรึงเราไว้ เป็นประสบการณ์ที่เปี่ยมล้นไปด้วยพลังมหาศาล หัวใจเราเปิดออกอย่างเต็มที่ เรารู้สึกได้ถึงความเป็นไปได้อันไพศาล และเราก็พร้อมจะกลิ้งเกลือกไปกับรักราวกับเด็กที่กลิ้งเล่นไปบนพื้นกับเพื่อนๆ
“การเปิดใจที่เราพูดถึง หรือโพธิจิต มันคือเรื่องเดียวกันเลยกับการตกหลุมรักนั่นแหละ เป็นธรรมชาติที่จริงๆ แล้วมันมีอยู่ในตัวทุกคน เพียงแต่ตอนปกติเราจะไม่ค่อยยอมให้มันเกิดขึ้นง่ายๆ มันเหมือนกับต้องเผลอๆ นิดนึง ต้องมีสถานการณ์อะไรบางอย่างที่ล่อลวงเราให้หลุดเขาไปในความไว้วางใจ อาจถึงขั้นปล่อยตัวปล่อยใจ เราหลายคนโหยหาชั่วขณะนั้นบางทีที่เดินทางกันมาทั้งชีวิตก็เพื่อจะมีความรักนี่แหละ แต่ก็อย่างที่รู้กันดี วินาทีนั้นมักจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว แล้วเราก็กลับมาปิดใจอีกครั้ง”
เรามักพยายามคาดคั้นคำตอบจากความรักในช่วงเวลาที่หัวใจของเรากำลังปิดลง หลังจากสถานการณ์ที่ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด มันก็เลยดูเหมือนว่าความรักได้หายไปแล้ว หรือไม่เคยมีอยู่จริงตั้งแต่ต้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว คำอธิบายและการตัดสินของเราเองต่างหากที่ปิดกั้นเราออกจากรักที่ดำรงอยู่เป็นธรรมชาติโดยเนื้อแท้ของหัวใจของเรามาโดยตลอด แม้ในช่วงเวลาที่เราอาจไม่รู้สึกรัก แม้กับรักที่จบไปแล้ว
“หลายครั้งที่มีความเจ็บปวดเข้ามา เราก็กลับสู่กลไกเดิมๆ จะทำอย่างไรให้เรามองเห็นว่ามันมีคำเชื้อเชิญบางอย่างให้เราได้ลองเรียนรู้ได้นานขึ้น ทำอย่างไรให้เรามองเห็นว่าจริงๆแล้วเราไม่ Naïve เลยนะที่จะอยู่ตรงนั้น แต่ว่าเราเต็มใจที่จะอยู่ตรงนั้น และเราก็ค้นพบอะไรบางอย่างด้วย ไม่ใช่แค่เราเผลอหรือแค่หลวมตัวเข้าไป แต่เรามีความเต็มใจจริงๆ โดยธรรมชาติ เพราะว่ามันเป็นต้นกำเนิดของพลังบางอย่างในชีวิตเรา”
เราจะไม่สามารถอธิบายประสบการณ์ที่พบเจอได้หากไม่รู้ตัว แต่สำหรับประสบการณ์ของการตกหลุมรัก เราก็แทบจะอธิบายมันในชั่วขณะนั้นไม่ได้เลยเช่นกัน เพราะเราไม่เคยชินกับหัวใจที่เปิดรับประสบการณ์ที่ตื่นขึ้นอย่างเต็มที่ จนเราอาจจัดหมวดหมู่ให้สภาวะของการเปิดออกนั้นเข้าข่ายความผิดปกติ หน้ามืดตามัว ความรักบังตา… แต่ความคิดตั้งแง่เช่นนี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นเลยในช่วงของการดื่มด่ำในความรัก จนกระทั่งเราพบเจอกับความเจ็บปวด ความล่มสลาย ความพังทลาย ความตายของบางสิ่งบางอย่าง เราเจอเข้ากับพื้นที่ว่างๆ ที่ให้ความรู้สึกโหวงๆ ไร้พื้นใดๆ ให้ยึดเหนี่ยว ซึ่งจะกระตุ้นให้ตัวของเราเริ่มตัดสินทุกสิ่งทุกอย่าง เพื่อนำสิ่งเหล่านั้นมายึดเหนี่ยวแทนที่ความว่างโหวงนั้น
กายโพธิจิต : ประตูสู่บ้านในหัวใจ
“เมื่อทุกอย่างพังทลายหมดแล้ว เราไม่รู้จะนิยามมันอย่างไร เราไม่รู้จะมองโลกอย่างเดิมอย่างไร ทุกอย่างมันเปิดกว้างไปหมด มันว่าง มันคิดอะไรไม่ออก เราหมดความคิด วินาทีนั้นแหละคือวินาทีที่เราอยู่กับหัวใจ เวลาเราอยู่กับหัวใจจริงๆ เราคิดไม่ออกนะ”
เรารู้สึกวูบวาบในชั่วขณะตกหลุมรัก หัวใจเราเปิดออกโดยฉับพลันจนเราทำทุกอย่างไปเองอย่างเป็นธรรมชาติ จะเรียกว่าไม่ผ่านความคิดเลยก็ได้ และในช่วงเวลาของการพังทลาย ความรู้สึกโหวงๆ ทุกสิ่งดูว่างเปล่า พื้นที่เราเคยยืนอยู่หายไป ช่วงเวลานี้เองที่เราได้เข้าไปสัมผัสกับพื้นที่ว่างอันไร้ขอบเขตในหัวใจอีกครั้ง ซึ่งจริงๆ แล้วแทบจะไม่ต่างกับช่วงเวลาตกหลุมรักเลย เพียงแต่ในความเจ็บปวดเรามักขัดขืนการเปิดออกของหัวใจ และกลัวที่จะสัมผัสกับพื้นที่ว่างที่อะไรๆ ก็เกิดขึ้นได้
การภาวนาในที่นี้ไม่ใช่เพื่อให้เราสามารถลอยตัวเหนือทุกสิ่งที่เข้ามาสั่นสะเทือนหัวใจเรา แต่ในทางตรงกันข้ามเราภาวนาเพื่อยอมรับที่จะปล่อยให้หัวใจของเราสั่นสะเทือน ละทิ้งความพยายามที่จะปิดบังจุดเปราะบางของหัวใจด้วยการทำให้มันแข็งกร้าว และเรียนรู้ที่จะดำรงอยู่ในความอ่อนนุ่มตามธรรมชาติ
ก่อนที่เราจะกลับมาฟังหัวใจของเรานั้น เราจำเป็นต้องเริ่มต้นที่การฟังกาย การทำ Body Work จึงไม่ใช่แค่การนอนผ่อนคลาย แต่เป็นการค่อยๆ ฝึกที่จะทลายความต้องการที่จะควบคุมสิ่งต่างๆ ที่ควบคุมไม่ได้
เมื่อไล่ความรู้สึกไปยังจุดสัมผัสต่างๆ ในร่างกาย ภาพและเสียงของร่างกายชัดขึ้น เราจะรู้สึกได้ถึงความตื่นของร่างกายบางส่วนที่เราใช้งานอยู่ทุกวันโดยที่ไม่ได้รู้สึกถึงมันเลย เราอาจพบจุดบาดเจ็บ ติดขัด ที่เราไม่ทันได้รู้สึก และเราก็จะพบอาการเกร็งตึงบริเวณดวงตา ขมับ และหัวส่วนต่างๆ ที่เป็นเหมือนสัญญาณที่บอกว่า ที่ผ่านมาความคิดของเราได้กินพื้นที่ในการรับรู้สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในร่างกายไปมากขนาดไหน
ความตื่นในร่างกายอาจเป็นสัมผัสที่ชัดเจนขึ้น ความอึดอัดคลายลง แม้แต่ความเจ็บปวดที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อนก็เป็นสัญญาณของความตื่น เพียงแต่ความเจ็บปวดนั้นเป็นความตื่นที่ชัดเจน สว่างจ้าเหมือนกับดวงอาทิตย์ในเช้าวันแรกของวันทำงาน และตัวตนของเราไม่อยากที่จะยอมรับว่าถึงเวลาที่จะต้องตื่นแล้ว
ประสบการณ์ฐานกายสร้างความเข้าใจในเรื่องโพธิจิตได้อย่างเฉพาะเจาะจง เพราะการเรียนรู้เรื่องโพธิจิตไม่ใช่สิ่งที่สามารถเรื่องรู้ได้ผ่านการอ่าน การจด หรือท่องจำ เมื่อกายเปิด ก็เป็นฐานที่ดีให้กับหัวใจที่พร้อมจะเปิดออกได้
โพธิจิตคือความรัก และพลังของความรักนั้นไม่ใช่ชุดตรรกะเหตุผลใดๆ แต่เป็นความไว้วางใจในการเข้าสัมพันธ์กับสิ่งที่ถูกม้วนไว้ที่ปรารถนาจะคลี่ออก วางใจที่จะเผชิญกับความเจ็บปวด ความว่างเปล่า ความไม่แน่นอน และปล่อยให้ทุกสิ่งทุกอย่างคลายออกมา จนกว่าเราจะยอมศิโรราบ
“จุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจเรื่องกายโพธิจิต ก็คือจุดที่เราเลิกที่จะต่อสู้ดิ้นรนกับความทุกข์ ความเจ็บปวดทั้งหลายที่มันอยู่ในร่างกายเรา พูดง่ายๆ คือเราเลิกดิ้นรนกับกรรมที่เรามี เรารู้เข้าใจ และยอมรับตัวเราเองทั้งหมดมากขึ้น”
โพธิจิตสมบูรณ์ : การเยียวยาที่แท้จริง ไม่ใช่ความช่วยเหลือจากผู้อื่น
“เราเข้าใจหัวใจผิดหมดเลย เราพยายามไปกอดรัดมัน พยายามจะไปทำให้มันแข็ง เราพยายามควบคุมหัวใจเรา แต่ไม่เคย Connect กับธรรมชาติจริงๆ ของหัวใจ ความรู้สึกที่ลึกสุดใจ โล่ง ไม่มีขอบ ไม่มีตัวตน เราจะไม่เคยรู้สึกกับมันแบบนี้ จริงๆ แล้วเรารู้สึกนะ แต่เราไม่เคยคิดแบบนี้ มันเลยไม่ไปด้วยกัน”
เมื่อฟังกายจนถึงระดับหนึ่งแล้ว เราก็กลับมานั่งภาวนาเพื่อฟังใจของเรา เราหายใจเข้าไปปลุกหัวใจของเราให้ตื่น และแน่นอนว่าเราก็พบเข้ากับความอึดอัด ติดขัด เจ็บ บริเวณรอบๆ ศูนย์ใจ เหมือนมีมีดที่ยังปักอกอยู่
เราปล่อยลมหายใจให้เข้าไปยังความเวิ้งว้างภายในใจ ซึ่งในช่วงแรกๆ ยังรู้สึกได้แต่ความอึดอัด และไม่สามารถสัมผัสพื้นที่ว่างในใจได้ เราหายใจเข้าและออกในแบบนี้ ด้วยความไว้วางใจ ไม่เร่งรีบ ไม่บีบบังคับ และไม่นานเราก็จะพบว่าในใจกลางของความอึดอัดนั้นก็มีช่องว่างเล็กๆ อยู่ เราไว้วางใจ ไม่ต่อต้าน โอบรับความอึดอัด ความเจ็บปวดนั้นไว้ ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มสัมพันธ์กับช่องว่างเล็กๆ นั้นไปด้วย
ความเจ็บปวดไม่ได้หายไปไหน แต่มันกลายเป็นของสะสมที่หาไม่ได้จากที่ไหนแล้วนอกจากในตัวเรา ในพื้นที่ว่างของหัวใจที่เรากำลังเรียนรู้ที่จะเปิดออก เป็นความว่างที่พร้อมจะโอบอุ้มทุกร่องรอยของชีวิต เป็นความว่างที่เต็มเปี่ยมแห่งชีวิต
ความไว้วางใจ – อุเบกขา
เราต้องอาศัยความไว้วางใจในกระบวนการเปิดออก วางใจในพื้นที่ว่างอันไร้ขอบเขต วางใจในความไม่แน่นอน และก็ดูเหมือนว่าการวางใจ จะเป็นวิธีการเดียวที่สามารถเปิดช่องทางให้พลังในหัวใจกลับมาเยียวยาตัวเราได้
การเลิกขัดขืนที่จะเป็นตัวเองไม่ได้ทำให้ความเคยชินของเราหายไปไหน เราอาจพบกับพฤติกรรมที่ห้ามได้ยากของเราครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ในจุดที่ห้ามได้ยากหรือยั้งไม่อยู่เลยนี้เอง มีธรรมชาติที่ลึกกว่าตัวพฤติกรรมนั้นของเราดำรงอยู่ เราเลิกขัดขืนต่อตัวเราเองเพื่อเรียนรู้ที่จะเชื่อมต่อกับธรรมชาติที่ลึกสุดหยั่งของหัวใจ ไม่ใช่ตัวพฤติกรรม
“ความหลุดพ้นในช่วงแรกถูกกำหนดด้วยความทุกข์ การแบ่งแยกเลยชัดเจน แต่การลงไปทำงานกับความทุกข์จะทำให้ตัวเราอ่อนนุ่มลง และเมื่อค้นพบธรรมชาติที่แท้ของตัวเรา การแบ่งแยกก็จะเริ่มคลาย ทุกอย่างก็นุ่มลง จนเราไม่ต้องหลุดพ้นไปที่ไหนก็ได้ เราอยู่ได้ และนั่นคือธรรมชาติของหัวใจที่เปิด”
ทองเลน : ปลดเปลื้องเงื่อนไขของหัวใจ
“เราปรารถนาจะปลุกเร้าโพธิจิตเพื่อที่จะรักเพื่อนมนุษย์หรือสรรพสัตว์ทั้งมวล โอเค.. การพูดถึงเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ที่เรามองไม่เห็นหน้านั้นอาจจะดูโรแมนติก แต่สรรพสัตว์นั้นรวมพ่อเราด้วยรึเปล่า สรรพสัตว์นั้นรวมแฟนเก่าเราด้วยรึเปล่า… เมื่อปลุกเร้าธรรมชาติที่เปิดกว้าง สิ่งที่ถูกปลุกให้เห็นชัดพร้อมๆ กันด้วยก็คือเงื่อนไข เงื่อนไขที่สร้างความเจ็บปวดที่เรายังคงรู้สึกอยู่ในใจ”
ไม่ว่าเราจะได้รับความสุขหรือความทุกข์มาจากใคร เหตุการณ์ใด ไม่ว่าจะชอบหรือไม่ก็ตาม ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับเราล้วนทำให้เราเป็นเราในทุกวันนี้ และโดยทั่วไปแล้ว เรามักจะพยายามปฏิเสธตัวเรา ในส่วนที่พัฒนาขึ้นมาจากความเจ็บปวดด้วยการตัดสินคนที่ทำให้เราเจ็บ หรือไม่ก็ตัดสินตัวเองที่อ่อนแอเกินไป
การเรียนรู้ที่จะรักคนที่เรายังคงโกรธเกลียดอยู่นั้น จะช่วยให้เราค่อยๆ ปลดล็อคอาการติดขัดในหัวใจของเราได้ทีละนิดๆ และช่วยให้เรามีโอกาสมากขึ้นในการมองเห็นอิสรภาพ หรือทางเลือกในสถานการณ์จริง ที่โดยปกติแล้วมักจะถูกทำให้หมดไป ด้วยการตัดสินใจทำบางสิ่งที่พาให้เราต้องวนเวียนอยู่ในวังวนเดิมๆ ของสถานการณ์หรือความสัมพันธ์
การฝึกที่จะปลดเปลื้องเงื่อนไข เพื่อค้นพบศักยภาพของหัวใจของเรานี้เรียกว่า “ทองเลน” โดยแปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า “Receiving and Sending” ทองเล็นมีกระบวนการ 4 ขั้นดังนี้
1. เชื่อมต่อกับ โพธิจิตสมบูรณ์ โดยการสัมพันธ์กับพื้นที่ว่าง หรือช่องในการกลับสู่ธรรมชาติเดิมแท้ผ่านกายโพธิจิต
2. ให้โพธิจิตสัมบูรณ์กำเนิด “โพธิจิตสัมพัทธ์” ด้วยการรู้สึกหรือจินตนาการว่า กำลังรับพลังงานที่เราไม่อยากรับเข้ามาในพื้นที่ว่างของโพธิจิตสมบูรณ์ หายใจเข้าเป็นควันสีดำ เพื่อปลุกเร้า ความรัก ความว่าง ที่อยู่ลึกลงไป จากนั้นให้หายใจออก ส่งออกไปเป็นพลังงานที่ดี เป็นควันบริสุทธิ์ หรือ แสงสว่าง
3. จินตนาการถึง 1 เหตุการณ์ หรือ 1 บุคคล ที่เราอยากจะทำทองเลนด้วย และรับเอาพลังงานความทุกข์ อารมณ์ ความสับสนต่างๆ ของเขาเข้ามาในใจ เพื่อปลุกเร้า โพธิจิต แล้วมอบ ธรรมชาติของหัวใจเรา กลับออกไป
4. ขยายทองเลนไปสู่ผู้อื่นที่อยู่ในสถานการณ์ที่คล้ายๆ กัน รับพลังงานความทุกข์เข้ามามากกว่าเดิม สลายมันไปในความว่างอันไร้ขอบเขตของโพธิจิตสมบูรณ์ ดำรงอยู่ในธรรมชาติของโพธิจิต และสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้น
“การทำทองเลนไม่ใช่การฝึกเพื่อรู้สึกสงสาร
แต่เป็นการฝึกที่จะเปิดรับความทุกข์ของผู้อื่นในฐานะความทุกข์ของเราเอง”
เมื่อเวลาผ่านไป เราอาจยังสงสัยอยู่ลึกๆ ว่าเหตุใดเรายังสัมผัสได้ถึงบางสิ่งที่ยังคงกัดกิน หลอกหลอนเราอยู่ ทั้งๆ ที่เราได้ตัดใจวางสิ่งเหล่านั้นไปนานแล้ว หรือกระทั่งวันนี้ เราเองอาจจะยังไม่รู้สึกเบาสบาย การฝึกในช่วงต้นจะคอยสะกิดให้เราเริ่มรู้สึกถึงความเจ็บปวดที่เกาะกุมหัวใจเรามาโดยตลอด จนเราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าวิธีที่เราใช้ดูแลหัวใจในสภาวะพังทลายนั้นเป็นยาที่รักษาได้อย่างตรงจุดหรือเป็นเพียงยาแก้ปวดบรรเทาอาการ
ความขัดแย้งทั้งหลายที่เราเจอต่างก็เป็นครู เหตุการณ์ทั้งหลายที่เข้ามาเป็นความศักดิ์สิทธิ์ที่เกิดขึ้นอย่างเฉพาะเจาะจง เมื่อเราไม่รีบเร่งในการหาข้อสรุปและตัดสินสิ่งต่างๆ ตามความเคยชิน เราก็จะค่อยๆ พบกับความต้องการที่แท้จริงของเราในพื้นที่ว่างที่โอบอุ้มทุกสิ่งทุกอย่างไว้
“ชีวิตเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การเกิดมาเป็นมนุษย์เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ตัวเราแต่ละคนก็เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าเราจะชอบตัวเราหรือไม่ก็ตาม เส้นทางที่เราเป็น สิ่งที่เราเจอมาทั้งหมด ล้วนก็มีแง่มุมของความศักดิ์สิทธิ์ ศักดิ์สิทธิ์ในที่นี้คือ มันเฉพาะเจาะจงมากๆ กับเรา มันมีเอกลักษณ์มากๆ ในชีวิตเรา ถ้าพูดให้เว่อร์ก็อาจจะเรียกได้ว่า จักรวาลสร้างสรรค์ขึ้นมาแบบนี้แล้วก็อาจจะไม่ได้สร้างแบบนี้ซ้ำอีก ความเข้าใจเรื่องความศักดิ์สิทธิ์มันจะเกิดขึ้นชัดเจนเมื่อเรามีความไว้วางใจในการสัมพันธ์กับกระบวนการภายในที่เกิดขึ้นในตัวเราเอง”