อิเคบานะเป็นวิถีแห่งจิตวิญญาณหรือศิลปะ?

บทความ โดย ดิเรก ชัยชนะ

ดอกไม้ซึ่งจัดวางไว้ในแจกันนั้นชวนให้นึกถึงทุ่งดอกไม้ ดอกไม้ไม่ได้ถูกจัดวางให้งดงามด้วยการพิจารณาทางโน้นทีทางนี้ที หรือทดลองรูปทรงต่างและเปรียบเทียบกัน หากแต่มอบพื้นที่แห่งการชื่นชมความงามของดอกไม้อย่างที่มันเป็นด้วยความเคารพ ความอ่อนโยน และปราศจากความก้าวร้าวของความจงใจใดที่จะจัดแสดงความคิดของเราออกไป

ในคอร์สดอกไม้สื่อใจ หลังจากที่ผู้เรียนฝึกการจัดดอกไม้ไปช่วงหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็วผู้เรียนจะรู้สึกถึงบางสิ่งที่ลึกซึ้งยิ่งกว่า และเป็นพื้นฐานมากกว่าผ่านประสบการณ์ตรง ความรู้สึกนี้ให้แรงบันดาลใจและความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับอิเคบานะที่มากไปกว่าเรียนรู้ทางเทคนิคหรือการปฏิบัติ บางครั้งผู้เรียนในคอร์สดอกไม้สื่อใจถึงกับสอบถามผมว่า

“หากจะพัฒนาการจัดดอกไม้อิเคบานะให้เก่งต้องฝึกภาวนาหรือไม่?”

คำถามนี้ชวนให้กลับมาใคร่ครวญว่าอิเคบานะเป็นวิถีแห่งจิตวิญญาณ หรือศิลปะที่เน้นหลักการออกแบบและองค์ประกอบทางศิลปะกันแน่

ความหมายของอิเคบานะ

ศิลปะการจัดดอกไม้มีชื่อเรียกในภาษาญี่ปุ่นว่า อิเคบานะ (Ikebana) นั้น มาจากคำว่า “อิเค” หมายถึง การจัด การวาง หรืออีกความหมายคือ มีชีวิต และ “บานะ” หมายถึง ดอกไม้

อิเคบานะ จึงแปลความได้ว่า.. “การรักษาพืชให้มีชีวิตในภาชนะที่บรรจุน้ำ”

การจัดดอกไม้แบบเรียบง่ายเกิดขึ้นตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 เมื่อพุทธศาสนาจากจีนเข้ามาในญี่ปุ่น โดยมีธรรมเนียมที่จัดวางดอกไม้ไว้หน้าพระพุทธรูป และตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาการจัดดอกไม้นี้ค่อยๆ พัฒนาความวิจิตรบรรจงไปตามความเชื่อของศาสนาชินโต พุทธศาสนาดั้งเดิม และเซนในญี่ปุ่น

อิเคบานะคือวิถีแห่งดอกไม้

ศิลปะการจัดดอกไม้แบบดั้งเดิมผูกพันกับศาสนาอย่างลึกซึ้ง ปรมาจารย์การจัดดอกไม้ Senno Ikenobo[1] ซึ่งทำงานอยู่ในช่วงกลางศตวรรษที่ 15 ได้บันทึกไว้ว่า “การฝึกอิเคบานะเป็นการปฏิบัติทางจิตวิญญาณที่จะนำไปสู่การรู้แจ้ง”

ริกกะ (Rikka) ซึ่งเป็นรูปแบบแรกของการจัดดอกไม้แบบทางการที่ใช้ดอกไม้เป็นสัญลักษณ์สื่อคำสอนและจักรวาลวิทยาของพุทธศาสนาแบบดั้งเดิม ในขณะที่การจัดดอกไม้แบบ นาเงะอิเระ (Nageire) ซึ่งหมายถึง “การโยนเข้าไป” เป็นรูปแบบการจัดดอกไม้ให้ดูเป็นธรรมชาติตามมุมมองเชนที่สื่อสารถึงการบรรลุเป็นหนึ่งเดียวกับจักรวาลขณะนั้นทันที

ดีที ซูสุกิ [2] ธรรมาจารย์เซนได้อธิบายในทำนองเดียวกันว่า “ศิลปะแห่งการจัดดอกไม้ไม่ใช่ศิลปะ ทว่าเป็นรูปแบบหนึ่งแห่งการฝึกฝนตนเพื่อการหยั่งรู้ความงามแห่งชีวิต”

นอกจากนี้ Inoue Osamu [3] นักวิชาการด้านศิลปะได้อธิบายว่า “อิเคบานะเป็นวิถีแห่งการค้นหาความหมายของชีวิตผ่านดอกไม้ ที่ประสบการณ์การหยั่งรู้ไม่แตกต่างจากคำว่า ซาโตริ (Satori) หรือการตื่นรู้ทางจิตวิญญาณที่เกินขอบเขตถ้อยคำอธิบายตามมุมมองเซน แต่อิเคบานะก็ไม่ใช่การปฏิบัติทางศาสนา ศิลปินอิเคบานะรุ่นก่อนเพียงใช้คำทางศาสนาเพื่ออธิบายถึงประสบการณ์ตรงของบุคคลที่ข้ามพ้นคำพูดเท่านั้น”

ดังนั้นศิลปะการจัดดอกไม้จึงเรียกว่า “คาโด” (Kado) หรือวิถีแห่งดอกไม้ ที่มีมุมมองด้านอภิปรัชญาผูกพันอย่างลึกซึ้งกับศาสนาและมีวินัยการปฏิบัติผ่านการจัดดอกไม้ที่จะนำไปสู่การค้นพบความหมายและความงามของชีวิต   

ภาพ การจัดแบบนาเงะอิเระ (Nageire)

อิเคบานะคือศิลปะ

ในช่วงศตวรรษที่ 20 วัฒนธรรมญี่ปุ่นเปลี่ยนแปลงสู่ยุคสมัยใหม่และได้รับอิทธิพลจากตะวันตกทั้งด้านประเภทแจกันและพันธุ์พืชแปลกใหม่ที่ต่างไปจากเดิม การจัดดอกไม้ในแจกันประเภทถาดน้ำหรือที่เรียกว่า “โมริบานะ” (Moribana) หมายถึง “กองดอกไม้” ได้พัฒนาขึ้นในช่วงนี้ รวมถึงการจัดอิเคบานะรูปแบบ “ฟรีสไตล์” (Freestyle) ที่ไม่ถูกจำกัดตามกรอบของการจัดอิเคบานะแบบดั้งเดิมอีกต่อไป

ในปี 1933 Mirei Shigemori [4] ผู้เป็นสถาปนิก นักออกแบบสวน และผู้มีอิทธิพลต่อศิลปวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้กล่าวว่า

“อิเคบานะคือศิลปะ อิเคบานะไม่ได้เกี่ยวข้องอันใดกับการพัฒนาจิตวิญญาณหรือการอบรมทางศีลธรรม

นิยามความหมายใหม่นี้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เกิดสำนักอิเคบานะใหม่ๆ ที่พัฒนาแนวคิดการจัดดอกไม้ของตนเองที่ไม่ถูกจำกัดด้วยรูปแบบดั้งเดิม รวมถึงการจัดดอกไม้ที่เน้นหลักการออกแบบและองค์ประกอบทางศิลปะสื่อสารสุนทรียะแบบญี่ปุ่น ส่งผลให้ศิลปะการจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นเป็นที่นิยมและแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตามการตัดขาดอิเคบานะออกจากมิติจิตวิญญาณ นักวิชาการและอาจารย์สอนอิเคบานะบางท่านมองว่า เป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้อิเคบานะในระดับสูง ที่การจัดดอกไม้ควรสื่อสารคุณลักษณะถึง “ความเป็นธรรมชาติ และความกลมกลืน” การสอนอิเคานะในบางสำนักที่เกิดขึ้นใหม่จึงได้กำหนดหลักการฝึกจิตใจและศีลธรรมเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ไปพร้อมๆกับการฝึกปฏิบัติจัดดอกไม้ ตัวอย่างเช่น สำนักซังเกตซึ (Sangetsu Ikebana) ที่ก่อตั้งในปี 1972 โดยท่าน โมกิจิ โอกาดะ ผู้เป็นศิลปิน นักปรัชญา และนักมนุษยธรรม ได้พัฒนาการจัดดอกไม้แบบ “โคริงกะ” ซึ่งประกอบด้วยวินัยการปฏิบัติและแนวทางพัฒนาจิตใจ โดยมีมุมมองพื้นฐานว่า “สภาพที่แท้จริงของธรรมชาติคือสัจธรรม และศิลปะที่แท้จะปลุกความงาม ตามธรรมชาติภายในแต่ละคน” การจัดดอกไม้ของสำนักนี้จึงไม่ได้เน้นความเคร่งครัดของการจัดวางให้ถูกต้องตามรูปแบบ แต่เน้นความเป็นธรรมชาติ การใช้เวลาที่น้อย และความรื่นรมย์ของผู้จัดดอกไม้เป็นสำคัญ

ภาพ การจัดแบบโมริบานะ

อิเคบานะคือธรรมศิลป์

เชอเกียม ตรุงปะ รินโปเช [5,6] ธรรมาจารย์ชาวทิเบตผู้มีอิทธิพลอย่างสูงต่อการวางรากฐานของพุทธธรรมในโลกตะวันตก ท่านศึกษาอิเคบานะจากสำนักโสเกตซึ (Sogetsu Ikebana) ซึ่งเป็นสำนักจัดดอกไม้แบบญี่ปุ่นในช่วงพำนักอยู่อังกฤษ ท่านชื่นชมศิลปะนี้มากเพราะท่านสามารถแสดงภาวะปัจจุบันขณะและสื่อสารญาณทัสนะสู่ผู้คน กระนั้นก็ตาม ตรุงปะได้วิจารณ์รูปแบบการจัดอิเคบานะที่เป็นอยู่ในช่วงเวลานั้นเช่นเดียวกันว่า

“บรรทัดฐานความงามที่ให้ความสำคัญกับการจัดรูปทรง

ทั้งตำแหน่งและองศาให้มีความถูกต้องแม่นยำอย่างเป็นวิทยาศาสตร์มากเกินไป

ศิลปะการจัดดอกไม้นี้ขาดความฉับพลัน (Spontaneous) ที่สัมพันธ์อยู่กับธรรมชาติของมนุษย์

ศิลปะนั้นควรมีทั้งสองด้านคือความฉับพลันและความแม่นยำ”

ตามความเห็นของท่านการจัดดอกไม้เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมอันศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศห้อง ที่ทำให้ห้องมีความหนักแน่นนิ่งสงบ เปิดหัวใจของผู้คนที่ย่างก้าวเข้ามา มันสามารถเปลี่ยนบรรยากาศได้ทุกสถานที่ เพราะมันคืออาวุธอันทรงพลังที่สามารถตัดทำลายโลกแห่งความโทมนัสของอาทิตย์อัสดง (Setting Sun) หรือทัศนคติทางจิตที่เต็มไปด้วยความกลัว

เชอเกียม ตรุงปะ ได้บรรสานศิลปะการจัดดอกไม้เข้ากับหลักคำสอนชัมบาลา (Shambhala) เพื่อสื่อสารแนวคิดธรรมศิลป์ (Dharma Art or  Meditative Art) ที่มองว่า ศิลปะคือการเข้าสัมพันธ์กับตนเองและโลกแห่งปรากฏการณ์ของตนอย่างสง่างาม ในกรณีนี้ “สง่างาม” มีความหมายในแง่ของความไม่ก้าวร้าว ความอ่อนโยน อันเป็นพื้นฐานของทัศนคติของความเบิกบาน

จากมุมมองนี้ สภาวะจิตของศิลปินก่อนการลงมือการทำงานศิลปะเป็นสิ่งสำคัญ กล่าวให้ตรงจุดคือ การตระหนักรู้ถึงความเปิดกว้าง ความดีงามพื้นฐานที่ดำรงอยู่แล้วในตัวเรา สรรพสิ่งและปรากฏการณ์ รวมถึงความเป็นอิสระจากแบบแผนความคิดและการตัดสินถูกผิด เป็นพื้นหลังของการสร้างสรรค์และศิลปะ

ดังนั้นการจัดดอกไม้อิเคบานะตามหลักธรรมศิลป์ทำให้เราเข้าใจชีวิตและเปิดเผยความจริงที่ว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างสมบูรณ์ในตัวมันเอง” อันสะท้อนถึงระเบียบของจักรวาลและธรรมชาติของโลกอันศักดิ์สิทธิ์ จากการเลือกสรรของเรา การจัดตำแหน่งกิ่งไม้ และดอกไม้ เป็นการบรรสานของหลักองค์สามของฟ้า ดิน และมนุษย์

ภาพท่านเชอเกียม ตรุงปะ

การเรียนอิเคบานะด้องฝึกภาวนาหรือไม่?

จากเกริ่นนำมายืดยาวข้างต้นเพื่อจะบอกว่า คอร์สดอกไม้สื่อใจเป็นกระบวนการเรียนรู้ศิลปะจัดดอกไม้ ที่ผู้สอนบูรณาการวินัยของการจัดดอกไม้แบบโคริงกะเข้ากับมุมมองธรรมศิลป์ที่ผู้สอนทำความเข้าใจคำสอนของ เชอเกียม ตรุงปะ เช่น หลักการฟ้า ดิน และมนุษย์ ความอ่อนโยน ความไม่ก้าวร้าว ความดีงามพื้นฐาน ความเปิดกว้างอันไร้เงื่อนไข และอื่นๆ ผ่านประสบการณ์ภาวนากับครูตั้ม วิจักขณ์ พานิช

คอร์สดอกไม้สื่อใจ คอร์สความกลมกลืน หรือคอร์สค้นพบความสง่างาม คือพัฒนาการขอคอร์สจัดดอกไม้ที่เติบโตไปพร้อมๆกับความเข้าใจมุมมองธรรมศิลป์ที่มาจากประสบการณ์ภาวนา จากแง่มุมนี้ปฏิเสธไม่ได้ว่า การภาวนาเป็นพื้นฐานสำคัญให้กับการฝึกศิลปะการจัดดอกไม้ และการสร้างสรรค์อื่นๆ

คำว่าพื้นฐานในแง่เกี่ยวกับ “การผ่อนคลายและมีพื้นที่อันเปิดให้กับการสัมพันธ์กับสิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็นโดยไม่เข้าไปจัดการควบคุม หรือตัดสินใดๆจากตามแบบแผนความคิดที่คุ้นชิน” อย่างไรก็ตามการฝึกจัดดอกไม้ตาม 14 ขั้นตอนของคอร์สดอกไม้สื่อใจซึ่งเป็นวินัยการฝึกอิเคบานะ การยื่นนิ่งๆเป็นการปฏิบัติที่สำคัญยิ่งเพื่อผ่อนคลายและปล่อยวางความคิดก่อนลงมือปฏิบัติ เพื่อว่าผู้เรียนจะรับรู้และสัมพันธ์กับดอกไม้ แจกัน และสถานที่ ได้อย่างสมบูรณ์ หมดจด แม่นยำ และถูกต้อง โดยปราศจากอคติของความชอบหรือไม่ชอบ  กล่าวให้ถูกที่สุดขั้นตอนนี้คือการฝึกภาวนารูปแบบหนึ่งในการเพิ่มพูนทัศนคติของความเปิดกว้างอันไร้เงื่อนไขนั่นเอง การชื่นชมสิ่งต่างๆอย่างที่มันเป็นด้วยความเคารพ และปราศจากความก้าวร้าว

ดังนั้นไม่ว่าผู้เรียนจะสนใจใคร่รู้อิเคบานะในฐานะวิถีแห่งการฝึกตนหรือเป็นเพียงศิลปะ ด้วยวินัยแห่งการฝึกอิเคบานะอย่างวิริยะไม่ช้าก็เร็วย่อมนำผู้เรียนค้นพบความงามแห่งชีวิตผ่านดอกไม้ อย่างที่อาจารย์อิเคบานะรุ่นก่อนได้แนะนำไว้ว่า “หนทางเดียวของความสำเร็จบนวิถีแห่งดอกไม้คือ การปฏิบัติ การปฏิบัติ และการปฏิบัติ”

เอกสารอ้างอิง

[1] Shozo Sato (2008). Ikebana The Art of Arranging Flowers. USA. Tuttle. Page 18-26

[2] ดีที ซุสุกิ (2534). คำนำในหนังสือเซนในศิลปะการจัดดอกไม้. กัสตีย์ เฮอร์ริเกล (ผู้แต่ง), วเนซ (ผู้แปล).  

[3] Inoue Osamu. (2018). Shugyo theory in Ikebana. Kyoto University of Art and Design.

[4] Shoso Shimbo. (2021). Ikebana: A flower arrangement in search of poetry (the meaning of ikebana goes beyond art and design).

[5] Chogyam Trunpa. (2021). True Perception: The Path of Dharma Art. Page 156.

[6] ฟาบริช มิดัล (2552). ชีวิตและญาณทัสนะของตรุงปะ คุรุบ้าผู้ปรีชาญาณ. กรุงเทพ.สวนเงินมีมา