บทความโดย มุทิตา เชื้อชั่ง
เราเคยใคร่ครวญถึงความตายของตัวเองอย่างจริงจังหรือไม่ …
การคิดถึงมันจะทำให้ชีวิตเศร้าหมอง หมดอาลัยตายอยากหรือเปล่า …
5 วันสำหรับคอร์ส Living and Dying with Dignity ของ Victoria Subirana ครูชาวสเปน จัดโดยวัชรสิทธา เปิดโอกาสให้เราได้ใคร่ครวญถึงมัน โดยผสานการภาวนาเข้ากับองค์ความรู้เรื่องความตายของพุทธศาสนาสายวัชรยานของธิเบต ขยายภาพ ‘กระบวนการตาย’ ให้แจ่มชัด แม้เราไม่มีทางรู้ว่าตัวเองจะตายแบบไหน หรือจะมีโอกาสพบเห็นความตายของผู้คนอันเป็นที่รักแสดงตนต่อหน้าหรือไม่
เมื่อความไม่รู้ (เกี่ยวกับความตาย) ถูกคลี่ออก ไม่ว่าเราจะมีความเชื่อหรือความศรัทธาแบบไหน มีความเข้าใจต่อสายธรรมวัชรยานเพียงใด กระทั่งตั้งคำถามอยู่ลึกๆ ต่อสิ่งที่เรียน มันก็ยังคงส่งผลให้ลดความน่าหวาดหวั่นต่อความตายลง (บ้าง) พร้อมๆ ไปกับทำให้การมีชีวิตอยู่กระจ่างชัด มีพลังอย่างลึกลับ
(1)
วิคตอเรียออกตัวว่าไม่ใช่ ‘ครูทางจิตวิญญาณ’ นั่นทำให้ผู้เรียนกิเลสหนาสบายใจว่าน่าจะพอทำความเข้าใจไหว เธอเป็นคุณครูสอนเด็กเล็กซึ่งชะตาชีวิตได้พัดพาให้เจอครูทางจิตวิญญาณที่เป็นลูกชายและศิษย์เอกของท่านดุดจอม รินโปเช มีโอกาสได้เรียนรู้ฝึกฝนยาวนาน เธอนำแก่นของชีวิตซึ่งก็คือ ‘ความตาย’ มาผสมกับศาสตร์การออกแบบกระบวนการเรียนรู้แบบครูๆ เพื่อให้ปุถุชนได้เรียนรู้เรื่องจิตวิญญาณเวอร์ชั่นโลกย์ๆ ที่สนุก แต่สั่นสะเทือน และพอมองเห็นทางนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตอันแสนธรรมดาของเราไม่มากก็น้อย
ในเชิงคอนเซ็ปท์เบื้องต้น การทบทวนเรื่องความตายว่าสัมพันธ์อย่างยิ่งกับการมีชีวิต เป็นสิ่งที่เราหาอ่านที่ไหนก็ได้ หรือแม้แต่ใคร่ครวญด้วยตัวเองก็พอจะ ‘เข้าใจ’ ได้ ชีวิตเป็นสิ่งไม่แน่นอน เวลาในชีวิตเรามีไม่มาก อะไรคือสิ่งสำคัญในชีวิต ควรจัดการชีวิตอย่างไร ฯลฯ แต่เรามักไม่ได้ทำ ทำไม่ได้ และรู้สึกไม่พอใจกับชีวิตนี้อยู่เสมอ คอร์สนี้จึงน่าสนใจในแง่ที่ทำให้เรา ‘รู้สึกอย่างลึกซึ้ง’ ถึงการมีชีวิต และดีไซน์ได้เองโดยไม่ต้องถูกชี้นำว่าจะใช้ชีวิตที่เหลืออย่างไร
วิคตอเรียบอกถึงวัตถุประสงค์และทริคของการเรียนรู้ในคอร์สนี้ตั้งแต่แรกเจอ หลักๆ คือ เพื่อชำระประสบการณ์ด้านลบและปลดปล่อยพลังงานต่างๆ ที่ไม่เป็นประโยชน์ซึ่งเราแบกมันไว้ในระดับจิตใต้สำนึก (subconscious) ด้วยความเชื่อว่าชีวิตเรานั้นวนเวียนอยู่ใน 5% ของจิตสำนึก (conscious) อีก 95% คือส่วนมืดดำที่เหลือของ subconscious และ unconscious ทั้งนี้ เพื่ออำนวยให้ช่วงเวลาแห่งการตายโปร่งสบายที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ จะได้สามารถเชื่อมต่อกับ ‘Supreme Energy’ ได้ตามความเชื่อหรือคำสอนของสายวัชรยาน และดังนั้น เราจึงอาจเผชิญกับความเจ็บปวดระหว่างเส้นทางการเรียนรู้ครั้งนี้ ซึ่งต้องใช้พลังแห่ง Empathy มหาศาล ต้องการการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) ต้องการการอนุญาตให้ตัวเองได้แสดงออกถึงความรู้สึก ต้องการความมั่นใจว่าที่นี่คือพื้นที่ปลอดภัย ไร้การตัดสิน เรื่องราวของเราจะถูกเก็บเป็นความลับ และสุดท้ายคือ การปล่อยให้ตัวเองได้ประสบกับสิ่งตรงหน้า รู้สึกกับประสบการณ์ตรงหน้าอย่างเต็มที่ แล้วจึงค่อยถกเถียง สนทนาในระดับความคิด
คำเกริ่นนำนี้ ฉันจดเอาไว้ด้วยลายมือชุ่ยๆ ในสมุด บอกตามตรงว่า ไม่ได้รู้สึกรู้สากับมันนัก เหมือนเป็นการเกริ่นนำธรรมดา จนกระทั่งจบคอร์สทั้งหมด ตัวอักษรขยุกขยุยเหล่านี้จึงเปล่งประกาย
(2)
เนื้อหาเกี่ยวกับกระบวนการตายที่วิคตอเรียสอน สำหรับฉันอาจไม่สำคัญเท่าการมีโอกาสอยู่ในสภาวะที่สงบนิ่งที่สุด “bring your mind back home” และได้ทดลองค้นลึกลงไปในจิตใจ ในบาดแผลของชีวิตที่เรากลบเกลื่อน หลบหนี กระทั่งไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันมีอยู่ โดยมีวิคตอเรีย-ครูผู้หัวเราะเสียงดังลั่นเสมอ คอยตะโกนอย่างนุ่มนวลอยู่ข้างๆ ว่า “จงกล้าหาญที่จะเผชิญหน้า ไว้วางใจพื้นที่แห่งความรักความเมตตาที่รายล้อมอยู่ และ ‘let go’ สิ่งนั้นไปเสียเถิด”
บทเรียนเรื่อง detachment ผ่าน ‘การยกแม่ให้คนอื่น’ เป็นแบบฝึกหัดตั้งต้นที่หนักหน่วง แม้มันเป็นธีมสมมติอันน่าขำ แต่ในพื้นที่ภาคปฏิบัติกลับสร้างความสั่นสะเทือนลึกซึ้ง แทบทุกคนย่อมมีบาดแผลกับแม่ไม่มากก็น้อย ทั้งในฐานะผู้กระทำ ผู้ถูกกระทำ บ้างยังมีโอกาสแก้ไข บ้างไม่อาจแก้ไขได้อีกนอกจากจัดการกับปมในใจตนเอง บางคนจึง ‘ปล่อย’ ความรู้สึกผิด ความเศร้าเสียใจ ความโดดเดี่ยว ความโกรธเกลียด หรือแม้กระทั่งความรักมากล้นที่มีต่อแม่ได้อย่างไม่ยากนัก ขณะที่บางคนยังไม่อาจปล่อย หรือกระทั่งปฏิเสธที่จะปล่อย แต่ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร อย่างน้อยเราก็ได้ทดลองสำรวจเงื่อนปมสำคัญของชีวิต และพอเห็นแสงรำไรว่าควรจะทำงานต่อกับตัวเองอย่างไร ไม่ว่าชีวิตนี้จะเคยเห็นแม่หรือไม่ แม่จะตายไปแล้วหรือกำลังจะต้องตายในสักวัน
อารมณ์ต่างๆ ถูกจัดหมวดหมู่อีกครั้งในบทเรียนว่าด้วย ‘วงล้อแห่งชีวิต’ ซึ่งแกนของวงล้อโดยถูกแทนด้วยภาพสัตว์ งู-แทนความโกรธเกลียด (Anger/Hatred) หมู-แทนความไม่รู้ (Ignorance) และ ไก่-แทนความปรารถนา (Desire) ซึ่งแต่ละกลุ่มสามารถจำแนกแยกย่อยได้อีกมาก ตระกูล Ignorance ดูจะน่าสนใจที่สุดสำหรับฉัน เพราะมันไม่อาจเห็นได้เด่นชัดเหมือนงูและไก่ ไม่ใช่การทำร้ายตนเองและผู้อื่นอย่างตรงไปตรงมา และเผลอๆ อาจเคลือบช็อคโกแลต มายาคติของความดีงาม
ตารางอารมณ์เป็นแบบฝึกหัดที่ให้ทบทวนตัวเองว่ามีอารมณ์ยิบย่อยเหล่านั้นบ่อยเพียงไหนในช่วงเวลาหนึ่งที่แน่นอน นั่นทำให้ได้ทบทวนความสัมพันธ์ที่เรามีต่อผู้คน toxic ที่เราสร้างขึ้นกับคนอื่นและตนเอง ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา รวมถึงได้เห็นว่าอารมณ์ไหนที่เกิดขึ้นบ่อยจนกลายเป็นแพทเทิร์นประจำตัวที่อาจสร้างปัญหาหนักหน่วงให้กับการมีชีวิต แพทเทิร์นนี้จะมีผลอย่างมากในช่วงเวลาตายของเรา อย่างไรก็ตาม หมายเหตุสำหรับบทเรียนนี้คือ นี่ไม่ใช่การปฏิเสธอารมณ์ อารมณ์ไม่ได้เลวร้ายโดยตัวเอง แต่ให้เราค่อยๆ เรียนรู้ที่จะเท่าทันมันมากขึ้น – feel, analyse, and let go.
(3)
กิจกรรมเท่าทันอารมณ์หรือการมี awareness นี้ ถูกออกแบบเป็นกิจกรรมน่ารักเหมือนสอนเด็กเล็กๆ ในร่างผู้ใหญ่ วิคตอเรียเล่าว่า เด็กเล็กในสลัมของเนปาลที่ได้เรียนในโรงเรียนของเธอก็เรียนเรื่องราวนี้ด้วยเช่นเดียวกัน เพราะช่วงก่อน 8 ขวบ มนุษย์มีจิตที่อ่อนนุ่มและเป็นช่วงการสร้างตัวตนของจิต ว่าจะเป็นไปในทางไหน บทเรียนที่แทรกอยู่ในการเรียนเหล่านี้จะทำให้พวกเขาเข้าใจสภาวะที่ตนเองเผชิญอยู่ และยังได้ฝึกฝนการแสดงออกทางอารมณ์ที่สัมพันธ์กับผู้อื่นเพิ่มเติม ด้วยการ ‘ขอโทษ’ และ ‘ขอบคุณ’ แบบรวมกลุ่มเป็นประจำ เธอมองว่า ความผิดพลาดใดๆ ควรถูกมองเป็นเรื่องปกติธรรมดาของการเรียนรู้ ได้รับการใคร่ครวญ มีพื้นที่ให้ยอมรับ และมีโอกาสแก้ไข เพื่อที่พวกเขาจะได้ไม่ต้องมี guilt หรือความรู้สึกผิดติดตัว จึงไม่แปลกที่ในโรงเรียนของวิคตอเรียไม่มีการลงโทษ มีแต่เครื่องมือที่เอื้อให้เด็กได้ใคร่ครวญและสนทนาเพื่อคลี่คลายปัญหา เช่น Box of forgiveness (กล่องขอโทษ-ให้อภัย) Peace making corner (มุมสร้างสันติ) Isolation cave (ถ้ำปลีกวิเวก) เป็นต้น
องค์ความรู้ด้านจิตวิญญาณ แม้แต่เรื่อง ‘การปล่อย’ ถูกผสานเข้าไปเป็นกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเด็ก โดยออกแบบให้เหมาะกับช่วงวัย เธอยืนยันว่า เด็กเล็กๆ ก็มีศักยภาพที่จะเข้าใจเรื่องนี้ได้เช่นกัน ทั้งหมดนี้เพื่อให้พวกเขามีความเข้มแข็งภายใน แจ่มชัดในเส้นทางของตนเอง และสัมพันธ์กับโลกอย่างมีคุณภาพ เหล่านี้คือวัฒนธรรมใหม่ที่เธอพยายามสร้างให้กับเด็กด้อยโอกาสตลอด 30 กว่าปีในเนปาล ขณะที่ระบบการศึกษาทั่วโลกต่างมองข้ามการฝึกฝนภายใน เน้นแต่การศึกษาเครื่องมือและสิ่งภายนอก
เรียกได้ว่าเธอฝึกให้เด็กเป็นนักวิทยาศาสตร์ผู้ช่างสังเกต ไม่ใช่สังเกตโลกภายนอกแต่เป็นโลกภายในของตัวเอง
“The most important teaching is maturity of mind” วิคตอเรียกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า mental maturity เป็นการเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่กระนั้นมันก็ควรอยู่ในการศึกษาภาคบังคับด้วย เพื่อทำให้คนมีพื้นฐานการเข้าใจจิตของตนเอง
ฉันไม่แน่ใจว่าฟังหรือเข้าใจผิดไหมว่า นั่นคือเรื่องพื้นฐานที่สุดของการเปลี่ยนแปลงโลกนี้ให้ดีขึ้น…เวอร์ชั่นวิคตอเรีย – ครูผู้มี passion เหลือล้น และจะกล่าวต่อไปในภายหลังถึงเส้นทาง passion ของเธอ
(4)
บทเรียนต่อมาถูกหยิบขึ้นมาพูดถึงโดยคร่าว อ้างอิงมาจากหนังสือ Life in Relation to Death ของ ฉักดุด ตุลกุ รินโปเช และหนังสือ The Tibetan book of living and dying ของ โซกยัล รินโปเช มันเป็นความเชื่อของสายธิเบตว่า ชีวิตถือกำเนิดมาเช่นไร Masculine essence (แปลไทยแล้วออกจะประหลาด ขออนุญาตไม่แปล) ผสานกับ Feminine essence อย่างไร และเมื่อเราจะตายสภาพของมันเปลี่ยนแปลงย้อนกลับเช่นไร ในช่วงเวลาตายนี้เองที่ธาตุต่างๆ ไล่ตั้งแต่ ดิน น้ำ ไฟ ลม และ essence เหล่านี้จะสลายเป็นขั้นๆ อายตนะค่อยๆ หายไปทีละส่วนตามธาตุที่สลาย โดยสิ่งที่สลายท้ายสุดคือ การได้ยิน ในช่วงเวลานี้สิ่งที่สะสมอยู่ในจิตใต้สำนึกของเราจะถาโถมขึ้นมาเป็นพายุบุแคมและไม่อาจหลีกหนี กลายเป็นภาพนิมิตน่ากลัว ความปั่นป่วนทรมานจะเกิดขึ้นมาก หากเราไม่ได้พยายามชำระสิ่งต่างๆ ไปเสียบ้างตั้งแต่ยังมีชีวิตอยู่ หรือแม้มันยังมีอยู่แต่ช่วงเวลาแสนสั้นนั้น หากเราไม่สามารถปล่อยวางพลังงานลบเหล่านั้นได้ก็จะเป็นอุปสรรคขัดขวางการเชื่อมต่อกับ Supreme energy ซึ่งคงกล่าวอย่างหยาบๆ ได้ว่าเป็นการหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด
แม้คนที่ไม่ได้มีความเชื่อทางศาสนา คนสายวิทยาศาสตร์ที่ไม่อาจเข้าใจเรื่องเล่าสุดแฟนตาซีของสายวัชรยาน กระทั่งคนที่ไม่เชื่อในโลกหน้าอย่างฉัน ก็ยังพอจับหลักคร่าวๆ ได้ หากการสลายของธาตุต่างๆ เป็นจริงดังที่ลามะธิเบตผู้ปฏิบัติภาวนายาวนานและสังเกตความตายมานับไม่ถ้วนได้ส่งต่อองค์ความรู้กันมาหลายร้อยปี เราก็อยากจะทุกข์ทรมานให้น้อยที่สุด อยากจะจากไปอย่างโปร่งเบาที่สุด ซึ่งในด้านกลับของเหรียญเดียวกันก็คือ เราอยากมีชีวิตด้วยความโปร่งเบาภายในด้วยเช่นกัน
หลังจากได้ทดลองสำรวจตัวเองในระดับลึกพร้อมกับเพื่อนๆ และเข้าใจ ‘กระบวนการตาย’ แบบวัชรยานแล้ว ขั้นต่อมาคือการเข้าใจ “บาร์โด” หรือภาวะ ‘ระหว่างกลาง’ (Intermediate states) ของความเป็นกับความตาย ผ่าน “โยคะนิทรา” ซึ่งเป็นภาวะกึ่งหลับกึ่งตื่นที่จิตจะเปิดรับได้มากกว่าภาวะรู้ตัว เสียงที่ได้ยินไกลๆ ดังกึกก้อง ทวนขั้นตอนการสลายของธาตุทั้งหมดที่เรียนมา ราวกับเรากำลังจะตายจริงๆ (แต่ก็มีเสียงกรนดังแทรกอยู่บ้าง) จากนั้นเป็นแบบฝึกหัดให้เราเขียนถึงความรู้สึกถึงความตายอย่างเต็มเปี่ยมที่ได้จากโยคะนิทรา – I am dying พิจารณาอีกครั้งว่าเราจะเจอโจทย์อะไรบ้างระหว่างกระบวนการตายเกิดขึ้น เรารู้สึกอย่างไร? เขียนความรู้สึกนั้นออกมาไม่ว่าหน้าตาของมันจะเป็นเช่นไร
ท้ายที่สุดจึงเข้าสู่กระบวนการ ‘เตรียมตัว’ ทางเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นการเขียนคำสั่งเสียถึงผู้จัดการการตายของเรา (ซึ่งเราจะนำซองเอกสารไปให้เขาตอนมีชีวิตอยู่ และบอกให้แกะออกมาอ่าน-จัดการ เมื่อเรากำลังจะตาย (ถ้ามีโอกาสนั้น)) ว่า เมื่อความตายของเรามาเยือน เราต้องการตายแบบไหน งานศพของเราหน้าตาเป็นอย่างไร ทรัพย์สมบัติของเราจะจัดการอย่างไร รวมถึงเขียนจดหมายถึงใครก็ตามที่สำคัญสำหรับชีวิตและเราอยากให้เขาได้อ่านจดหมายของเราหลังจากที่ไม่มีเราอยู่ เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะมีโอกาสเตรียมตัวอย่างเป็นรูปธรรมขนาดนี้
เรื่องนี้เกี่ยวพันกับสิทธิในการเลือกตาย ตามมาตรา 12 ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ 2550 ซึ่งมีแนวทางอยู่แล้วว่าเราสามารถเขียนหนังสือแสดงเจตนาไว้ได้ก่อน หากไม่มีโอกาสรอดชีวิต เราต้องการให้ยื้อด้วยเครื่องมือต่างๆ ทางการแพทย์หรือไม่ แค่ไหน หรือต้องการ palliative care การประคับประคองเพื่อไปสู่การตายตามธรรมชาติ
(5)
ตลอด 5 วันของการเรียนรู้ เพื่อนบางคนอาจเชื่อมต่อได้กับบางเรื่องที่เราเชื่อมต่อไม่ได้ หรือเราอาจสั่นสะเทือนในเรื่องที่เพื่อนบางคนต่อต้าน ความเป็นไปได้ร้อยแปดประการเกิดขึ้น ท่ามกลางเสียงหัวเราะดังลั่นอย่างไม่ยี่หระของวิคตอเรีย ผู้ซึ่งผู้เข้าร่วมหลายคนยกให้เป็น ‘ครู’ อย่างสนิทใจ และอาจนำเธอไปใช้เป็นนิมิตถึง ‘คุรุ’ ในการปฏิบัติโพวา ซึ่งเป็นการภาวนาที่คิดคำนึงถึงครูบาอาจารย์หรือสิ่งใดก็ตามที่เราศรัทธาเพื่อนำทางระหว่างการตายอันหนักหน่วง ให้จิตของเราพอจะตั้งมั่นและไปสู่แสงสว่างสุดท้ายได้
สำหรับฉัน วิคตอเรียคือแรงบันดาลใจมวลมหึมาในการใช้ชีวิต ประสบการณ์ของเธอถูกแบ่งปันระหว่างทางของการอบรม มันถูกยกเป็นตัวอย่างเมื่อผู้เข้าร่วมเกิดความสงสัยไถ่ถามทั้งในวงและนอกวง
เช่นคำถามว่า passion ในการสอนเด็กยากไร้ในเนปาล สำหรับครูชาวสเปนเริ่มขึ้นอย่างไร เมื่อนั้นเองจึงได้รู้ว่า เด็กหญิงวิคตอเรียเกิดในครอบครัวนักการเมืองระดับรัฐมนตรี มีชีวิตแบบคนชั้นสูงก่อนพลิกผันไปอยู่ในสลัมในเมืองชนบทห่างไกล เพราะความขัดแย้งหนักหน่วงทางการเมืองที่ไล่ล่ากันถึงชีวิต เผชิญความยากลำบากชนิดที่ต้องทำงานหนักตั้งแต่ 9 ขวบ พ่อกลายเป็นคนติดเหล้า และเห็นแต่ภาพแม่เอาแต่นั่งร้องไห้กับความทุกข์ แม้ปากกัดตีนถีบแต่เธอก็เปลี่ยนมันเป็นพลังบ้าบิ่นในการเรียน เธอเรียนด้านศึกษาศาสตร์จนได้ทุนไปเรียนปริญญาโทที่อเมริกา ความสนใจในธิเบตของเธอไม่ได้เริ่มต้นจากเรื่องจิตวิญญาณแม้แต่น้อย แต่เป็นสภาพการเมืองที่คล้ายคลึงกัน มีผู้ลี้ภัยมากมายที่ยากลำบากคล้ายกับที่เธอเผชิญซ้ำยังเลวร้ายยิ่งกว่า ในเนปาลมีผู้ลี้ภัยชาวธิเบตจำนวนมาก ในชุมชนยากไร้แห่งนั้นวิคตอเรียสาวผู้มีไฟแรงกล้าต้องการไปสอนเด็กๆ ที่มีชีวิตไม่ต่างจากเธอ เธอสร้างโรงเรียนอนุบาลขึ้นที่นั่น และเส้นทางจิตวิญญาณก็มาพบเจอเธอเองอย่างงงๆ ต่อเมื่อเปิดรับมัน จึงได้ศึกษาเรียนรู้ และนำมาประยุกต์เข้ากับการสอนเด็กๆ ขยายสู่ชุมชนยากไร้ในเนปาลหลายแห่ง มีนักเรียนระดับหลายพันคน นี่คือที่มาของ ‘ชีวิต’ ที่ไม่ใช่เพียง ‘การงาน’ กว่า 30 ปีในเนปาล
เช่นคำถามว่า การสอนเด็กๆ ให้รู้จัก ‘let go’ โดยเฉพาะในบริบทของเนปาล จะทำให้ผู้คนที่ถูกกดขี่สยบยอมต่อความไม่เป็นธรรมในสังคมหรือไม่ เธอไม่ได้ตอบว่า ‘ไม่’ อย่างชัดเจน แต่เล่าโศกนาฏกรรมในชีวิตซึ่งเราอาจตีความคลี่คลายคำตอบได้ในหลายระดับ เธอเล่าถึงจุดจบที่ทำให้ต้องทิ้งทุกอย่างที่เนปาลว่า เด็กๆ ที่เติบโตขึ้นในโรงเรียนของเธอได้ทำงานขุดคุ้ยบางเรื่องราวเกี่ยวพันกับผู้มีอำนาจในเรื่องการคอรรัปชั่นเงินบริจาคเพื่อการกุศลในระดับโลก เธอในฐานะครูใหญ่ของโรงเรียนถูกไล่ล่า ขู่ฆ่า มีคนถืออาวุธบุกเข้ามาข่มขู่ถึงในโรงเรียน ต้องส่งลูกกลับสเปนเพื่อความปลอดภัย และต้องไปอาศัยอยู่ในกงศุลสเปนถึง 6 เดือน เดินทางไปไหนต่อไหนพร้อมบอดี้การ์ดล้อมหน้าล้อมหลัง เธอทนต่อสู้กับความฉ้อฉลนั้นทุกวิถีทางอยู่นานถึง 2 ปี และกล่าวเพียงสั้นๆ ด้วยเสียงสั่นเครือว่า “ฉันไม่ต้องตาย ก็ได้พบกับนรกแล้วบนพื้นดิน กับสิ่งที่เขาทำกับเด็กๆ” จนถึงจุดหนึ่งที่เธอได้ทบทวนว่าตัวเองคือใคร เกิดมาเพื่อทำอะไร จึงตัดสินใจยุติเส้นทางครูในเนปาล เพราะไม่อาจต้านทานต่อสู้กับอำนาจขนาดใหญ่เช่นนั้นได้ แล้วไปใช้โอกาสในชีวิตที่เหลืออยู่เพื่อเป็นครูในที่อื่นๆ เธอไม่ยอมให้พลังงานลบมหาศาลนั้นกัดกินชีวิต ทำลายล้างประหัตประหารชีวิต จนไม่อาจทำประโยชน์ได้อีก
ฉันสรุปเอาเองว่านี่เป็นการนำเสนอถึงตัวอย่างว่าการสอนเรื่องความตายไม่ได้ทำให้คนสยบยอม ด้วยเหตุใดก็ตามแต่จะวิเคราะห์ และสำหรับบทสรุป บางคนอาจตีความว่าเป็นเรื่องราวของผู้แพ้ บางคนอาจตีความว่าเป็นเรื่องราวของผู้ยืนระยะ ทำ Life mission ให้ได้นานที่สุดตราบเท่าที่มีลมหายใจ แต่ไม่ว่าใครจะคิดอย่างไร วิคตอเรียก็คงได้แต่หัวเราะอย่างเต็มที่ ดังสนั่น อย่างที่เธอเป็น
(ติดตามเรื่องราวชีวิตของเธอในหนังสือ A Teacher in Kathmandu ซึ่งถูกนำไปทำเป็นภาพยนตร์ชื่อ Kathmandu, A Mirror in the Sky)