Memoria : เสียงที่ถูกกดทับ กับความทรงจำที่เลือนหาย

บทรีวิวภาพยนตร์ โดย วิจักขณ์ พานิช


เสียงที่สั่นสะเทือนลึกไปถึงแกนกลางของ soul

เหมือนหนังเรื่องอื่นๆ ของอภิชาติพงศ์ ที่เราไม่ได้คาดหวังที่จะมาดูให้รู้เรื่อง แต่ที่ตั้งตารอดู Memoria ก็เพราะเสียงลือเสียงเล่าอ้างเรื่อง sound กับ cinematic experience และโดยส่วนตัว เราสนใจประเด็นเรื่อง “ความทรงจำ” และอยากรู้ว่าอภิชาติพงศ์จะตีความคำคำนี้ในหนังของเขาอย่างไร

…..

เสียงปังแรก

มันมี impact กว่าที่คิด

ปังแรกเหมือนเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดความตื่นตัวในการสัมพันธ์กับความไม่รู้บางอย่างตลอดหนังทั้งเรื่อง เราไม่รู้ว่าปังต่อมาจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ถี่แค่ไหน จากทิศทางไหน ดังหรือค่อย จะว่าน่ากลัวเหมือนหนังผีก็ไม่ใช่ แต่มันคือหนังเขย่าขวัญแบบหนึ่งที่มีผู้หญิงคนหนึ่งพาเราสืบค้น สำรวจและเดินเข้าหาเสียงปริศนาในแผ่นดินต่างถิ่นลึกลับ

เธอถูกปลุกให้ตื่นขึ้นกลางดึกด้วย “เสียงที่สั่นเทือนลึกไปถึงแกนกลางของโลก” แน่นอนว่ามันไม่ใช่เสียงที่ดังจากข้างนอก เธอตื่นขึ้นจาก”เสียงข้างใน” ที่ดังมากๆ ดังจนเธอไม่สามารถหลีกเลี่ยงมันได้อีก หนังไม่ได้บอกว่าเธอเคยได้ยินเสียงนี้มาก่อนหรือเปล่า แต่เอาเป็นว่าหลังจากคืนนั้น เธอก็ศิโรราบต่อมันในฐานะส่วนสำคัญของชีวิต และต่อ Inner Quest บางอย่าง

ปังแรกตามมาด้วยจังหวะปังเขย่าขวัญก็โผล่มาเรื่อยๆ ไม่สม่ำเสมอ หนังพาเราเดินอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างความกลัวกับความกล้า พยายามคิดตีความกับพยายามฟังและรู้สึก ….และระหว่างความหลับกับความตื่น ระหว่างที่เธอพยายามค้นหาว่าเสียงที่ดังขึ้นภายในของเธอคืออะไรและต้องการบอกอะไร ความทรงจำของเธอก็เริ่มแปลกๆ … จำได้ จำไม่ได้ จำถูกหรือจำผิด ซึ่งมาถึงจุดนี้ ไม่คนอื่นเริ่มมเงเธอว่าบ้า ก็เป็นตัวเธอนั่นแหละที่เริ่มสงสัยตัวเอง

แม้จะเริ่มเชื่อความคิดตัวเองไม่ค่อยได้ แต่เสียงข้างในที่ดังมากและไม่ยอมหายไปไหน กลับทำให้เธอมีความสามารถในการได้ยินที่ชัดขึ้น (และแน่นอนว่าเราในฐานะคนดูก็จะได้ยินเสียงเหล่านั้นชัดเจนทั้งหมด) เสียงเล็ก เสียงน้อย เสียงดัง เสียงค่อย รายละเอียดยิบย่อยของเสียง …sensitivity ถูก amplify ขึ้นพร้อมๆ กับเสียงที่ดังข้างใน ก็นั่นแหละอาการแบบนี้ ถ้าไม่บ้า ก็น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นให้มาสนใจภาวนา

เธอเลือกภาวนา เริ่มมองหาที่เงียบในการสืบค้น มองหาคนที่ช่วยเธอพิจารณาเสียงนั้นให้ชัดขึ้น มองหาธรรมชาติ เดินเข้าป่า และเส้นทางพาเธอให้ได้เจอกัลยาณมิตรที่เป็นนักขุด

หนังไม่ได้พาไปขุดค้นอะไรภายในแนวจิตวิทยา แต่เป็นการขุดค้นในเชิงโบราณคดี ขุดเข้าไปในอุโมงค์ ขุดเข้าไปในแกนโลก เสียงภายในพาเธอถลำลึกเข้าไป และลึกลงไป ในผืนแผ่นดิน ในผืนป่า และในกระแสธารของ human soul


“เพียงหยุด และ connect ทั้งหมดก็อยู่ตรงนั้น”

Quest ทั้งหมดมาจบลงด้วยการเรียนรู้ที่จะหยุดและเชื่อมต่อ กับใครบางคนหรือสภาวะบางอย่างที่ดำรงอยู่ตรงนั้นเสมอ ไม่เคยไปไหน รู้ทุกสิ่ง จำได้ทุกอย่าง เธอไม่ต้องพยายามหลับฝันเพื่อให้ได้พบหรือไปถึง เพียงแค่หยุดและเปิดใจ ความทรงจำต่างๆ ก็หลั่งไหลพรั่งพรู เป็นความทรงจำแห่งบรรพกาล แรงสั่นสะเทือนที่เขย่าลึกไปถึงแกนกลางของ soul ให้เราได้เชื่อมต่อ ให้เราได้รู้สึก ให้เราได้เห็นอกเห็นใจ

Memoria เป็นภาพยนตร์ที่ค่อนข้างยาว แต่รู้สึกเหมือนถูกดูดเข้าไปในพื้นที่ไร้กาลเวลา มีห้วงกึ่งหลับกึ่งตื่นบ้างตามประสาดูหนังอภิชาติพงศ์ (ฮา) แต่เราชอบหนังเรื่องนี้มากๆ สัมผัสได้ถึงพลังของภาพยนตร์ที่ทำงานกับประสบการณ์ระดับ subconscious/ collective unconscious อย่างน่าประหลาด ช่วง Q&A อภิชาติพงศ์เล่าว่าตอนฉายหนังเรื่องนี้ในโคลัมเบีย มีคนดูแล้วร้องไห้โฮไม่หยุด เป็นการร้องไห้ที่ไม่มีเหตุผล ทิลด้าพูดเป็นนัยๆ ว่าประสบการณ์ดูหนังแบบนี้เหมือนอยู่ใน “temple” ส่วนตัวเองหลังดูจบก็มีภาวะขนลุกเป็นห้วงๆ อยู่ยาวนาน

“เสียงที่ถูกกดทับ” กับ “ความทรงจำที่เลือนหาย”

Memoria ให้ภาพการเดินทางสืบหาความจริงของผู้หญิงคนหนึ่งที่ทำงานกับเสียงภายในตัวเอง และความทรงจำมหาศาลที่ถูกกลบฝังซ้อนทับ เราล้วนมีเสียงนั้นดังอยู่ภายใน ไม่ว่าจะมีที่มาจากความสับสนสงสัย ความไม่เป็นธรรม หรือจากความรุนแรง… ลึกๆ เราได้ยินเสียงนั้นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน แม้จะพยายามทำตัวเป็นปกติหรือทำเป็นไม่ได้ยิน ทว่าเมื่อเสียงนั้นดังชัดจนไม่สามารถหนีได้อีกแล้ว อาจเป็นโอกาสให้กับการเชื่อมต่อกับความทรงจำที่ถูกทำให้เลือนหาย และเข้าถึงความหมายของการมีชีวิตอย่างไม่แยกขาดจากสรรพสิ่งและผู้คนอีกครั้ง