10 quotes ทรงพลังของติช นัท ฮันห์ เพื่อบ่มเพาะความกรุณา ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ และสันติภาพ

เรียบเรียง โดย ทีมงานวัชรสิทธา

ติช นัท ฮันห์ เป็นภิกษุในพุทธศาสนา นักเขียน กวี และผู้นำทางจิตวิญญาณของโลก คำสอนของท่านเน้นย้ำไปที่การเปลี่ยนแปลงภายใน และมีอิทธิพลอย่างสูงต่อการเผยแพร่ความหมายที่ลึกซึ้งของคำว่าสติและสันติภาพไปสู่ผู้คนทั่วทั้งโลก ท่านเป็นที่รู้จักในการทำให้การปฏิบัติภาวนาเป็นเรื่องง่ายๆ ที่เราสามารถนำไปใช้ฝึกฝนพัฒนาจิตใจได้ในชีวิตประจำวัน

นี่คือ 10 คำคมทรงพลังของ ติช นัท ฮันห์ ที่จะช่วยให้เกิดการบ่มเพาะความกรุณา ความเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ และสันติภาพ ในยุคสมัยที่ท้าทายอย่างยิ่ง

1. “In true dialogue, both sides are willing to change.”
ในการสนทนาที่แท้ ทั้งสองฝ่ายต้องเต็มใจที่จะเปลี่ยน

โคว้ทแรกจากติช นัท ฮันห์ เผยกุญแจสำคัญของพุทธศาสนา นั่นคือการทำงานกับการยึดมั่น

พุทธะสอนเราว่า การยึดมั่นคือเหตุแห่งทุกข์ เราต่างยึดถือความเชื่อของตัวเองและหนทางที่เราคิดชีวิตเราควรจะเป็น การยึดติดความเชื่อเหล่านั้นปิดจิตใจเรา และหยุดยั้งศักยภาพของเราที่จะเปิดหัวใจและทำความเข้าใจกันและกันอย่างแท้จริง หากเราสามาถปล่อยการยึดต่อสิ่งที่เราคิดว่าเรารู้ แล้วให้พื้นที่ตัวเองในการพิจารณาถึงมุมมองของอีกฝ่าย เราจะสามารถมีการสนทนาที่มีประสิทธิภาพและเปี่ยมความหมาย

2. “You listen with only one purpose: to help him or her to empty their heart.”
เธอฟังด้วยเป้าหมายเดียว นั่นคือช่วยเขาหรือเธอปลดปล่อยหัวใจให้ว่าง

การสนทนาที่แท้จริงคือการแลกเปลี่ยนและฟังทัศนะที่แตกต่างของอีกฝ่าย ไม่ได้ด้วยเจตนาที่จะวิเคราะห์หาข้อบกพร่องในเหตุผล แต่เป็นการฟังเพื่อการทำความเข้าใจมุมมองของอีกฝ่ายอย่างเต็มที่

การเป็นพื้นที่ให้อีกคนสื่อสารสิ่งที่เขาหรือเธอเป็นและที่มาของการเป็นเช่นนั้น เป็นการช่วยปลดปล่อยความทุกข์ที่อัดแน่นอยู่ในใจ และนั่นคือเป้าหมายของการฟังและการสื่อสารอย่างตระหนักรู้

3. “Compassion is a verb.”
ความกรุณา เป็นคำกริยา

เป็นเรื่องยากที่จะรู้สึกถึงความกรุณาต่อผู้ที่กดขี่ ทำร้ายเรา หรือมีมุมมองทางการเมืองหรือความเชื่อที่แตกต่างจากเรา แต่ประเด็นจริงๆ ในเรื่องนี้ คือ เรามักเชื่อว่าความกรุณาเป็น “ความรู้สึกอย่างหนึ่ง” ที่บางครั้งเราก็อาจจะมีหรืออาจจะไม่มีมัน

เราไม่ควรรีรอหรือพยายามที่จะรู้สึกถึงความกรุณา ความรู้สึกนั้นเดี๋ยวก็มาและเดี๋ยวก็ไป ทว่าความกรุณาคือบางสิ่งบางอย่างที่เราควร ลงมือทำเดี๋ยวนี้! มันต้องอาศัยความพยายามที่จะพบความกรุณาและฝึกปฏิบัติในชีวิตประจำวันเพื่อบ่มเพาะมัน เราต้องเลิกเฝ้ารอว่ามันจะมาถึงในสักวัน แต่ควรเริ่มทำให้ความกรุณาและความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเกิดขึ้นภายในตัวเราตั้งแต่ตอนนี้เลย

4. “When another person makes you suffer, it is because he suffers deeply within himself, and his suffering is spilling over.”
การที่อีกคนทำให้เธอทุกข์ ก็เพราะเขาหรือเธอเป็นทุกข์อย่างหนักข้างในตัวเองจนทะลักออกมา

โคว้ทนี้ยังมีต่ออีกหน่อยว่า “เขาหรือเธอไม่ได้ต้องการการลงโทษ แต่ต้องการความช่วยเหลือ”

ติช นัท ฮันห์ บอกเราว่า การกระทำอันก้าวร้าวใดๆ คือการแสดงออกของความทุกข์ หากไม่มีความเจ็บปวดลึกๆ อยู่ข้างใน เขาหรือเธอคงไม่แสดงออกมาเช่นนั้น ความเกลียดชัง ความโกรธ คำด่าทอ ความรุนแรง ล้วนมีรากเหง้าจากความกลัว ซึ่งหล่อเลี้ยงความรู้สึกไม่มั่นคงและไร้ค่า คนที่สร้างความเจ็บปวดให้แก่ผู้อื่น ก็เพราะลึกๆ แล้ว เขาหรือเธออยู่ในความเจ็บปวด

เราล้วนนำบางสิ่งบางอย่างที่อยู่ภายในตัวเราออกมาแบ่งปันแก่โลก ยิ่งตระหนักได้เร็วเท่าไหร่ เราก็จะหยุดตัดสินและต่อว่ากันและกัน เราจะเริ่มรู้สึกเห็นอกเห็นใจกันและกัน และตระหนักว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดที่เราจะสามารถนำมาสู่โลกใบนี้ได้ ก็คือ การเปลี่ยนแปลงบางสิ่งบางอย่างภายในตัวเราเอง

5. “When you begin to see that your enemy is suffering, that is the beginning of insight.”
เมื่อเธอเริ่มมองเห็นว่าศัตรูของเธอคือความทุกข์ นั่นคือจุดเริ่มต้นของปัญญา

การยอมรับการมีอยู่ของความทุกข์ในตัวเองและผู้อื่น คืออีกหนึ่งจุดเริ่มต้นของการมีทัศนคติที่ถูกต้อง จากที่เราเคยมองมันอย่างคับแคบผ่านมุมมองแบบเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางมาโดยตลอด

โลกทัศน์ของเธอนั้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะต่อตัวเธอ ไม่มีใครที่มีชีวิตอยู่บนโลกนี้ที่จะใช้ชีวิตในแบบเธอ มันคือความจริงผ่านการมองของเธอ และมีเธอคนเดียวเท่านั้นที่รู้ในรายละเอียดของมันจริงๆ ทว่าความเข้าใจนี้เป็นจริงกับทุกๆ คนบนโลกใบนี้ด้วย

สิ่งที่ ติช นัท ฮันห์ บอกกับเราคือ เราไม่สามารถล่วงรู้ทัศนะการมองโลกของคนอื่นได้จริงๆ หรอก แต่เราสามารถเข้าใจและยอมรับการมีอยู่ของมัน และมันจริงสำหรับพวกเขา พอๆ กับที่ การมองโลกของเธอเป็นจริงสำหรับเธอ

6. “Understanding means throwing away your knowledge.”
การเข้าใจหมายถึง โยนความรู้ของเธอทิ้งไป

เมื่อใดกันที่เราสูญเสียความสามารถที่จะบอกว่า “ฉันไม่รู้” ?

ในโลกแห่งการเชื่อมต่อที่เต็มไปด้วยข้อมูลที่อยู่ใกล้แค่ปลายนิ้ว เราดูจะไม่เต็มใจยอมรับว่า เราไม่รู้จักคนคนนั้นหรือเรื่องเรื่องนั้นมากพอ ที่จะแสดงความเห็นอันชาญฉลาดของเรา

ทว่ามีความแข็งแกร่ง กล้าหาญ และทรงพลังในการยอมรับว่า “เราไม่รู้”

โคว้ทนี้ของ ติช นัท ฮันห์ แสดงให้เราเห็นว่าการยอมรับว่าเราไม่รู้ จะเป็นกุญแจสำคัญในการเปิดประตูแห่งการเรียนรู้ การเติบโต ความเข้าใจ ความเห็นอกเห็นใจ และความกรุณา

7. “For things to reveal themselves to us, we need to be ready to abandon our views about them.”
เพื่อที่สิ่งต่างๆ จะเผยตัวต่อเรา จำเป็นที่เราต้องพร้อมละทิ้งมุมมองที่เรามีต่อสิ่งนั้น

สิ่งที่เราคิดว่าเรารู้โดยมากแล้วก่อรูปขึ้นจากอดีต และถูกตัดสินโดยประสบการณ์ที่จำกัดมากๆ นั่นคือวิธีที่สมองของเราทำงาน มันอาจเป็นประโยชน์ในบางแง่มุม แต่ขณะเดียวกันก็เป็นอุปสรรคกั้นขวางต่อการเข้าใจผู้อื่น และเข้าใจชีวิต

มีความเป็นไปได้ที่กว้างใหญ่กว่านั้นมากในชั่วขณะปัจจุบัน ปัจจุบันคือสถานที่เดียวที่การเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงสามารถเกิดขึ้นได้ ทว่าเราก็ยังมีแนวโน้มที่จะใช้ชีวิตแบบผูกผ้าปิดตา ทึกทักว่าเรารู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หรือคนคนนั้นเป็นคนยังไง โดยไม่รู้ตัว เรากำลังเสียโอกาสที่จะได้เห็นสิ่งต่างๆ ที่อาจกำลังเผยตัวให้เราเห็นในชั่วขณะนั้น ตามที่เป็นจริงๆ

8. “We are here to awaken from the illusion of our separateness.”
เราอยู่ที่นี่ตรงนี้ก็เพื่อตื่นขึ้นจากภาพลวงตาของการแยกขาด

เราอาจแตกต่างกัน แต่เราก็เชื่อมโยงกันทั้งหมด นี่อาจเป็นคอนเซ็ปต์ที่ยากจะเข้าใจ แต่ถ้าพิจารณาดีๆ เราต่างก็เคยมีประสบการณ์นี้กันมาไม่มากก็น้อย ทุกคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเราคือกระจกสะท้อน ที่แสดงให้เราเห็นเสี้ยวส่วนต่างๆ ของเราที่ยังไม่ได้เยียวยา และจุดเจ็บปวดที่เราถูกทริกเกอร์ได้ง่ายในชีวิต

ผู้คนเหล่านั้นคือส่วนสำคัญของเรา มีบทเรียนที่ยากที่เกิดขึ้นระหว่างผู้คนเหล่านั้นกับตัวเรา แต่มันมีอยู่ก็เพื่อช่วยให้เราได้ทำงานกับมัน เราอยู่ที่นี่เพื่อช่วยให้กันและกันเติบโตขึ้น

เราอยู่ในนี้ด้วยกันทั้งหมด…

9. “Attachment to views is the greatest impediment to the spiritual path.”
การยึดมั่นต่อมุมมองของตัวเอง คืออุปสรรคใหญ่หลวงที่สุดต่อ “เส้นทางจิตวิญญาณ

โคว้ทนี้ของติช นัท ฮันห์ เตือนให้เราตระหนักว่า เราล้วนอยู่บนเส้นทางจิตวิญญาณ ไม่ว่าเราจะรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม เราไม่ใช่ “human beings ที่กำลังมี spiritual experiences” แต่เราคือ “spiritual being ที่กำลังมี human experiences” ต่างหาก เราเกิดมาที่นี่ บนโลกนี้ ก็เพื่อเรียนรู้และเติบโต

เป้าหมายสูงสุดของทุกศาสนาและปรัชญาสอนเราว่า เส้นทางและเป้าหมายต่างมุ่งไปสู่ความรัก และนั่นคือเป้าหมายของการมีชีวิตอยู่ของเราด้วยเช่นกัน เส้นทางดังกล่าวต้องอาศัยหัวใจที่เปิดกว้าง ความสามารถที่จะฟังกันและกัน และความปรารถนาที่จะเข้าใจคนอื่น เห็นอกเห็นใจคนอื่น ความแข็งแกร่งที่จะยอมรับเมื่อตัวเองผิดพลาด และความยืดหยุ่นที่จะเปลี่ยนแปลง

10. “At any moment, you have a choice that either leads you closer to your spirit or further away from it.”
ในแต่ละขณะ มีทางเลือกที่จะนำพาตัวเธอเข้าใกล้จิตวิญญาณของเธอเองยิ่งขึ้น หรือจะออกห่างจากมัน

ในทุกๆ ปฏิสัมพันธ์และการสนทนา เรากำลังเคลื่อนตัวเข้าใกล้ศักยภาพที่จะรัก หรือเคลื่อนออกห่าง?

เรากำลังเปิดหัวใจ หรือ กำลังปิดหัวใจ?

เรากำลังมองคนอื่นว่า “ผิด” หรือ “แยกขาด” จากเรา หรือ “เชื่อมโยง” และ “แตกต่าง” จากเรา?

นี่คือทางเลือกที่สำคัญที่สุดที่เราทำต่อชีวิตของเราอยู่ในทุกๆ ชั่วขณะ

ไม่ว่าใครจะคิด พูด หรือปฏิบัติต่อเราเช่นไร ไม่ว่าสถานการณ์ที่เราเจอจะเป็นอย่างไร เรามีทางเลือกเสมอ

เรียบเรียงจาก “10 Thich Nhat Hanh Quotes to Cultivate Compassion, Empathy, and Peace” โดย Kacie Main