บทสัมภาษณ์โดย CHES วัชรสิทธา
หลายครั้งเรายู่ในความสัมพันธ์ที่อึดอัดคับข้องใจ ไม่ว่าจะกับใครสักคนที่พูดคุยกันแล้วยังไม่เข้าใจ หรือกับอะไรก็ตามที่เราไม่อาจเชื่อมต่อสื่อสารได้ จนเรารู้สึกว่าความสัมพันธ์เหล่านั้นไม่สามารถพัฒนาไปสู่จุดที่เราเข้าใจกันได้ เหมือนต่างฝ่ายต่างส่งความรู้สึกไปไม่ถึงกันสักที
แม้แต่เรากับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่หลายคนลองเชื่อมต่อสัมพันธ์ด้วย บางคนก็สามารถเชื่อมต่อสื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นได้ บางคนก็ได้แค่ลองทำตามๆ ดู แต่กลับไม่ได้รู้สึกอะไร และอีกหลายๆ คนที่ปฏิเสธอะไรเหล่านั้นไปเลย
อะไรคืออุปสรรคขวางกั้นความสัมพันธ์เหล่านี้ไว้ เจ้าที่คืออะไรกันแน่ ความสัมพันธ์กับสิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ภาษาหรือวิธีการสื่อสารสามารถปรับเปลี่ยนไปได้หรือไม่ เมื่อการสื่อสารด้วยวิธีการเดิม สำหรับบางคนไม่สามารถสื่อสารสร้างความสัมพันธ์ได้แล้วในยุคสมัยใหม่
สนทนากับ อ.ตุล คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง กับเรื่องราวที่ว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์
สุรเชษฐ์ : การที่เราใช้คำแทนพลังงานเหล่านั้นว่า เจ้าที่ เจ้าที่มันหมายถึงเจ้าของที่ของเรารึเปล่าครับ?
อ.ตุล : คือเวลาเราพูดถึงคำว่า เจ้าที่ มันน่าสนใจนะ เพราะว่าในโลกของวิธีคิดเกี่ยวกับวิญญาณเนี่ย มันคล้ายกับว่า พวกผืนดิน ต้นไม้ ก้อนหิน แม่น้ำลำธาร อะไรต่างๆ เหล่านี้มันมีจิตวิญญาณอยู่ ทีนี้ตัวจิตวิญญาณอันนั้นมันก็เกาะกุมอยู่กับโลกทางกายภาพด้วย แม้ว่ามันจะแผ่ซ่านไปทั่ว แต่มันก็อยู่ในจุดของโลกธรรมชาติเหล่านั้นนะครับ มันมีพลังงานของธรรมชาติเหล่านั้น
เพราะฉะนั้นคนโบราณก็เลยใช้ Wording ว่า เจ้าที่ เพราะว่าเขาอยู่ตรงนั้น เรารู้สึกได้ว่าเขาอยู่ตรงนั้น อยู่ ณ ก้อนหินก้อนนั้น ณ ต้นไม้ต้นนั้น มันเป็นพลังงานที่เขารู้สึกได้ แต่มันไม่ได้แปลว่าเขาจะถูกจองจำอยู่แค่ตรงนั้น มันไม่ใช่ Sense นั้นเลย มันเป็นเพียงแค่รู้สึกว่า สิ่งศักดิ์สิทธิ์นี้มันอยู่ใน Area หรืออยู่ใน Space ที่เราเข้าไปสัมพันธ์ได้
และมันก็เป็น Space ที่ค่อนข้างจะลื่นไหนนะครับ คือไม่ได้แปลว่าพออยู่ตรงนั้นปุ๊บ แล้วจะต้องถูกจองจำอยู่แค่ตรงนั้น พอก้อนหินนั้นมันพินาศไปแล้ว มันก็จะไม่มีอยู่แล้ว มันคงไม่ถึงขนาดนั้น เพียงแต่ว่าเรารับรู้ได้บนพื้นที่ที่เราเข้าสัมพันธ์ด้วย
เพราะว่ามนุษย์เองมันก็ต้องครองพื้นที่เนอะ แล้วพอเราเข้าไปครองพื้นที่ คล้ายๆ เราก็เข้าไปสัมพันธ์กับพลังงานในพื้นที่นั้นได้เหมือนกัน ผมคิดว่าอันนี้เนี่ยคือ Sense ของความหมายของคำว่าเจ้าที่ มันคือพลังงานที่มันขับเคลื่อนอยู่ในพื้นที่อันนั้น แล้วมันก็เป็นพลังงานที่มีความลื่นไหล มี Movement มี Dynamic อะไรบางอย่างอยู่ตรงนั้นด้วย
มันไม่ได้เป็นลักษณะของการถูกจองจำอยู่ในพื้นที่ อยู่ในสิ่งนั้นนะ ซึ่งการถูกจองจำอยู่ในนั้น มันไม่ได้เป็น Sense ของโลกโบราณครับ มันเป็นพลังงานที่บัญเอิญอยู่ในจุดๆ นั้น มันอยู่ใน Space ตรงนั้น แล้วพอเราเข้าไปใน Space นั้นแล้ว เราสัมพันธ์กับพลังงานนั้นได้ เราก็เลยเรียกพลังงานที่มันอยู่ ณ พื้นที่ตรงนั้นว่า เจ้าที่
สุรเชษฐ์ : ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์พวกนี้ มันจะสะท้อนอะไรกลับมาถึงผู้คนที่สัมพันธ์ด้วยบ้างล่ะครับ?
อ.ตุล : ปกติเวลาเราสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์เรามักจะมองว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นอะไรที่อยู่นอกตัวเรา เป็นอะไรที่เราจะต้องเคารพกราบไหว้อย่างเดียว เป็นความสัมพันธ์แบบที่เรา เป็นผู้เคารพอยู่ฝ่ายเดียว เป็นผู้รับหรือเป็นผู้กราบไหว้อยู่ฝั่งเดียว ซึ่งมันเป็นความสัมพันธ์ที่เรามักจะเข้าใจโดยทั่วไปเวลาที่เข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ข้างนอก
แต่ผมคิดว่าจริงๆ แล้วเนี่ย ถ้าความสัมพันธ์ดำเนินไปจนกระทั่งเราตระหนักได้ว่า มันไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ข้างนอกอย่างเดียว มันไม่ได้มีความศักดิ์สิทธิ์เฉพาะที่อยู่กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเดียว แต่มันได้ช่วยสะท้อนให้เห็นด้วยว่าตัวเราเองก็มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ เพราะว่าตัวเราก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกเหมือนกัน เราไม่ได้เป็นอะไรที่แยกออกมานอกโลก เราก็เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาล เป็นส่วนหนึ่งของโลกธรรมชาติ
เพราะฉะนั้น เราก็มีความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน ผมคิดว่าพอมาถึงจุดนี้ มันก็จะเริ่มแสดงให้เห็นแล้ว เราจะรับรู้ได้แล้วว่าความศักดิ์สิทธิ์นี้มันมีอยู่ในตัวเราด้วย ผมคิดว่าอันนี้มันคือจุดที่สำคัญมากๆ เพราะว่ามันจะเปลี่ยนมุมมองที่เรามีต่อความศักดิ์สิทธิ์เลย เราเองก็มีความศักดิ์สิทธิ์อยู่ในตัวเรา และก็เป็นความดีงามขั้นพื้นฐาน แล้วมันก็จะสัมพันธ์กับการยกระดับของจิตใจ
ผมคิดว่าอันนี้ก็สำคัญนะครับ เพราะว่าจิตใจหรือว่ามุมมองของเราที่มีต่อโลกมันก็จะเปลี่ยนไป อารมณ์ความรู้สึกที่เราเข้าสัมพันธ์กับคนอื่น เขาสัมพันธ์กับตัวเองมันก็จะเปลี่ยนไป ผมคิดว่าอันนี้ก็คือจุดที่สะท้อนถึงเราครับ
สุรเชษฐ์ : แต่ความสัมพันธ์กับตัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ว่าเนี่ย มันก็มีหลากหลายแบบใช่ไหมครับ? บางคนเชื่อมต่อสื่อสารได้บ้าง ไม่ได้บ้าง อะไรแบบนั้น
อ.ตุล : การพูดถึงความสัมพันธ์กับตัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เช่น เจ้าที่เจ้าทางหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ เนี่ยนะครับ เราอาจจะแบ่งได้เป็น 3 แบบ บางคนอาจจะมีมิติทางอารมณ์ความรู้สึก มีทั้งความศรัทรา มีทั้งเจตจำนงที่ดีงาม หรือว่ามีความรู้สึกเชื่อมต่อโดยลึกๆ ภายใน ซึ่งอันนี้คือความสัมพันธ์แบบแรก
แบบที่สองก็อาจจะเป็นการปฏิบัติไปตามรูปแบบประเพณี เขาให้ไหว้ก็ไหว้ เขาให้จุดธูปก็จุดธูปไป ซึ่งก็อาจจะไม่ได้มีตัวมิติทางด้านอารมณ์ความรู้สึก ไม่ได้มีตัวมิติทางด้านจิตใจสักเท่าไหร่ เป็นการปฏิบัติไปในเชิงประเพณีรูปแบบที่สืบทอดกันมา
และแบบที่สามก็คือไม่สนเลย มี-ไม่มี อะไรก็ไม่รู้ ไม่สนใจ มันก็จะเป็นสามรูปแบบประมาณนี้
และผมคิดว่าไอ้สองแบบหลัง คือแบบที่ปฏิบัติเป็นแกนๆ ปฏิบัติไปตามประเพณี หรือแบบที่ก็ไม่ได้สนใจอะไร อันนี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิดการเชื่อมต่อ เป็นความสัมพันธ์ผิวเผิน แต่ว่าถ้ามันเป็นมิติทางอารมณ์ความรู้สึก เป็นเรื่องมิติของจิตใจข้างใน อันนี้แหละคือตัวความสัมพันธ์ที่จะพัฒนาไปได้
มันอาจจะพัฒนาไปสู่จุดหมายที่ผมบอกว่าในที่สุดแล้ว เราก็สามารถจะรับรู้ถึงตัวความศักดิ์สิทธิ์ที่เรามีอยู่ในตัวเองได้ ซึ่งอันนี้มันก็เลยเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่มันควรจะเป็น ในกรณีที่เราอยากที่จะเข้าไปใกล้ชิด หรือเข้าไปเรียนรู้เรื่องของความศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ มันก็ควรจะเป็นแบบแรกนะครับ
สุรเชษฐ์ : เราอาจจะมองได้ไหมครับว่า บางคนไม่สามารถเชื่อมต่อ สื่อสารกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นได้ด้วยการสื่อสารรูปแบบเดิมๆ เลยทำให้เขาไม่รู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์ หรือคุณค่าของมัน
อ.ตุล : เวลาเราเข้าไปสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในแง่นึงก็น่าสนใจนะว่าตัวรูปแบบประเพณีปฏิบัติเนี่ย ซึ่งจริงๆ เดิมมันถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อ คือบางทีเราก็ไม่รู้จะเชื่อมต่อยังไง
คนโบราณก็อาจจะ Setup ตัวประเพณี รูปแบบปฏิบัติ พิธีกรรมขึ้นมา
แต่ในภายหลังเมื่อเราปฏิบัติประเพณี รูปแบบ พิธีกรรมอะไรนี้ไปเรื่อยๆ เนี่ย ความหมายที่มันอยู่ข้างในมันค่อยๆ หายไป กลายเป็นเหลือแต่เพียงรูปแบบภายนอก เลยทำให้กลายเป็นแทนที่จะเป็นเครื่องมือในการที่เราจะ Connect อ่ะ มันกลับเป็นตรงกันข้าม กลายเป็นอุปสรรคที่เราจะรู้สึก ที่เราจะเชื่อมต่อได้ด้วยอารมณ์ความรู้สึกภายใน เพราะว่ามันกลายเป็นแค่รูปแบบไปแล้ว
และอีกอย่างนึงก็คือ เวลาที่เราจะเชื่อมต่อกับโลกศักดิ์สิทธิ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้เนี่ย บางครั้งมันไม่ได้ใช้แค่ตัวความคิดนะครับ มันเหนือกว่าระดับความคิด ก็คือมันเป็นเรื่องของตัวอารมณ์ภายใน อาจจะเป็นจิตใต้สำนึก เป็น Intuition หรือว่าการหยั่งรู้ขึ้นมาโดยธรรมชาติ มันอาจจะเป็นสัญชาตญาณ เป็นอะไรที่มันแฝงฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกของเรา ถ้าภาษาแบบคาร์ล ยุง มันก็เป็น Collective Unconscious คือมันเป็นสิ่งที่บรรพบุรุษเราสั่งสมมาในจิตใต้สำนึกของเรา ซึ่งอันนี้ก็เป็นเครื่องมือนึงเหมือนกัน
แต่พอเราถูกฝึกให้อยู่ในโลกที่ใช้การคิดเยอะๆ นอกจากมีตัวรูปแบบประเพณีแล้วเนี่ย ก็ถูกฝึกให้คิดเยอะๆ ถูกฝึกด้วยอะไรแบบนี้ เครื่องมืออีกอันนึงคือตัวจิตใต้สำนึก ตัวอารมณ์ความรู้สึก พวกนี้ก็จะถูกลดทอนความสำคัญลง แล้วเราก็ Connect อะไรไม่ได้
เพราะฉะนั้นจากสองประเด็นนี้ ผมคิดว่ามันก็เลยนำมาสู่การคิดใหม่ มันอาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ตัวรูปแบบทางประเพณีนิยมปฏิบัติมาก็ได้ เพราะเอาเข้าจริงๆ แล้ว ความสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์มัน Personal มันเป็นเรื่องส่วนบุคคล แต่ละคนมีวิธีที่จะเข้าใจ แต่ละคนมีวิธีที่จะสัมพันธ์กับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่มันแตกต่างกันออกไป เพราะมันมีบริบทที่ไม่เหมือนกัน
มันจึงไม่จำเป็นจะต้องใช้รูปแบบเดียวกัน เพียงแต่ว่ามันอาจจะมีแก่นแกนสาระบางอย่างที่คล้ายๆ กัน แต่ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาอย่างเดียวกัน อะไรต่ออะไรเหมือนๆ กัน ซึ่งอันนั้นมันเป็นเรื่องของประเพณี อย่างที่บอก มันอาจจะกลายเป็นอุปสรรคก็ได้
สุรเชษฐ์ : การที่เราให้ความสำคัญกับประเพณีมากเกินไป มันกลับกลายเป็นอุปสรรค?
อ.ตุล : พอรูปแบบประเพณีมันถูกมองว่าเป็นสิ่งที่ห้ามตั้งคำถาม เป็นสิ่งที่จะต้องอนุรักษ์ไว้ เป็นสิ่งที่จะต้องทำให้ถูกต้อง พอคนไม่กล้าเปลี่ยนแปลงรูปแบบ ไม่กล้าไปตีความใหม่ ปรับปรุงให้เข้ากับยุคสมัย มันก็เลยกลายเป็นสิ่งที่หลายคนเข้าใจไม่ได้ เพราะว่าเขาอาจจะเกิดมาในบริบทที่ต่างกันแล้วกับตัวประเพณีนั้น มันก็เลยเป็นเครื่องมือที่อาจจะใช้ได้กับแค่บางคน มันใช้ไม่ได้กับทุกคน
เพราะฉะนั้นในแง่นี้ประเพณี หรืออะไรพวกนี้ ถ้าเข้าใจแก่นแกนมันแล้วเนี่ย เราก็ปรับได้ครับปรับไปตามสภาพความเข้าใจของเราที่เปลี่ยนไป สภาพของวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปได้ เพียงแต่ว่าถ้าคนไหนที่เขายัง Connect ผ่านตัวรูปแบบประเพณีเดิมได้ ก็ใช้วิธีแบบเดิมไปได้ ไม่มีปัญหาอะไร
สุรเชษฐ์ : ที่นี้ถ้าเรามีความสัมพันธ์กับพลังงาน หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นอยู่แล้ว มันจำเป็นแค่ไหนที่เราจะต้องมีบ้าน มีที่อยู่ให้กับเขา ถ้าเราจะไม่มีบ้านให้เขา ไม่มีสิ่งแทนตัวเขา ได้หรือเปล่าครับ
อ.ตุล : ผมคิดว่าอย่างนี้นะ ถ้านึกถึงมนุษย์โบราณสมัยก่อน เวลาที่เขาสัมพันธ์กับโลกศักดิ์สิทธิ์หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์นะครับ โดย Intuition หรือโดยอะไรก็ตามแต่เนี่ย เขาก็จะคล้ายๆ สร้างหมุดหมายเอาไว้ว่าจุดนี้ที่เขารู้สึก
สมมุติตรงนี้เป็นภูเขา ณ จุดนี้ของภูเขาก็เป็นจุดที่เขาสัมผัสเชื่อมต่อกับโลกศักดิ์สิทธิ์ได้ เขาก็อาจจะทำหมุดหมายไว้ง่ายๆ อาจจะเอาหินไปกองไว้ อาจจะเอาหลักอะไรปักไว้ง่ายๆ ให้รู้ว่า ณ จุดนั้น เป็นจุดที่เขาสามารถเชื่อมต่อได้
แต่ว่าพอสังคมมันพัฒนาขึ้น มันซับซ้อนขึ้น จากแค่จุดหมุดหมายพอให้รู้ว่าตรงนี้เป็นจุดเชื่อมต่อ เราก็สร้างตัวรูปแบบขึ้นมา สร้างเป็นศาลจากศาลที่มันทำให้เหมือนบ้านของเรา เราก็ทำให้มันซับซ้อนขึ้นกลายเป็นปราสาทราชวัง กลายเป็นอะไรต่อมิอะไรเนี่ย พวกนี้ก็คือสิ่งที่เรา Add เข้าไปในวัฒนธรรม
จริงๆ ถ้าเราย้อนกลับไปสู่จุดดั้งเดิมเนี่ย มนุษย์โบราณเพียงแค่ต้องการจะบอกหมุดหมายว่า ณ จุดนี้เขาสามารถเชื่อมต่อได้ เขาจึงต้องมีสัญลักษณ์อะไรบางอย่างไว้ มันก็เป็นเรื่องของสัญลักษณ์นิยม
ถามว่าในปัจจุบันนี้ เราจะย้อนกลับไปทำแบบนั้นได้ไหม ก็ได้นะครับ ไม่จำเป็นจะต้องเป็นศาล อะไรที่เป็นรูปแบบก็ได้ เราอาจจะแค่ทำ Mark อะไรไว้บางอย่าง ใช้สัญลักษณ์บางอย่างที่เรารู้สึกว่ามันใช้การได้ หรือถ้ามันยังไม่พอที่จะทำให้เรารู้สึก เราก็อาจจะสรรค์สร้างให้มันมากกว่านั้น เช่นก็ทำให้เป็นบ้านในแบบที่เราต้องการ เป็นศาล หรือเป็นอะไรบางอย่าง เพื่อให้พลังงานเหล่านั้นดำรงอยู่ หรือว่าเพื่อให้เรารู้ว่า ณ จุดนี้ คือจุดที่เราเชื่อมต่อได้
จริงๆ มันก็อารมณ์ให้คล้ายๆ กับเหมือนการที่เราจะสื่อสารกับคนที่อยู่ไกล เพราะฉะนั้นเราอาจจะต้องมีเครื่องมือ เช่น อาจจะต้องมีโทรศัพท์มือถือ มันก็สะดวกกว่าเราเขียนจดหมายใช่ไหมครับ หรือว่ามันก็อาจจะรู้สึกได้มากกว่าการที่เราแค่คิดในใจ หรืออย่างการที่เรามีของที่แทนตัวเขาเอาไว้ มันก็ยังสามารถที่จะรู้สึกได้เมื่อเห็นของสิ่งนั้น อะไรประมาณนี้ก็เป็นแบบเดียวกันครับ
สุรเชษฐ์ : อย่างคำที่บอกว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ แสดงว่าคุณค่าของสิ่งศักดิ์สิทธิ์นั้นขึ้นอยู่กับผู้เข้าไปสัมพันธ์ด้วยรึเปล่าครับ
อ.ตุล : เวลาเราคุยเรื่องคุณค่าเนี่ย มันก็อาจจะเริ่มต้นจากการถามว่า ตกลงคุณค่านี้มันเป็นคุณค่าแก่ใคร ถ้าเป็นคุณค่าแก่สิ่งศักดิ์สิทธิ์เอง อันนี้มันก็ไม่เกี่ยวกับเรา มันจะมีหรือไม่มี เขาจะมีความศักดิ์สิทธิ์ไหม อะไรยังไง อันนี้ก็คงเป็นอีกเรื่องนึง
แต่ว่าถ้าพูดถึงคุณค่าในแง่ของตัวเราเอง ซึ่งอันนี้มันต้องขึ้นอยู่กับตัวความสัมพันธ์ที่เรามีกับตัวสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ผมคิดว่าจะต้องเริ่มต้นแบบนั้น เพราะว่าคล้ายๆ เวลาที่เราเข้าไปสัมพันธ์กับเขา เราอาจจะเข้าไปเพื่อเคารพ หรือเขาไปบูชาอะไรแบบนี้ ไอ้แนวโน้มของการเข้าไปใกล้นี่แหละ คุณค่ามันถึงจะค่อยๆ เกิดขึ้น
ถามว่ามันเกิดขึ้นได้ยังไงครับ เพราะว่าเวลาเราพูดถึงความศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้นะครับ มันเป็นโลกศักดิ์สิทธิ์เนอะ มันเป็นโลกที่มัน มีความศักดิ์สิทธิ์ของมันอยู่ภายนอก แล้วมนุษย์เองไม่ได้เป็น Center หรือไม่เป็นศูนย์กลาง หากมองตามมุมมองที่ว่ามนุษย์เป็นศูนย์กลาง มันก็จะไม่ทำให้เกิดระบบความสัมพันธ์ และทำให้เกิดคุณค่าขึ้น
แต่เมื่อใดก็ตามที่มนุษย์โน้มตัวเองเข้าไปหาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เข้าไปหาอะไรเหล่านั้นข้างนอกตัวเอง เราก็จะตระหนักว่าเราไม่ได้เป็นไรจุดศูนย์กลางของจักรวาลอีกต่อไป มันก็จะเกิดตัวความสัมพันธ์ สุดท้ายเราก็จะมองเห็นได้ว่า ตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งของโลกศักดิ์สิทธิ์ หรือโลกธรรมชาติที่มันมีความศักดิ์สิทธิ์ในนั้น
ผมคิดว่าอันเนี่ยมันคือสิ่งที่ทำให้เราตระหนักเห็นคุณค่า เกิดขึ้นผ่านมุมมองที่มันเปลี่ยนไป เราไม่ได้เข้าไปสู่โลกในฐานะที่เราเป็นเจ้าของโลก ของจักรวาลอีกต่อไปแล้ว แต่เราเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งเข้าไปตระหนักรู้ว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของโลกศักดิ์สิทธิ์อันนั้น แล้วอันนี้ก็คือจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่ทำให้มันเกิดสิ่งที่เราเรียกว่าคุณค่า ผมคิดว่ามันจะต้องเริ่มต้นจากอย่างนั้นครับ
สุรเชษฐ์ : แล้วความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์กับเรา คือการที่เราเข้าไปหาเขา หรือการที่เราเอาเขามาอยู่กับเรา
อ.ตุล : ผมคิดว่าถ้าเรามองจากจุดเดียวกัน อย่างที่บอกว่าสิ่งศักดิ์สิทธิ์เนี่ย การที่มนุษย์ไป Connect กับโลกธรรมชาติ มนุษย์จะมีอยู่หรือไม่มีอยู่ เขาก็อยู่ตรงนั้น ณจุดตรงนั้นจะมีมนุษย์รับรู้หรือไม่ เขาก็ศักดิ์สิทธิ์อยู่ตรงนั้น เขาก็ดำรงอยู่ตรงนั้น เราเพียงแค่เข้าไปค้นพบ เราเพียงแค่ไปรู้สึกถึง
เพราะฉะนั้น มันก็เหมือนกับเราไม่ได้เอาเขามาอยู่ด้วย เพราะเขาอยู่ตรงนั้นอยู่แล้ว เพียงแต่เราเข้าไปด้วยความรู้สึกนอบน้อม เข้าไปด้วยความรู้สึกเคารพ เข้าไปด้วยความรู้สึกว่าอ่อนน้อม เป็นส่วนหนึ่งหรือว่ามีความใกล้ชิดกัน
ผมคิดว่ามันก็จะเป็นความสัมพันธ์แบบ เหมือนเราพยายามที่จะอยู่ใกล้ชิดกัน มากกว่าการที่เราเอาเขามาอยู่กับเรา หรือเราจะไปอยู่กับเขา มันแค่เป็นความรู้สึกว่ามันควรจะมีความใกล้ชิดกัน เพราะฉะนั้นมันก็เลยต้องสร้างอะไรบางอย่าง ว่าณจุดนี้ มันอาจจะเป็นเหมือน Meeting point อ่ะครับ
มันไม่ได้เหมือนว่าฉันสร้างคอนโดให้อยู่ ต้องบังคับเขามาอยู่ในคอนโดนี้ มันก็ไม่ใช่อ่ะ มันเป็นแค่ Meeting point เพราะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เขาก็มีชีวิตของเขา จากความเชื่อ เขาก็ไปไหนมาไหนของเขาได้นะครับ มีอิสระของเขานะครับ ในขณะที่ตัวเราเองก็ไม่ได้อยู่บ้านตลอดเวลา เพราะฉะนั้นมันก็เหมือนกัน เพียงแต่เรามานัดเจอกันในจุดนับพบ ณ จุดที่จะมาเชื่อมความสัมพันธ์ต่อกัน แล้วเขาจะอยู่ตรงนั้นหรือไม่อยู่ตรงนั้น ก็มีแต่ตัวเราที่จะบอกตัวเองได้ รับรู้ได้
สุดท้ายผมเลยคิดว่ามันไม่ได้เป็นความสัมพันธ์แบบบังคับบัญชากัน มันเป็นความสัมพันธ์ที่เบาบางกว่านั้น มันสบายๆ กว่านั้น