“อารมณ์ของการภาวนา” : A Way Back Into Unconditional Love

โดย วิจักขณ์ พานิช
บทความเรียบเรียงโดยพรทิภา จันทรพราม

สรุปความจากกิจกรรม “สังฆะปฏิบัติ” เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2565

ในช่วงเวลาที่ชีวิตดูสุดแสนจะราบเรียบ สงบสุข หรือขณะที่เราไปภาวนาใน Retreat ที่มีแบบแผนชัดเจน บรรยากาศอาจดูสงบ ราบเรียบ มีแต่ความนิ่ง เงียบ จนบางครั้งเราอาจไม่ได้สังเกตว่ามีอารมณ์หนึ่งซึ่ง “อยู่ตรงนั้น” อยู่ตลอดเวลา นั่นคือ “อารมณ์ของการภาวนา”


อารมณ์ของการภาวนา เกิดขึ้นยามที่เราสัมพันธ์กับพื้นที่ว่างหรือความว่าง เราอยู่ตรงนั้นได้ แม้จะไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือมีอะไรเกิดขึ้น เราอยู่ตรงนั้นได้ แม้เราจะไม่รู้เลยว่าจะเป็นยังไงต่อ มันอาจจะไม่ใช่อารมณ์บวก แต่ขณะเดียวกันมันก็ไม่ใช่อารมณ์ลบเช่นกัน อาจกล่าวว่าอารมณ์ของการภาวนาคืออารมณ์ที่ไปพ้นบวกและลบ และที่สำคัญเป็นอารมณ์ที่เกิดจากความรู้สึกว่า เราวางใจได้…

ในวันที่เรากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ที่สุด เมื่อต้องพบกับสถานการณ์ที่ท่วมท้น รู้สึกว่ากำลังเจอกับเรื่องราวที่หนักหน่วง หรือรู้สึกว่าใน Soma ของเรามีข้อความเผยขึ้นมาเต็มไปหมด มันช่างเข้มข้น โกลาหล ไร้หลัก และเราไม่รู้ว่าจะ Deal กับมันยังไง ในช่วงเวลาที่มีพลังงานเยอะแยะมากมายเกิดขึ้นเช่นนี้ แทนที่เราจะไปชกประตู ระบายลงใน social Media หรือรีบ Take Action อะไรบางอย่างออกไป… ลองพาตัวเองนั่งลง ตามลมหายใจ อยู่กับร่างกาย อยู่กับเนื้อกับตัวตรงนั้น เราจะรับรู้ได้ถึงอารมณ์ เราจะรับรู้ได้ถึงความเข้มข้นที่อยู่ในเนื้อในตัวของเรา เราอาจรับรู้ถึงแนวโน้มที่จะหนี ปฏิกิริยาของการอยู่ตรงนั้นไม่ได้ หรือเมื่อรู้ตัวอีกทีเราก็วิ่งตามความคิดไปไหนต่อไหนเสียแล้ว

ณ ช่วงเวลานั้น เราอาจระลึกนึกถึงอารมณ์อีกลักษณะหนึ่ง แทนที่จะปั่นป่วนไปกับอารมณ์อันเข้มข้นร้อนรนเช่นนั้น เราสามารถฝึกที่จะกลับมาอยู่กับ “อารมณ์ของการภาวนา”

“อารมณ์ของการภาวนา คือ ความรู้สึกของการดำรงอยู่ในความว่าง

ความรู้สึกของการดำรงอยู่ใน Depth แกนกลางของกาย

เป็นความรู้สึก Letting Go เป็นความรู้สึก Trust

เป็นความรู้สึกของการแผ่ออกของความรัก ความกรุณา และความอ่อนโยน

ที่ดำรงอยู่แล้วเป็นพื้นฐานเสมอ”

เราอาจเจอกับวันที่แย่ที่สุด แต่เมื่อได้กลับมาที่การนั่งของเรา อยู่กับ Sensation ในร่างกาย อยู่กับ Felt Sense อยู่กับความว่าง เมื่อเราอยู่กับพลังของความว่างที่เรียกว่า presence เราอนุญาตให้กระบวนการทุกอย่างเกิดขึ้นและดำเนินไปได้ เรารู้สึกวางใจในกระบวนการ วางใจสิ่งที่เกิดขึ้น มันเป็นคนละเรื่องกับการพยายามมองโลกในแง่บวก แต่บรรยากาศของการวางใจเช่นนั้นแหละคือ การเชื่อมต่อกับอารมณ์ของการภาวนา

“ไม่ว่าจะมีอารมณ์ขุ่นมัวอะไรก็ตาม เราแค่รู้สึกมัน

แต่เราไม่ได้พาตัวเองจมไปกับอารมณ์นั้น

เราอยู่กับอารมณ์ของการภาวนา

ด้วยการเชื่อมต่อกับอารมณ์ของความเปิดกว้าง ความอ่อนโยน ความกรุณา

และภาวะที่ปราศจาก Agenda ใดๆ”

การเชื่อมต่อกับอารมณ์ของการภาวนา คือการเชื่อมต่อกับคุณลักษณะของความอ่อนโยน ความเปิดกว้าง และความรักที่อยู่ตรงนั้นอยู่แล้วเสมอ เราฝึกอยู่กับอารมณ์ภาวนา กระทั่งเกิดความสนิทสนม ศรัทธา พอใจ กระทั่งรู้สึกเติมเต็มจากอารมณ์นั้น เราอยู่กับอารมณ์ของการ Let Go  อยู่กับอารมณ์ของการ Offering ซึ่งถ้าเราสังเกตดีๆ เมื่อเราสามารถ Connect กับอารมณ์ของการภาวนาได้ จะมีพื้นที่หรือคุณลักษณะบางอย่างที่เป็นพื้นฐานมากๆ อาจเรียกว่าเป็น Basic (Fundamental) Goodness ที่ดำรงอยู่ตรงนั้นเสมอ เป็นพื้นที่ที่เราจะสามารถกลับมาได้ทุกครั้ง กลับมาตั้งหลัก ยามที่รู้สึกท่วมท้นเกินไป เหนื่อยล้า ไม่ OK …เรากลับมาที่อารมณ์ของความว่างได้  

“เมื่อสามารถ Connect กับอารมณ์ของการภาวนาได้ มันจะกลายเป็นทองเล็นโดยตัวมันเอง

ทองเล็นไม่ใช่เทคนิค แต่เป็นการหายใจที่เชื่อมต่อกับโพธิจิต

ซึ่งในกระบวนการนั้นมันมีอารมณ์บางอย่าง

อารมณ์ของการเปิด อารมณ์ของการปล่อย

อารมณ์ของการยอมรับ อารมณ์ของการภาวนา…”

ในการอยู่กับอารมณ์ภาวนาแบบนี้  เราจะรู้สึกได้เลยว่ามันเป็นท่าทีอีกทิศทางหนึ่ง บรูซ ทิฟต์ เรียกว่า “ค้านสัญชาตญาณ” เพม่า โชดรัน เรียกว่า “ทวนกระแส” สำหรับแต่ละท่านที่เคยมีประสบการณ์ของอารมณ์ภาวนาก็อยากให้ลองจดจำความรู้สึก จำบรรยากาศของพื้นที่ตรงนั้นไว้ เมื่อไรก็ตามที่เราต้องตกไปอยู่ในพื้นที่ที่เรารู้สึกสั่นไหว ท่วมท้นจนไม่อยากจะอยู่ตรงนั้น เราก็แค่ค่อยๆ กลับมา Connect กับอารมณ์ของการภาวนา แปรเปลี่ยนความสั่นไหวและอยู่ได้ยากตรงนั้น ให้กลับมาอยู่ในพื้นที่ว่างที่ดำรงอยู่ตรงนั้นเสมอ

“พื้นที่ที่เป็นห้องของเรา ห้องของใจเรา
เราจำอารมณ์เวลาเราอยู่ในห้องของตัวเองกันได้ใช่ไหม”